การเจรจาการค้าสินค้าเกษตรรอบใหม่เริ่มทวีความเข้มข้นเป็นลำดับ กลุ่มเคร์นส์ สหรัฐฯ แคนาดา สหภาพยุโรป และกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา 11 ประเทศ นำโดยปากีสถาน คิวบา และเอลซาวาดอร์ เป็นต้น ได้ยื่นข้อเสนอในการเจรจาเปิดเสรีการค้าสินค้าเกษตรรอบใหม่ รวมทั้งสิ้น 9 ฉบับ ในการประชุม คณะกรรมการเกษตรสมัยพิเศษ ครั้งที่ 2 ที่ได้มีขึ้นระหว่างวันที่ 29-30 มิถุนายน 2543 กลุ่มเคร์นส์ได้ ยื่นข้อเสนอเรื่องการอุดหนุนส่งออก โดยเสนอให้ลด/เลิกการอุดหนุนส่งออกโดยเร็วเพื่อนำไปสู่การ ยกเลิกการให้การอุดหนุนส่งออกทั้งหมดภายในเวลาที่จะเจรจาตกลงกัน โดยในปีแรกให้ลดการอุดหนุน ลงครึ่งหนึ่งและหลังจากนั้นให้ลดลงปีละเท่าๆ กันจนหมด ทั้งนี้ กลุ่มได้มอบหมายให้ออสเตรเลียเป็น ผู้แถลงข้อเสนอนี้ในนามกลุ่มเคร์นส์ในการประชุมคณะกรรมการเกษตรสมัยพิเศษ ที่ประชุมส่วนใหญ่ ยกเว้นสหภาพยุโรปให้การสนับสนุนในหลักการให้ยกเลิกการอุดหนุนส่งออก แต่สมาชิก WTO ยังมีความเห็นแตกต่างในเรื่องการให้สินเชื่อเพื่อการส่งออก (export credit) และบทบัญญัติของประเทศ กำลังพัฒนา สหรัฐฯ เรื่องการปฏิรูปการค้าสินค้าเกษตรระยะยาว และรายละเอียดข้อเสนอเรื่อง การอุดหนุนภายใน ข้อเสนอนี้ได้รับความสนใจมาก เนื่องจากครอบคลุมในทุกเรื่อง และเป็นการแสดง ท่าทีให้สมาชิกเห็นว่าสหรัฐฯ มีความจริงจังกับการเจรจาเกษตรรอบใหม่ ประเด็นสำคัญในข้อเสนอนี้ คือเสนอให้เจรจาเรื่องเกษตรให้เสร็จภายในสิ้นปี 2545 โดยให้ตกลงเรื่อง รูปแบบ การลดภาษี และการอุดหนุนภายในปี 2544 และเสนอให้ลดภาษีจากอัตราที่เรียกเก็บจริง ปรับรูปแบบการเจรจา การอุดหนุนภายในใหม่ โดยจัดเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่เป็นข้อยกเว้น (มีหลักเกณฑ์คล้ายของเดิมแต่อาจ เพิ่มมาตรการใหม่ๆ เข้าไป) และกลุ่มที่ต้องลดการอุดหนุนลง โดยกำหนดเป้าหมายสุดท้ายให้ลดลง เหลือเป็นสัดส่วนกับมูลค่าการผลิตภายใน (ซึ่งสมาชิกยังไม่มั่นใจว่าจะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำหรือ ความไม่เท่าเทียมกันได้เนื่องจากประเทศที่มีการผลิตมาก อาทิ จีน สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และอินเดีย จะได้เปรียบประเทศที่มีการผลิตน้อย) ให้มีกฎเกณฑ์การนำเข้าส่งออกโดยรัฐวิสาหกิจ การเปิดเสรี เร่งด่วนในบางสาขา (sectoral-approach) และสินค้าที่ผลิตโดยเทคโนโลยีใหม่ (new technology) อย่างไรก็ตาม ประเทศกำลังพัฒนาเห็นว่าข้อเสนอของสหรัฐฯ ยังไม่ได้คำนึงถึงประเทศกำลังพัฒนา เท่าที่ควร โดยเฉพาะในเรื่องการลดภาษีและการอุดหนุนควรใช้พื้นฐานเดียวกัน ไม่ว่าจากที่เรียกเก็บจริง หรือจากที่ผูกพัน ญี่ปุ่นยังคงเชื่อมโยงเรื่องเกษตรกับการเจรจารอบใหม่ โดยเห็นว่าผลการเจรจา ในเรื่องนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของผลการเจรจารอบใหม่ แคนาดาเสนอเรื่องการเปิดตลาด กลุ่มเคร์นส์ บางประเทศ อาทิ โคลอมเบีย อาเซียน และสมาชิกจากประเทศกำลังพัฒนา เช่น เม็กซิโก และเกาหลี ไม่สนับสนุนให้มีการลดอัตราภาษีเหลือศูนย์ (zero for zero) ในบางสาขา นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นว่า การกำหนดให้มีโควต้าภาษีสำหรับรายการที่มีอัตราภาษีสูงมาก จะเพิ่มความซับซ้อนมากขึ้นในการนำเข้า เป็นต้น กลุ่มประเทศกำลังพัฒนา 11 ประเทศ อาทิ ปากีสถาน เอลซาวาดอร์ คิวบา ศรีลังกา และ เคนยา เสนอเรื่องการปฏิบัติที่เป็นพิเศษและแตกต่างสำหรับประเทศกำลังพัฒนา(S&D) และการอุดหนุนที่ ไม่บิดเบือนตลาดซึ่งเป็นข้อยกเว้น หรือ Green Box ข้อเสนอนี้ได้รับการตอบรับจากสมาชิก WTO มาก อย่างไรก็ตาม มีบางประเด็นที่สมาชิกอาจต้องพิจารณาในรายละเอียด เช่น