ไทยลุยตรุกีในศาลการค้าโลก ซักฟอกการใช้มาตรการโควตาสิ่งทอผิดหลักการ WTO -------------------------------------------------------------------------------- ไทยและประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) อีก 4 ประเทศ ร่วมชี้แจงต่อคณะลูกขุน ของศาลการค้าโลก ให้การสนับสนุนท่าทีอินเดียในฐานะประเทศเจ้าทุกข์ว่ามาตรการจำกัด ปริมาณการนำเข้าสินค้าสิ่งทอ (โควตาสิ่งทอ) ที่รัฐบาลตุรกีได้ประกาศใช้บังคับต่อผู้ส่งออก 21 ประเทศถือเป็นการกีดกันทางการค้าและเป็นการเลือกปฏิบัติที่ละเมิดต่อหลักเกณฑ์ของ WTO นอกจากนี้ยังชี้ให้คณะลูกขุนเห็นว่าข้อกฎหมายแกตต์ที่ตุรกีนำมายกอ้างเพื่อกำหนด มาตรการดังกล่าวล้วนเป็นการตีความเข้าข้างตัวเอง พร้อมนี้ได้ขอให้คณะลูกขุนพิจารณาตัดสิน ให้รัฐบาลตุรกียกเลิกโควตาสิ่งทอดังกล่าวโดยเร็ว การต่อสู้ทางกฎหมายเพื่อ รักษากติกา การค้าโลกได้หวนมาอีกครั้ง เมื่อคณะลูกขุนของ WTO ได้เรียกประชุมเพื่อรับฟังข้อชี้แจงของ ประเทศคู่กรณีเป็นครั้งแรก ระหว่างวันที่ 5-7 ตุลาคม ที่ผ่านมา ในกรณีพิพาทว่าด้วยการ ประกาศใช้มาตรการจำกัดปริมาณการนำเข้าสินค้าสิ่งทอของประเทศตุรกีอันเป็นผลมาจากการ ก่อตั้ง สหภาพศุลกากร (Customs Union) ระหว่างสหภาพยุโรปและตุรกีซึ่งมีผลใช้บังคับมา ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2539 เป็นต้นมา อินเดียเป็นประเทศผู้เสนอฟ้องตุรกี โดยมีเหตุผล ในการร้องทุกข์ว่าการใช้นโยบายจำกัดการนำเข้า สิ่งทอไม่เป็นไปตามกฏเกณฑ์และ เจตนารมณ์ของความตกลง WTO ทั้งนี้ ข้อละเมิดต่อบทบัญญัติของแกตต์ที่อินเดียอ้างถึง นับรวมกันได้ 6 กระทง นับตั้งแต่การไม่เคารพต่อมาตรา 1 ของแกตต์ว่าด้วยการไม่เลือก ปฏิบัติ (MFN)การกำหนดโควตาสิ่งทอที่สวนกระแสการเปิดเสรีภายใต้ความตกลงสิ่งทอและ เครื่องนุ่งห่ม (Agreement on Textiles and Clothing - ATC) ไปจนถึงการตีความในมาตรา 24 ของแกตต์ว่าด้วยการก่อตั้งสหภาพศุลกากรและเขตการค้าเสรีซึ่งไม่เป็นไปตาม เจตนารมณ์ของการหลีกเลี่ยงมาตรการกีดกันทางการค้าประเทศไทย โดยผู้แทนถาวรไทย ประจำองค์การการค้าโลก ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในฐานะบุคคลที่สาม (Third Party) ภายใต้ กระบวนการพิจารณาตัดสินกรณีพิพาทดังกล่าว และได้ชี้แจงข้อโต้แย้งทางกฎหมายต่อ คณะลูกขุน ซึ่งส่วนใหญ่มุ่งไปที่ประเด็นการที่ตุรกีนำเอาระบบโควตามาใช้ปฏิบัติอย่างผิดวิธี และการก่อตั้ง สหภาพศุลกากรระหว่างสหภาพยุโรปและตุรกีที่ก่อให้เกิดกำแพงการค้า ต่อประเทศนอกกลุ่ม ซึ่งในประเด็นหลังจะเกี่ยวข้องกับการตีความในมาตรา 24 ของแกตต์ นับเป็นครั้งแรกที่ศาลการค้าโลกจะต้องทำหน้าที่กำหนดแนวทางปฏิบัติให้เกิดความชัดเจน ระหว่างมาตรการทางการค้าที่พึงปฏิบัติได้และมาตรการที่ประเทศสมาชิกพึงหลีกเลี่ยงจาก การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค สหรัฐฯซึ่งในอดีตเคยเป็นประเทศที่ต่อสู้กับอินเดีย ในศาลการค้าโลกมาอย่างโชกโชน ได้กระโดดเข้ามาร่วมสังคายนากับอินเดียอย่างเต็มที่ ในกรณีพิพาทนี้อันสะท้อนให้เห็นถึงโลกความเป็นจริงของระบบการค้าโลกซึ่งไม่มีมิตรแท้ และศัตรูที่ถาวร ข้อชี้แจงของสหรัฐฯ รวมทั้งประเทศ Third Party อื่นๆ ซึ่งได้แก่ ฮ่องกง ญี่ปุ่น และฟิลิปปินส์ ล้วนเทน้ำหนักทางกฎหมายให้แก่ท่าทีของอินเดีย โดยมีบางประเด็นที่ต้อง พิจารณาข้อมูลเกี่ยวกับบรรทัดฐานทางกฎหมายระหว่างสหภาพยุโรปและตุรกี (ว่าด้วย Treaty of Rome และ Ankara Agreement) ย้อนหลังไปถึงปี ค.ศ. 1957 นับเป็นระยะเวลากว่า 40 ป ผลการพิจารณาตัดสินของคณะลูกขุนในกรณีพิพาทนี้คาดว่าจะมีนัยทางกฏหมายอย่างกว้างขวาง ระหว่างกฏเกณฑ์ภายใต้ระบบการค้าพหุภาคีกับระบบการค้าระดับภูมิภาคซึ่งนับวันจะขยาย ขอบเขตขึ้นเรื่อยๆ หากคณะลูกขุนพิจารณาตีความไปในทิศทางของอินเดียและไทยก็จะถือ เป็นชัยชนะสำหรับระบบการค้าพหุภาคี แต่หากผลการพิจารณาโน้มเอียงไปในทิศทาง ของตุรกีแล้ว ก็อาจจะก่อให้เกิดช่องโหว่ทางกฏหมายที่จะมีผลบั่นทอนต่อพื้นฐานของ WTO ในระยะยาว ผลการตัดสินของคณะลูกขุนมีกำหนดการที่จะออกมาภายใน 4 เดือนข้างหน้า ติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมผ่าน E-mail mailto:thai(WTO)@lprolink.ch หรือ http://www.dbe.moc.go.th/MOCOff/Oversea/OverSeaPart.html
--กรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ กุมภาพันธ์ 2543--
-ปส-
--กรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ กุมภาพันธ์ 2543--
-ปส-