ลาว "ขอเป็นคนหนึ่ง" ในองค์การการค้าโลก -------------------------------------------------------------------------------- ลาวได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกด้วยความหวังที่จะขยายการค้าระหว่างประเทศ เพื่อที่จะมีเงินตรามาพัฒนาประเทศ และเพื่อความกินดีอยู่ดีของคนลาว ในการประชุมอย่างเป็นทางการของคณะมนตรีใหญ่องค์การการค้าโลก เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2541 ณ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ที่ผ่านมา นายคำพัน สิมมาลาวงศ์ เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวประจำประเทศฝรั่งเศสได้เดินทางไปร่วมประชุมและกล่าวถ้อยแถลงในการขอสมัครเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกด้วย ในถ้อยแถลงดังกล่าว เอกอัครราชทูตคำพันได้แนะนำให้ที่ประชุมรู้จักลาวมากขึ้นในฐานะที่เป็นประเทศซึ่งมีระบบเศรษฐกิจที่พึ่งพากลไกตลาด การเกษตรเป็นภาคการผลิตที่สำคัญของประเทศ และภายใต้ระบบเศรษฐกิจที่เปิดในปัจจุบัน ลาวก็เป็นประเทศหนึ่งในเอเชียซึ่งได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์ทางการเงินเช่นกัน แต่สภาพปัญหาคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น หลังจากที่ลาวได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund - IMF) เป็นที่คาดการณ์กันว่า รายได้ประชาชาติต่อหัวของประชาชนลาวซึ่งมีประมาณ 4.8 ล้านคนจะเพิ่มขึ้นจาก 370 ดอลลาร์สหรัฐ ในปีนี้ เป็น 530 ดอลลาร์สหรัฐ ในปี ค.ศ. 2000 เอกอัครราชทูตคำพันได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้ากับประเทศต่าง ๆ รวมทั้งการที่ลาวได้เข้าเป็นสมาชิกอาเซียนตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2540 และลาวจะเข้าร่วมในเขตเสรีทางการค้าอาเซียน หรือที่เรียกกันว่า ASEAN Free Trade Area (AFTA) ด้วย นอกจากนั้น ได้กล่าวถึงความร่วมมือและความช่วยเหลือต่าง ๆ ที่ได้รับจากสหภาพยุโรปภายใต้ความตกลงสองฝ่ายที่มีอยู่ระหว่างกัน ข้อมูลเหล่านี้ได้แสดงให้เห็นถึงการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจเปิดของลาว การที่ลาวเป็นสมาชิกของกลุ่มภูมิภาคอาเซียนและการเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมกันและกันในทิศทางที่จะช่วยให้ลาวพัฒนาประเทศให้มีความสามารถในการให้ความร่วมมือและมีบทบาทมากขึ้นทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก ซึ่งจะส่งผลทางอ้อมให้เกิดความเชื่อมั่นต่อกติกาการค้าระหว่างประเทศยิ่งขึ้น ในการประชุมดังกล่าว คณะมนตรีใหญ่ขององค์การการค้าโลกได้เห็นชอบให้จัดตั้งคณะทำงานว่าด้วยการเข้าเป็นสมาชิกของลาวขึ้น เพื่อตรวจสอบความพร้อมของลาวที่จะปฏิบัติตามความตกลงต่าง ๆ ภายใต้องค์การการค้าโลกและที่จะยื่นตารางข้อผูกพันในการเปิดตลาดสินค้าและบริการของตน ในกระบวนพิจารณาการเข้าเป็นสมาชิกของลาวนั้น สมาชิกอื่น ๆ ในองค์การการค้าโลกที่มีผลประโยชน์ทางการค้าและที่มีความสนใจในการค้าขายกับลาวในอนาคตจะสามารถตรวจสอบกดดันให้ลาวแก้ไขนโยบายและกฎหมาย ตลอดจนการปฏิบัติที่มีผลเป็นการกีดกันการค้า รวมทั้งขอเจรจาสองฝ่ายกับลาวให้ลดและผูกพันภาษีนำเข้าในสินค้าและบริการที่สนใจ ในที่สุด ผลการเจรจาสองฝ่ายกับแต่ละประเทศจะผนวกอยู่กับพิธีสารการเข้าเป็นสมาชิกของลาว ซึ่งจะถือเป็นพันธกรณีที่ลาวจะให้การปฏิบัติกับทุกสมาชิกขององค์การการค้าโลกเยี่ยงชาติที่ได้รับการอนุเคราะห์ยิ่ง หรือที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า "most favoured nation" (MFN) กระบวนการเข้าเป็นสมาชิกจะกินเวลาสั้นหรือยาวขึ้นอยู่กับความพร้อมของลาวในการให้ข้อมูลและหลักประกันต่อมวลสมาชิกองค์การการค้าโลกจนเป็นที่เชื่อใจว่า ลาวจะสามารถปฏิบัติตามสิ่งที่ระบุไว้ตามความตกลงต่าง ๆ และสิ่งที่จะผูกพันไว้ในการเข้าเป็นสมาชิก การดำเนินการดังกล่าวอาจจะเกี่ยวข้องไปถึงการปฏิรูปทางเศรษฐกิจและการปรับเปลี่ยนกฎระเบียบภายในของลาวให้สอดคล้องกับข้อบทความตกลงในองค์การการค้าโลก นอกจากลาวแล้ว สมาชิกอาเซียนอีกประเทศหนึ่งที่อยู่ระหว่างกระบวนการเข้าเป็นสมาชิกคือ เวียดนาม หากทั้งลาวและเวียดนามได้เข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกแล้ว จะทำให้สองประเทศนี้ยกระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจของตน ซึ่งจะส่งผลดีต่อการพัฒนาทางการเมืองและสังคมด้วย อันจะเอื้ออำนวยต่อความสามารถของการเข้าร่วมกิจกรรมของอาเซียน โดยเฉพาะในการเปิดการค้าระหว่างกันให้เสรียิ่งขึ้น เป็นที่เชื่อกันว่าความสำเร็จและพัฒนาการของกลุ่มภูมิภาคเป็นถนนคู่ขนาน ซึ่งจะไปบรรจบรวมกับถนนสายใหญ่ที่มุ่งไปสู่การค้าโลกที่เสรีบนพื้นฐานของกฎระเบียบที่เป็นธรรม ติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมผ่าน E-mail mailto:thai(WTO)@lprolink.ch หรือ http://www.dbe.moc.go.th/MOCOff/Oversea/OverSeaPart.html More Information Contact to The Permanent Mission of Thailand to the World Trade Organization (WTO)
--กรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ กุมภาพันธ์ 2543--
-ปส-
--กรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ กุมภาพันธ์ 2543--
-ปส-