(ต่อ2) สถานการณ์พลังงาน การดำเนินงาน และแผนงานในปี 2544

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 20, 2000 09:51 —สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน

          4. ความร่วมมือด้านพลังงานกับต่างประเทศ
ในการพัฒนาและส่งเสริมความร่วมมือกับต่างประเทศด้านพลังงาน สพช. ในฐานะที่เป็นผู้ประสานงาน ด้านพลังงานในกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเซีย|แปซิฟิค (APEC) กลุ่มสมาคมประชาชาติ แห่งเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) และประเทศเพื่อนบ้าน ได้ดำเนินการพัฒนาความสัมพันธ์ และความร่วมมือกับกลุ่มองค์กรดังกล่าว รวมทั้งมีบทบาทในการกำหนดท่าที ฝ่ายไทยในการเจรจา และพัฒนาแนวทางความร่วมมือด้านพลังงาน โดยในปี 2543 ได้มีการพัฒนาความร่วมมือที่สำคัญ ดังนี้
4.1 การประชุม APEC Energy Working Group (EWG) ครั้งที่ 19 ณ กรุงบันดาร์ เสรี เบกาวัน ประเทศบรูไน ระหว่างวันที่ 6 |7 เมษายน 2543 ที่ประชุมเห็นชอบให้ประเทศไทยจัดโครงการสัมมนาเรื่อง "The Clean and Efficient Use of Fossil Energy for Power Generation in Thailand" ซึ่ง สพช. ได้จัดให้มีการสัมมนา ระหว่างวันที่ 30 ตุลาคม| 3 พฤศจิกายน 2543 ณ โรงแรม อมารี วอเตอร์เกต กรุงเทพฯ
4.2 การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสและรัฐมนตรีพลังงานเอเปค ครั้งที่ 4 ณ เมืองซานดิเอโก มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 10-12 พฤษภาคม 2543 สรุปมติที่ประชุมได้ดังนี้
เห็นชอบที่จะร่วมกันผลักดันให้เกิดความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ความมั่นคงด้านพลังงาน การพัฒนาและการใช้พลังงานอย่างสะอาดและยั่งยืน มีประสิทธิภาพ รวมทั้ง คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะอย่างยิ่งก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งสามารถดำเนินการได้โดย
การปรับปรุงประสิทธิภาพทั้งในการผลิตและการใช้พลังงาน รวมทั้ง ส่งเสริมระบบผลิตพลังงาน ที่ไม่มีคาร์บอนหรือมีคาร์บอนต่ำ อย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น
การกระตุ้นให้ภาคเอกชนขยายการลงทุน เพื่อใช้เทคโนโลยีด้านพลังงานที่ทันสมัย เทคโนโลยีด้านพลังงานสะอาด รวมทั้ง ส่งเสริมความร่วมมือระดับภูมิภาค เพื่อพัฒนาและใช้เทคโนโลยีพลังงานที่สะอาด
การส่งเสริมโครงการต่างๆ ที่มุ่งแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในระดับท้องถิ่น ระดับภูมิภาค และระดับโลก และสนับสนุนงานวิจัย การพัฒนาและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การเปลี่ยนไปใช้แหล่งพลังงาน ซึ่งมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่า รวมถึงการใช้พลังงานหมุนเวียนในรูปแบบต่างๆ
เห็นชอบแนวทางการดำเนินงาน สำหรับแผนงานด้านพลังงานของเอเปคแนวใหม่ ซึ่งประกอบ ด้วย (ก) แผนงานสนับสนุนการดำเนินการ โดยมีคณะผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับเชิญจากประเทศสมาชิกไปร่วมให้ คำปรึกษาและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในด้านแนวคิดริเริ่ม และหลักการพื้นฐานซึ่งเป็นที่ยอมรับร่วมกัน (ข) ระบบการรายงานผลความก้าวหน้า ของการดำเนินการประจำปีของสมาชิกแต่ละประเทศ ด้วยความสมัครใจ เพื่อนำเสนอต่อผู้นำเอเปค โดยผ่านทางคณะทำงานด้านพลังงาน และตามขั้นตอนสายงานของเอเปค
