(ต่อ1) สถานการณ์พลังงาน ปี 2542 ถึง กลางปี 2543

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 3, 2000 16:59 —สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน

          ธุรกิจการกลั่น ปัจจุบันประเทศไทยมีโรงกลั่นน้ำมันจำนวน 6 โรง มีกำลังการกลั่นรวม 830 พันบาร์เรล/วัน แต่ปริมาณการผลิตจริงของปี 2542 อยู่ในระดับ 742 พันบาร์เรล/วัน หรือร้อยละ 89 ของกำลังการกลั่น ในขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันในประเทศ (ไม่รวมการใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี) มีอยู่เพียง 630 พันบาร์เรล/วัน ที่เหลือจึงต้องส่งออก ราคาส่งออกมีแนวโน้มต่ำกว่าราคาในประเทศ เนื่องจากความต้องการ ยังไม่ฟื้นตัวและกำลังการกลั่นมีมากเกินความต้องการ ค่าการกลั่นจึงอยู่ในระดับต่ำ 0.30 - 0.60 บาท/ลิตร
จากอุบัติเหตุไฟไหม้คลังน้ำมัน ของโรงกลั่นไทยออยล์เมื่อต้นเดือนธันวาคม 2542 มีผลให้ โรงกลั่นไทยออยล์ต้องหยุดผลิตในเดือนดังกล่าว และสามารถผลิตได้ในระดับปกติอีกครั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2543 อย่างไรก็ตามความสามารถในการกลั่นในช่วง 3 เดือนแรก จะยังคงอยู่ในระดับต่ำ ทำให้โรงกลั่นอื่นๆ พยายามเร่งการผลิตเพื่อชดเชยส่วนที่ขาดหายไปของโรงกลั่นไทยออยล์ โดยโรงกลั่นน้ำมันระยองและโรงกลั่นสตาร์ปิโตรเลียม รีไฟนิ่งสามารถกลั่นรวมกันได้ 300 พันบาร์เรล/วัน โรงกลั่นเอสโซ่ โรงกลั่นบางจาก และ TPI สามารถกลั่นได้ 145 , 100 และ 65 พันบาร์เรล/วัน ตามลำดับ
ไฟฟ้า กำลังการผลิตติดตั้งไฟฟ้าของ กฟผ. และกำลังการผลิตติดตั้งไฟฟ้าของผู้ผลิตไฟฟ้าอื่น เพื่อจำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบของ กฟผ. ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2542 มีจำนวนทั้งสิ้น 18,880 เมกะวัตต์ แยกเป็นกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งของ กฟผ. จำนวน 15,140 เมกะวัตต์ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 80.2 กำลังการผลิตติดตั้งไฟฟ้าของเอกชน จำนวน 3,400 เมกะวัตต์ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 18 และการรับซื้อกระแสไฟฟ้าจากต่างประเทศ จำนวน 340 เมกะวัตต์ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.8
ในปี 2542 ปริมาณการผลิตพลังงานไฟฟ้าของประเทศ มีจำนวนทั้งสิ้น 92,472 ล้านหน่วย (GWh) เพิ่มขึ้นจากปีก่อนในอัตราร้อยละ 1.4 โดยการผลิตพลังงานไฟฟ้าได้เริ่มปรับตัวสูงขึ้นทุกเดือน ในอัตราร้อยละ 4 - 5 ตั้งแต่กลางปี 2542 เป็นต้นมา ในขณะที่ความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุดอยู่ที่เดือนมีนาคม อยู่ในระดับ 13,712 เมกะวัตต์ ลดลงร้อยละ 3.3 จากความต้องการสูงสุดในปีที่แล้วที่อยู่ในระดับ 14,180 เมกะวัตต์
การใช้พลังงานไฟฟ้าของปีนี้อยู่ในระดับ 80,798 GWh เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 จากปีก่อน การใช้เริ่มปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นมา โดยเฉพาะการใช้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2542 ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.3 โดยการใช้ในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมได้เริ่มปรับตัวสูงขึ้น
สำหรับในปี 2543 คาดว่าความต้องการพลังงานไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 ซึ่งจะใกล้เคียงกับการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้า ชุดเศรษฐกิจฟื้นตัวปานกลาง กำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองต่ำสุดในปี 2542 อยู่ในระดับร้อยละ 22.1 จากการคาดการณ์ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. (PDP 99-02) คาดว่ากำลังผลิตไฟฟ้าสำรองต่ำสุดในปี 2543 จะอยู่ในระดับร้อยละ 19.1 เพราะว่าในช่วงที่ผ่านมาการก่อสร้างโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ไม่ได้เป็นไปตามแผนฯ ที่กำหนดไว้ โดยเฉพาะในปี 2542 ได้มีการชะลอโครงการโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ไปแล้ว และคาดว่าจะชะลอออกไปอีกหลายโครงการ เช่น โรงไฟฟ้าลำตะคองเครื่องที่ 3 และ 4 เลื่อนจากปี 2546 ออกไปประมาณ 4 ปี โรงไฟฟ้าพลังความร้อนกระบี่เครื่องที่ 2 เลื่อนจากปี 2548 ออกไปอีกหนึ่งปี จากความต้องการไฟฟ้าที่มีแนวโน้มขยายตัว ตามภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว และการชะลอโครงการต่างๆ ทั้งของ กฟผ. และเอกชน ปริมาณกำลังผลิตไฟฟ้าที่เคยคาดว่าจะอยู่ในระดับร้อยละ 40 - 50 ในช่วง 4 - 5 ปีข้างหน้านี้ จะอยู่ในระดับที่ไม่สูงอย่างที่คาดไว้
