ข่าวในประเทศ
1. ธปท.ให้ทุกสายงานทำแผนฉุกเฉินรองรับสถานการณ์วิกฤติ ผู้ว่าการ ธปท.เปิดเผยว่า ธปท.จะจัดทำแผนฉุกเฉิน (Exit Strategic Plan) โดยศึกษาจากประเทศต่างๆ เพื่อจัดทำเป็นคู่มือของ ธปท.สำหรับการติดต่อประสานงาน เมื่อเกิดเหตุการณ์ผันผวนต่างๆ เหมือนที่ ธปท.เคยเตรียมแผนฉุกเฉินไว้สำหรับกรณีจีนปรับลดค่าเงินหยวน ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ของ ธปท.แต่ละสายงานจะต้องกำหนดเป้าหมายและยุทธวิธีของ Exit Strategic Plan ให้เสร็จภายใน 2 เดือน และเสนอแผนงานต่อคณะกรรมการ ธปท. พิจารณาอนุมัติงบประมาณ เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมายและยุทธวิธีที่วางไว้ นอกจากนี้ ธปท.จะจัดทำแผนแม่บทเกี่ยวกับธุรกิจ อี-คอมเมอร์ซ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการสื่อสารทั้งภายในและภายนอกองค์กร โดยเป็นแผนเป้าหมายเชิงสถิติในระยะเวลา 5 ปี เริ่มตั้งแต่ 2544 รวมถึงจะมีการศึกษาเกี่ยวกับพัฒนาของระบบการชำระเงินในช่วงที่ผ่านมา และแนวโน้มในอีก 10 ปีข้างหน้า ทั้งแนวโน้มการใช้บัตรพลาสติก และการให้สินเชื่อในรูปต่างๆ (มติชน 7)
2. ธปท.เร่งเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับตราสารหนี้ประเภทต่างๆ ให้แก่นักลงทุน ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่าขณะนี้โครงสร้างตลาดเงินของประเทศอยู่ในระดับที่ใช้ได้แล้ว หลังจากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ แม้จะมีปัญหาเรื่องผลิตภัณฑ์ในตลาดให้เลือกน้อย แต่มีนักลงทุนจำนวนมากที่เข้ามาลงทุนในตราสารหนี้ประเภทต่างๆ ผ่านกองทุนรวม ส่งผลให้มีมูลค่าการลงทุนสูงกว่าการลงทุนในตลาดหุ้นเกือบ 1 เท่าตัว เนื่องจากการลงทุนในตลาดหุ้นมีผลขาดทุน และอัตราดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ในระดับต่ำ ดังนั้น ธปท.จึงเร่งพัฒนาตลาดตราสารหนี้ที่มีเสถียรภาพ และมีผลตอบแทนที่ดีกว่าตราสารที่มีอยู่ปัจจุบันให้เกิดขึ้นโดยเร็ว เพราะถือเป็นช่วงที่ดีและประชาชนให้ความสนใจเข้ามาลงทุน และเพื่อเป็นการให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่นักลงทุน ธปท.จึงให้หน่วยลงทุนของ ธปท.เร่งจัดทำโฮมเพจ เพื่อเผยแพร่ข้อมูลของกองทุนรวมต่างๆ ให้นักลงทุนรับรู้ข้อมูลอย่างละเอียด (เดลินิวส์ 5)
3. ธปท.หารือเกี่ยวกับการดำเนินการของ สปน. ผู้อำนวยการอาวุโส สายปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ธปท.เปิดเผยว่า ในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 43 ธปท.จะมีการหารือกันว่าควรจะยุบสายปรับปรุงโครงสร้างหนี้ (สปน.) หรือไม่ เพราะขณะนี้จำนวนลูกหนี้กลุ่มเป้าหมายที่ดูแลอยู่มีไม่มากแล้ว ที่เหลือส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้รายกลางและย่อยเท่านั้น ซึ่งมูลหนี้มีไม่มาก หากจะยุบ สปน.คงจะทำได้ในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 44 เนื่องจากงานที่มีอยู่คงเสร็จสิ้นตามกระบวนการแล้ว โดยจะเหลือหน่วยงาน สปน.ที่ขึ้นอยู่กับฝ่ายตรวจสอบหรือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ซึ่งการที่ต้องมี สปน.ไว้บ้างเพราะในการทำธุรกิจย่อมต้องมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เกิดขึ้นตลอดเวลา (วัฏจักร 7)
4. ศูนย์วิจัยกสิกรไทยวิเคราะห์การดำเนินงานของระบบ ธพ.ในช่วงครึ่งแรกของปี 43 บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทยวิเคราะห์ว่า รายได้สุทธิของระบบธนาคารในช่วงครึ่งแรกของปี 43 ปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจน โดยมีรายได้สุทธิหลังสำรองขาดทุนประมาณ 75,000 ล.บาท หรือขาดทุนลดลงร้อยละ 57 เมื่อเทียบกับการขาดทุน 173,000 ล.บาทในช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากภาระกันสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญที่ลดลง คือ มีค่าใช้จ่ายในการทำสำรองจำนวน 81,000 ล.บาท ขณะที่มีกำไรจากการดำเนินงานเป็นจำนวนกว่า 6,600 ล.บาท (กรุงเทพธุรกิจ 5)
