ในระหว่างวันที่ 26-27 กันยายน 2543 ฯพณฯ ดร. เอมิล คอนสแตนติเนสคู (Dr. Emil Constantinescu) ประธานาธิบดีโรมาเนีย และคณะรวมทั้งสิ้น 26 คน เดินทางเยือนประเทศไทย อย่างเป็นทางการ (Official Visit) ในฐานะแขกของรัฐบาล ทั้งนี้ โดยมีนายสเตอเลียน โออันเชีย (Mr. Stelian Oancea) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศโรมาเนีย ร่วมเดินทางมาด้วย
ในวันที่ 26 กันยายน 2543 ช่วงเช้า ฯพณฯ ดร. เอมิลฯ มีกำหนดที่จะเข้า ร่วมพิธีต้อนรับและตรวจแถวกองเกียรติยศ เข้าพบเพื่อหารือข้อราชการกับ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี และ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีเป็นเจ้าภาพงานเลี้ยงอาหารกลางวันเพื่อเป็นเกียรติแก่ประธานาธิบดี โรมาเนีย ณ ทำเนียบรัฐบาล ในช่วงบ่าย ฯพณฯ ดร. เอมิลมีกำหนดเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้า-อยู่หัว ณ พระราชวังไกลกังวล ในวันที่ 27 กันยายน 2543 ฯพณฯ ดร. เอมิลฯ จะเข้าพิธีรับมอบปริญญาวิทยาศาสตร์ดุษฎีกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และเยี่ยมชมศูนย์ วัฒนธรรมโรมาเนีย ซึ่งตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ก่อนที่ ฯพณฯ ดร. เอมิลฯ จะ เดินทางกลับประเทศโรมาเนียในคืนวันที่ 27 กันยายน 2543
ไทยและโรมาเนียได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2516 โดยโรมาเนียได้เปิดสถานเอกอัครราชทูตที่กรุงเทพฯ เมื่อปี 2519 และไทยเปิดสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบูคาเรสต์ เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2523 ซึ่งความสัมพันธ์ราบรื่นมาตลอด และทั้งสองประเทศได้ฉลองครบรอบ 25 ปี ของการสถาปนาความสัมพันธ์เมื่อปี 2541 ไทยและโรมาเนียมีการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างกันในทุกระดับ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ที่สำคัญ ได้แก่ การเสด็จพระราชดำเนินเยือนโรมาเนียอย่างเป็นทางการของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ระหว่างวันที่ 14-18 มีนาคม 2537 และการเสด็จเยือนของสมเด็จพระเจ้า- ลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ระหว่างวันที่ 11-16 พฤษภาคม 2543 สำหรับฝ่ายโรมาเนีย การเยือนไทยของประธานาธิบดีโรมาเนียในครั้งนี้ นับเป็นการเยือนครั้งแรกในระดับประมุขของรัฐ
ปัจจุบันการค้าระหว่างไทยและโรมาเนียมีจำนวนไม่มากนัก ในปี 2542 การค้าระหว่างกันมีมูลค่า 42.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกเป็นมูลค่า 14.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าเป็นมูลค่า 14.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยนำเข้าเคมีภัณฑ์ เหล็ก และเหล็กกล้า เครื่องจักร และผลิตภัณฑ์ยาจากโรมาเนีย และส่งออกอาหารทะเลกระป๋อง เสื้อผ้าสำเร็จรูป ผลไม้กระป๋อง และรองเท้าไปยังโรมาเนีย ไทยและโรมาเนียได้จัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทางการค้าไทย-โรมาเนีย (Joint Commission on Trade) และได้มีการประชุมกันทั้งสิ้น 9 ครั้ง โดยครั้งที่ 9 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 30-31 พฤษภาคม 2543 ณ ประเทศโรมาเนีย มี ฯพณฯ ดร. ศุภชัย พานิชภักดิ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นหัวหน้าคณะฝ่ายไทย ทั้งนี้ ที่ประชุมฯ ได้ตกลงตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันให้ถึง 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับภาคเอกชนนั้น ได้มีการจัดตั้งสภาธุรกิจไทย-โรมาเนีย (Thai-Romanian Business Council) และได้มีการ ประชุมกันทั้งสิ้น 4 ครั้งๆ ที่ 4 จัดขึ้นที่กรุงบูคาเรสต์ ประเทศโรมาเนีย เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2543 ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะมุ่งให้ความสำคัญในการค้าขายประกอบธุรกิจ 7 ประเภท ได้แก่ สายส่งไฟฟ้าแรงสูงและโครงสร้างเหล็ก อุตสาหกรรมก่อสร้าง ปุ๋ยเคมีภัณฑ์เพื่อการเกษตรกรรม ยารักษาโรคและบำบัดชะลอความแก่ ผลิตภัณฑ์สำหรับห้างสรรพสินค้า สิ่งทอและเสื้อผ้า และการท่องเที่ยว และนับตั้งแต่สถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างกัน ไทยและโรมาเนียได้ลงนามในความตกลงทวิภาคีแล้ว 11 ฉบับ ครอบคลุมความร่วมมือสาขาต่างๆ นับตั้งแต่ การบิน ส่งเสริมการลงทุน ความร่วมมือทางการค้าและอุตสาหกรรม ความตกลงยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทางทูตและราชการ ความร่วมมือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศ อนุสัญญาภาษีซ้อน ความร่วมมือด้านการ ท่องเที่ยว วัฒนธรรม การศึกษา และวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และมีความตกลงที่อยู่ในระหว่างการเจรจาอีก 3 ฉบับ ได้แก่ ความตกลงด้านการขนส่งทางทะเล ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านศุลกากร และข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการเกษตร สำหรับความร่วมมือด้านวัฒนธรรมนั้น มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒกับ The Lucian Blaga University of Siebiu แห่งโรมาเนีย มีโครงการความร่วมมือทางวิชาการระหว่างกัน โดยได้ลงนามในความตกลงเพื่อจัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมไทยขึ้นที่เมือง Siebiu ประเทศโรมาเนีย และจัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมโรมาเนียขึ้นที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ รวมทั้งมอบทุนการศึกษาในระดับอุดมศึกษาให้แก่ประเทศไทย 2 ทุน โดยไม่จำกัดสาขาวิชาอีกด้วย
การเยือนไทยครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกันให้ แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นแล้ว ทั้งสองฝ่ายประสงค์ที่จะพัฒนาศักยภาพทางการค้าระหว่างกันให้เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งหารือแนวทางในการขยายความร่วมมือไปสู่เวทีระหว่างประเทศด้วย ทั้งนี้ โรมาเนีย ให้การสนับสนุนไทยในการที่จะสมัครเข้าเป็น Partners for Cooperation ขององค์การว่าด้วย ความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (OSCE) ซึ่งโรมาเนียเป็นสมาชิกตั้งแต่แรกเริ่ม และจะเข้ารับ หน้าที่เป็นประธาน OSCE ในเดือนมกราคม 2544 เป็นเวลา 1 ปี ซึ่งจะทำให้ไทยและโรมาเนีย ประสานงานร่วมกันในการที่จะเป็นตัวเชื่อมระหว่างภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และยุโรปในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านความมั่นคง การเมือง เศรษฐกิจ และ human security ต่อไป
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5105 โทรสาร. 643-5106-7Press Division, Department of Information Tel. 643-5105 Fax. 643-5106-7 E-mail : div0704@mfa.go.th