4. การดำเนินนโยบายและมาตรการในปี 2542 ถึงกลางปี 2543
ภาวะเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวตั้งแต่ไตรมาสที่สองของปี 2542 เป็นต้นมา โดยมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2542 เฉลี่ยร้อยละ 4.2 การขยายตัวของภาวะเศรษฐกิจ ได้ส่งผลให้ความต้องการพลังงานเชิงพาณิชย์ของประเทศปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ตามในปี 2542 ราคาน้ำมันได้ปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นมา และต่อเนื่องมาจนถึงปี 2543 ส่งผลให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศปรับตัวสูงขึ้น รัฐบาลจึงมีนโยบายให้มีการปรับเปลี่ยนการใช้น้ำมัน เป็นก๊าซธรรมชาติให้มากขึ้น และเร่งรัดการดำเนินการตามมาตรการอนุรักษ์พลังงาน ให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น ซึ่งการดำเนินนโยบายและมาตรการทางด้านพลังงานในช่วงปี 2542 ถึงกลางปี 2543 มีความก้าวหน้าในหลายเรื่อง ดังนี้
4.1 ด้านการจัดหาพลังงาน
เนื่องจากปริมาณความต้องการพลังงานของประเทศ ได้ชะลอตัวลงมากตั้งแต่ปี 2540 ส่งผลให้แผนการจัดหาพลังงานของประเทศ ที่ได้กำหนดไว้เดิม มีส่วนเกินพลังงาน เหลืออยู่ในระบบเกินความจำเป็น ประกอบกับรัฐบาลได้ปรับลดกรอบการลงทุน ของทั้งภาครัฐและเอกชนลง เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ จึงส่งผลให้การดำเนินนโยบาย และมาตรการด้านการจัดหาพลังงาน ต้องมีการปรับเปลี่ยน เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ดังกล่าว โดยได้มีการดำเนินการที่สำคัญ ดังนี้
(1) ได้มีการเจรจาเลื่อนการรับซื้อไฟฟ้าจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ตามกรอบบันทึกความเข้าใจในปริมาณ 3,000 เมกะวัตต์ จากเดิมที่กำหนดไว้ภายในปี 2549 ออกไปเป็น 2 ช่วง คือ รับซื้อไฟฟ้า จำนวน 1,600 เมกะวัตต์ ภายในปี 2549 และอีกจำนวน 1,700 เมกะวัตต์ ภายในปี 2551 เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศที่ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจ รวมทั้ง ให้มีการติดตาม ทบทวนแผนการซื้อขายไฟฟ้าจากโครงการใน สปป.ลาว อย่างใกล้ชิด ปัจจุบันมีโครงการที่จำหน่ายกระแสไฟฟ้าเข้าระบบของ กฟผ. แล้ว 2 โครงการ คือ โครงการน้ำเทิน-หินบุน และโครงการห้วยเฮาะ ส่วนโครงการที่ได้ตกลงราคาซื้อขายไฟฟ้าแล้ว คือ โครงการน้ำเทิน 2 และคาดว่าจะมีการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าได้ภายในปี 2543 นี้
(2) ได้มีการหารือในรายละเอียดการรับซื้อไฟฟ้าจากสาธารณรัฐประชาชนจีน จำนวน 3,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2560 และได้ข้อสรุปว่าโครงการโรงไฟฟ้าจิงหงขนาด 1,500 เมกะวัตต์ จะส่งมอบไฟฟ้าให้ไทยได้ในปี 2556 ส่วนโครงการอื่นๆ อีก 1,500 เมกะวัตต์ จะส่งมอบไฟฟ้าให้ไทยได้ในปี 2557 โดยทั้งสองฝ่ายได้รับทราบเงื่อนไขว่าภายในปี 2546 ประเทศไทยจะนำระบบการซื้อขายไฟฟ้าแบบ Power Pool มาใช้
(3) ได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจเรื่อง โครงการความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้ากับรัฐบาลกัมพูชาเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2543 โดยทั้งสองฝ่ายจะสนับสนุนให้มีการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างทั้งสองประเทศ โดยฝ่ายไทยตกลงที่จะให้ความช่วยเหลือในด้านวิชาการ และการฝึกอบรมในสาขาไฟฟ้า ให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของรัฐบาลกัมพูชา และให้มีการจัดตั้งตลาดกลางซื้อขายไฟฟ้าแบบ Power Pool ขึ้นในแต่ละประเทศ ตลอดจนร่วมมือกันในการวางแผน และก่อสร้างระบบสายส่งเชื่อมโยงระหว่างทั้งสองประเทศ รวมทั้ง กำหนดนโยบายเปิดให้เข้าถึงเครือข่าย ของระบบสายส่งเพื่อการซื้อขายกับประเทศอื่นๆ ในอนาคต