4.3 การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านพลังงาน และการประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน ครั้งที่ 18 ณ กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม ระหว่างวันที่ 1-3 กรกฎาคม 2543 ทั้งนี้สามารถสรุปมติที่ประชุมได้ดังนี้
เห็นชอบร่วมกันในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทางด้านพลังงาน การกระจายแหล่งพลังงาน ให้มีความหลากหลาย การปรับปรุงประสิทธิภาพพลังงาน รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีด้านพลังงานใหม่และพลังงานทดแทน เพื่อเสริมสร้างความยั่งยืน และความมั่นคงทางด้านพลังงาน รวมทั้ง รับทราบถึงความสำเร็จ และความก้าวหน้า ในการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการอาเซียน สำหรับความร่วมมือด้านพลังงาน (พ.ศ. 2542|2547) ในรอบระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา
เห็นชอบต่อกิจกรรมความร่วมมือระหว่างอาเซียนและญี่ปุ่น โดยครอบคลุมถึงการวางแผน ความมั่นคงทางด้านพลังงาน ด้านประสิทธิภาพพลังงานและการอนุรักษ์พลังงาน รวมทั้ง ด้านพลังงานใหม่และพลังงานทดแทน
4.4 สพช. ได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสสาขาพลังงาน ในการประชุมกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจ บังกลาเทศ | อินเดีย | พม่า | ศรีลังกา | ไทย (Bangladesh | India | Myanmar | Sri Lanka | Thailand Economic Cooperation : BIMST-EC) ณ กรุงย่างกุ้ง สหภาพพม่า ระหว่างวันที่ 5 | 6 มิถุนายน 2543 โดยที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบ ให้จัดทำฐานข้อมูลด้านพลังงานขึ้นที่พม่า และจัดตั้งคณะทำงานเพื่อกำหนดกรอบความร่วมมือ ด้านการพัฒนาก๊าซธรรมชาติ และการพัฒนาแหล่งพลังงานใหม่ และพลังงานที่สามารถนำกลับมาใช้ได้ โดยความร่วมมือในชั้นต้น จะเน้นเรื่องการแลกเปลี่ยนข้อมูลประสบการณ์ และความรู้ด้านเทคโนโลยี และการหาแหล่งสนับสนุนเงินทุน สำหรับกิจกรรมความร่วมมือด้านการพัฒนาพลังงานในภูมิภาค
การดำเนินนโยบายและมาตรการด้านพลังงานในระยะต่อไป จะต้องให้ความสำคัญ ต่อการประหยัดและการอนุรักษ์พลังงาน ให้มากขึ้น เนื่องจากเป็นวิธีที่ง่ายและมีต้นทุนต่ำที่สุด ในการลดปริมาณการใช้พลังงาน ประการต่อมาคือ ส่งเสริมความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน ในการสำรวจและพัฒนาพลังงานร่วมกัน โดยเฉพาะประเทศ สปป. ลาว พม่า กัมพูชา และเวียดนาม รวมทั้ง จะต้องมีการส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานหมุนเวียน เพิ่มขึ้นอย่างจริงจัง ซึ่งได้แก่ แสงแดด ก๊าซชีวภาพ และเศษวัสดุเหลือใช้การเกษตร เป็นต้น และประการสุดท้ายต้อง ส่งเสริมภาคเอกชน ให้เข้ามามีบทบาทในกิจการพลังงานมากขึ้น โดยเฉพาะการดำเนินการปรับโครงสร้าง และแปรรูปกิจการพลังงาน ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ให้เป็นไปตามกรอบของแผนแม่บทการปฏิรูป รัฐวิสาหกิจสาขาพลังงาน เพื่อส่งเสริมการแข่งขันและเพิ่มประสิทธิภาพการบริการให้แก่ประชาชน
ส่วนที่ 3 นโยบายและแผนการดำเนินงานประจำปีงบประมาณ 2544
ในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2540-2544) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) ยังคงมีภารกิจที่จะต้องดำเนินการตามนโยบายและมาตรการด้านพลังงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การบริหารและพัฒนาพลังงานของประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยนโยบายด้านพลังงานยังคงเน้นนโยบายหลักๆ 4 ประการ คือ
