ความเป็นมา
จากกรณีที่บริษัทเหล็กสยามยามาโตะ จำกัด ได้ยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2543 ให้ รัฐบาลไทยพิจารณาเรียกเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษตอบโต้การทุ่มตลาดสินค้าเหล็ก H-Beam I-Beam และ U-Beam โดยกล่าวหาว่า โปแลนด์ทุ่มตลาดสินค้าเหล็กในไทย เมื่อพิจารณาจากการเปรียบเทียบระหว่างราคาหน้าโรงงานและราคาส่งออกของโปแลนด์ ทำให้เกิดความกดดันด้านราคา ทำให้บริษัทมีความสูญเสียทางการเงิน และยังเป็นการสร้างอุปสรรคกับการจัดตั้งอุตสาหกรรมเหล็กภายในประเทศอย่างร้ายแรง (material retardation) อีกด้วย
เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2540 หน่วยงานไทยได้ประกาศผลการพิจารณาว่า มีการทุ่มตลาดและสร้างความเสียหายจริง และได้ประกาศเรียกเก็บค่าอากรทุ่มตลาดสินค้าเหล็กนำเข้าจากโปแลนด์
เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2542 โปแลนด์ได้ยื่นฟ้องต่อองค์กรระงับข้อพิพาท (Dispute Settlement Body) ขององค์การการค้าโลก กล่าวหาว่า ไทยใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดสินค้าเหล็กจากโปแลนด์อย่างไม่เป็นธรรม โดยร้องเรียนว่า ไทยไม่ได้ปฏิบัติตามความตกลงว่าด้วยการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping Agreement) และมาตรา VI ของความตกลง GATT 1994 ในประเด็นต่างๆ โดยสังเขปดังนี้
ไทยพิจารณาความเสียหายโดยไม่มี "ข้อมูลที่แท้จริง" สนับสนุน และขาด "การวิเคราะห์อย่างเป็นธรรม" ในการวินิจฉัยปัจจัยที่เกี่ยวข้องภายใต้มาตรา 3 ของความตกลงว่าด้วยการตอบโต้การทุ่มตลาด
ไทยใช้ข้อมูลผิดในการคำนวณอัตราทุ่มตลาดตามมาตรา 2 ของความตกลงว่าด้วยการตอบโต้การทุ่มตลาด
การเริ่มการไต่สวน และการพิจารณาหลักฐานของไทยขัดกับมาตรา 5 และ 6 ของความตกลงว่าด้วยการตอบโต้การทุ่มตลาด
เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2543 คณะผู้พิจารณา (Panel) ได้มีคำตัดสินให้ไทยชนะในสองประเด็น คือ ประเด็นการคำนวณอัตราทุ่มตลาดตามมาตรา 2 และประเด็นการเริ่มการไต่สวนตามมาตรา 5 และ 6 ของ Anti-Dumping Agreement ส่วนในประเด็นการพิจารณาความเสียหาย Panel วินิฉัยว่าการเก็บอากรทุ่มตลาดสินค้าเหล็กจากโปแลนด์ของไทยขัดต่อมาตรา 3 ของ Anti-Dumping Agreement
เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2543 ไทยได้ยื่นอุทธรณ์ต่อองค์กรระงับข้อพิพาท ในประเด็นต่อไปนี้
1. คณะผู้พิจารณา (Panel) วินิจฉัยผิดพลาดที่ไม่ยกฟ้องคำฟ้องของโปแลนด์เนื่องจากคำฟ้องของโปแลนด์ดังกล่าวไม่ชัดเจนเพียงพอตามมาตรา 6.2 ของ DSU ทำให้ไทยต้องสูญเสียโอกาสในการป้องกันส่วนได้เสียของตน (Prejudice)
2. คณะผู้พิจารณาวินิจฉัยผิดพลาดในการตีความตามมาตรา 3.1 และมาตรา 17.6 ของความตกลงว่าด้วยการตอบโต้การทุ่มตลาด (ADA) เนื่องจากคณะผู้พิจารณาได้ตัดสินโดยพิจารณาจากข้อมูลหลักฐานและเหตุผลเฉพาะในส่วนที่ได้ไทยเปิดเผยให้กับโปแลนด์เท่านั้น โดยไม่ได้นำข้อมูลลับมาพิจารณา
3. คณะผู้พิจารณาวินิจฉัยผิดพลาดเกี่ยวกับกรอบการพิจารณาของคณะพิจารณา(Standard of Review) และภาระในการพิสูจน์ข้อกล่าวหา (Burden of Proof)
สถานะปัจจุบัน
คณะองค์กรอุทธรณ์ของ WTO (Appellate Body) ได้เวียนผลการพิจารณาเมื่อวันที่ 12 มีนาคม ที่ผ่านมา ยืนตามคำตัดสินของ Panel ในประเด็นคำฟ้องของโปแลนด์ชัดเจนเพียงพอตามมาตรา 6.2 ของ DSU และประเด็นการดำเนินการของ Panel ถูกต้องตามกรอบการพิจารณา(Standard of Review) และภาระในการพิสูจน์ข้อกล่าวหา (Burden of Proof)
อย่างไรก็ดี Appellate Body ได้วินิจฉัยกลับคำตัดสินของ Panel ในประเด็นสำคัญ คือ ประเด็นที่ Panel ได้ตัดสินกรณีพิพาทนี้โดยพิจารณาจากข้อเท็จจริง ข้อมูลพื้นฐานและเหตุผลเฉพาะจากข้อมูลที่ไทยเปิดเผยให้กับโปแลนด์เท่านั้น โดยมิได้นำข้อมูลลับ (Confidential Information) ของไทยที่ได้ยื่นต่อ Panel มาประกอบการวินิจฉัย ซึ่งองค์กรอุทธรณ์วินิจฉัยว่าเป็นการตีความที่ผิด ประเด็นนี้ชี้ชัดว่า Panel ตีความหลักกฎหมายที่ใช้ในการพิจารณากรณีพิพาทนี้ผิด โดยตัดสินบนพื้นฐานของข้อมูลที่เปิดเผยส่วนเดียว ไม่ครบถ้วนตามที่ความตกลง Anti-Dumping บัญญัติไว้ Panel จึงไม่สามารถสรุปได้ว่าการพิจารณาความเสียหายของหน่วยงานของไทยไม่สอดคล้องกับความตกลง Anti-Dumping
กรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (662)2826171-9 แฟกซ์ (662)280-0775
-สส-