(4) ได้มีการปรับปรุงแผนการลงทุนของการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง ให้มีความเหมาะสม โดยในส่วนของ กฟผ. ได้มีการปรับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. พ.ศ. 2542-2554 โดยใช้ค่าพยากรณ์ความต้องการ ไฟฟ้าเมื่อเดือนกันยายน 2541 กรณีเศรษฐกิจฟื้นตัวปานกลางเป็นฐานในการจัดทำ เพื่อไม่ให้กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองของประเทศสูงเกินความจำเป็น โดยการชะลอโครงการที่ได้รับอนุมัติ แต่ยังไม่ผูกพันการก่อสร้างออกไป และเจรจาผ่อนปรนกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ ของโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่และรายเล็ก รวมทั้งปรับลดเงินลงทุนจาก 420,900 ล้านบาท เหลือ 175,000 ล้านบาท ในส่วนของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ได้มีการปรับลดการลงทุนในแผนปรับปรุง และขยายระบบจำหน่ายพลังไฟฟ้า ฉบับที่ 8 ปีงบประมาณ 2539-2544 จากเดิม 57,099 ล้านบาท คงเหลือ 39,077 ล้านบาท และในส่วนของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ได้มีการปรับลดการลงทุนในแผนงาน และโครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8 เช่นกัน จากเดิมมีการลงทุน 80,070 ล้านบาท คงเหลือ 48,281 ล้านบาท เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการใช้ไฟฟ้า ที่ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจถดถอยของประเทศ
(5) ได้มีการกำหนดมาตรฐานคุณภาพบริการของ กฟน. และ กฟภ. โดย กฟน. ได้ดำเนินการ จัดทำระเบียบเกี่ยวกับการจ่ายค่าปรับ ตามมาตรฐานคุณภาพบริการ พ.ศ. 2543 รวมทั้ง ดำเนินการออกประกาศ กฟน. เรื่อง มาตรฐานคุณภาพบริการของการไฟฟ้านครหลวง ในส่วนของ กฟภ. ได้จัดทำระเบียบการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ว่าด้วยมาตรฐานคุณภาพบริการ พ.ศ. 2543 รวมทั้ง ออกประกาศ กฟภ. เรื่อง มาตรฐานการให้บริการที่ กฟภ. รับประกันกับผู้ใช้ไฟฟ้า ซึ่งมาตรฐานคุณภาพบริการของ กฟน. และ กฟภ. ดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2543 เป็นต้นมา ประกอบด้วย
มาตรฐานทางด้านเทคนิค (Technical Standards) ประกอบด้วย มาตรฐานแรงดัน ไฟฟ้า มาตรฐานการจ่ายไฟฟ้า และมาตรฐานความเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้า มาตรฐานการให้บริการ (Customer Service Standards) ประกอบด้วย มาตรฐานการให้บริการทั่วไป (Overall Standards) และมาตรฐานการให้บริการที่การไฟฟ้ารับประกันกับผู้ใช้ไฟฟ้า (Guaranteed Standards) ซึ่งในส่วนหลังนี้มีบทลงโทษ โดยคิดเป็นค่าปรับ ที่การไฟฟ้า จะต้องจ่ายให้ผู้ใช้ไฟ ในกรณีที่ไม่สามารถปฏิบัติตามมาตรฐานที่กำหนด โดยค่าปรับจะอยู่ระหว่าง 50 - 2,000 บาท ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) ทำหน้าที่กำกับดูแลและติดตามการดำเนินงาน รวมทั้ง ประเมินผลการดำเนินงานให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด
4.2 ด้านการส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและประหยัด
ในปี 2542 ความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศเริ่มปรับตัวสูงขึ้น อันเนื่องมาจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ อย่างไรก็ตาม ในปี 2542 เป็นปีที่ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันดิบและราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก ซึ่งเป็นผลมาจากการลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบ ของกลุ่มโอเปคและประเทศนอกกลุ่มโอเปค รวมทั้ง การอ่อนตัวลงของค่าเงินบาท ดังนั้นเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่ประเทศเผชิญอยู่ รัฐบาลจึงได้กำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากภาวะราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น ในขณะเดียวกันก็กำหนดมาตรการที่มุ่งเน้นให้มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและประหยัดควบคู่กันไป โดยในช่วงที่ผ่านมาได้มีการดำเนินมาตรการดังนี้
(1) ได้มีการกำหนดค่าตัวประกอบกำลังไฟฟ้าที่เหมาะสมของระบบไฟฟ้าไทย (Power Factor : P.F.) ให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบไฟฟ้า โดยค่า P.F. ที่เหมาะสมระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิต และการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายในปี 2544 มีค่าระหว่าง 0.875 - 0.925 และในปี 2548 มีค่าระหว่าง 0.900 - 0.950 โดยให้มีการกำหนดบทปรับเมื่อมีค่า P.F. ต่ำกว่าที่กำหนด 5 บาท/kVar/เดือน