1. จัดหาพลังงานให้เพียงพอกับความต้องการ มีคุณภาพ มีความมั่นคง และมีระดับราคาที่เหมาะสม โดยส่งเสริมให้มีการสำรวจ และพัฒนาแหล่งพลังงานจากภายในประเทศ ขึ้นมาใช้ประโยชน์ ในขณะเดียวกันก็แสวงหาแหล่งพลังงาน จากภายนอกประเทศ เพื่อให้มีการกระจายแหล่งและ ชนิดของพลังงาน
2. ส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ ซึ่งนอกจากจะช่วยลดต้นทุนทางด้านเชื้อเพลิง ในกิจกรรมการผลิตแล้ว ยังช่วยลดการลงทุนในการจัดหาพลังงานอีกด้วย โดยใช้มาตรการด้านราคาและกลไกตลาดในการสร้างแรงจูงใจ ให้มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และมาตรการอื่นๆ ซึ่งประกอบด้วย การให้สิ่งจูงใจ การสร้างจิตสำนึก และมาตรการบังคับ (เช่นการกำหนดมาตรฐาน) ควบคู่กันไป
3. ส่งเสริมให้มีการแข่งขันและเพิ่มบทบาทของภาคเอกชนในกิจการพลังงาน เพื่อให้กิจการพลังงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคมีทางเลือก ได้รับบริการที่ดีมีคุณภาพ และราคาที่เป็นธรรม อีกทั้งยังช่วยลดภาระการลงทุนของภาครัฐ
4. ป้องกันและแก้ไขปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อม ที่เกิดจากการผลิตและใช้พลังงาน โดยส่งเสริมให้มีการใช้เชื้อเพลิง ที่มีผลกระทบต่อสภาวะแวดล้อมน้อย และส่งเสริมให้มีการควบคุมมลพิษโดยใช้เทคโนโลยีควบคุมมลพิษและมาตรฐานที่เหมาะสม
จากนโยบายดังกล่าวข้างต้น สพช. จึงได้กำหนดแผนงานที่ต้องดำเนินการออกเป็น 6 แผนงาน ซึ่ง สอดคล้องตามยุทธศาสตร์แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8 นโยบายของรัฐบาล และนโยบายด้านพลังงาน ดังนี้
แผนงานที่ 1 แผนงานจัดหาพลังงาน
แผนงานที่ 2 แผนงานส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและประหยัด
แผนงานที่ 3 แผนงานส่งเสริมให้มีการแข่งขันในกิจการพลังงาน
แผนงานที่ 4 แผนงานป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม
แผนงานที่ 5 แผนงานพัฒนากลไกการบริหารงานด้านพลังงาน
แผนงานที่ 6 แผนงานบริหารการพัฒนาพลังงาน
โดยมีรายละเอียดของแผนงาน และกิจกรรมระดับงานในช่วงปีงบประมาณ 2544 ในกรอบของแผนงานต่างๆ ดังนี้
แผนงานที่ 1 แผนงานจัดหาพลังงาน
1. หลักการและเหตุผล
จากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ส่งผลให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย ตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมาชะลอตัวลง โดยอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในปี 2541 ลดลงร้อยละ 7.8 ส่งผลให้ความต้องการใช้พลังงานของประเทศลดลงถึงร้อยละ 7.4 รัฐวิสาหกิจด้านพลังงาน ซึ่งได้แก่ การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จำเป็นต้องมีการปรับแผนการลงทุน เพื่อให้เหมาะสมสอดคล้อง กับสถานการณ์ด้านพลังงานของประเทศ ที่เปลี่ยนแปลงไป อย่างไรก็ตาม คาดว่าในปี 2543 เศรษฐกิจจะค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้น และจะมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจร้อยละ 5.0 ซึ่งจะส่งผลให้ความต้องการพลังงานเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ในปี 2542 เป็นปีที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นมาก เนื่องจากการจำกัดการผลิตของกลุ่มโอเปค และกลุ่มนอกโอเปค ส่งผลให้ประเทศผู้นำเข้าน้ำมันอย่างเช่นประเทศไทย ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น เพื่อให้มีทางเลือกในการจัดหาพลังงาน ให้เพียงพอกับความต้องการ รัฐจึงได้ส่งเสริมให้มีการใช้เชื้อเพลิงอื่น ทดแทนน้ำมันมากขึ้น เช่น ส่งเสริมให้มีการใช้ก๊าซธรรมชาติมากขึ้นในการผลิตไฟฟ้า อุตสาหกรรม และขนส่ง รวมทั้ง เร่งรัดให้มีการสำรวจและพัฒนาการผลิตน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน ภายในประเทศ และประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ให้มากขึ้น
