บทสรุปภาวะการส่งออกของประเทศไทยเดือน ม.ค-มี.ค. 2548

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 9, 2005 16:42 —กรมส่งเสริมการส่งออก

          1. เศรษฐกิจไทยในปี 2548 คาดว่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 5.25-6.25 ส่วนปี 2547 GDP ของไทยขยายตัวที่ประมาณร้อยละ 6.3
2. ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกสำคัญอันดับที่ 23 ของโลก ในปี 2547 มีสัดส่วนการส่งออกประมาณร้อยละ 1.13 ของการส่งออกรวมในตลาดโลก(ปี 2546 ไทยอยู่อันดับที่ 23 สัดส่วนร้อยละ 1.16)
3. ประเทศไทยเป็นผู้นำเข้าสำคัญอันดับที่ 13 ของโลก ของปี 2547 มีสัดส่วนการนำเข้าประมาณร้อยละ 1.66 ของการนำเข้าในตลาดโลก(ปี 2546 ไทยอยู่อันดับที่ 15 สัดส่วนร้อยละ 1.44)
4. การค้าของไทยในเดือน ม.ค.-มี.ค.2548 มีมูลค่า 53,359.21 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.41 แยกเป็นการส่งออกมูลค่า 25,198.12 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.44 การนำเข้ามีมูลค่า 28,161.09 ล้านเหรียญสหรัฐฯเพิ่มขึ้นร้อยละ 28.57 ไทยเสียเปรียบดุลการค้า เป็นมูลค่า 2,962.96 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
5. กระทรวงพาณิชย์ได้ตั้งเป้าหมายการส่งออกในปี 2548 ที่มูลค่า 117,196 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 การส่งออกเดือน ม.ค.-มี.ค. 2548 มีมูลค่า 53,359.21 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.41หรือคิดเป็นร้อยละ 21.5 ของเป้าหมายการ ส่งออก
6. สินค้าส่งออกสำคัญ 50 อันดับแรก สัดส่วนรวมกันร้อยละ 82.91 ของมูลค่าการส่งออกเดือน มี.ค. 2548 สินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกเปลี่ยนแปลงสูง มีดังนี้
- เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 50 มี 5 รายการ คือ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ วงจรพิมพ์ น้ำมันดิบ ไก่แปรรูป เพิ่มขึ้นร้อยละ 51.93, 57.61, 55.94, 53.00 และ 89.20 ตามลำดับ
7. ตลาดส่งออกสำคัญ 50 อันดับแรก สัดส่วนรวมกันร้อยละ 96.08 ของมูลค่าการส่งออก เดือน มี.ค. 2548 ตลาดที่มีมูลค่าการส่งออกเปลี่ยนแปลงสูง มีดังนี้
- เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 100 มี 2 ตลาด ได้แก่ อินเดีย อาร์เจนตินา โดยมีอัตราการขยายตัวร้อยละ 110.56, 268.04 ตามลำดับ
- เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 50 มี 7 ตลาด ได้แก่ อินโดนีเซีย แอฟริกาใต้ ตุรกี นิวซีแลนด์ ไนจีเรีย ออสเตรีย และเซเนกัล โดยมีอัตราการขยายตัวร้อยละ 55.68, 56.86, 54.36, 57.40, 55.10, 64.58 และ 69.82 ตามลำดับ
8. การนำเข้า
8.1 สินค้านำเข้ามีสัดส่วนโครงสร้างดังนี้
- สินค้าเชื้อเพลิง สัดส่วนร้อยละ 15.68 เพิ่มขึ้นร้อยละ 63.67
- สินค้าทุน สัดส่วนร้อยละ 27.90 เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.97
- สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สัดส่วนร้อยละ 44.37 เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.27
- สินค้าบริโภค สัดส่วนร้อยละ 6.60 เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.73
- สินค้ายานพาหนะและอุปกรณ์ขนส่ง สัดส่วนร้อยละ 3.64 เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.76
- สินค้าอาวุธ ยุทธปัจจัย และอื่นๆ สัดส่วนร้อยละ 1.81 เพิ่มขึ้นร้อยละ 131.27
8.2 แหล่งนำเข้าสำคัญ 10 อันดับแรก
มีสัดส่วนรวมกันร้อยละ 68.80 ของมูลค่าการนำเข้าเดือน มี.ค. 2548 ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน สหรัฐอเมริกา มาเลเซีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สิงคโปร์ ไต้หวัน เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และอินโดนีเซีย สัดส่วนร้อยละ 22.73, 9.01, 7.43, 7.07, 4.83, 4.33, 3.65, 3.43, 3.39 และ 2.93 โดยมีอัตราการขยายตัวร้อยละ 20.56, 43.03, 20.51, 47.65, 96.20, 29.75, 10.06, 0.75, 103.86 และ 74.79 ตามลำดับ