(2) สพช. ได้จ้างบริษัทที่ปรึกษาดำเนินการศึกษาโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ ความต้องการใช้ไฟฟ้าที่ลดลง และลักษณะการใช้ไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้ง ปรับปรุงสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติให้สะท้อนถึงต้นทุนที่แท้จริง ซึ่งขณะนี้การจัดทำร่างรายงานการศึกษาฉบับสมบูรณ์ได้แล้วเสร็จ และคาดว่าจะมีการประกาศใช้โครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าใหม่ประมาณปลายปี 2543
(3) ได้มีการปรับค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Automatic Adjustment Mechanism : Ft) อันเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราของประเทศเป็นอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 และการเปลี่ยนแปลงของค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของการไฟฟ้า โดยคณะอนุกรรมการกำกับสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ ได้มีการพิจารณาปรับค่า Ft สำหรับค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บเป็นระยะ เพื่อให้สอดคล้องกับอัตราแลกเปลี่ยนและราคาเชื้อเพลิงที่เป็นจริง โดยครั้งล่าสุดได้มีการปรับค่า Ft สำหรับการเรียกเก็บในช่วงเดือนสิงหาคม - ตุลาคม 2543 เท่ากับ 64.52 สตางค์/หน่วย หรือเพิ่มขึ้นจากเดิม 3 สตางค์/หน่วย อันเป็นผลมาจากราคาน้ำมันเตา น้ำมันดีเซล และก๊าซธรรมชาติปรับตัวสูงขึ้น การปรับค่า Ft ดังกล่าวจะทำให้ผู้ใช้ไฟประเภทบ้านอยู่อาศัยขนาดเล็ก จำนวนร้อยละ 65 (8.6 ล้านราย) ซึ่งมีปริมาณการใช้ไฟเฉลี่ย 65 หน่วย/เดือน ต้องจ่ายค่าไฟเพิ่มขึ้นประมาณ 1.95 บาท/เดือน
สรุปการปรับค่า Ft (ไม่รวม VAT) ในช่วงที่ผ่านมา
ปี สตางค์/หน่วย
2540 เฉลี่ย 27.93
2541 มกราคม - มีนาคม 42.40
เมษายน - กรกฎาคม 50.45
สิงหาคม - พฤศจิกายน 55.77
ธันวาคม 2541 - มีนาคม 2542 50.71
2542 เมษายน - กรกฎาคม 32.61
สิงหาคม - พฤศจิกายน 37.92
ธันวาคม 2542 - มีนาคม 2543 56.32
2543 เมษายน - กรกฎาคม 61.52
สิงหาคม - ตุลาคม 64.52
4) คณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงานได้มีมติเห็นชอบการปรับโครงสร้างราคาขายส่ง ไฟฟ้า โดยพิจารณาจากฐานะการเงินของการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง และให้มีการปรับส่วนเพิ่ม (ส่วนลด) ราคาขายส่งไฟฟ้าระหว่าง กฟผ. และการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายให้มีผลตั้งแต่เดือนตุลาคม 2541 ไปจนกว่าจะมีการปรับโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าใหม่ ดังนี้
ส่วนเพิ่ม (ส่วนลด) ราคาขายส่งไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)
หน่วย : บาท/หน่วย
ม.ค. - มิ.ย. 2540 ก.ค. 2540 - ปัจจุบัน
กฟผ. ขาย กฟน. 0.2507 0.2577
กฟผ. ขาย กฟภ. (0.1461) (0.1005)
ทั้งนี้ กฟผ. ได้ดำเนินการปรับส่วนเพิ่ม (ส่วนลด) ราคาขายส่งไฟฟ้าตั้งแต่ใบแจ้งหนี้ค่าไฟฟ้าประจำเดือนมีนาคม 2543 และ กฟภ. ได้ปรับราคาขายส่งย้อนหลังตั้งแต่เดือนตุลาคม 2541 - กุมภาพันธ์ 2543 โดยได้ดำเนินการจ่ายเงินคืนให้แก่ กฟน. เป็นเงินจำนวน 1,304.14 ล้านบาท
(5) กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน (พพ.) ได้จัดทำมาตรการป้องกันการนำเอาเครื่องปรับอากาศเก่า ที่ถูกถอดออกกลับมาใช้อีก โดยคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ได้มอบหมายให้ พพ. เร่งดำเนินการศึกษาวิธีการทำลายเครื่องปรับอากาศเก่า โดยไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้แล้วเสร็จ ภายในเดือนกันยายน 2543 และห้ามหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจ ที่เข้าร่วมโครงการอาคารของรัฐ ที่ได้ดำเนินการอนุรักษ์พลังงานแล้ว นำเครื่องปรับอากาศเก่า ที่ถูกถอดออกแล้วกลับมาใช้อีก แต่ให้เก็บไว้เพื่อรอการทำลาย หรือจัดการตามแนวทาง ที่ได้รับจากผลการศึกษาของ พพ. และห้ามโอนเครื่องปรับอากาศเก่า ที่ถูกถอดออกไปให้ส่วนราชการอื่นที่ยังขาดแคลน รวมทั้ง ให้สำนักงบประมาณอนุมัติงบประมาณค่าใช้จ่าย ในการบำรุงรักษาเครื่องปรับอากาศที่แต่ละหน่วยงานของรัฐเสนอมา