2. วัตถุประสงค์
2.1 เพื่อจัดหาพลังงานทั้งทางด้านปิโตรเลียม ไฟฟ้า ถ่านหิน และพลังงานรูปแบบอื่นๆ ให้เพียงพอกับความต้องการใช้ภายในประเทศ อย่างมีคุณภาพ มีความมั่นคง และในระดับราคาที่เหมาะสม
2.2 เพื่อช่วยเสริมสร้างระบบเศรษฐกิจไทยให้มีความเข้มแข็ง สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้
2.3 เพื่อส่งเสริมความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน ในการพัฒนาพลังงานขึ้นมาใช้ประโยชน์
3. กลยุทธ์
3.1 ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการสำรวจ และพัฒนาก๊าซธรรมชาติจากพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย ขึ้นมาใช้ประโยชน์ให้สอดคล้อง กับปริมาณความต้องการของประเทศ และสนับสนุนโครงการร่วมทุน ใช้ประโยชน์ก๊าซธรรมชาติจากพื้นที่ดังกล่าว และโครงการร่วมทุนท่อก๊าซธรรมชาติ Trans-Thailand-Malaysia รวมทั้ง สนับสนุนการพัฒนาทรัพยากรปิโตรเลียมบริเวณพื้นที่คาบเกี่ยวในอ่าวไทย
3.2 ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการสำรวจหาแหล่งถ่านหินเพิ่มเติม เพื่อจัดหาปริมาณสำรองใช้เป็นพลังงานพื้นฐานต่อไปในอนาคต และเร่งดำเนินการนำแหล่งถ่านหิน ที่กรมทรัพยากรธรณีได้สำรวจไว้แล้ว เปิดให้เอกชนลงทุน รวมทั้ง เร่งรัดให้มีการจัดหาเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อการใช้ประโยชน์ ถ่านหินทั้งด้านการผลิตกระแสไฟฟ้าและภาคอุตสาหกรรม โดยเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม น้อยที่สุด
3.3 ให้มีเจรจาและพัฒนาความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในด้านพลังงาน ให้เป็นไปตามกรอบบันทึกความเข้าใจ ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ไทยกับสหภาพพม่า และไทยกับกัมพูชา โดยให้สอดคล้องกับสถานการณ์ความต้องการไฟฟ้า ที่แท้จริงของประเทศ
3.4 พัฒนาและปรับปรุงการเชื่อมโยงสายส่งไฟฟ้า ระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะ ในกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ เพื่อประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ และด้านความมั่นคงของระบบไฟฟ้า
3.5 ศึกษาเกณฑ์กำหนดปริมาณสำรองการผลิตไฟฟ้าของประเทศที่เหมาะสม เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะทางเศรษฐกิจ และความต้องการไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลงไป
3.6 ปรับปรุงระบบส่งและจำหน่ายไฟฟ้าเพื่อเพิ่มความมั่นคงของระบบไฟฟ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตอุตสาหกรรม และพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ในภูมิภาคต่างๆ และเร่งนำสายไฟฟ้าลงใต้ดิน โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ รวมทั้งให้พิจารณาศึกษาการนำสายไฟฟ้าลงใต้ดินมาใช้ในเขตเมืองใหญ่ในภูมิภาค โดยให้การไฟฟ้าประสานงาน และร่วมมือกับหน่วยงานผังเมืองอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การรวมระบบสาธารณูปโภค สอดคล้องกับการวางผังเมือง
