อินเตอร์เนตเล่นบทสำคัญในการค้าระหว่างประเทศยุคใหม่ -------------------------------------------------------------------------------- อินเตอร์เนตเล่นบทสำคัญในการค้าระหว่างประเทศยุคใหม่ ประเทศอุตสาหกรรมหลักเริ่มให้ความสำคัญกับพาณิชยกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (electronic commerce) โดยชี้ว่า การค้าระบบนี้จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในอนาคต และแนะให้ภาครัฐบาลเร่งดำเนินการสนับสนุนการขยายตัวของพาณิชยกรรมอิเล็กทรอนิกส์ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องเร่งรัดหามาตรการคุ้มครองผู้บริโภคที่อาจถูกเอาเปรียบจากการค้าในระบบนี้ด้วย บทวิเคราะห์ของวารสาร OECD OBSERVER ฉบับประจำเดือนตุลาคม/พฤศจิกายน 2540 ระบุว่า ในปัจจุบัน การพัฒนาระบบสื่อสารและการขยายตัวของระบบอินเตอร์เนตทำให้พาณิชยกรรมอิเล็กทรอนิกส์เจริญเติบโตและก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในอัตราทวีคูณ (200%) ต่อปี โดยคาดการณ์ว่าในปี ค.ศ. 1999 ผู้ขายปลีกในสหรัฐฯ ประมาณร้อยละ 39 จะวางแผนการค้าโดยใช้ระบบอินเตอร์เนต และในปี ค.ศ. 2000 จะมีการค้าในสหรัฐฯ ที่ใช้ระบบนี้รวมเป็นมูลค่าทั้งสิ้นประมาณ 55.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งคิดเป็นอัตราส่วนประมาณร้อยละ 2-3 ของมูลค่าการค้าปลีกรวมในปี ค.ศ. 1997 ปัจจุบันนี้ พาณิชยกรรมอิเล็กทรอนิกส์ยังเน้นอยู่ในเรื่องการทำการค้าสินค้าที่จับต้องไม่ได้ (intangible product) เช่น โปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือการค้าบริการบางชนิด แต่ในอนาคต มีแนวโน้มว่า การค้าในระบบอิเล็กทรอนิกส์จะขยายตัวไปสู่การค้าผลิตภัณฑ์สินค้าทั่วไป บทวิเคราะห์ระบุด้วยว่า ประเด็นที่สร้างปัญหาในเรื่องนี้เกิดขึ้นเนื่องจากการพัฒนาเทคโนโลยีของพาณิชยกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการรุดหน้าไปอย่างรวดเร็วแต่ขาดทิศทางที่แน่นอน ประกอบกับการขาดความชัดเจนเรื่องแหล่งกำเนิดของธุรกรรม รวมทั้งยังมีปัญหาของการหลบเลี่ยงภาษีของผู้ค้าในระบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อการค้าขยายตัวครอบคลุมสินค้าในขอบเขตที่กว้างขวางขึ้น ดังนั้น ภาครัฐบาลจึงควรเร่งดำเนินการกำหนดนิยามทางกฎหมายของพาณิชยกรรมอิเล็กทรอนิกส์ให้มีพัฒนาการที่เป็นระบบ โดยให้มีการปรับปรุงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure) และขจัดกฎหมายหรือระเบียบที่อาจอุปสรรคต่อการขยายตัวของพาณิชยกรรมอิเล็กทรอนิกส์ แต่ในขณะเดียวกัน รัฐจำเป็นต้องเร่งรัดพิจารณาหามาตรการคุ้มครองผู้บริโภค และมาตรการชดเชยความเสียหายที่เหมาะสมในกรณีทีเกิดการฉ้อโกงทางการค้าในระบบนี้ ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีซึ่งมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วทำให้พาณิชยกรรมอิเล็กทรอนิกส์กลายเป็นสื่อการทำธุรกรรมในรูปแบบใหม่ซึ่งจะมีนัยที่สำคัญยิ่งต่อการค้าระหว่างประเทศในอนาคต อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ยังอาจเป็นการยากที่จะชี้ชัดถึงขอบเขตหรือทิศทางในอนาคตของวิวัฒนาการในเรื่องนี้ สำหรับประเทศไทยนั้น คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศซึ่งมี ฯพณฯ รองนายกรัฐมนตรี (นายวีระพงษ์ รามางกูร) เป็นประธานได้จัดตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาคณะหนึ่ง เพื่อกำหนดนโยบายทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ โดยอาจจะเริ่มศึกษาให้ความสำคัญกับประเด็นต่าง ๆ เช่น การกำหนดนิยามทางกฎหมาย การทำความเข้าใจถึงขอบเขตและวิธีการของการค้าในระบบนี้ บทบาทที่เหมาะสมของรัฐในการกำกับดูแลและควบคุม ผลกระทบต่อนโยบายการแข่งขันและการคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งการประสานงานทั้งทางด้านกฎหมายและเทคนิคระหว่างหน่วยงานหลัก หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และภาคเอกชน เพื่อป้องกันมิให้เทคโนโลยีใหม่ ๆ กลายเป็นเครื่องมือที่จะนำไปสู่การบิดเบือนทางการค้าได้ในอนาคต อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากการให้ความสำคัญในเรื่องความโปร่งใสและเป็นธรรมต่อผู้ประกอบการและผู้บริโภคแล้ว ยังควรพิจารณาเรื่องการขจัดอุปสรรคต่อการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อสร้างเสริมระบบพาณิชยกรรมอิเล็กทรอนิกส์ให้สามารถพัฒนาและเติบโตตามกลไกตลาดด้วย [Back to Header
] More Information Contact to E-mail The Permanent Mission of Thailand to the World Trade Organization (WTO)
--กรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ กุมภาพันธ์ 2543--
-ปส-
] More Information Contact to E-mail The Permanent Mission of Thailand to the World Trade Organization (WTO)
--กรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ กุมภาพันธ์ 2543--
-ปส-