ลำดับเหตุการณ์สำคัญในช่วงการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก ครั้งที่ 3 เริ่มต้นวันแรกของการประชุมด้วยกลุ่มผู้ประท้วง และการยกเลิกพิธีเปิดการประชุม 1. พิธีเปิดการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลกครั้งที่ 3 ซึ่งกำหนดเริ่มอย่างเป็นทางการในช่วงเช้า ของวันที่ 30 พฤศจิกายน 2542 ที่นครซีแอตเติล ไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากถูกกลุ่มผู้ประท้วง ที่มาจากกลุ่มต่างๆ ทั่วโลก เช่น กลุ่มแรงงาน กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม กลุ่มอนุรักษ์เต่า จำนวน กว่าสองหมื่นคน ปิดกั้นถนนเกือบทุกสายที่มุ่งสู่สถานที่ทำพิธีเปิดการประชุม จนประธานที่ประชุม (นาง Barshefsky) และรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐ (นาง Albright) ตลอดจนผู้แทนของบาง ประเทศไม่สามารถเดินทางมาร่วมพิธีได้ จึงต้องยกเลิกพิธีเปิดในช่วงเช้ารวมทั้งยกเลิกการประชุมในระดับ หัวหน้าคณะผู้แทน ในระหว่างอาหารกลางวัน ซึ่งจะเป็นการหารือเกี่ยวกับรูปแบบการประชุมในระหว่าง การประชุมที่ซีแอตเติล 2. อย่างไรก็ตาม ในช่วงบ่ายได้ดำเนินการประชุมตามกำหนดการ คือ เป็นการกล่าวสุนทรพจน์ของ หัวหน้าคณะผู้แทนประเทศต่างๆ อาทิ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป ออสเตรเลีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และอินเดีย ตลอดจนผู้แทนองค์กรระหว่างประเทศ เช่น IMF World Bank และอังค์ถัด และประธานได้เวียนเอกสาร เกี่ยวกับการดำเนินการประชุมโดยแบ่งเป็น 5 กลุ่มเจรจาย่อย รูปแบบการประชุม 3. การประชุมที่ซีแอตเติลแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 3.1 การกล่าวสุนทรพจน์ของรัฐมนตรีเพื่อแสดงถึงวิสัยทัศน์ และท่าทีของประเทศสมาชิกซึ่งเริ่มตั้งแต่บ่าย วันที่ 30 พฤศจิกายน - 3 ธันวาคม 2542 สำหรับไทย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวง พาณิชย์ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ได้กล่าวถ้อยแถลงเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2542 เวลา 11.00 น. โดยเน้นประเด็นสำคัญ 4 เรื่อง คือ 1) WTO ต้องเปิดโอกาสให้ประเทศกำลังพัฒนาสามารถเข้ามามีส่วนใน WTO อย่างเต็มที่ และเท่าเทียมกัน 2) ปัญหาในการปฏิบัติตามพันธกรณีความตกลง WTO ควรได้รับการแก้ไขในทันที 3) เรียกร้องให้ประเทศสมาชิกหันหน้าเข้าหากันในการยอมรับให้มีการเจรจาปฏิรูปสินค้าเกษตรต่อไป 4) เสนอทางออกในเรื่องแรงงาน โดยการจัดประชุมระดับสูงในเรื่องนี้ผ่านองค์กรที่มีความเป็นกลาง เช่น อังค์ถัด