1. ประเด็นความเห็นที่สอดคล้องกับแนวทางในร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 แต่สภาที่ปรึกษาฯ ยังเห็นว่าไม่ชัดเจน ซึ่งสามารถขยายความเพิ่มเติมได้ในแผนฯ ที่สำคัญได้แก่ แนวคิดของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 ที่ยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในการพัฒนาประเทศโดยสามารถประยุกต์ใช้เป็นพื้นฐานของการพัฒนาได้ทุกระดับ ตั้งแต่การดำรงวิถีชีวิตส่วนบุคคล ครอบครัว ชุมชน ภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน และยังปรับใช้ได้กับทุกสาขาการพัฒนา ขณะเดียวกันแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 ได้ให้ความสำคัญกับการสร้างความสมดุลระหว่างการพัฒนาการเศรษฐกิจกับการพัฒนาสังคม ซึ่งครอบคลุมทั้งด้านตัวคน สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดให้มีระบบบริหารจัดการภายในที่ดีให้เกิดขึ้นในทุกระดับ รวมทั้งได้มีการปรับเป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 จากเดิมเฉลี่ยร้อยละ 5-6 ต่อปี เป็นเฉลี่ยร้อยละ 4-5 ต่อปี และปรับเป้าหมายอื่นๆ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปด้วยแล้ว
2. ประเด็นข้อเสนอแนะที่สามารถปรับปรุงเพิ่มเติมในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ที่สำคัญได้แก่
การวิเคราะห์เพิ่มเติมปัจจัยภายนอกและภายในประเทศที่มีอิทธิพลต่อการวางบทบาทการพัฒนาประเทศในอนาคตอย่างเหมาะสม รวมทั้งการปรับปรุงเพิ่มเติมสาระสำคัญของยุทธศาสตร์ให้ชัดเจน โดยเฉพาะการแก้ปัญหาความยากจนในยุทธศาสตร์การปรับโครงสร้างการพัฒนาชนบทและเมือง และการสร้างเครือข่ายเศรษฐกิจชุมชนให้เข้มแข็งในยุทธศาสตร์การเพิ่มสมรรถนะและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
3. ประเด็นข้อเสนอแนะที่จะมีการจัดทำแผนปฏิบัติการให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 โดยความเห็นและข้อเสนอแนะของสภาที่ปรึกษาฯ บางส่วนเป็นรายละเอียดในระดับปฏิบัติจึงสมควรบรรจุไว้ในแผนเฉพาะเรื่องหรือแผนปฏิบัติการที่จะนำไปสู่การปฏิบัติในขั้นตอนต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การจัดทำแผนการจัดสรรทรัพยากรภาครัฐ เพื่อชี้นำทิศทางการลงทุนที่สอดคล้องตามยุทธศาสตร์การพัฒนาในแผนพัฒนา ฯ ฉบับที่ 9
ที่มา: สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
www.nesac.or.th, โทร.02-612-9222 ต่อ 118, 119 โทรสาร.02-612-6918-9