สรุปข่าวประจำวัน วันที 28 ธันวาคม 2543

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 29, 2000 06:36 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

          ข่าวในประเทศ
1. ผู้ว่าการ ธปท.รายงานภาวะเศรษฐกิจการเงินไทย ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวในการรายงานสาธารณะเรื่องภาวะเศรษฐกิจการเงินไทย เมื่อวันที่ 27 ธ.ค.43 ว่า เศรษฐกิจไทยปี 44 จะเผชิญความเสี่ยงหลายด้าน โดยเฉพาะความเสี่ยงด้านต่างประเทศจากการที่เศรษฐกิจ สรอ. ซึ่งเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของไทยชะลอตัวลง ขณะที่การนำเข้าขยายตัวสูงขึ้นจนกระทบต่อเสถียรภาพฐานะการเงินต่างประเทศที่ดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุลลดลง อย่างไรก็ตาม การนำเข้าที่สูงขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นการขยายตัวเพื่อนำเข้ามาผลิต ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 44 จะเติบโตในระดับร้อยละ 4 โดยจะขยายตัวดีในช่วงครึ่งหลังของปี ทั้งนี้ การผลักดันเศรษฐกิจควรให้ความสำคัญกับการใช้จ่ายในประเทศเพิ่มขึ้น โดยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคและนักลงทุน ซึ่งรัฐบาลใหม่รวมทั้งนโยบายแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่น นอกจากนั้นนโยบายด้านการคลังต้องมีบทบาทมากขึ้นในการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ต้องรักษาความสมดุลระหว่างการกระตุ้นเศรษฐกิจกับเสถียรภาพฐานะการคลังของประเทศในระยะยาวควบคู่กัน ขณะที่นโยบายด้านการเงินจะยังคงสนับสนุนให้เกิดการลงทุนมากขึ้น โดยจะดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำต่อไปอีกระยะหนึ่ง ทั้งนี้ ความอยู่รอดของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว ขึ้นอยู่กับความสำคัญ 3 ประการที่รัฐบาลต้องนำไปปฏิบัติ ได้แก่ 1.การพัฒนาอุตสาหกรรมให้ทันสมัยเทียบเคียงกับประเทศอื่น โดยปรับปรุงระบบการบริหารจัดการและเทคโนโลยี 2.กำหนดวาระแห่งชาติ และบังคับใช้หลักธรรมาภิบาลอย่างกว้างขวางในทุกระดับขั้น 3.วางแนวทางให้โครงสร้างทางการเงินของประเทศมีการพัฒนาอย่างสมดุลและเป็นประโยชน์ต่อการลงทุน (ไทยโพสต์ 28)
2. รัฐบาลขาดดุล งปม. 4.1 หมื่น ล.บาทในช่วง 2 เดือนแรกปี งปม.44 โฆษก ก.คลัง เปิดเผยถึงข้อมูลการคลังประจำเดือน พ.ย.43 ว่า ในช่วง 2 เดือนแรกของปี งปม.44 (ต.ค.-พ.ย.43) รัฐบาลมีรายรับเงิน งปม. 109,506 ล.บาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปี 43 ร้อยละ 2.8 รายจ่าย 154,307 ล.บาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปี 43 ร้อยละ 2.1 ทำให้รัฐบาลมีดุล งปม.ขาดดุล 44,801 ล.บาท และเมื่อรวมกับดุลนอก งปม.ซึ่งเกินดุล 3,019 ล.บาท มีผลให้ดุลเงินสดรัฐบาลขาดดุล 41,782 ล.บาท ทั้งนี้ การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลช่วง 2 เดือนแรกปี งปม.44 มีจำนวน 121,301 ล.บาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปี 43 จำนวน 2,773 ล.บาท โดยหน่วยงานที่จัดเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นคือ กรมสรรพากร กรมศุลกากร ส่วนกรมสรรพสามิตจัดเก็บได้ลดลง (เดลินิวส์ 28)
3. ตัวเลขสินเชื่อ เงินฝาก และสินทรัพย์ในระบบ ธพ.ไทย ณ วันที่ 30 พ.ย. 43 บ.ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานตัวเลขสินเชื่อ เงินฝาก และสินทรัพย์ ในระบบ ธพ.ไทย ณ วันที่ 30 พ.ย.43 ว่า สินเชื่อคงค้างมีจำนวนทั้งสิ้น 3,250,745 ล.บาท ลดลงจากเดือน ต.ค.43 จำนวน 8,134 ล.บาท หรือลดลงร้อยละ 0.25 ส่วนเงินฝากมียอดคงค้างทั้งสิ้น 4,627,113 ล.บาท เพิ่มขึ้นจากเดือน ต.ค.43 จำนวน 39,070 ล.บาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.85 สำหรับสินทรัพย์รวมในระบบ มีจำนวนทั้งสิ้น 5,549,485 ล.บาท ลดลง 14,696 ล.บาท หรือลดลงร้อยละ 0.26 (แนวหน้า 28)
ข่าวต่างประเทศ
1. ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจของ สรอ.ลดลงร้อยละ 0.2 ในเดือน พ.ย.43 รายงานจากวอชิงตัน เมื่อ 27 ธ.ค.43 The Conference Board รายงานว่า เดือน พ.ย.43 ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ (Index of Leading Economic Indicators) ซึ่งใช้วัดภาวะเศรษฐกิจในช่วงที่กำลังมาถึงของ สรอ. อยู่ที่ระดับ 105.3 ลดลงร้อยละ 0.2 หลังจากที่ลดลงร้อยละ 0.3 ในเดือน ต.ค.43 ลดลงในอัตราเดียวกับความคาดหมายของนักเศรษฐศาสตร์จากการสำรวจของรอยเตอร์ โดยส่วนประกอบของดัชนีฯ 5 ใน 10 ตัวลดลง นักเศรษฐศาสตร์ของ Conference Board (นาย Ken Goldstein) กล่าวว่า ดัชนีฯ ในเดือน พ.ย.นี้ ส่งสัญญาณว่า ในครึ่งแรกของปี 44 เศรษฐกิจ สรอ.จะชะลอตัว ซึ่งในระยะ 10 เดือนที่ผ่านมาของปี 43 ดัชนีฯ ลดลงถึง 8 เดือน จากที่ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ดัชนีฯ เพิ่มขึ้นระหว่างร้อยละ 1.5-2 ในแต่ละปี ทางด้าน Coincident index ซึ่งใช้วัดภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 116.3 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 หลังจากที่ลดลงร้อยละ 0.1 ในเดือน ต.ค.43 ซึ่งก่อนหน้าเดือน ต.ค.43 Coincident index เพิ่มขึ้นติดต่อกันมาถึง 13 เดือน ส่วน Lagging index ซึ่งใช้วัดภาวะเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาอยู่ที่ระดับ 106.4 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 เท่ากับเดือน ต.ค.43 (รอยเตอร์ 27)
2. การสร้างบ้านใหม่ของญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 ในเดือน พ.ย.43 รายงานจากโตเกียว เมื่อวันที่ 27 ธ.ค.43 ก.การก่อสร้างของญี่ปุ่น รายงานว่า เดือน พ.ย.43 การสร้างบ้านใหม่ของญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปี 42 มาอยู่ที่จำนวน 107,020 หลังต่อปี เป็นการเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 แต่นักเศรษฐศาสตร์กล่าวว่า แนวโน้มยังคงไม่แจ่มใส แม้คาดว่าตลาดที่อยู่อาศัยจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลที่จะตัดสินใจใช้มาตรการลดภาษีสำหรับการซื้อบ้านใหม่ในช่วง 2 ปีหน้า (รอยเตอร์ 27)
3. คำสั่งก่อสร้างของญี่ปุ่นลดลงร้อยละ 0.5 ในเดือน พ.ย.43 รายงานจากโตเกียว เมื่อวันที่ 27 ธ.ค.43 ก.การก่อสร้างของญี่ปุ่นรายงานว่า เดือน พ.ย.43 คำสั่งก่อสร้างที่บริษัทก่อสร้างของญี่ปุ่นจำนวน 50 บริษัทได้รับ ลดลงร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปี 42 มาอยู่ที่มูลค่า 1,060.65 พัน ล.เยน (รอยเตอร์ 27)
4. เศรษฐกิจเกาหลีใต้มีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงเหลือร้อยละ 4.2 ในครึ่งแรกของปี 44 รายงานจากโซลเมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 43 สถาบันพัฒนาของเกาหลีใต้ (KDI) คาดการณ์ว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 44 เศรษฐกิจเกาหลีใต้จะขยายตัวชะลอลงอยู่ที่ระดับร้อยละ 4.2 ขยายตัวต่ำกว่าไตรมาสที่ 4 ปี 43 ที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 6.1 เนื่องจากเซมิคอนดักเตอร์ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักของเกาหลีใต้มีราคาลดลง รวมทั้งการอ่อนตัวของความต้องการภายในประเทศ ได้ส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 ปี 43 ชะลอลง และจะส่งผลต่อเนื่องไปจนถึงครึ่งแรกของปี 44 โดย KDI คาดว่า ทั้งปี 44 เศรษฐกิจจะขยายตัวประมาณร้อยละ 5.1 ขยายตัวลดลงจากปี 43 ที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 9.2 ดัชนีราคาผู้บริโภคจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 3.4 ต่อปี การบริโภคจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 การส่งออกจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.0 และการนำเข้าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.3 (รอยเตอร์ 27)
อัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยเงินบาท/ดอลลาร์ สรอ.ระหว่างธนาคาร ณ สิ้นวันทำการ 27 ธ.ค.43 42.470 (42.106)
อัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยเงินบาท/ดอลลาร์สรอ.ที่ ธพ.ซื้อขายกับลูกค้า(ตั๋วเงิน) ณ สิ้นวันทำการ 27 ธ.ค. 43
ซื้อ 42.2100 (41.8473) ขาย 42.5485 (42.1773)
ทองคำแท่ง(บาทละ) ซื้อ 5,550 (5,500) ขาย 5,650 (5,600)
น้ำมันดิบ(ดอลลาร์ สรอ./บาร์เรล) โอมาน - (20.45)
น้ำมันเบนซินพิเศษ(เพอร์ฟอร์มาโกลด์) - (15.59) ดีเซลหมุนเร็ว - (13.14)
หมายเหตุ ตัวเลขในวงเล็บเป็นตัวเลขของวันก่อน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