9. ข้อคิดเห็น
1. ไอเอ็มเอฟ ได้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวประมาณร้อยละ 4.3 ในปี 2005 และ 4.4 ในปี 2006 ส่วนธนาคารโลกได้เปิดเผยว่าเศรษฐกิจในประเทศแถบเอเซียตะวันออกไม่รวมญี่ปุ่นจะชะลอตัวลงจากร้อยละ 7.2 ที่คาดการณ์ไว้ครั้งแรกเป็นร้อยละ 6 เนื่องจากภาวะราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นและเศรษฐกิจของจีนจะชะลอตัวลงจากร้อยละ 9.5 เป็นร้อยละ 8.3 แต่เชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจในภาคเอเซียตะวันออกจะเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนมากขึ้น เนื่องจากมีการขยายตัวอย่างสมดุลมากขึ้นทั้งในภาคการส่งออก การบริโภคและการลงทุน ซึ่งจะช่วยปรับปรุงมาตรฐานการดำเนินชิวิตของประชาชนในภูมิภาครวมทั้งจะช่วยลดจำนวนคนยากจนของประเทศกำลังพัฒนาของเอเซียตะวันออกได้มากถึงร้อยละ 5-6 คิดเป็นจำนวนคนยากจนที่จะลดลงถึง 35 ล้านคนต่อปี โดยเฉพาะคนยากจนในจีน เวียดนาม อินโดนีเซียและไทย และรายได่ของประชาชนในชนบทและเขตเมืองจะเพิ่มสูงขึ้น
ในส่วนประเทศไทย ธนาคารโลกได้คาดการณ์ว่าจะชะลอตัวลงเหลือร้อยละ 5.2 ในปี 2548 และร้อยละ 5.6 ในปี 2549 ลดลงจากระดับร้อยละ 6.1 ในปี 2547 เนื่องจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ภาวะภัยแล้ง มหันตภัยสึนามิและเหตุการณ์รุนแรงในภาคใต้และการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก
ธนาคารโลกได้ประเมินว่าในปี 2548 นี้ การลงทุนภาคเอกชนของไทยจะลดลงราว 1.5% การส่งออกจะมีอัตราการขยายตัวลดลงในขณะที่การนำเข้ามีแนวโน้มสูงขึ้นแต่การลงทุนในภาคสาธารณะจะสูงขึ้นเป็น 2 เท่า
การบริโภคในภาคเอกชนจะชะลอตัวลงและเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นแตะระดับ 4% จากร้อยละ 2.7 ในปี 2547 ส่วนการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) จะชะลอตัวลงเล็กน้อยเนื่องจากความรุนแรงในภาคใต้
อย่างไรก็ตาม ผลการสำรวจของเอที เคิร์นนีย์ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นการลงทุนจากต่างประเทศในประเทศไทยยังมีความดึงดูดนักลงทุนจากเอเซียรองจาก จีน และอินเดียแต่ เมื่อเทียบกับนักลงทุนต่างชาติทั้งหมด โดยไทยตกมาอยู่อันดับที่ 20 จากเดิมอยู่ที่อันดับที่ 16 ในการสำรวจครั้งที่แล้ว
2. ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้คาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจว่ามีอัตราการขยายตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 4.5-5.5% ลดลงจากประมาณการครั้งก่อนที่ระดับ 5.25-6.25% ขณะที่การขยายตัวในปีหน้าจะอยู่ที่ระดับ 5.5-6.5% ลดลงจากเดิมที่ 5.5-7.0% เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจในด้านราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น และอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่อยู่ในระดับที่ต่ำกว่า ส่วนปัจจัยเรื่องสถานการณ์ความไม่สงบในภาคใต้และผลกระทบจากภัยแล้ง ถือว่าเป็นปัจจัยที่เสี่ยงที่จะต้องรอดูว่าจะมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นกว่าปัจจุบันหรือไม่ และได้คาดการณ์ถึงความเสียหายจากภัยแล้งไว้ที่ 0.22% ของจีดีพี
สำหรับอัตราเงินเฟ้อในปีนี้ ได้มีการประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปไว้ที่ระดับ 3-4% เพิ่มขึ้นจากการประมาณการครั้งก่อนที่ระดับ 2.5-3.5% และจะปรับลดลงไปอยู่ที่ระดับ 2-3% ในปีหน้า ทั้งนี้เนื่องมาจากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นจะส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อทั่วไป