หรือคณะกรรมการว่าด้วยเศรษฐกิจและสังคม โดยจะไม่ใช้เรื่องแรงงานมาเป็นเงื่อนไขในการค้า 3.2 การเจรจาเพื่อจัดทำร่างปฏิญญารัฐมนตรีองค์การการค้าโลก ครั้งที่ 3 ซึ่งเป็นประเด็นปัญหาหลักที่ รัฐมนตรีจะต้องแก้ไข เนื่องจากเป็นตัวชี้ถึงความสำเร็จหรือความล้มเหลวของ WTO 4. ประธานได้แบ่งกลุ่มการเจรจาเพื่อจัดทำร่างปฏิญญาเป็น 5 กลุ่ม คือ 1) เกษตร มีสิงคโปร์เป็นประธาน 2) การปฏิบัติตามพันธกรณี และกฎเกณฑ์ทางการค้า มีแคนาดาเป็นประธาน และจาไมก้า เป็นประธานร่วม 3) การเข้าสู่ตลาด มีเลโซโทเป็นประธาน 4) เรื่องการลงทุน การแข่งขัน ความโปร่งใสในการจัดซื้อโดยรัฐ การอำนวยความสะดวกทางการค้า และเรื่องอื่นๆ มีนิวซีแลนด์เป็นประธาน 5) เรื่องขององค์กร WTO เช่น การให้ประเทศสมาชิกเข้ามามีบทบาทและมีส่วนร่วมใน WTO และ ความโปร่งใสในการดำเนินงาน รวมไปถึงการประสานงานกับองค์กรอิสระ มีชิลีเป็น ประธาน ทั้งนี้ ประธานกลุ่มต่างๆ ได้เริ่มเรียกหารือกลุ่มย่อยโดยเปิดให้สมาชิกที่สนใจเข้าร่วมประชุมในวันที่ 1 ธันวาคม 2542 และจะเสนอร่างปฏิญญาในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อประธานภายในบ่ายวันที่ 2 ธันวาคม หลังจากนั้น จะเป็นกระบวนการหารือกลุ่มย่อยในรูปแบบห้องเขียว (Green Room) โดยมีนาง Barshefsky เป็นประธาน และจะเชิญสมาชิกประมาณ 20 - 25 ประเทศที่มีบทบาทสำคัญเข้าร่วมหารือ เท่านั้น สำหรับไทย ได้รับเชิญให้เข้าร่วมในการประชุม Green Room ด้วย การหารือในคณะทำงานต่าง ๆ 5. เรื่องเกษตร ประธานได้หารือกับประเทศต่างๆ และได้ยกร่างปฏิญญาโดยใช้เอกสารท่าทีของกลุ่ม เคร์นส์ และสหรัฐฯ เป็นพื้นฐาน และผนวกท่าทีของสหภาพยุโรป ข้อเสนอของญี่ปุ่นและกลุ่มในเรื่อง บทบาทที่หลากหลายในภาคเกษตร (multifunctionality) ซึ่งทำให้การเจรจาปฏิรูปเกษตรอ่อนลง รวมทั้งข้อ เสนอของอินเดียในเรื่องการปฏิบัติที่เป็นพิเศษและแตกต่าง ประธานได้ใช้เวลาส่วนใหญ่ในการประชุม แบบเปิดเพื่อให้สมาชิกทุกประเทศที่สนใจได้แสดงความคิดเห็น เพื่อความโปร่งใส แต่ก็ไม่ได้นำข้อคิดเห็น ดังกล่าวไปปรับปรุงข้อเสนอของประธานเท่าใดนัก และในที่สุดประธานได้ยื่นข้อเสนอฉบับเดิมของประธาน ต่อนาง Barshefsky เพื่อดำเนินการในกระบวนการ Green Room ต่อไป การเจรจาเรื่องเกษตรนับว่าเป็น เรื่องที่มีบทบาทมากในที่ประชุมที่ซีแอตเติล และใช้เวลาในการเจรจามากที่สุด การเจรจาใน Green Room มีความคืบหน้าจนเกือบจะตกลงกันได้ ยกเว้นในประเด็นถ้อยความบางคำ ซึ่งโดยทั่วไปอาจเห็นว่าไม่มี ความสำคัญ แต่สำหรับการเจรจาทำความตกลงแล้ว ถ้อยคำดังกล่าวจะมีความสำคัญมากสำหรับการเจรจา รอบใหม่ เช่น "การยกเลิกการอุดหนุนส่งออกสินค้าเกษตร"ในที่สุดสหภาพยุโรปต้องขอเวลานอกเพื่อ หารือกับประเทศสมาชิก แต่ปรากฏว่าเวลาไม่เพียงพอจะกลับมาพิจารณาใหม่ได้จึงต้องหยุดเรื่องนี้ไว้ก่อน 6. เรื่องการเปิดตลาดสินค้าที่มิใช่เกษตร ประธานได้หารือกับหลายกลุ่ม และประเทศต่างๆ เป็นราย ประเทศและได้ยกร่างเอกสารซึ่งครอบคลุม ทั้งการลดภาษี และมาตรการที่มิใช่ภาษี รวมทั้ง ข้อยืดหยุ่น สำหรับประเทศกำลังพัฒนา และผลักดันให้พิจารณาการลดภาษีเร่งด่วนในบางสาขาที่เสนอโดย กลุ่มเอเปค (ATL) ภายในปี 2000 ซึ่งประธานได้ยกร่างเอกสารเสนอต่อนาง Barshefsky เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม เวลา 3.00 น. เพื่อพิจารณาใน Green Room ที่ประชุม Green Room ได้พิจารณาร่างเอกสารของประธาน ประเด็นที่เป็นปัญหาคือสมาชิกบางประเทศ (ออสเตรเลีย) ได้โยงเรื่องนี้กับเรื่องเกษตร กล่าวคือหาก การเจรจาในเรื่องนี้จะต้องครอบคลุมสินค้าที่ไม่ใช่เกษตรทุกรายการโดยไม่มีการยกเว้น และมีความสำคัญ เท่าเทียมกันทุกรายการ ถ้อยคำเช่นนี้จะต้องปรากฏในเรื่องเกษตรด้วย 7. เรื่องการปฏิบัติตามพันธกรณี ประธานได้หารือกับประเทศสมาชิกและได้ยกร่างเอกสาร เพื่อเสนอ ต่อที่ประชุมใหญ่ โดยมีประเด็นที่จะขอให้รัฐมนตรีตัดสินใจในการประชุมครั้งนี้ อาทิ มาตรการตอบโต้ การทุ่มตลาด มาตรการสุขอนามัย มาตรการด้านอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า สิ่งทอ ทรัพย์สินทางปัญญา ที่เกี่ยวกับการค้า และการปฏิบัติเป็นพิเศษของประเทศกำลังพัฒนา นอกจากนี้ มีบางมาตราในความตกลง ว่าด้วยการตอบโต้การทุ่มตลาด การอุดหนุน การค้าภูมิภาค การค้าโดยรัฐ ที่เป็นประเด็นที่จะต้องมี การเจรจาต่อไปในรอบใหม่ที่ประชุม Green Room ได้พิจารณาเรื่องนี้ เมื่อบ่ายวันที่ 3 ธันวาคม ประเด็นที่ มีประเทศสมาชิกสงวนสิทธิคือ เรื่องของการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด และสิ่งทอ ซึ่งสหรัฐอเมริกา ไม่มีความยืดหยุ่นในเรื่องนี้ และอ้างว่าข้อเรียกร้องดังกล่าวทำให้สหรัฐฯ ต้องแก้ไขกฎหมาย จึงไม่อาจ พิจารณาในกรอบของการปฏิบัติตามพันธกรณีได้ การประชุมเรื่องนี้ใน Green Room ดำเนินมาจนถึงเวลา 20.00 น. และต้องยุติกลางคันเนื่องจากเวลาจำกัด 8. เรื่องการลงทุน นโยบายการแข่งขัน ความโปร่งใสในการจัดซื้อโดยรัฐ และการอำนวยความสะดวก ทางการค้า ประธานกลุ่มทำงานได้หารือกลุ่มย่อย และได้ยกร่างเอกสารของประธานสรุปได้ว่า 8.1 เรื่องการลงทุน และนโยบายการแข่งขัน ให้ทำการศึกษาต่อไป และรายงานผลการศึกษาต่อที่ ประชุมรัฐมนตรี WTO ครั้งที่ 4 ซึ่งจะเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะเริ่มการเจรจาเรื่องเหล่านี้ใน