รายงานเศรษฐกิจและการเงินเดือนพฤศจิกายน 2543 : ประเด็นเศรษฐกิจในประเทศ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 2, 2001 11:43 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

          1. วันที่ 18 ธันวาคม 2543 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ประกาศอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์ มวลรวมในประเทศไตรมาสที่ 3 ปี 2543 ร้อยละ 2.6 จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน ซึ่งต่ำกว่าร้อยละ 6.3 ในไตรมาสก่อน เนื่องจากความต้องการในประเทศ ที่ชะลอตัวลง และต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน ขณะที่การส่งออกยังเป็นปัจจัยสำคัญ ในการผลักดันให้เศรษฐกิจขยายตัว ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยในช่วง 9 เดือนแรกของปี ขยายตัวร้อยละ 4.7 จากระยะเดียวกันปีก่อน นอกจากนี้ สศช. ได้ปรับประมาณการอัตราการเติบโตปี 2543 จากเดิมร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 4 และคาดว่าปี 2544 เศรษฐกิจจะขยายตัวร้อยละ 4 - 4.5 โดยมีปัจจัยเสี่ยงคือ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ราคาน้ำมันที่จะสูงขึ้นอย่างน้อยในช่วงครึ่งแรก ของปีหน้า ภาวะซบเซาของตลาดหลักทรัพย์ฯ และความไม่แน่นอนของนโยบายในช่วงเปลี่ยนรัฐบาล หลังการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยด้านบวก คือ อัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ ขณะที่มีความคืบหน้าในการจัดการหนี้เสียของภาคธนาคาร และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ (commodity price) ที่มี แนวโน้มเพิ่มขึ้น สำหรับการคาดการณ์อื่นๆ มีดังนี้ 
(ร้อยละ)
2543 2544
- การส่งออก 20 9 - 11
- การนำเข้า 31.8 12.5 - 15
- อัตราเงินเฟ้อ 1.7 2.6
2. วันที่ 18 ธันวาคม 2543 ธนาคารแห่งประเทศไทยรายงานเรื่องการดำเนินงานของกองทุนเพื่อการ ฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน สรุปได้ดังนี้
(1) ฐานะการเงินของกองทุน ณ สิ้นเดือนกันยายน 2543 กองทุนมีสินทรัพย์ 574 พันล้านบาท หนี้สิน 781 พันล้านบาท และเงินกองทุนติดลบ 207 พันล้านบาท คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2543 อนุมัติหลักการแนวทางการให้ความช่วยเหลือ ทางการเงินแก่กองทุนฯ โดยกระทรวงการคลังดำเนินการ ค้ำประกันเงินกู้ของกองทุนฯ เท่ากับตัวเลขเงินกองทุน ติดลบในปีแรกและปีถัดๆ ไปภายใน 120 วันนับจากวัน สิ้นปีงบประมาณ ทั้งนี้ กองทุนต้องเปลี่ยนรอบการบัญชี ให้สิ้นสุด ณ 30 กันยายน โดยเริ่มตั้งแต่รอบปีบัญชี 2544 (บัญชีปี 2544 จะมีช่วงเวลา 9 เดือน)
(2) สรุปแผนการดำเนินงานปี 2544 คือ (1) การจัดทำระบบข้อมูลสารสนเทศสำหรับการบริหารทรัพย์สินของกองทุน (2) การจัดการด้านทรัพย์สินของกองทุน (3) การวางกลยุทธ์ในการจำหน่ายหุ้นและทรัพย์สินอื่นของกองทุน (4) การบริหารและจัดการหนี้สินของกองทุน (5) การจัดวางระบบการควบคุมภายใน และ (6) สถาบันประกัน เงินฝาก
3. วันที่ 4 ธันวาคม 2543 ธนาคารแห่งประเทศไทยรายงานเรื่องหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของระบบสถาบันการเงิน (ไม่รวมสำนักงานวิเทศธนกิจของธนาคารต่างประเทศและบริษัทเครดิตฟองซิเอร์) ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2543 ว่ายอดคงค้างของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ทั้งสิ้น 1,110.3 พันล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 22.46 ของสินเชื่อรวม ส่วน NPL คงค้างหลังหักเงินสำรองเท่ากับ 712.0 พันล้านบาท หรือ เท่ากับร้อยละ 15.67 ของสินเชื่อรวม เนื่องจากระบบสถาบันการเงินได้กันเงินสำรองสำหรับ NPL ส่วนที่ไม่มีหลักประกันรองรับจำนวน 398.4 พันล้านบาท สำหรับสถานการณ์ Performing Loans (PL) ยังมีแนวโน้ม เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2543 สินเชื่อ PL มีจำนวนทั้งสิ้น 3,833.1 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 52.9 พันล้านบาทจากสิ้นเดือนก่อน โดยคิดเป็นร้อยละ 77.54 ของสินเชื่อรวม สินเชื่อ PL นี้ประกอบด้วยส่วนที่ค้างชำระไม่เกิน 3 เดือนจำนวน 121.9 พันล้านบาท และ ส่วนที่ไม่ค้างชำระจำนวน 3,711.2 พันล้านบาท

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