บันทึกการประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ ๕ (สมัยสามัญทั่วไป)

ข่าวการเมือง Monday March 19, 2001 13:08 —รัฐสภา

                            บันทึกการประชุมวุฒิสภา
ครั้งที่ ๕ (สมัยสามัญทั่วไป)
วันศุกร์ที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๔๔
ณ ตึกรัฐสภา
เริ่มประชุมเวลา ๐๙.๓๕ นาฬิกา
เมื่อสมาชิกฯ มาครบองค์ประชุมแล้ว นายพิเชฐ พัฒนโชติ รองประธานวุฒิสภา
คนที่หนึ่ง และนายบุญทัน ดอกไธสง รองประธานวุฒิสภาคนที่สอง ขึ้นบัลลังก์
รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง ทำหน้าที่ประธานวุฒิสภา ได้กล่าวเปิดประชุม
แล้วให้เลขาธิการวุฒิสภาอ่านพระบรมราชโองการ แต่งตั้งนายชวน หลีกภัย เป็นผู้นำฝ่ายค้าน
ในสภาผู้แทนราษฎร ตามประกาศ ลงวันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๔๔
จากนั้น รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง ทำหน้าที่ประธานวุฒิสภา และรองประธาน
วุฒิสภาคนที่สอง ผลัดเปลี่ยนกันเป็นประธานของที่ประชุม โดยประธานของที่ประชุมได้แจ้งให้
ที่ประชุมรับทราบเรื่องต่าง ๆ ดังนี้
๑. นายเฉลิม พรหมเลิศ สมาชิกวุฒิสภา ขอลาออกจากตำแหน่ง ตั้งแต่วันที่ ๑๔
มีนาคม ๒๕๔๔
๒. ในคราวประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันพุธที่ ๗ มีนาคม ๒๕๔๔ ที่ประชุมได้
รับทราบรายงานผลการปฏิบัติราชการ ปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๒ ของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน
และรายงานการตรวจสอบงบดุล งบรายรับ - รายจ่ายเงินกองทุนประกันสังคม ประจำปี ๒๕๔๒ แล้ว
๓. การประชุมใหญ่สามัญประจำปีของหน่วยประจำชาติไทยในสหภาพรัฐสภา (IPU)
สหภาพสมาชิกรัฐสภาเอเชียและแปซิฟิก (APPU) และองค์การรัฐสภาอาเซียน (AIPO) ซึ่งวุฒิสภา
มีมติเลือกสมาชิกวุฒิสภาเพื่อรับเลือกเป็นกรรมการบริหารหน่วยประจำชาติไทย ทั้ง ๓ หน่วย ดังนี้
(๑) หน่วยประจำชาติไทยในสหภาพรัฐสภา (IPU) จำนวน ๒ คน คือ คุณหญิงจินตนา
สุขมาก และนายทวี แก้วคง
(๒) หน่วยประจำชาติไทยในสหภาพสมาชิกรัฐสภาเอเชียและแปซิฟิก (APPU)
จำนวน ๓ คน คือ พลโท โอภาส รัตนบุรี นายอาคม ตุลาดิลก และนายสุรใจ ศิรินุพงศ์
(๓) หน่วยประจำชาติไทยในองค์การรัฐสภาอาเซียน (AIPO) จำนวน ๒ คน คือ
นายแก้วสรร อติโพธิ และนายนิเวศ พันธ์เจริญวรกุล
๔. คณะกรรมการการเลือกตั้ง แจ้งเรื่องคำสั่งให้มีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาใหม่
กรณีการคัดค้านการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา จำนวน ๑๐ คน ดังนี้
(๑) นายกวี สุภธีระ สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดขอนแก่น
(๒) นางพวงเล็ก บุญเชียง สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดพะเยา
(๓) นางสำรวย แขวัฒนะ สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
(๔) นายธรรมนูญ มงคล สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดระนอง
(๕) พลเอก ศิรินทร์ ธูปกล่ำ สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดลพบุรี
(๖) นายสนิท วรปัญญา สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดลพบุรี
(๗) นายชวาล มหาสุวีระชัย สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดศรีสะเกษ
(๘) นายชิต เจริญประเสริฐ สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดศรีสะเกษ
(๙) นายนิรันดร์ พิทักษ์วัชระ สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดอุบลราชธานี
(๑๐) นายวีระศักดิ์ จินารัตน์ สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดอุบลราชธานี
ซึ่งมีผลทำให้สมาชิกภาพของสมาชิกวุฒิสภาทั้ง ๑๐ คน สิ้นสุดลง นับแต่วันที่
มีคำสั่งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (วันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๔๔) ทั้งนี้ ตามมาตรา ๙๖ แห่ง