WTO หรือไม่ 8.2 เรื่องความโปร่งใสในการจัดซื้อโดยรัฐ ให้เริ่มเจรจาในเรื่องนี้ได้ และให้เสร็จสิ้นภายในการประชุม รัฐมนตรี WTO ครั้งที่ 4 ทั้งนี้ การเจรจาจะต้องคำนึงถึงประเด็นต่างๆ เช่น คำจำกัดความ และขอบเขต ของการจัดซื้อโดยรัฐ วิธีการจัดซื้อ การพิมพ์และเผยแพร่ข้อมูลและกฎหมายของประเทศสมาชิก การยุติข้อพิพาทใน WTO และการให้ความช่วยเหลือทางวิชาการและการปฏิบัติที่เป็นพิเศษแก่ประเทศ กำลังพัฒนา เป็นต้น 8.3 การอำนวยความสะดวกทางการค้า ประธานยังไม่สามารถยกร่างเอกสารของประธานได้ อย่างไรก็ดี เนื่องจากข้อจำกัดในเรื่องเวลาจึงยังไม่มีการหารือข้อเสนอของประธานกลุ่มนี้ในห้องเขียว การหารือเรื่องแรงงาน 9. ในระหว่างที่สมาชิกได้มีการหารือเพื่อเจรจาจัดทำร่างปฏิญญารัฐมนตรีใน 5 กลุ่มย่อยอยู่นั้นสหรัฐฯ ได้ถือโอกาสในฐานะประธานที่ประชุมตั้งคณะทำงานว่าด้วยความโปร่งใสในเรื่องแรงงานและการค้า โดยมอบให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการค้าของคอสตาริกาเป็นประธานคณะทำงาน และเรียกประชุม โดยไม่มีการหารือกับประเทศสมาชิกก่อน ทำให้ประเทศกลุ่ม 77 รวมทั้งประเทศกำลังพัฒนาอีกหลาย ประเทศประท้วงว่า ขัดหลักการใน 2 ประเด็น คือ (1) กระบวนการหารือภายใต้คณะทำงานนี้ตั้งขึ้นโดย ไม่ได้รับความเห็นชอบจากประเทศสมาชิก และขอให้ยุติการประชุม แต่หากประสงค์จะหารือในเรื่องนี้ ต่อไป ควรดำเนินการในรูปของการประชุมอย่างไม่เป็นทางการที่ริเริ่มโดยสมาชิกบางประเทศ (2) สาระ ที่พิจารณาเรื่องแรงงานนั้น ขัดกับหลักการและมติคณะรัฐมนตรีองค์การการค้าโลกที่สิงคโปร์ ที่ระบุว่าให้ พิจารณาเรื่องแรงงานในกรอบของ ILO อย่างไรก็ตาม หลังจากการแลกเปลี่ยนความเห็นระหว่างประเทศ สมาชิก ประธานคณะทำงานได้ถือโอกาสยกร่างข้อตัดสินใจของรัฐมนตรีในส่วนของแรงงานขึ้น โดยเสนอ ให้มีการจัดตั้งกลุ่มทำงานเรื่องการค้าและแรงงานขึ้น และให้รายงานผลการหารือของกลุ่มทำงานนี้ต่อ WTO ซึ่งข้อเสนอของประธานได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และสวิตเซอร์แลนด์ เป็นต้น ในขณะที่อินเดีย อียิปต์ มาเลเซีย ปากีสถาน และฮ่องกงคัดค้าน และเห็นว่าควรให้เป็นหน้าที่ของ ILO ประเทศสมาชิกบางกลุ่ม เช่น ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แคนาดา บราซิล และไทย ได้แสดงท่าที ประนีประนอม โดยเสนอว่า อาจมีการหารือในเรื่องการค้า แรงงาน และการพัฒนาได้ แต่ควรอยู่นอกเวที ของ WTO และไม่ใช้เรื่องแรงงานเป็นเรื่องมือในการคว่ำบาตรทางการค้า ความล้มเหลวของการประชุม 10. การประชุมห้องเขียว (Green Room) เริ่มขึ้นตั้งแต่เวลา 