บันทึกการประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ ๗ (สมัยสามัญนิติบัญญัติ)

ข่าวการเมือง Monday August 27, 2001 11:52 —รัฐสภา

                                บันทึกการประชุมวุฒิสภา
ครั้งที่ ๗ (สมัยสามัญนิติบัญญัติ)
วันศุกร์ที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๔๔
ณ ตึกรัฐสภา
เริ่มประชุมเวลา ๐๙.๓๕ นาฬิกา
เมื่อสมาชิกฯ มาครบองค์ประชุมแล้ว พลตรี มนูญกฤต รูปขจร ประธานวุฒิสภา
นายพิเชฐ พัฒนโชติ รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง และนายบุญทัน ดอกไธสง รองประธานวุฒิสภา
คนที่สอง ขึ้นบัลลังก์
ประธานวุฒิสภาได้กล่าวเปิดประชุม แล้วแจ้งให้ที่ประชุมรับทราบเรื่องต่าง ๆ ดังนี้
๑. คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ รวม ๓ เรื่อง คือ คำวินิจฉัยที่ ๑๘/๒๕๔๔
เรื่อง องค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
คำวินิจฉัยที่ ๑๙/๒๕๔๔ เรื่อง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ขอให้
ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๙๕ กรณีนายประยุทธ มหากิจศิริ
จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน และเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จ
หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ และคำวินิจฉัยที่ ๒๐/๒๕๔๔ เรื่อง คณะกรรมการป้องกัน
และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ขอให้วินิจฉัยชี้ขาดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๙๕ กรณี
พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน และเอกสาร
ประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ
๒. ด้วยในระหว่างวันที่ ๒ - ๗ กันยายน ๒๕๔๔ รัฐสภาไทยจะเป็นเจ้าภาพ
จัดการประชุมสมัชชาใหญ่องค์การรัฐสภาอาเซียน ครั้งที่ ๒๒ ณ โรงแรมรอยัลออคิด เชอราตัน
กรุงเทพมหานคร
ต่อมา ประธานวุฒิสภาได้เสนอให้ที่ประชุมพิจารณาเรื่องตามระเบียบวาระ เรื่องด่วน
คือ เลือกผู้ทรงคุณวุฒิฝ่ายวุฒิสภาเป็นกรรมการข้าราชการฝ่ายรัฐสภาแทนตำแหน่งที่ว่าง ๒ ตำแหน่ง
ซึ่งที่ประชุมมีมติเลือก พลตรี นิยม รัตนสุต และนายกำพล อดุลวิทย์ เป็นผู้ทรงคุณวุฒิฝ่ายวุฒิสภา
เพื่อเป็นกรรมการข้าราชการฝ่ายรัฐสภาแทนตำแหน่งที่ว่าง
จากนั้น รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง และรองประธานวุฒิสภาคนที่สอง
ได้ผลัดเปลี่ยนกันเป็นประธานในที่ประชุม โดยประธานของที่ประชุมได้เสนอให้ที่ประชุมพิจารณา
เรื่องตามระเบียบวาระ เรื่องด่วน ตามลำดับ ดังนี้
๑. ร่างพระราชบัญญัติความลับทางการค้า พ.ศ. …. ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญ
พิจารณาเสร็จแล้ว ที่ประชุมได้พิจารณาในวาระที่ ๒ เริ่มต้นด้วยชื่อร่าง คำปรารภ แล้วเรียงตาม
ลำดับมาตราจนจบร่าง และลงมติในวาระที่ ๓ ให้แก้ไขเพิ่มเติม
๒. ตั้งคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติและความประพฤติ
ของบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ตามรัฐธรรมนูญฯ
มาตรา ๑๓๕ และข้อบังคับฯ ข้อ ๙๖ จำนวน ๑๑ คน ประกอบด้วย
๑. พันเอก สมคิด ศรีสังคม ๒. พลตำรวจเอก ประทิน สันติประภพ
๓. นายสันติภาพ อินทรพัฒน์ ๔. นายเสรี สุวรรณภานนท์
๕. พันตำรวจเอก สุรพงศ์ ไผ่นวล ๖. นางระเบียบรัตน์ พงษ์พานิช
๗. พลเอก พนม จีนะวิจารณะ ๘. นายสุรใจ ศิรินุพงศ์
๙. นายสมพงษ์ สระกวี ๑๐. นายไสว พราหมณี
๑๑. นายวิสิษฐ์ เตชะธีราวัฒน์
เลิกประชุมเวลา ๑๔.๔๐ นาฬิกา
(ลายเซ็น)
(นายพินิต อารยะศิริ)
เลขาธิการวุฒิสภา
สรุปผลการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ
ให้แก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติ จำนวน ๑ ฉบับ คือ
- ร่างพระราชบัญญัติความลับทางการค้า พ.ศ. ….
ฝ่ายระเบียบวาระและรายงานการประชุม
กองการประชุม
โทร. ๐ ๒๒๔๔ ๑๕๖๘
โทรสาร ๐ ๒๒๔๔ ๑๕๖๖

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