ผลการศึกษาการใช้วัตถุดิบนำเข้าสำหรับสินค้าออกของไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 7, 2000 18:37 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

       ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การผลิตสินค้าออกของไทยโดยรวมมีการใช้วัตถุดิบนำเข้า (Import Content) ทั้งทางตรงและทางอ้อม (Direct & Indirect Import Content) คิดเป็นสัดส่วนเฉลี่ยร้อยละ 38.6 ของมูลค่าการส่งออกรวมในแต่ละปี ทั้งนี้ สัดส่วนการใช้ Import Content ได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ 30.1 ของมูลค่าการส่งออกรวมในปี 2532 เป็นร้อยละ 42.9 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2542 ซึ่งเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการผลิตสินค้าออกของไทยไปสู่การผลิตสินค้าที่ต้องใช้เครื่องจักรอุปกรณ์และเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากขึ้น เพื่อให้สามารถผลิตสินค้าคุณภาพดีและสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ โดยพิจารณาได้ จากสัดส่วนการส่งออกสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีสูงเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 27 ของมูลค่าส่งออกรวมในปี 2532 เป็นร้อยละ 57 ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2542
การใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยีในการผลิตดังกล่าว ทำให้มีการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศมาใช้ในการผลิตมากขึ้น ทั้งนี้ การส่งออกสินค้าหมวดอุตสาหกรรมมี Import Content มากที่สุด รองลงมา ได้แก่ หมวดเหมืองแร่ และหมวดเกษตรกรรม ตามลำดับ
สินค้าออกโดยรวม มีสัดส่วนการใช้ Direct Import Content : Indirect Import Content สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากสัดส่วน 2:1 ในปี 2532 เป็น 4:1 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2542 และในช่วงปี 2532-2537 สัดส่วนการใช้ Import Content มีอัตราเพิ่มขึ้นค่อนข้างเร็วมาก ในขณะที่ในช่วง 5 ปีหลัง (2537-ครึ่งแรกของปี 2542) สัดส่วนการใช้ Import Content มีอัตราการเพิ่มขึ้นช้าลง เนื่องจากภายหลังวิกฤตเศรษฐกิจ (ครึ่งหลังปี 2540) มีการส่งออกสินค้าประเภทที่มี Import Content ต่ำมากขึ้น อาทิ เครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์อาหาร ผลิตภัณฑ์ยาง และปูนซีเมนต์ เป็นต้น ซึ่งเป็นสินค้าที่ไม่ได้รับผลกระทบจากราคาวัตถุดิบนำเข้าที่ปรับตัวสูงขึ้นจาก ค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลงมากนัก เมื่อแยกพิจารณาเป็นรายหมวดสินค้า ปรากฏว่า สินค้าออกเกือบทุกหมวด มีสัดส่วน Import Content เพิ่มสูงขึ้น ยกเว้น หมวดเหมืองแร่ ซึ่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีสัดส่วน ไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก สำหรับในช่วงครึ่งแรกของปี 2542 สินค้าอุตสาหกรรมหมวด ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ มี Import Content มากที่สุด คือร้อยละ 61.1 รองลงมาได้แก่ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม และผลิตภัณฑ์ยานยนต์ และส่วนประกอบ ตามลำดับ
อนึ่ง เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลการใช้วัตถุดิบนำเข้าโดยตรงต่อมูลค่าการส่งออก ระหว่างข้อมูลจากตาราง I/O และข้อมูลที่ได้จาก ผลการสำรวจอุตสาหกรรมของฝ่ายภาคการผลิต พบว่า
อุตสาหกรรม ที่มีการใช้วัตถุดิบนำเข้าลดลง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์กระดาษ พลาสติกเนื่องจากมีการผลิตวัตถุดิบที่สามารถทดแทนการนำเข้า ได้ทั้งราคาและคุณภาพ ส่วนปิโตรเลียม มีสัดส่วนการใช้วัตถุนำเข้าลดลงเช่นกันจากการใช้แหล่งพลังงานอื่นทดแทนน้ำมันดิบอาทิ ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน
อุตสาหกรรมที่มีการพึ่งพาวัตถุดิบนำเข้าจากต่างประเทศมากขึ้น ได้แก่
อุตสาหกรรมอาหารทะเลกระป๋องเนื่องจากการส่งออกปลาทูน่ากระป๋องมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับวัตถุดิบหลักในการผลิต คือ ปลาทูน่าต้องมีการนำเข้าจากต่างประเทศทั้งหมด
เบียร์ ต้องมีการนำเข้าวัตถุดิบโดยเฉพาะ มอลล์ ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 60-70 ของวัตถุดิบรวม เส้นใยประดิษฐ์ และเสื้อผ้าสำเร็จรูป เป็นผลจากการนำเข้าวัตถุดิบคุณภาพสูง เพื่อผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปตามคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ เครื่องใช้ไฟฟ้า เนื่องจากต้องนำเข้าเทคโนโลยีในการผลิตจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ทำให้ต้องนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ เพราะอุตสาหกรรมสนับสนุน (Supporting Industry) ยังมีไม่เพียงพอ รถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์ เป็นผลจากทางการไม่บังคับใช้ชิ้นส่วนรถยนต์ที่ผลิตในประเทศสำหรับการผลิตรถยนต์สำเร็จรูปเพื่อ การส่งออก อัญมณี เป็นผลจากแร่มีค่าของไทยสามารถผลิตได้ลดลงจึงต้องอาศัย วัตถุดิบจากต่างประเทศ การที่สินค้าออกของไทยมีสัดส่วน Import Content เพิ่มขึ้น มีผลทำให้สัดส่วนรายได้สุทธิจากการส่งออกต่อมูลค่าการส่งออก2/ มีแนวโน้มลดลง (รายละเอียดตามเอกสารแนบ 2) ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สัดส่วนดังกล่าวลดลงจากร้อยละ 69.9 ในปี 2532 เหลือร้อยละ 60.0 และ 57.1 ในปี 2537 และครึ่งแรกของปี 2542 ตามลำดับ ทั้งนี้ สินค้าออกหมวดเกษตรกรรมมีสัดส่วนรายได้สุทธิจากการส่งออกสูงสุดรองลงมา คือเหมืองแร่ในขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมมีสัดส่วนรายได้สุทธิจากการส่งออกต่ำสุดและเมื่อพิจารณามูลค่าเพิ่มของแต่ละประเภทสินค้าปรากฏว่า สินค้าเกษตรกรรมและเหมืองแร่มีสัดส่วนมูลค่าเพิ่มต่อมูลค่าส่งออกในสัดส่วนสูงเกือบร้อยละ 70 ในขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมมีสัดส่วนร้อยละ 32.7
อย่างไรก็ตาม แม้สินค้าอุตสาหกรรมมีสัดส่วนรายได้สุทธิจากการส่งออกต่ำสุด แต่สินค้าอุตสาหกรรมก็ทำรายได้ให้กับประเทศเป็นอันดับหนึ่งมาโดยตลอด โดยในปี 2532 ทำรายได้ให้กับประเทศในสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 94.8 ของการส่งออกรวมและเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 96.3 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2542 อุตสาหกรรมที่ทำรายได้สุทธิให้กับประเทศมากที่สุด คือ อุตสาหกรรมเบา (ร้อยละ 47.7) รองลงมา คือ อุตสาหกรรมที่ผลิตสินค้าทุน (ร้อยละ 31.8) และสินค้าอุตสาหกรรมประเภทวัตถุดิบ และกึ่งวัตถุดิบ (ร้อยละ 16.8) ตามลำดับ เป็นที่น่าสังเกตว่าอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการพัฒนาค่อนข้างสูง และเป็นอุตสาหกรรมที่ทำรายได้สุทธิให้กับประเทศสูง รวมทั้งมีอัตราการขยายตัวของรายได้สุทธิจากการส่งออกสูงกว่าร้อยละ 15 ต่อปีในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาที่สำคัญ ได้แก่ อุตสากรรมอุปกรณ์และเครื่องมือทางวิทยุ โทรทัศน์ และคมนาคม เครื่องมือเครื่องใช้ในสำนักงาน เครื่องจักรและเครื่องมือไฟฟ้าสำหรับอุตสาหกรรม ผลิตภัณฑ์พลาสติก ยางสังเคราะห์ ยานยนต์ และเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น
-ธนาคารแห่งประเทศไทย-
-สส-

แท็ก การส่งออก  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