(6) สพช. ได้มีการพิจารณาปรับอัตราเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ในช่วงเวลาที่เหมาะสมเพื่อให้กองทุนน้ำมันฯ มีฐานะอยู่ในระดับที่เพียงพอ สำหรับการตรึงราคาขายปลีกก๊าซหุงต้ม เนื่องจากกองทุนฯ มีภาระต้องจ่ายเงินชดเชยราคาก๊าซหุงต้มในระดับ 1,026 ล้านบาท/เดือน โดยกองทุนฯ มีรายรับจากน้ำมันชนิดอื่นประมาณ 583 ล้านบาท/เดือน และมีเงินไหลออกจากกองทุนฯ สุทธิ 443 ล้านบาท/เดือน จึงทำให้ฐานะกองทุนฯ ลดลงมาอยู่ในระดับ 1,860 ล้านบาท ดังนั้น สพช. จึงได้ดำเนินการปรับเพิ่ม/ลดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนฯ ของน้ำมันเบนซินและดีเซล ในช่วงเวลาที่เหมาะสมในช่วงที่ผ่านมา ดังนี้
น้ำมันเบนซิน ได้มีการปรับเพิ่มอัตราเงินส่งเข้ากองทุนฯ จากเดิม 0.15 บาท/ลิตร เพิ่มเป็น 0.25 บาท/ลิตร ตั้งแต่วันที่ 12 เมษายน 2543 และต่อมาได้มีการปรับเพิ่มอัตราเงินส่งเข้ากองทุนฯ ของน้ำมันเบนซินออกเทน 95 จาก 0.25 บาท/ลิตร เพิ่มเป็น 0.45 บาท/ลิตร ส่วนน้ำมันเบนซินออกเทน 91 และ 87 เป็นอัตราเดิม 0.25 บาท/ลิตร โดยเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2543 เป็นต้นมา
น้ำมันดีเซลหมุนเร็วและดีเซลหมุนช้า ได้มีการปรับเพิ่มอัตราเงินส่งเข้ากองทุนฯ จากเดิม 0.00 บาท/ลิตร เพิ่มเป็น 0.15 บาท/ลิตร โดยมีผลในช่วงวันที่ 24 - 27 เมษายน 2543 และต่อมาได้มีการปรับเพิ่มอัตราเงินส่งเข้ากองทุนฯ ของน้ำมันดีเซลหมุนเร็วและดีเซลหมุนช้าจาก 0.15 บาท/ลิตร เป็น 0.25 บาท/ลิตร โดยเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน 2543 เป็นต้นมา แต่เนื่องจากราคาน้ำมันที่ยังคงปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น และเพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนทั่วไป คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติจึงได้มีมติให้ปรับลดอัตราการเก็บเงินเข้ากองทุนฯ จาก 0.25 บาท/ลิตร เหลือ 0 บาท/ลิตร เป็นการชั่วคราว โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2543 เป็นต้นไป
(7) คณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงานได้มอบหมายให้ สพช. ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกายกร่างคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 1/2540 เพื่อแก้ไขเพิ่มเติม ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีตามกฎหมาย ว่าด้วยการแก้ไขและป้องกันการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง เมื่อผู้มีหน้าที่ส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ไม่ส่งเงินเข้ากองทุนฯ หรือส่งไม่ครบถ้วน หรือไม่ส่งภายในระยะเวลาที่กำหนด เนื่องจากบทลงโทษรุนแรงเกินไป โดยออกเป็นคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 2/2543 และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2543 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2543 เป็นต้นมา
(8) สพช. และ พพ. ได้มีการดำเนินการอนุรักษ์พลังงาน ตามพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 ภายใต้แผนอนุรักษ์พลังงาน ระยะที่ 1 ปีงบประมาณ 2538 - 2542 และได้ทำการประเมินศักยภาพการอนุรักษ์พลังงาน ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งประกอบด้วย การดำเนินงานอนุรักษ์พลังงานในอาคารของรัฐ จำนวน 413 อาคาร และการสนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียน และการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้แผนงานภาคความร่วมมือ จำนวน 91 โครงการ การดำเนินการดังกล่าวคาดว่า จะก่อให้เกิดการอนุรักษ์พลังงาน และสามารถทดแทนพลังงานสิ้นเปลืองได้ คิดเป็นเงินประมาณ 525 ล้านบาท/ปี และสามารถชะลอการลงทุน ในการสร้างโรงไฟฟ้าได้คิดเป็นมูลค่า 2,115 ล้านบาท และเนื่องจากแผนอนุรักษ์พลังงาน ระยะที่ 1 ได้สิ้นสุดลงในวันที่ 30 กันยายน 2542 สพช. จึงได้จัดทำแผนอนุรักษ์พลังงาน ระยะที่ 2 ปีงบประมาณ 2543 - 2547 เพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินงานอนุรักษ์พลังงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยให้ความสำคัญกับนโยบายต่อไปนี้มากขึ้น เช่น การสนับสนุนการใช้เซลล์แสงอาทิตย์ การอนุรักษ์พลังงานในสาขาขนส่ง การกำหนดราคารับซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียน และการกำหนดมาตรฐานประสิทธิภาพขั้นต่ำของอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งแผนอนุรักษ์พลังงาน ระยะที่ 2 นี้คาดว่าจะก่อให้เกิดการอนุรักษ์พลังงาน โดยสามารถทดแทนพลังงานไฟฟ้าและเชื้อเพลิงได้ คิดเป็นเงินประมาณ 12,870 ล้านบาท/ปี และสามารถลดความต้องการไฟฟ้าได้ คิดเป็นเงินประมาณ 38,085 ล้านบาท