ทั้งนี้ การคาดการณ์ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดในปีนี้ว่า ดุลการค้าจะขาดดุลประมาณ 4,000-5,000 ล้านดอลลาร์ ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุลที่ระดับ 1,000-2,000 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ปี 2549 จะขาดดุลประมาณ 5,000-6,000 ล้านดอลลาร์ และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลไม่เกิน 2,000 ล้านดอลลาร์
3. สำหรับการชะลอตัวของเศรษฐกิจในไตรมาสแรกที่อาจมีผลต่อเนื่องถึงไตรมาสที่สองของปีนี้ ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลังได้ดำเนินนโยบายเพื่อดูแลอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) โดยการตรึงอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรระยะ 14 วันไว้ที่ 2.25%
ด้านอธิบดีกรมสรรพกร (นายศิโรตม์ สวัสดิ์พาณิชย์) ได้กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบข้อเสนอของกระทรวงการคลังเกี่ยวกับมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน โดยมีสาระสำคัญ คือ ให้ผู้ประกอบการธุรกิจที่เป็นบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล ได้เปลี่ยนอุปกรณ์เดิมให้เป็นอุปกรณ์ที่ประหยัดพลังงานและสามารถหักรายจ่ายเพื่อการลงทุนได้ในอัตรา 1.25 เท่า ของมูลค่าทรัพย์สินสำหรับมูลค่าการลงทุน 50 ล้านบาทแรก โดยให้ทยอยหักรายจ่ายดังกล่าวภายใน 5 รอบระยะเวลาบัญชี นับแต่วันที่ทรัพย์สินนั้นใช้งานได้ มาตรการที่นำเสนอนั้น จะมีผลกระทบต่อรายได้ภาษีประมาณ 3,210 ล้านบาท ซึ่งกระทรวงการคลังเชื่อมั่นว่าจะช่วยลดการสูญเสียเงินตราต่างประเทศจากการนำเข้าพลังงานได้
ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การบริหารเศรษฐกิจไทยในอนาคตนั้น ควรมีความรอบคอบในการดำเนินด้านนโยบายการเงินให้มากยิ่งขึ้นเพราะอาจจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจมหภาคได้ เนื่องจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ตรึงอัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 14 วัน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นทางลบของนักลงทุนต่างประเทศและการไหลออกของเงินลงทุนในตลาดหุ้น เพราะการคงอัตราดอกเบี้ย เป็นการสะท้อนว่าเศรษฐกิจไทยมีปัจจัยเสี่ยงมากขึ้น สำหรับปัจจัยที่รัฐบาลคาดหวังว่าจะเป็นปัจจัยที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการส่งออก ซึ่งรัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายการขยายตัวของการส่งออกไว้ที่ 20% ยังจะต้องเผชิญอุปสรรคที่สำคัญจากการที่จีนประกาศตรึงค่าเงินหยวนไว้กับค่าเงินดอลลาร์จะสะท้อนให้เห็นว่าจีนมีโอกาสส่งออกได้มากยิ่งขึ้น
4. ด้านนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ประชุมร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก และผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท) ได้เปิดเผยว่ามูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในไตรมาสแรกของปี 2548 สูงขึ้น ถึง 89% เมื่อเทียบกับปีก่อน และได้มอบหมายนโยบายให้กับบีโอไอ ประสานความร่วมมือกับกรมส่งเสริมการส่งออกและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยให้ 3 หน่วยงานนี้ได้ประสานงานความร่วมมือกันในการดำเนินการในทิศทางเดียว ซึ่งจะสามารถดึงเงินลงทุนเข้าประเทศได้กว่า 1 ล้านล้านบาทในช่วง 3 ปีข้างหน้า
รองนายกรัฐมนตรี ยังย้ำด้วยว่ารัฐบาลต้องการให้ไทยเป็นศูนย์กลางการลงทุนและการท่องเที่ยวในภูมิภาคนี้โดยจะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ และเมื่อการส่งออก การท่องเที่ยวในประเทศมีความเข้มแข็ง รวมทั้งได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายแล้ว สามารถเชื่อมั่นได้ว่าอีก 3 ไตรมาสที่เหลืออยู่ในปีนี้ ไทยจะไม่ขาดดุลเหมือนไตรมาสแรกที่ผ่านมา
ที่มา: http://www.depthai.go.th
-ดท-

แท็ก การส่งออก   GDP  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