ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2544 ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 42.29 — 44.87 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. โดยเงินบาทได้ปรับตัวอ่อนลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ ต้นปี สำหรับค่าเงินบาทในไตรมาสแรกมีค่าเฉลี่ย 43.12 42.64 และ 43.90 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. ในเดือนมกราคม กุมภาพันธ์ และมีนาคม ตามลำดับ
ปัจจัยภายในประเทศ ที่ส่งผลให้ค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนลงอย่างต่อเนื่อง ได้แก่
1) ความต่อเนื่องของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังไม่ชัดเจน
2) ช่วงเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและต้องรอให้มาตรการใหม่ส่งผลในทางปฏิบัติ
3) ผู้ประกอบธุรกิจ/การธนาคารไทยตอบสนองต่อสถานการณ์ในภูมิภาค โดยเร่งชำระหนี้ แม้ทางการจะมีความเข้มงวดมากขึ้น สำหรับธุรกรรมที่ไม่มี กิจกรรมทางเศรษฐกิจจริงรองรับ
สำหรับปัจจัยภายนอกประเทศที่มีผลต่อ การอ่อนค่าลงของเงินบาท ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจของญี่ปุ่นซึ่งยังคงแสดงการชะลอตัว และความไม่แน่นอนทางการเมืองของญี่ปุ่น ส่งผลให้ค่าเงินเยนอ่อนตัวลง
อย่างเห็นได้ชัด ขณะเดียวกัน การปรับตัวลงของค่าเงินในภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง อาทิ รูเปียอินโดนีเซีย เปโซ ฟิลิปปินส์ โดยสาเหตุส่วนใหญ่มาจากความ ไม่แน่นอนทางการเมือง รวมทั้งดอลลาร์สิงคโปร์ และวอนเกาหลีใต้ เป็นอีกปัจจัยที่กดดันค่าเงินบาท รวมถึงความตกต่ำต่อเนื่องของตลาดหุ้นสหรัฐฯ อันเนื่องมาจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และภาวะซบเซาในอุตสาหกรรม Hi-tech
ส่วนปัจจัยภายนอกที่มีผลต่อการแข็งขึ้นของค่าเงินบาท ได้แก่ การลดอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ของธนาคารกลางสหรัฐฯ ลงถึง 3 ครั้ง ตั้งแต่ต้นปี 2543 ทำให้ตลาดมองว่า ทางการสหรัฐฯ ตอบสนองต่อการชะลอตัวทางเศรษฐกิจอย่างทันท่วงที และน่าจะเป็นการป้องกันเศรษฐกิจจากการหดตัวอย่างรุนแรงได้ โดยปัจจุบันอัตราดอกเบี้ย Fed Funds อยู่ที่ร้อยละ 4.5
กล่าวโดยสรุป ค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนลงอย่างต่อเนื่องในช่วงสามเดือนแรกของปี โดยได้รับ ผลกระทบจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศ ทั้งนี้ การอ่อนตัวของเงินบาทในไตรมาสแรก เป็นไปในระดับที่น้อยกว่าการอ่อนตัวของค่าเงินบางสกุล ในภูมิภาค อาทิ รูเปียอินโดนีเซีย วอนเกาหลีใต้ และดอลลาร์สิงคโปร์