3.7 กำหนดมาตรฐานคุณภาพบริการของกิจการไฟฟ้า เป็นเงื่อนไขในการให้บริการ และในการประเมินผลการปฏิบัติงานของการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง โดยกำหนดระบบจูงใจให้การไฟฟ้า ปรับปรุงคุณภาพบริการ และมีการกำหนดบทปรับ ในกรณีที่การไฟฟ้าไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขได้
3.8 ศึกษาระดับการสำรองน้ำมันของประเทศที่เหมาะสมในระยะยาวและความเหมาะสม ในการให้รัฐเป็นผู้ดำเนินการจัดเก็บน้ำมันสำรองเอง อีกส่วนหนึ่ง เพื่อเพิ่มความมั่นคงของประเทศด้านพลังงาน
4. กิจกรรมระดับงาน
1. งานส่งเสริมและสนับสนุนการจัดหาก๊าซธรรมชาติ จากแหล่งภายในประเทศและต่างประเทศ
2. งานกำกับดูแลการเพิ่มขีดความสามารถในการจัดส่งก๊าซธรรมชาติ
3. งานส่งเสริมและสนับสนุนการสำรวจและพัฒนาแหล่งถ่านหินภายในประเทศ
4. งานพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้า
5. งานประเมินคุณภาพบริการของการไฟฟ้า
6. งานเจรจารับซื้อไฟฟ้าจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว)
7. งานเจรจารับซื้อไฟฟ้าและพัฒนาเชื่อมโยงสายส่งไฟฟ้า จากสาธารณรัฐประชาชนจีน
8. งานเจรจารัฐซื้อและขายไฟฟ้ากับสหภาพพม่า
9. งานพัฒนาความร่วมมือด้านพลังงานกับกัมพูชา
10. งานจัดทำแผนพัฒนาระบบไฟฟ้าหรือแผนการลงทุนของการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง
11. งานกำกับดูแลแผนการลงทุนของการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง
12. งานปรับปรุงปริมาณสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงที่เหมาะสม และสำรองน้ำมันโดยรัฐ
13. งานศึกษาความเป็นไปได้ในการค้าผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมของประเทศไทย กับสาธารณรัฐประชาชนจีน
แผนงานที่ 2 แผนงานส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และประหยัด
1. หลักการและเหตุผล
เนื่องจากแหล่งพลังงานในประเทศซึ่งมีจำนวนจำกัด ไม่สามารถตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นได้อย่างเพียงพอ ทำให้ต้องพึ่งพาพลังงานจากต่างประเทศในอัตราที่สูง ดังนั้น เพื่อเป็นการประหยัดเงินตราต่างประเทศ ในภาวะที่ประเทศประสบปัญหาวิกฤติทางเศรษฐกิจ และปัญหาภาวะน้ำมันมีราคาเพิ่มสูงขึ้น จึงจำเป็นต้องเร่งรณรงค์ และส่งเสริมให้ประชาชนมีการใช้พลังงาน อย่างมีประสิทธิภาพและประหยัดควบคู่กันไป โดยใช้มาตรการทางด้านราคา และมาตรการด้านการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อสนับสนุนการบริหาร และพัฒนาพลังงานของประเทศ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
2. วัตถุประสงค์
2.1 เพื่อส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและประหยัด
2.2 เพื่อช่วยลดการลงทุนของรัฐบาลและเอกชนในการจัดหาพลังงาน และค่าใช้จ่ายทางด้านเชื้อเพลิง ของกิจกรรมการผลิตต่างๆ
2.3 เพื่อช่วยประหยัดเงินตราต่างประเทศ ในการลดการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ
3. กลยุทธ์
3.1 กำกับดูแลราคาน้ำมันเชื้อเพลิงให้ราคาเปลี่ยนแปลงไปตามกลไกตลาด และกำกับดูแลราคาขายปลีก ก๊าซปิโตรเลียมเหลวให้มีการแข่งขันกันอย่างเพียงพอ
3.2 ปรับปรุงโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้า และสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ ให้สะท้อนถึงต้นทุนที่แท้จริง และมีความเป็นธรรมแก่ผู้จำหน่ายและผู้ใช้ไฟฟ้า
3.3 กำกับดูแลการกำหนดราคาก๊าซธรรมชาติ และค่าผ่านท่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด เพื่อให้การซื้อขายสะท้อนถึงข้อผูกพันทางด้านปริมาณ ต้นทุนที่แท้จริงและคุณภาพของเชื้อเพลิง รวมทั้งให้เกิดความมั่นใจแก่ผู้ผลิตและผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติ
3.4 ส่งเสริมให้มีการขยายตลาดก๊าซธรรมชาติไปสู่ผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติกลุ่มอื่นๆ
3.5 เร่งรัดการดำเนินการตามโครงการการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า ให้บรรลุเป้าหมายของโครงการ อย่างมีประสิทธิภาพ
3.6 ส่งเสริม สนับสนุน และกำกับดูแล การดำเนินการตามแผนอนุรักษ์พลังงาน ภายใต้พระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 เพื่อลดการใช้พลังงาน รวมทั้ง ส่งเสริมการศึกษา ค้นคว้า วิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงานและการนำพลังงานทดแทนขึ้นมาใช้ประโยชน์ ให้มากขึ้น
3.7 เร่งรัดให้มีการกำหนดมาตรฐานการทดสอบ และมาตรฐานระดับประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ขั้นต่ำของเครื่องมืออุปกรณ์ รวมทั้ง การติดฉลากแสดงประสิทธิภาพการใช้พลังงานของ เครื่องมืออุปกรณ์
3.8 ส่งเสริมให้มีการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลเทคโนโลยีอนุรักษ์พลังงานตามเมืองใหญ่ๆ ทั่วประเทศ เพื่อเป็นแหล่งสาธิต และให้บริการข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชนทั่วไป รวมทั้ง ดำเนินการประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างจิตสำนึกในด้านการอนุรักษ์พลังงาน แก่กลุ่มเป้าหมายทุกกลุ่มอย่างต่อเนื่อง
4. กิจกรรมระดับงาน
4.1 งานต่อเนื่อง
1. งานกำกับดูแลราคาน้ำมันและค่าการตลาด
2. งานกำกับดูแลราคาขายปลีกก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG)
3. งานจัดทำรายละเอียดรองรับการเปิดให้บริการขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อ แก่บุคคลที่สาม
4. งานกำหนดโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าใหม่และการกำกับดูแล
5. งานกำกับดูแลโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ
6. งานติดตามและประเมินผลโครงการการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า (Demand Side Management)
7. การดำเนินงานตามแผนงานอนุรักษ์พลังงานระยะที่ 2 (ปีงบประมาณ 2543-2547)
8. งานศึกษาโครงการกำหนดมาตรฐานประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และการติดฉลากอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า
4.2 งานใหม่
1. งานการศึกษาผลกระทบของโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าต่อผู้ใช้ไฟฟ้า
2. งานการศึกษาอัตราความเสียหายเนื่องจากไฟฟ้าดับ
แผนงานที่ 3 แผนงานส่งเสริมให้มีการแข่งขันในกิจการพลังงาน
1. หลักการและเหตุผล
การส่งเสริมและสนับสนุนบทบาทของภาคเอกชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงาน และร่วมทุนกับภาครัฐทางด้านพลังงานเป็นแนวทางหนึ่ง ในการช่วยลดภาระการลงทุนของภาครัฐในการจัดหาพลังงาน ซึ่งเป็นแนวทางที่ได้เริ่มดำเนินการมา ตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2530-2534) และต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน จึงส่งผลให้ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทในด้านพลังงานมากขึ้น ทั้งในกิจการปิโตรเลียม และกิจการไฟฟ้า การที่ภาคเอกชนมีบทบาทเพิ่มขึ้นดังกล่าว จะเป็นการเพิ่มการแข่งขันในกิจการพลังงาน ซึ่งจะส่งผลให้การจัดหา การจำหน่าย และการใช้พลังงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเป็นการส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน และการระดมเงินออกจากภาคเอกชนด้วย