(9) การดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำมันราคาสูง โดยคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ได้กำหนดมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบ จากราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่เพิ่มสูงขึ้น เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อสาขาการผลิตต่างๆ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้มีการดำเนินการตามมาตรการต่างๆ ดังนี้
มาตรการอนุรักษ์พลังงานโดยใช้กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานให้การสนับสนุน ได้มีการดำเนินการดังนี้
กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน (พพ.) ได้ดำเนินการปรับปรุงการใช้พลังงานในอาคารของรัฐแล้วเสร็จ 413 อาคาร ในส่วนของโรงงานควบคุม และอาคารควบคุมส่วนใหญ่ อยู่ระหว่างการตรวจวิเคราะห์การใช้พลังงาน เพื่อดำเนินการปรับปรุงต่อไป โดยในปีงบประมาณ 2543 ได้ดำเนินการตรวจวิเคราะห์การใช้พลังงาน ในอาคารควบคุมไปแล้ว 148 แห่ง และโรงงานควบคุม 256 แห่ง
กระทรวงอุตสาหกรรมได้จัดทำโครงการอนุรักษ์พลังงาน ในโรงงานอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม โดยอยู่ระหว่างการพิจารณากลั่นกรอง ของคณะผู้เชี่ยวชาญกลั่นกรองโครงการ ได้แก่ โครงการลดต้นทุนอุตสาหกรรมขนาดกลาง - ขนาดย่อม และสนับสนุนฐานการผลิตเทคโนโลยีประหยัดพลังงาน, โครงการปรึกษาแนะนำและสร้างผู้เชี่ยวชาญการบริหารการจัดการพลังงาน แก่โรงงานอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม, โครงการกระตุ้นให้เกิดการอนุรักษ์พลังงาน ในโรงงานอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม, โครงการติดตั้งหม้อไอน้ำสำหรับเตาเผาอุตสาหกรรม, และโครงการสนับสนุนการติดตั้งอุปกรณ์ เพื่อนำพลังงานที่เหลือทิ้งมาใช้ประโยชน์ในโรงงานอุตสาหกรรม
สพช. ได้ดำเนินการศึกษาการกำหนดมาตรฐานประสิทธิภาพ การใช้พลังงานขั้นต่ำในอุปกรณ์ 6 ประเภทแล้วเสร็จ ได้แก่ ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ มอเตอร์ หลอดคอมแพคฟลูออเรสเซนต์ หลอดฟลูออเรสเซนต์ และบัลลาสต์ ซึ่งต่อมาคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ได้เห็นชอบให้สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม รับไปดำเนินการให้อุปกรณ์ดังกล่าว เป็นอุปกรณ์ควบคุมมาตรฐานประสิทธิภาพ การใช้พลังงานไฟฟ้าขั้นต่ำต่อไป โดยกำหนดให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2547 และเพิ่มความเข้มข้นของมาตรฐานทุก 3 ปี โดยคาดว่า ผลการดำเนินการในช่วงปี 2547 - 2554 จะสามารถประหยัดพลังงานไฟฟ้าได้ 3,213 ล้านหน่วย และประหยัดเชื้อเพลิง ได้ประมาณ 2,900 ล้านบาท
ปตท. ได้ดำเนินโครงการปรับแต่งเครื่องยนต์เพื่อประหยัดพลังงาน (Tune-up) ระยะที่ 1 โดยจัดตั้งศูนย์บริการตามสถานที่ราชการ เพื่อให้บริการแก่รถราชการ และที่กรมการขนส่งทางบก เพื่อให้บริการแก่ประชาชนทั่วไป ตั้งแต่กลางเดือนสิงหาคม 2543 คาดว่าจะให้บริการรถยนต์ได้ประมาณ 17,000 คัน ภายใน 6 เดือน และจะมีโครงการระยะที่ 2 ขยายบริการไปยังต่างจังหวัด โดยคาดว่าจะให้บริการรถยนต์ได้ประมาณ 49,000 คัน ในระยะเวลา 3 ปี ซึ่งหลังจากการปรับแต่งเครื่องยนต์แล้ว คาดว่าจะสามารถลดปริมาณการใช้น้ำมันลงได้ร้อยละ 5 - 10 ต่อคัน
สพช. ได้ดำเนินโครงการทางเดียวกันไปด้วยกัน (Car pool) เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว โดยจะจัดให้มีกิจกรรม Car Free Day ในวันที่ 22 กันยายน 2543 ซึ่งจะช่วยลดการใช้น้ำมันลง
สพช. ได้ดำเนินโครงการรณรงค์วิธีประหยัดน้ำมัน โดยจัดทำแผ่นพับเสนอวิธีประหยัดน้ำมัน จำนวน 300,000 ชุด เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับวิธีการประหยัดน้ำมันแบบง่ายๆ ด้วยตนเองสำหรับผู้ใช้รถทุกประเภท โดยจะแจกจ่ายประมาณปลายเดือนสิงหาคม 2543 รวมทั้ง เผยแพร่ผ่านทาง Website ของ สพช.
