นายการุณ กิตติสถาพร อธิบดีกรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันหลายประเทศหันมาใช้ มาตรการกีดกันการค้าในรูปแบบต่างๆ มากขึ้น มาตรการปกป้อง (Safeguard Measures) เป็นอีก มาตรการหนึ่งที่สมาชิก WTO เริ่มนิยมหันมาใช้มากขึ้นเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศของตน ในส่วนของไทย กระทรวงพาณิชย์ได้ตระหนักถึงความสำคัญของมาตรการปกป้องนี้ จึงได้ออกประกาศ กระทรวงพาณิชย์ว่าด้วยการกำหนดมาตรการปกป้องการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น พ.ศ. 2542 เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2542 เพื่อเปิดโอกาสให้อุตสาหกรรมภายในประเทศสามารถร้องเรียนขอความช่วยเหลือจาก รัฐบาลเพื่อคุ้มครองอุตสาหกรรมของตนเองไม่ให้เกิดความเสียหายจากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น โดยหาก สามารถพิสูจน์ข้อเท็จจริงตามเงื่อนไขของความตกลงฯ ได้ไทยก็จะสามารถกำหนดมาตรการปกป้องได้ ตามความเหมาะสม เพื่อปกป้องความอยู่รอดของอุตสาหกรรมนั้นๆ ดังนั้น หากอุตสาหกรรมใดเห็นว่า องค์กรของตนประสบกับวิกฤตการณ์จากสินค้านำเข้าที่เพิ่มขึ้น สามารถติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักเจรจาการค้าพหุภาคี กรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ โทร. 2823239 2826607 ความตกลงว่าด้วย มาตรการปกป้อง เป็นความตกลงฯ ที่เปิดโอกาสให้ประเทศสมาชิก WTO สามารถใช้มาตรการปกป้องได้ อาจโดยการเพิ่มภาษีขาเข้า การกำหนดโควตาหรือการกำหนดปริมาณนำเข้าสินค้า โดยมีหลักการว่าจะต้อง เป็นปัญหาที่เกิดจากการที่มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน และได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่ออุตสาหกรรม ภายในอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งที่ผ่านมา นับตั้งแต่มีการจัดตั้ง WTO มีการใช้มาตรการปกป้องนี้แล้วกว่า 30 กรณี จากสมาชิก 14 ประเทศ ครอบคลุมสินค้า อาทิ รองเท้า ของเล่น ผงหมึกดำ (carbon black) เนื้อหมู ไม้อัด (hardboard) ซึ่งกระทบต่อการส่งออกสินค้าของไทยบางรายการ เช่น ของเล่น ผงหมึก เป็นต้น และขณะนี้ มีกรณีที่สหรัฐอเมริกากำลังจะใช้มาตรการปกป้องกับสินค้าเนื้อปู เป็นต้น
--กรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ มิถุนายน 2543--
-ปส-
--กรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ มิถุนายน 2543--
-ปส-