ข่าวต่างประเทศ
1. การจ้างงานนอกภาคเกษตรของ สรอ. ลดลง 108,000 ตำแหน่ง ในเดือน ก.ค.43 รายงานจากวอชิงตัน เมื่อวันที่ 4 ส.ค.43 ก.แรงงาน สรอ. รายงานว่า เดือน ก.ค.43 การจ้างงานนอกภาคเกษตรลดลง 108,000 ตำแหน่ง หลังจากที่เพิ่มขึ้น 30,000 ตำแหน่งในเดือน มิ.ย.43 ตามตัวเลขปรับใหม่ เป็นการลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปีครึ่งนับแต่เดือน ม.ค.36 และการลดลงดังกล่าวตรงกันข้ามกับความคาดหมายของนักเศรษฐศาสตร์จากการสำรวจของรอยเตอร์ ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 58,000 ตำแหน่ง อย่างไรก็ตาม โอกาสในการหางานทำของแรงงานยังมีมาก และยังมีสัญญาณการขาดแคลนแรงงานอยู่ โดยอัตราการว่างงานในเดือน ก.ค.43 ยังคงอยู่ที่ร้อยละ 4 เท่ากับเดือน มิ.ย.43 ทั้งนี้ การลดลงของการจ้างงานฯ ในเดือน ก.ค.43 มีสาเหตุมาจากการลดลงของจ้างงานในโครงการสำมะโนประชากรปี 2000 ที่ลดลงมากถึง 290,000 ตำแหน่ง ขณะที่การจ้างงานภาคเอกชนเพิ่มขึ้น 138,000 ตำแหน่ง เทียบกับที่เพิ่มขึ้น 242,000 ตำแหน่งในเดือน มิ.ย.43 ทางด้านชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยต่อสัปดาห์ลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 34.4 ชั่วโมง เทียบกับ 34.5 ชั่วโมงในเดือน มิ.ย.43 แต่รายได้เฉลี่ยต่อชั่วโมงเพิ่มขึ้นเป็น 13.76 ดอลลาร์ สรอ. เทียบกับ 13.70 ดอลลาร์ ในเดือน มิ.ย.43 (รอยเตอร์ 4)
2. คำสั่งซื้อสินค้าอุตสาหกรรมการผลิตของเยอรมนีเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 ในเดือน มิ.ย. 43 รายงานจากเบอร์ลินเมือ 4 ส.ค. 43 ก. คลัง เยอรมนี เปิดเผยว่า เดือน มิ.ย. 43 คำสั่งซื้อสินค้าอุตสาหกรรมการผลิต ปรับตัวเลขตามฤดูกาล เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 จากเดือน พ.ค. 43 และเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.3 เมื่อเทียบต่อปี นับเป็นการเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 ส่วนผลการสำรวจของรอยเตอร์ก่อนหน้านี้ นักเศรษฐศาสตร์ คาดไว้ว่า คำสั่งซื้อฯ ในเดือน มิ.ย. 43 จะลดลงร้อยละ 0.7 และเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 เมื่อเทียบต่อเดือนและต่อปีตามลำดับ ขณะเดียวกัน การส่งออก ซึ่งเป็นพลังขับเคลื่อนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 ในเดือน มิ.ย. 43 ชี้ให้เห็นว่าเยอรมนีซึ่งเป็นประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของยุโรป กำลังได้รับผลประโยชน์จากการที่ค่าเงินยูโรอ่อนตัวลง ส่วนความต้องการสินค้าฯภายในประเทศ ลดลงร้อยละ 0.4 ในเดือน มิ.ย. 43 (รอยเตอร์ 4)
3. ดัชนีชี้นำภาวะเงินเฟ้อของ สรอ. ลดลงอยู่ที่ระดับ 101.6 ในเดือน ก.ค. 43 รายงานจากนิวยอร์กเมื่อ 4 ส.ค. 43 ดัชนีชี้นำภาวะเงินเฟ้อ (Leading Index of Inflation) ของ สรอ. ซึ่งจัดทำโดยมูลนิธิเพื่อการวิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจระหว่างประเทศ (FIBER) ระบุว่า เดือน ก.ค. 43 ดัชนีฯ ได้ลดลงอยู่ที่ระดับ 101.6 จากระดับ 103.3 ในเดือน มิ.ย. 43 ซึ่งจากรายงานสรุปว่า เป็นผลจากค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น ภาระหนี้สินและแรงกดดันด้านราคาที่ลดลง รวมทั้งความสัมพันธ์ของการจ้างงานต่อประชากรที่มีงานทำโดยรวมยังคงอยู่ในระดับต่ำจากที่เคยสูงมากในเดือน เม.ย. 43 โดย FIBER คาดว่าภาวะเงินเฟ้อยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี (รอยเตอร์ 4)
อัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยเงินบาท/ดอลลาร์สรอ.ที่ ธพ.ซื้อขายกับลูกค้า(ตั๋วเงิน)ณสิ้นวันทำการ 4 ส.ค.43ซื้อ 40.4757 (40.6314) ขาย 40.7879 (40.9405)
ทองคำแท่ง(บาทละ) ซื้อ 5,350 (5,350) ขาย 5,450 (5,450)
น้ำมันดิบ(ดอลลาร์ สรอ./บาร์เรล) โอมาน 26.57 (25.43)
น้ำมันเบนซินพิเศษ(เพอร์ฟอร์มาโกลด์) 16.19 (16.19) ดีเซลหมุนเร็ว 13.29 (13.29)
หมายเหตุ ตัวเลขในวงเล็บเป็นตัวเลขของวันก่อน