มาตรการปรับเปลี่ยนการใช้พลังงานในภาคการผลิตไฟฟ้า อุตสาหกรรม และภาคขนส่ง ได้มีการดำเนินการดังนี้
การเร่งดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าราชบุรีให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และการปรับเปลี่ยนมาใช้ก๊าซธรรมชาติในโรงไฟฟ้าของ กฟผ. เพิ่มขึ้น จากเดิมมีการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง 1,137 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในปลายปี 2542 เพิ่มขึ้นเป็น 1,350 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในเดือนพฤษภาคม 2543
การส่งเสริมให้มีการใช้ก๊าซธรรมชาติในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น โดย ปตท. ได้จัดจ้างที่ปรึกษาดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ ของโครงการระบบท่อก๊าซธรรมชาติรอบกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้ง จัดทำการออกแบบเบื้องต้นทางด้านวิศวกรรม และการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น แล้วเสร็จเมื่อเดือนมิถุนายน 2543 และจะเสนอขออนุมัติดำเนินโครงการ ต่อสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ภายในเดือนตุลาคม 2543 นอกจากนี้ ปตท. ได้มีการทบทวนแผนแม่บทการลงทุนขยายโครงข่ายท่อก๊าซธรรมชาติของ ปตท. และได้บรรจุไว้ในแผนวิสาหกิจ ปตท. ปี 2544 - 2548 ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของ สศช. เพื่ออนุมัติงบลงทุนต่อไป
ปตท. ได้จัดทำโครงการก่อนการขยายตลาดของยานยนต์ใช้ก๊าซธรรมชาติ โดยได้ดำเนินการดัดแปลงเครื่องยนต์ดีเซลเป็นระบบเชื้อเพลิงร่วม (Dual - fuel System) รวม 16 คัน และดัดแปลงเครื่องยนต์เบนซินเป็นระบบเชื้อเพลิงสองชนิด (Bi - fuel System) รวม 12 คัน แล้วเสร็จเมื่อเดือนมีนาคม 2543 โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการประเมินผลโครงการ คาดว่าจะแล้วเสร็จปลายเดือนสิงหาคม 2543
ปตท. ได้จัดทำโครงการทดสอบ เพื่อติดตั้งอุปกรณ์ใช้ก๊าซธรรมชาติ แบบให้เปล่า ให้กับรถแท๊กซี่อาสาสมัคร จำนวน 100 คัน ในปลายปี 2543 และในระยะต่อไปจะขยายการติดตั้งอุปกรณ์ใช้ก๊าซธรรมชาติ ให้รถแท๊กซี่อีกจำนวน 1,000 คันเป็นโครงการนำร่อง โดยคาดว่าจะทดแทนการใช้น้ำมันเบนซินได้ประมาณ 50,000 ลิตรต่อวัน หรือเทียบเท่าก๊าซธรรมชาติ 36,000 กิโลกรัมต่อวัน
ปตท. จะสร้างสถานีบริการก๊าซธรรมชาติ 6 สถานี ภายในปี 2543/2544 เพื่อให้บริการแก่กลุ่มรถแท๊กซี่ ที่จะเปลี่ยนมาใช้ก๊าซธรรมชาติ
มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการรายสาขา ได้มีการดำเนินการดังนี้
ปตท. ได้ลดราคาเบนซินและดีเซลให้แก่เกษตรกรที่เป็นสมาชิกธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร โดยจากเดิมลดลง 0.15 บาทต่อลิตร เป็น 0.25 บาทต่อลิตร ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน - 30 กันยายน 2543 โดยจำหน่ายน้ำมันผ่านเครือข่ายสถานีบริการน้ำมัน ปตท. ครอบคลุม 64 จังหวัด และจะขยายการดำเนินงานให้ครอบคลุมสถานีบริการน้ำมันทั่วทุกจังหวัดต่อไป
ปตท. ได้ขยายระยะเวลาขายน้ำมันราคาถูกให้กลุ่มประมงผ่านจุดจ่าย 100 แห่ง จนถึงสิ้นปี 2543 โดยให้ส่วนลด 0.60 บาทต่อลิตร นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2543 เห็นชอบตามมติคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) อนุมัติให้ใช้เงินจากกองทุนรวมช่วยเหลือเกษตรกรในวงเงิน 321 ล้านบาท เพื่อชดเชยการขาดทุนให้แก่ชาวประมงที่ร่วมโครงการเป็นระยะเวลา 4 เดือน โดยการจ่ายชดเชยราคาน้ำมันให้ไม่เกินลิตรละ 3 บาท
