wto ถูกสมาชิกยำเละ ก่อนที่จะรับรองรายงานผลการตัดสิน เรื่องกุ้งกับเต่าทะเล -------------------------------------------------------------------------------- สมาชิก WTO ได้กล่าวคัดค้านไม่เห็นด้วย กับแนวทางการพิจารณาและผลการตัดสินของ องค์กรอุทธรณ์ (Appellate Body) ในกรณีพิพาทเรื่องกุ้งกับเต่าทะเลเกี่ยวกับเรื่องที่ องค์กรอุทธรณ์ได้ใช้อำนาจเกินขอบเขตที่มีอยู่ก่อนที่องค์กรยุติข้อพิพาทของ WTO (Dispute Settlement Body) จะรับรองรายงานผลการตัดสินเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2541ไทย มาเลเซีย อินเดีย และปากีสถานได้กล่าวถ้อยแถลงไปในแนวทางเดียวกันที่สนับสนุน ผลการ พิจารณาของคณะผู้พิจารณาว่ามาตรการของสหรัฐฯ มีผลคุกคามต่อระบบการค้าพหุภาคี (a threat to multilateral trading system) และไม่เห็นด้วยกับผลการตัดสินขององค์กรอุทธรณ์ที่ สรุปว่ามาตรการห้ามนำเข้ากุ้งทะเลของสหรัฐฯ โดยการบังคับให้ใช้เครื่องมือ TEDs เพื่ออนุรักษ์ เต่าทะเล สอดคล้องกับข้อย่อยในมาตรา 20 ของ GATT ซึ่งอนุญาตให้สมาชิก ใช้มาตรการห้ามนำเข้าได้ ถ้าเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติที่จะสูญสิ้นไป โดยเฉพาะ อย่างยิ่ง การที่องค์กรอุทธรณ์ตีความให้ถือว่าทรัพยากรธรรมชาติที่จะสูญสิ้น ไปนั้น รวมถึงสิ่งที่มีชีวิตด้วย ซึ่งที่ผ่านมายังไม่เคยตีความมาก่อน และโดยที่ WTO มีข้อย่อย (b) ในมาตราเดียวกันระบุถึงความจำเป็นที่จะคุ้มครองชีวิตและสุขภาพของมนุษย์ สัตว์และพืช แยกต่างหากอยู่แล้ว การตัดสินดังกล่าวทำให้ข้อย่อย (b) ซึ่งเดิมมีความเข้มงวดในการใช้มาก หมดความหมายไป และเปิดโอกาสให้มีการหลบเลี่ยงใช้มาตรการห้ามนำเข้าโดยอ้างข้อย่อย (g) มากขึ้นในอนาคต นอกจากนี้ยังอาจเป็นไปได้ที่จะตีความว่า มนุษย์ก็เป็นทรัพยากร ธรรมชาติที่จะสูญสิ้นไปได้ หรือถ้ามีความเห็นในทางตรงกันข้าม ก็จะแสดงว่า WTO ให้ความ สำคัญกับการคุ้มครองสัตว์มากกว่ามนุษย์ นอกกจากนี้ การที่องค์กรอุทธรณ์มีข้อสรุปว่า การบังคับ ใช้เครื่องมือ TEDs สอดคล้องกับข้อย่อย (g) ด้วยนั้น เท่ากับยอมรับให้มีการ เลือกปฏิบัติต่อสินค้าที่ใช้กรรมวิธีและวิธีการผลิตที่ไม่เกี่ยวข้องกับตัวสินค้ามาเป็นเงื่อนไขได้ (non-product-related Process and Poduction Methods : PPMs) กล่าวคือ ให้การปฏิบัติ ที่แตกต่างกันระหว่างสินค้าชนิดเดียวกันแต่มีกรรมวิธีผลิตที่ต่างกัน ซึ่งในความตกลง WTO นั้น กระทำไม่ได้ผลการตัดสินนี้ จึงเป็นการตีความเกินขอบเขตของความตกลง WTO และอาจถือเป็นการปรับปรุงข้อตกลงซึ่งเป็นเรื่องที่มีผล กระทบกว้างขวางเพราะการตีความ ที่มีผลแก้ไขบทบัญญัติในความตกลง WTO นั้น เป็นหน้าที่ของสมาชิกกว่า 100 ประเทศ มิใช่องค์กรอุทธรณ์ซึ่งมีเพียง 3 คนนอกจากเรื่องสาระแล้ว กลุ่มผู้ฟ้องยังได้คัดค้าน ผลการตัดสินในเรื่องการอนุญาตให้บุคคลภายนอก