21 ตุลาคม 2542 สรุปผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ครั้งที่ 5/2542 วันที่ 18 ตุลาคม 2542 ----------------- สำนักงานเลขานุการ กนศ. ขอรายงานผลการประชุมในเรื่อง นโยบายและยุทธศาสตร์แห่งชาติ เกี่ยวกับสินค้าตัดแต่งพันธุกรรม (GMOs) ดังนี้ ที่ประชุมได้พิจารณารายงานของคณะอนุกรรมการนโยบายสินค้าเทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งมีปลัดกระทรวง เกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน ซึ่งได้เสนอแนวทางนโยบายและยุทธศาสตร์สินค้าเทคโนโลยีชีวภาพในด้าน การผลิต การส่งออก การนำเข้า การสร้างสมรรถนะและด้านข้อมูล ที่ประชุมเห็นชอบข้อเสนอของคณะอนุกรรมการฯ และมีมติเพิ่มเติม สรุปได้ดังนี้ 1. การผลิต 1.1 ไม่ยินยอมให้มีการนำเข้าเมล็ดพันธุ์ GMOs มาเพาะปลูกในเชิงพาณิชย์ จนกว่าจะมีการพิสูจน์ทาง วิทยาศาสตร์ว่ามีความปลอดภัยทั้งด้านชีวภาพและด้านอาหาร (bio safety และ food safety) 1.2 ยินยอมให้มีการนำเข้าเมล็ดพันธุ์ GMOs เฉพาะเพื่อทำการวิจัยเท่านั้น 1.3 ให้กรมวิชาการเกษตรดูแลการรั่วไหลของเมล็ดพันธุ์ GMOs ไปสู่แปลงเพาะปลูก โดยใช้อำนาจตาม พ.ร.บ. กักพืช พ.ศ. 2507 2. การส่งออก มีมาตรการ 2 ด้านที่เกี่ยวกับสินค้าส่งออกของไทย คือ 2.1 ใช้ความตกลงโดยสมัครใจระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายภาคเอกชนในการออกมาตรการด้านใบรับรอง (certificate) หรือติดฉลาก (labeling) 2.2 หากประเทศผู้นำเข้าต้องการการตรวจสอบและออกใบรับรองจากภาครัฐให้หน่วยงานที่มีหน้าที่อำนาจ ดูแลอยู่แล้ว เช่น กรมประมง กรมปศุสัตว์ เป็นผู้ออกใบรับรอง โดยให้ศูนย์พันธุ์วิศวกรรมและเทคโนโลยี ชีวภาพแห่งชาติเป็นผู้ตรวจสอบ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ไทยยังไม่มีปัญหาการส่งออก และยังไม่มีประเทศ ผู้นำเข้าใดขอให้ไทยใช้มาตรการด้านใบรับรอง หรือติดสลากกับสินค้าส่งออกของไทย 3. การนำเข้า 3.1 เมล็ดพันธุ์ (seed) ที่เป็น GMOs ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำกับดูแลตาม พ.ร.บ. กักพืช พ.ศ. 2507 ซึ่งให้นำเข้าเฉพาะเพื่อการทดลองวิจัยเท่านั้น 3.2 การนำเข้าเม็ดพืช (grain) ที่มีผลหรือไม่มีผลต่อผู้บริโภค (เฉพาะถั่วเหลือง และข้าวโพดเพื่อใช้ใน อุตสาหกรรมอาหารสัตว์) ยังไม่มีการพิสูจน์จากคณะผู้วิจัยจากประเทศต่าง ๆ แม้แต่ Codex ก็ยังไม่มี ความชัดเจนว่า GMOs มีผลอย่างไรต่อผู้บริโภค ที่ประชุม กนศ. จึงมีมติดังนี้ (1) ให้กระทรวงพาณิชย์โดยกรมการค้าต่างประเทศซึ่งมีอำนาจตาม พ.ร.บ. การส่งออกไปนอกและนำเข้า มาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522 ใช้อำนาจกำกับการนำเข้าสินค้า GMOs ในกรณีที่เห็นว่ามี ผลกระทบต่อผู้บริโภค (2) เนื่องจากยังไม่มีข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ยืนยันว่า มีความเสียหายจากสินค้าที่ผลิตหรือใช้ GMOs (เช่น เนื้อไก่ที่เลี้ยงโดยวัตถุดิบ GMOs) และก็ยังไม่มีประเทศใดใช้มาตรการควบคุมหรือห้ามนำเข้า สินค้าที่มี GMOs ดังนั้น จึงยังไม่มีความจำเป็นต้องออกมาตรการกำกับดูแลการนำเข้าสินค้าที่มี GMOs เป็นพิเศษ (3) ให้ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติควบคุมดูแลตรวจสอบว่าสินค้านำเข้าใดเป็น สินค้าตัดแต่งพันธุกรรม ซึ่งจะต้องมีการลงทุนพัฒนาด้านบุคลากรและอุปกรณ์เครื่องมือตรวจสอบ ต่อไปในอนาคต (4) ให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้ติดตามข้อมูลข่าวสาร การวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ทั้งจากต่างประเทศและภายในประเทศ เพื่อดูแลอย่างใกล้ชิดว่าสินค้า GMOs ใดจะมีผลกระทบต่อสุขอนามัยและความปลอดภัยของผู้บริโภค และรายงานต่อคณะอนุกรรมการนโยบาย เทคโนโลยีชีวภาพเพื่อดำเนินการต่อไป 4. การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร - ให้เผยแพร่ข้อมูลต่อสาธารณชนให้มากที่สุด และในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2542 กรมเศรษฐกิจ การพาณิชย์จะจัดสัมมนาโต๊ะกลม เพื่อรวบรวมข้อมูลทั้งด้านสิ่งแวดล้อม การผลิตความปลอดภัยต่อชีวิต และอนามัยของมนุษย์ พืช และสัตว์ รวมทั้งกฎเกณฑ์ด้านการค้าระหว่างประเทศ เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้ รับทราบข้อมูลที่ถูกต้องในทุกๆด้าน
--กรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ กุมภาพันธ์ 2543--
-ปส-
--กรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ กุมภาพันธ์ 2543--
-ปส-