2. วัตถุประสงค์
2.1 เพื่อเพิ่มการแข่งขันในกิจการด้านพลังงาน และส่งเสริมบทบาทของภาคเอกชน เพื่อให้นำไปสู่การจัดหา การจำหน่าย และการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ
2.2 เพื่อช่วยลดภาระการลงทุนของภาครัฐ และส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน รวมทั้ง สนับสนุนให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาพลังงาน
3. กลยุทธ์
3.1 ปรับโครงสร้างและแปรรูปกิจการทางด้านปิโตรเลียม และไฟฟ้า ให้มีการแข่งขันและเป็นเชิงพาณิชย์มากขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความคล่องตัวในการบริหาร การลงทุนและการพัฒนาบุคลากร
3.2 พัฒนาระบบการขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อ ของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยให้เป็น Common Carrier ในระยะยาว เพื่อให้มีระบบการขนส่งก๊าซ ที่สามารถให้บริการแก่ผู้ซื้อขายก๊าซรายอื่นๆ และสามารถรองรับการขายก๊าซได้โดยตรง รวมทั้ง ส่งเสริมบทบาทของภาคเอกชน ในธุรกิจการขนส่งก๊าซทางท่อในระบบสาขา
3.3 ส่งเสริมตลาดการค้าน้ำมันสำเร็จรูปให้มีการแข่งขันอย่างเสรี และอยู่บนพื้นฐานที่เท่าเทียมกัน
3.4 ส่งเสริมธุรกิจก๊าซปิโตรเลียมเหลวให้มีการแข่งขันกันมากยิ่งขึ้น และเป็นธรรมในทุกขั้นตอน เพื่อนำไปสู่การยกเลิกการควบคุมราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว ให้เป็นระบบลอยตัวเต็มที่โดยสมบูรณ์ พร้อมไปกับการปรับปรุงระบบการค้า และมาตรฐานความปลอดภัยก๊าซปิโตรเลียมเหลว เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค ให้ได้รับบริการที่ดีและมีความปลอดภัย
3.5 ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินการของผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนในรูป Independent Power Producers (IPP) และผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ตามที่ได้มีการรับซื้อไฟฟ้าไปแล้ว
3.6 พัฒนาโครงสร้างอุตสาหกรรมไฟฟ้า และการกำหนดกฎเกณฑ์ในการจัดตั้งตลาดกลางซื้อขายไฟฟ้า เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตไฟฟ้าขายไฟฟ้า ได้โดยตรงแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าบางประเภท โดยใช้บริการสายส่ง และสายจำหน่ายที่เป็น Common Carrier ภายใต้หลักเกณฑ์การกำหนดค่าใช้บริการสายส่ง และสายจำหน่ายที่เป็นธรรม
4. กิจกรรมระดับงาน
1. การดำเนินงานตามแผนแม่บทการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจสาขาพลังงาน
2. การศึกษาการปรับโครงสร้างกิจการไฟฟ้าและการจัดตั้งตลาดกลางซื้อขายไฟฟ้า ระยะที่ 2
3. งานดำเนินการยกเลิกการควบคุมราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว และการปรับปรุงมาตรฐานความปลอดภัย
4. งานติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานของผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน (Independent Power Producers : IPP)
5. งานติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานของผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (Small Power Producers : SPP)
6. งานแก้ไขปัญหาการลักลอบนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง
7. งานปรับปรุงกฎเกณฑ์การตั้งสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มเติม