อาทิ กลุ่มองค์กรเอกชน (NGOs) เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการยุติข้อพิพาท โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเสนอเอกสารข้อคิดเห็น (amicus briefs) ทั้งทางตรงถึงคณะผู้พิจารณา (Panel) และ/หรือทางอ้อมผ่านทางคู่กรณี จากบทบัญญัติที่กำหนดไว้ในความเข้าใจว่าด้วยกระบวนการยุติข้อพิพาท (DSU) นั้น ได้กำหนดให้คู่กรณีและสมาชิกที่มีส่วนไดเสียในกรณีพิพาทนั้นๆ เท่านั้น ที่จะแสดงข้อคิด เห็นได้ และหากคณะผู้พิจารณาประสงค์ข้อมูลเพิ่มเติมก็สามารถทำได้ แต่ต้องเป็นความ ประสงค์ของตัวคณะผู้พิจารณาเอง มิใช่จากบุคคลภายนอกเป็นผู้เสนอข้อมูลเข้ามาให้ พิจารณา ยิ่งไปกว่านั้น ในกระบวนอุทธรณ์ องค์กรอุทธรณ์มีขอบเขตการพิจารณาเฉพาะข้อ กฎหมายเท่านั้น และไม่มีบทบัญญัติใดๆ ที่จะเปิดช่องให้องค์กรอุทธรณ์รับฟังหรือหาข้อ เท็จจริงเพิ่มเติมที่นอกเหนือจากที่มีอยู่ในการพิจารณาของคณะผู้พิจารณา ข้อสรุปของ องค์กรอุทธรณ์ที่รับฟังความเห็นของ NGOs จึงเป็นการใช้อำนาจเกินขอบเขตที่มีอยู่และ ทำให้เกิดความเสียหายต่อระบบโดยรวมในท้ายที่สุด กลุ่มผู้ฟ้องร่วมได้แสดงจุดยืน ที่จะนำข้อกังวลข้างต้นเข้าสู่กระบวนการพิจารณาทบทวนแก้ไข DSU ที่กำลังดำเนินการ อยู่ในขณะนี้ พร้อมกับเรียกร้องให้สหรัฐฯ ยกเลิกมาตรการห้ามนำเข้าโดยทันทีและแก้ไข กฎหมายให้สอดคล้องกับผลสรุปขององค์กรอุทธรณ์ที่ระบุว่ามาตรการของสหรัฐฯ ขัดกับ มาตรา 11เรื่องการห้ามนำเข้า และไม่ผ่านการพิจารณาในข้อยกเว้นมาตรา 20 ในส่วนที่ เกี่ยวกับ การเลือกปฏิบัติตามอำเภอใจและอย่างไม่มีเหตุผล แม้ว่าจะผ่านเงื่อนไขในข้อย่อย (g) ก็ตาม ข้อคิดเห็นของกลุ่มผู้ฟ้องได้รับการสนับสนุนจากสมาชิก WTO อื่นๆ กล่าวคือ ญี่ปุ่น บราซิล เม็กซิโก ฮ่องกง และฟิลิปปินส์ ในขณะที่สหรัฐฯ กล่าวสนับสนุนผลการ ตัดสินขององค์กรอุทธรณ์ โดยยืนกรานว่า องค์กรอุทธรณ์มีข้อสรุปว่าไม่มีความขัดกันระหว่าง กฎหมาย Section 609 กับข้อผูกพันของสหรัฐฯ ภายใต้ WTO แต่การบริหารให้เป็นไปตาม กฎหมายเท่านั้นที่มีการเลือกปฏิบัติอย่างอำเภอใจและไม่มีเหตุผล และเห็นด้วยกับองค์กร อุทธรณ์ที่สรุปว่า มาตรา 20 ข้อย่อย (g) รวมถึงสิ่งที่มีชีวิต และกฎหมายของสหรัฐฯ มีความเกี่ยวข้อง โดยตรงกับการอนุรักษ์เต่าทะเล ภายใต้มาตรา 20 รวมทั้งเห็นว่าการที่ ี่องค์กรอุทธรณ์ไม่ยอมรับในเรื่องข้อจำกัดเกี่ยวกับสิทธิสภาพนอกเขตอาณา (jurisdictional limitation) ในการพิจารณา เป็นสิ่งที่มีนัยสำคัญอย่างมาก นอกจากนี้สิ่งที่สหรัฐฯ พอใจเป็น อย่างยิ่ง ก็คือการที่องค์กรอุทธรณ์ระบุว่า การตีความมาตรา 20 จำต้องมีการปรับปรุง ให้สอดคล้องกับข้อกังวลร่วมสมัยของสังคมโลกในเรื่องการคุ้มครองและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (contemporary concerned of the community of nations