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิก
วุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๔๑ ประกอบมาตรา ๙๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
ต่อมา ประธานของที่ประชุมได้หารือที่ประชุม เพื่อขอนำญัตติ เรื่อง
จะเลือกประธานวุฒิสภาเมื่อไร ซึ่งนายศิลป์ชัย เชษฐศิลป์ เป็นผู้เสนอ และญัตติ
ทำนองเดียวกัน เรื่อง จะให้มีการเลือกประธานวุฒิสภาหรือไม่ ซึ่งนายสมพงษ์ สระกวี เป็นผู้เสนอ
มารวมพิจารณาเป็นระเบียบวาระ เรื่องด่วน ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบ หลังจากสมาชิกฯ อภิปรายแล้ว
ที่ประชุมได้มีมติไม่เห็นชอบให้มีการเลือกประธานวุฒิสภาในขณะนี้
จากนั้น ประธานของที่ประชุมได้เสนอให้ที่ประชุมวุฒิสภา พิจารณาเรื่อง
ตามระเบียบวาระ กระทู้ถาม ตามลำดับ ดังนี้
๑. กระทู้ถามด่วน เรื่อง ปัญหาการก่อวินาศกรรม นายการุณ ใสงาม ถามนายกรัฐมนตรี
ซึ่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม (นายประชา มาลีนนท์) ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ตอบ
๒. กระทู้ถามด่วน เรื่อง เครื่องบินโบอิ้ง ๗๓๗ - ๔๐๐ นามพระราชทาน "นราธิวาส"
ระเบิดที่ท่าอากาศยานกรุงเทพ เมื่อวันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๔๔ พลโท โอภาส รัตนบุรี ถามนายกรัฐมนตรี
ซึ่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม (นายประชา มาลีนนท์) ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ตอบ
๓. กระทู้ถาม เรื่อง อัตราค่าบริการรายเดือนและค่าใช้จ่ายในการใช้โทรศัพท์มือถือ
มีราคาสูงเกินสมควร นายสราวุธ นิยมทรัพย์ ถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งรัฐมนตรี
ช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม (นายประชา มาลีนนท์) ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ตอบ
ต่อมา ประธานของที่ประชุมได้ปรึกษาที่ประชุมเพื่อขอนำเรื่องตามระเบียบวาระ
เรื่องอื่น ๆ ขึ้นมาพิจารณาก่อน ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบ ประธานของที่ประชุมจึงได้เสนอให้ที่ประชุม
พิจารณาระเบียบวาระ เรื่องอื่น ๆ ดังนี้
๑. คณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาเพื่อปรับปรุง แก้ไขข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา
พ.ศ. ๒๕๔๑ ขอขยายเวลาการพิจารณา ออกไปอีก ๓๐ วัน นับแต่วันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๔๔
ซึ่งที่ประชุมมีมติให้ขยายเวลาได้ตามที่คณะกรรมาธิการร้องขอ
๒. คณะกรรมาธิการการคลัง การธนาคารและสถาบันการเงิน ขอขยายเวลา
การพิจารณาศึกษารายงานผลการปฏิบัติราชการปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๒ ของสำนักงาน
การตรวจเงินแผ่นดิน ออกไปอีก ๓๐ วัน นับแต่วันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๔๔ ซึ่งที่ประชุมมีมติ
ให้ขยายเวลาได้ตามที่คณะกรรมาธิการร้องขอ
จากนั้น ประธานของที่ประชุมได้เสนอให้ที่ประชุมพิจารณาเรื่องตาม
ระเบียบวาระ เรื่องที่ค้างพิจารณา คือ ญัตติ เรื่อง ขอให้วุฒิสภาตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ
ศึกษาและติดตามการแก้ไขฟื้นฟูวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งนายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง เป็นผู้เสนอ
เมื่อผู้เสนอได้แถลงเหตุผล และมีสมาชิกฯ อภิปราย จนได้เวลาพอสมควรแล้ว ประธานของที่ประชุม
จึงให้เลื่อนการพิจารณาเรื่องนี้ไปก่อน
เลิกประชุมเวลา ๑๓.๒๐ นาฬิกา
(ลายเซ็น)
(นายพินิต อารยะศิริ)
เลขาธิการวุฒิสภา
ฝ่ายระเบียบวาระและรายงานการประชุม
กองการประชุม
โทร. ๒๔๔๑๕๖๘
โทรสาร ๒๔๔๑๕๖๖

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