ปตท. ได้จำหน่ายน้ำมันราคาถูก ให้แก่ผู้ประกอบอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม ที่จดทะเบียน ขอรับส่วนลดจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม รวมทั้งหมด 305 ราย จนถึงสิ้นปี 2543 โดยให้ส่วนลดเพิ่มเติมจากส่วนลดการค้าปกติสำหรับน้ำมันดีเซลและน้ำมันเตา 0.15 และ 0.07 บาท/ลิตร ตามลำดับ โดย ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2543 มีผู้ประกอบการได้รับการลดราคาน้ำมันแล้ว 21 ราย เป็นความต้องการใช้น้ำมันดีเซล 61,500 ลิตรต่อเดือน และน้ำมันเตา 1,367,000 ลิตรต่อเดือน
ให้กระทรวงคมนาคม ชดเชยราคาน้ำมันให้กับผู้ประกอบการขนส่ง ที่ไม่ประจำทาง ด้วยรถที่ใช้ขนส่งสัตว์ หรือสิ่งของ ที่จดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก (ป้ายเหลือง) จำนวน 72,609 คัน โดยชดเชยให้ประมาณ 1.20 บาท/ลิตร คันละ 40 ลิตร/วัน เป็นระยะเวลาประมาณ 3 เดือน โดยให้กระทรวงการคลัง จัดหาเงินงบประมาณที่ต้องชดเชยให้ในวงเงินประมาณ 313.7 ล้านบาท
มาตรการอื่นๆ ได้มีการดำเนินการดังนี้
สพช. ได้ดำเนินโครงการส่งเสริมการใช้น้ำมันเบนซิน ให้เหมาะสมกับเครื่องยนต์ โดยใช้มาตรการจูงใจให้ประชาชน เปลี่ยนมาใช้น้ำมันเบนซินออกเทน 91 มากขึ้น โดยปรับอัตราการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง สำหรับเบนซินออกเทน 95 เพิ่มขึ้น 0.20 บาท/ลิตร และลดค่าการตลาดของเบนซินออกเทน 91 ลง 0.20 บาท/ลิตร โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2543 เป็นต้นมา นอกจากนี้ ได้มีการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ โดยในช่วงที่ผ่านมาพบว่าสัดส่วนการใช้น้ำมันเบนซินออกเทน 91 ได้เพิ่มขึ้นตามลำดับ จากร้อยละ 33 ในปี 2542 เป็นร้อยละ 37 , 38 , 45 , 47 และ 51 ในเดือนมกราคม , กุมภาพันธ์ , เมษายน , พฤษภาคม และมิถุนายน 2543 ตามลำดับ
ได้มีการตรึงราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว โดยใช้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อจ่ายชดเชยราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลวจนถึงสิ้นปี 2543
ปตท. ได้มีการเจรจาให้โรงกลั่นปรับลดราคา ณ โรงกลั่น 1 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม 2543 และเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2543 ปตท. ได้มีการเจรจากับโรงกลั่นไทยออยล์ เพื่อขอให้ปรับลดราคา ณ โรงกลั่นลง 1 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล
ในช่วงที่ภาวะตลาดน้ำมันผิดปกติให้ ปตท. และโรงกลั่นไทยออยล์ ใช้หลักการบริหารค่าการกลั่นและค่าการตลาด โดยนำส่วนลดค่าการกลั่นมาช่วยตรึง หรือลดราคาขายปลีกน้ำมันมิให้สูงขึ้น เพื่อบริหารความผันผวนของตลาดเป็นการชั่วคราว จนกว่าตลาดน้ำมันเข้าสู่ภาวะปกติ
4.3 ด้านการส่งเสริมให้มีการแข่งขันในกิจการพลังงาน
รัฐได้มีนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคเอกชน เข้ามามีบทบาทในกิจการพลังงานมากขึ้น เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน และช่วยลดภาระการลงทุนของภาครัฐ รวมทั้ง ยังช่วยให้ผู้บริโภคได้รับคุณภาพบริการที่ดีขึ้น โดยในช่วงที่ผ่านมามีความก้าวหน้าในการดำเนินการ ดังนี้
-ยังมีต่อ-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