แผนงานที่ 4 แผนงานป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม
1. หลักการและเหตุผล
เนื่องจากการผลิตและการใช้พลังงานส่วนใหญ่ได้ก่อให้เกิดปัญหาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะการใช้ลิกไนต์และน้ำมันเตาในการผลิตไฟฟ้า และการใช้เชื้อเพลิงในสาขาคมนาคมขนส่ง ปริมาณของยานพาหนะที่เพิ่มมากขึ้น และปัญหาการจราจรติดขัดในเขตเมือง ยิ่งเป็นปัจจัยเร่งให้เกิดปัญหามลพิษทางอากาศเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น เพื่อเป็นแก้ไขและป้องกันปัญหาสิ่งแวดล้อม ที่เกิดจากการผลิต และการใช้พลังงาน จึงจำเป็นต้องมีแผนงานและมาตรการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพื่อเป็นการช่วยลดมลพิษทางอากาศให้ลดลง และเพื่อปรับปรุงให้กิจการทางด้านพลังงานมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
2. วัตถุประสงค์
2.1 เพื่อแก้ไขและลดปัญหามลพิษทางอากาศในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล และเมืองใหญ่ ให้ลดน้อยลง
2.2 เพื่อปรับปรุงมาตรฐาน และกฎระเบียบที่เกี่ยวกับความปลอดภัยในการขนส่ง การเก็บรักษา และการใช้พลังงาน โดยให้มีการบังคับใช้อย่างจริงจัง
3. กลยุทธ์
3.1 พิจารณาความเหมาะสมในการลดปริมาณกำมะถันในน้ำมันเตาลงจากเดิมที่กำหนดให้น้ำมันเตา ชนิดที่ 1-4 ที่มีกำมะถันไม่เกิน 2.0% และชนิดที่ 5 ที่มีกำมะถันไม่เกิน 0.5% ตามสภาพความรุนแรง ของปัญหาในเขตกรุงเทพฯ สมุทรปราการ และจังหวัดอื่นๆ ที่มีโรงงานอุตสาหกรรมตั้งอยู่อย่างหนาแน่น
3.2 ปรับปรุงข้อกำหนดคุณภาพน้ำมันเบนซิน และน้ำมันดีเซลหมุนเร็วเพิ่มเติมจากที่ได้ดำเนินการไปแล้ว เช่น การลดกำมะถันในน้ำมันเบนซิน การเพิ่มค่าซีเทน และการลดความถ่วงจำเพาะในน้ำมันดีเซล เป็นต้น
3.3 ดำเนินการควบคุมและกำกับดูแลการจัดเก็บและกำจัดกากน้ำมันหล่อลื่น และน้ำมันหล่อลื่นใช้แล้ว รวมทั้ง ส่งเสริมการลงทุนในการนำน้ำมันหล่อลื่นใช้แล้ว กลับมาใช้ประโยชน์อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ
3.4 กำหนดให้คลังน้ำมัน รถบรรทุกน้ำมัน สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงในเขตกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ ต้องติดอุปกรณ์กักเก็บไอน้ำมัน
3.5 ส่งเสริมให้มีการใช้เชื้อเพลิงที่สะอาด เช่น ก๊าซธรรมชาติ และก๊าซปิโตรเลียมเหลว เป็นต้น ในโรงงานอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีโรงงานหนาแน่น และในโรงไฟฟ้าเพื่อทดแทนน้ำมันเตา รวมทั้ง เร่งดำเนินการขยายการใช้ก๊าซธรรมชาติ ในยานพาหนะในเชิงพาณิชย์ เพื่อช่วยลดมลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร
3.6 ปรับปรุงมาตรฐาน และกฎระเบียบเกี่ยวกับความปลอดภัยในการขนส่ง การเก็บรักษา และการใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลว รวมทั้ง ให้มีการบังคับใช้อย่างจริงจัง
4. กิจกรรมระดับงาน
1. งานดำเนินการแก้ไขปัญหามลพิษจากไอระเหยของน้ำมันเบนซิน
2. งานจัดระบบการจัดเก็บน้ำมันหล่อลื่นใช้แล้ว และนำไปใช้ประโยชน์อย่างถูกต้อง
3. งานปรับปรุงมาตรฐานความปลอดภัยของธุรกิจก๊าซปิโตรเลียมเหลว
4. งานศึกษาและดำเนินการให้มีการปรับปรุงคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิง
5. งานศึกษาการขยายการใช้ก๊าซธรรมชาติในยานพาหนะ
6. งานส่งเสริมการใช้ก๊าซธรรมชาติในโรงไฟฟ้าและภาคอุตสาหกรรม
-ยังมีต่อ-

แท็ก ประชาชาติ  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