5.00 น. ของวันที่ 3 ธันวาคมโดยมี นาง Barshefsky เป็นประธาน จนถึงเวลาประมาณ 20.00 น. มีเรื่องที่พิจารณาได้เพียงเกษตรซึ่งยังไม่ได้รับ ฉันทามติ เรื่องการเปิดตลาด และการปฏิบัติตามพันธกรณีเพียงบางส่วน ประกอบกับทางการของ นครซีแอตเติลได้แจ้งว่าการประชุมจะดำเนินไปได้ถึง 24.00 น. เท่านั้น (ปัญหาเรื่องการรักษาความ ปลอดภัยและสถานที่ประชุมซึ่งจะต้องใช้ในงานอื่นต่อไป) ประธานจึงได้หารือกับนายไมค์ มัวร์ ผู้อำนวยการใหญ่ WTO ว่าคงไม่สามารถสรุปผลการประชุมตามที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ และได้นำเรื่องเข้าหารือ ใน Green Room ถึงสถานการณ์และแนวทางการดำเนินการเรื่องนี้ต่อไปในอนาคต และที่ประชุมเห็น พ้องกันว่ายังมีประเด็นสำคัญในหลายเรื่องที่ไม่สามารถพิจารณาและหาข้อยุติได้ภายในค่ำวันที่ 3 ธันวาคม 2542 จึงเห็นควรหยุดพัก (suspend) การประชุมรัฐมนตรีที่ซีแอตเติล และมอบหมายให้ผู้อำนวยการใหญ่ WTO ไปดำเนินการต่อที่เจนีวา ทั้งนี้ ผู้อำนวยการใหญ่จะได้เสนอกำหนดเวลาและแผนงานเจรจาต่อไป สาเหตุของความล้มเหลว 11. ประธานได้แถลงถึงสาเหตุของความล้มเหลวที่ไม่สามารถเปิดการเจรจารอบใหม่ได้ คือ 11.1 ข้อจำกัดในเรื่องเวลา ประกอบกับมีการประท้วงทำให้ต้องเริ่มประชุมช้ากำหนด และไม่สามารถ ดำเนินการประชุมได้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากในวันต้นๆ ต้องยุติการประชุมภายในเวลา 19.00 น. เพื่อความปลอดภัยของผู้เข้าร่วมประชุม 11.2 เนื้อหาของการเจรจามีความซับซ้อน และมีข้อเสนอให้นำเรื่องต่างๆ มาเจรจาใน WTO มากขึ้น ประเทศสมาชิกยังมีแนวคิดที่แตกต่างกันมาก ซึ่งไม่สามารถปรับท่าทีเข้าหากันได้ในเวลาที่จำกัด 11.3 เรื่องของความโปร่งใส การประชุมครั้งนี้ได้พยายามนำหลักการเรื่องความโปร่งใสเข้ามาใช้ใน การประชุม เพื่อให้สมาชิกทุกประเทศได้มีโอกาสได้รับทราบและแสดงความคิดเห็นทำให้กระบวนการ แต่เดิม ที่ใช้การหารือใน Green Room เป็นกลไกหลักต้องขยายออกมาเป็นการประชุมแบบ open-ended อีกครั้งหนึ่ง ทำให้ต้องใช้เวลาในการประชุม ระยะเวลาในการเจรจาเพียง 4 วัน จึงไม่สามารถดำเนินการ ประชุมให้มีความโปร่งใส และเกิดประสิทธิภาพได้ 11.4 ผู้อำนวยการใหญ่ WTO ยังได้กล่าวเสริมว่า เหตุผลสำคัญอีกประการหนึ่งนอกจากเรื่องความซับ ซ้อน และระยะเวลาที่จำกัดแล้ว ยังมีเรื่องวัฒนธรรมของการประชุม WTO อีกด้วย ที่ต้องการให้มีความโปร่งใส และมีประสิทธิภาพพร้อมกัน การมีสมาชิกถึง 135 ประเทศ ทำให้ไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ทั้ง 2 ประการได้ 12. รัฐมนตรีกลุ่มเคร์นส์ได้ออกถ้อยแถลงถึงความล้มเหลวในการเปิดการเจรจารอบใหม่ หลังจาก ที่ประธานได้ประกาศว่าสามารถเปิดการเจรจารอบใหม่ได้ โดยเห็นว่าการเตรียมการเปิดการเจรจาสินค้า เกษตรรอบใหม่นั้น ได้มีความคืบหน้าไปมาก โดยเฉพาะประเด็นสำคัญหลายเรื่องสามารถตกลงกันได้ และได้รับการสนับสนุนจากประเทศพัฒนาแล้ว และประเทศกำลังพัฒนา ดังนั้น ถึงแม้ว่าจะไม่สามารถมี ข้อตกลงที่ซีแอตเติลในครั้งนี้ได้ แต่ประเทศสมาชิก WTO ทั้งหมดก็ยังคงยึดมั่นในพันธกรณีที่จะต้อง เริ่มเจรจาสินค้าเกษตรในเร็วๆ นี้ เนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งที่กำหนดไว้ในความตกลงเกษตรปัจจุบัน แนวทางการดำเนินการต่อไป 13. ผู้อำนวยการใหญ่ WTO คงจะต้องหารือกับประธาน และประเทศสมาชิกถึงแผนงานที่จะดำเนิน การต่อไป สำหรับการประชุมในช่วงที่เหลือ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2543 ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญที่จะต้องพิจารณาทบทวน คือ ขบวนการ หรือวิธีการในการดำเนินการประชุมในช่วงที่เหลือ ทั้งนี้ อาจจะต้องมีการปรับปรุงขบวนการเจรจาต่างๆ โดยคำนึงถึงจุดบกพร่องต่างๆ ในการประชุมที่ ซีแอตเติล ขณะเดียวกันก็อาจจะมีการประชุมระหว่างประเทศสมาชิกเพื่อพยายามลดช่องว่าง หรือความ แตกต่างในท่าทีในแต่ละเรื่องให้ได้มากที่สุดก่อนที่จะมีการประชุมในระดับรัฐมนตรี 14. ประเด็นที่อาจจะมีปัญหาสำหรับขบวนการเจรจาต่อไปคือ การเจรจาจะเริ่มต้นจากจุดใดจากสถานะ สุดท้าย ณ วันที่ 3 ธันวาคม 2542 หรือกลับไปสถานะสุดท้ายที่แต่ละ ประเทศสมาชิก ยืนยันซึ่งเป็นความ ยากลำบากที่จะต้องมาทำความตกลงกันก่อน 15. สำหรับเรื่องเกษตรและการค้าบริการ โดยที่เป็นเรื่องที่กำหนดไว้ในความตกลงเดิมที่ให้เริ่มเจรจา ได้ตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นไป ในส่วนของเกษตร กลุ่มเคร์นส์คงจะผลักดันให้มีการเริ่มเจรจาในทันที สำหรับเรื่องของการค้าบริการ ร่างเอกสารของประธานกลุ่มคณะทำงาน เป็นร่างเอกสารที่ได้รับความ เห็นชอบของสมาชิกส่วนใหญ่ จึงอาจใช้เป็นแนวทางให้เริ่มเจรจาได้ในต้นปี 2000 เช่นกัน การเจรจาสองฝ่าย และการหารือกับภาคเอกชนของประเทศต่างๆ 16. ในระหว่างการประชุมที่ซีแอตเติล หัวหน้าคณะผู้แทนของประเทศสมาชิกบางประเทศได้ขอพบหารือ กับหัวหน้าคณะผู้แทนไทย เช่น อิตาลี ญี่ปุ่น สวิตเซอร์แลนด์ และจีน สำหรับภาคเอกชนที่ขอเข้าพบ เช่น US Chamber of Commerce และ Sugar Alliance เป็นต้น
--กรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ กุมภาพันธ์ 2543--
-ปส-
--กรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ กุมภาพันธ์ 2543--
-ปส-