ข้อยกเว้นไม่รวมสินค้าที่สำคัญ (key products) และ staple food ของประเทศกำลังพัฒนาไว้ในการเปิดเสรีตามความตกลงเกษตร เป็นต้น ในขณะที่สหภาพยุโรป เสนอ 3 เรื่อง คือ การอุดหนุนภายในที่มีเงื่อนไขเฉพาะ (Blue Box) คุณภาพสินค้า (Food Quality) และสวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare) แต่ที่ประชุมยังไม่ได้พิจารณา ข้อเสนอของสหภาพยุโรป เนื่องจากเวลาจำกัด อย่างไรก็ตาม คาดว่าสมาชิกจะมีความเห็นที่แตกต่างกัน กล่าวคือ กลุ่มหนึ่ง รวมทั้งญี่ปุ่น เกาหลี สวิตเซอร์แลนด์ และนอร์เวย์ จะให้การสนับสนุน ส่วนอีกกลุ่ม เห็นว่าข้อเสนอดังกล่าวเป็นกลยุทธ์ของสหภาพยุโรปที่เสนอเพื่อชะลอการเจรจาเกษตรให้มีความยุ่งยาก และซับซ้อนขึ้น โดยเฉพาะ ใน 2 เรื่องหลังที่อยู่นอกกรอบความตกลงเกษตร นอกจากนี้แล้ว ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการเกษตร ได้จัดทำเอกสารรวบรวมข้อมูล การเปิดตลาด การอุดหนุนภายใน และการอุดหนุนส่งออกของประเทศสมาชิกที่ได้แจ้งต่อคณะกรรมการเกษตร และวิเคราะห์ผลกระทบต่อ การค้าสินค้าเกษตรของประเทศสมาชิก รวมทั้งประเทศกำลังพัฒนาและประเทศผู้นำเข้าอาหารสุทธิ เพื่อช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาในเรื่องข้อมูลประกอบการเจรจา อย่างไรก็ตาม ประเทศสมาชิก มีข้อสังเกตว่า เอกสารดังกล่าวยังไม่สมบูรณ์และไม่ทันสมัย ซึ่งทำให้ผลการวิเคราะห์แตกต่างจาก ข้อเท็จจริง นอกจากนี้ ผลการวิเคราะห์แตกต่างไปจากที่ OECD ศึกษาว่าประเทศพัฒนาแล้วมีการ อุดหนุนภายในและอุดหนุนส่งออกเพิ่มขึ้น และเสนอให้ฝ่ายเลขานุการฯ ปรับปรุงเพิ่มเติม โดยเฉพาะ ในประเด็นเรื่องผลกระทบต่อประเทศกำลังพัฒนา โดยใช้ข้อมูลที่ทันสมัยขึ้นและมีการประสานกับ องค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ รวมถึงการปรับปรุงข้อมูลในเรื่องการให้สินเชื่อเพื่อการส่งออก (export credit) เรื่องอัตราภาษีที่เรียกเก็บจริง เรื่องผลกระทบของอัตราแลกเปลี่ยนต่อการอุดหนุน ภายใน และเรื่องการบริหารโควตาและการนำเข้าไม่เต็มโควตา เป็นต้น นอกจากนี้ สหภาพยุโรป ขอให้ฝ่ายเลขานุการรวบรวมข้อเสนอเกี่ยวกับประเด็นที่ไม่เกี่ยวกับการค้า (non-trade concerns) ที่สมาชิกได้เสนอในกระบวนการวิเคราะห์และแลกเปลี่ยนข้อมูล (Analysis and Information Exchange : AIE) เพื่อใช้เป็นพื้นฐานประกอบการเจรจารอบใหม่ด้วย แต่ถูกคัดค้านจากสมาชิกกลุ่มเคร์นส์ บางประเทศ เนื่องจากข้อเสนอดังกล่าวไม่ใช่ข้อเท็จจริงแต่เป็นท่าทีของประเทศสมาชิก ก่อนหน้าที่จะ มีการประชุมคณะกรรมการเกษตรสมัยพิเศษภายใต้กรอบการเจรจาเปิดเสรีการ ค้าสินค้าเกษตรรอบใหม่ รองอธิบดีกรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ (นางพวงรัตน์ อัศวพิศิษฐ์) ในฐานะ หัวหน้าคณะผู้แทนไทยได้ เข้าร่วมประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสของกลุ่ม ณ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2543 เพื่อวางกลยุทธ์ของกลุ่มในการประชุมคณะกรรมการเกษตรสมัยพิเศษ ดังกล่าว และมีข้อสรุป ร่วมกันว่าจะยื่นเอกสารข้อเสนอเรื่องการอุดหนุนภายใน (Domestic Support) และตามด้วยการเปิดตลาด (Market Access) ในการเจรจาต่อไป ทั้งนี้ รัฐมนตรีกลุ่มเคร์นส์จะมีการประชุมเพื่อหารือในการเจรจา เปิดเสรีการค้าสินค้าเกษตรและวางกลยุทธ์ร่วมกันในการผลักดันให้การเจรจาประสบผลสำเร็จตาม เป้าหมายของกลุ่ม โดยมีแคนาดาเป็นเจ้าภาพการประชุมในระหว่างวันที่ 10-12 ตุลาคม 2543 ณ เมือง Banff แคนาดา
--กรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ กรกฎาคม 2543--
-ปส-
--กรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ กรกฎาคม 2543--
-ปส-