about the protection and conservation of the environment) และเห็นด้วยกับข้อสรุปที่ว่าประเทศใดๆ สามารถและ ควรจะยอมรับมาตรการที่มีประสิทธิภาพในการคุ้มครองสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์เช่นเต่าทะเลได้ ออสเตรเลียและสหภาพยุโรปซึ่งร่วมกระบวนการในฐานะที่เป็นประเทศผู้มีส่วนได้เสียด้วย นั้น กล่าวในเชิงเป็นกลางว่า การแก้ไขปัญหาเรื่องการค้ากับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมควรจะ ต้องดำเนินการผ่านการเจรจาพหุภาคี และเห็นด้วยกับองค์กรอุทธรณ์ว่าการใช้มาตรการ ฝ่ายเดียวเป็นสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับความตกลง WTO ตามบทบัญญัติของ DSU สหรัฐฯ จะต้องแจ้งเจตจำนงค์ในการปฏิบัติให้เป็นไปตามผลการตัดสินขององค์กรอุทธรณ์ (compliance) ต่อที่ประชุมองค์กรยุติข้อพิพาทภายใน 30 วันนับจากวันที่รับรองรายงาน เพื่อให้คู่กรณีได้รับทราบสิ่งที่สหรัฐฯ ต้องปรับปรุงมาตรการที่ใช้อยู่ให้สอดคล้องกับ บทบัญญัติของ WTO ทั้งนี้ สหรัฐฯ จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 15 เดือน มิฉะนั้น คู่กรณีอาจร้องขอให้มีการชดเชยค่าเสียหายที่เกิดขึ้นได้ในจำนวนที่เท่ากับค่าเสียหายที่เกิดขึ้น ประเด็นนี้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งอันหนึ่งต่อกระบวนการยุติข้อพิพาทที่จะต้องจับตามองอย่าง ใกล้ชิดประเด็นสุดท้ายที่ผลการตัดสินขององค์กรอุทธรณ์นี้ได้สร้างนัยที่สำคัญต่อระบบการค้า พหุภาคีก็คือการสร้างปมปัญหาไว้อีกมากมายเพื่อรอการแก้ไข เพราะผลการตัดสินได้เปิดช่อง ให้สมาชิกสามารถใช้มาตรการห้ามนำเข้าเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้ หากมาตรการนั้นๆ ไม่มีการเลือกปฏิบัติ นอกจากนี้ ยังได้เปิดช่องเป็นตัวอย่างในการแอบอ้างการใช้มาตรการ ห้ามนำเข้าเพื่อวัตถุประสงค์อื่นๆ อีกได้เช่นกัน อาทิเช่น การแอบอ้างเพื่อคุ้มครองแรงงานเด็ก เพื่อคุ้มครองน้ำเสีย เพื่อคุ้มครองป่าไม้ ฯลฯ ซึ่งคาดเดาได้ว่า ประเด็นเหล่านี้จะชักนำให้เกิด กรณีพิพาทอีกจำนวนมากในอนาคตอันใกล้นี้อีกด้วย เหล่านี้เป็นสิ่งที่ท้าทายสมาชิก WTO และมีความสำคัญต่อทิศทางการดำเนินงานของระบบการค้าพหุภาคี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การ เจรจารอบใหม่ที่อาจมีขึ้นในศตวรรษที่ 21 นี้ ติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมผ่าน E-mail mailto:thai(WTO)@lprolink.ch หรือ http://www.dbe.moc.go.th/MOCOff/Oversea/OverSeaPart.html More Information Contact to The Permanent Mission of Thailand to the World Trade Organization (WTO)
--กรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ กุมภาพันธ์ 2543--
-ปส-
--กรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ กุมภาพันธ์ 2543--
-ปส-