สหรัฐฯ นำเรื่องอินเตอร์เนตเข้าเวทีการค้าโลก TD> -------------------------------------------------------------------------------- สหรัฐฯ พยายามชักจูงสมาชิก WTO เข้าสู่โลกอินเตอร์เนต เริ่มเคาะประตูขายข้อเสนอให้ผูกพันระบบปัจจุบันที่ไม่มีการเรียกเก็บภาษีศุลกากรกับการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ ประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่แสดงความสนใจ ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนายังทีท่าทีระมัดระวังและยืนยันไม่พร้อม เพราะขาดความรู้ความเข้าใจ และเห็นว่า ขอบเขตของประเด็นที่เกี่ยวข้องที่มีมากมายหลายแง่มุมต้องศึกษาให้เข้าใจถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องและผลกระทบในภาพรวม แต่ยอมรับว่า เรื่องนี้มีความสำคัญเพิ่มมากขึ้น และมีผลกระทบต่อการค้าและชีวิตความเป็นอยู่ในสังคมปัจจุบัน ในการประชุมคณะมนตรีใหญ่ เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2541 สหรัฐฯ ได้ยื่นข้อเสนอเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกตกลงยืนยันการไม่เรียกเก็บภาษีศุลกากร(Customs Duties) ในการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Transmissions) โดยเน้นว่า ข้อเสนอของสหรัฐฯ มุ่งให้ประเทศสมาชิกพิจารณาเฉพาะประเด็นในเรื่องการยืนยันหลักปฏิบัติที่ใช้อยู่ในปัจจุบันซึ่งไม่มีประเทศใดเรียกเก็บภาษีศุลกากรจากการใช้สื่อทางด้านนี้ เช่นเดียวกับที่ไม่มีการเรียกเก็บภาษีศุลกากรจากการส่งโทรสาร ไปรษณีย์ หรือใช้โทรศัพท์ พร้อมทั้งเน้นว่า สหรัฐฯ มิได้เรียกร้องให้ WTO หารือเกี่ยวกับนโยบายภาษีภายในของประเทศสมาชิก หรือต้องการให้มีการหารือเพื่อลดภาษีศุลกากรของสินค้าที่สั่งผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์แต่ส่งผ่านระบบปกติ รวมทั้งมิได้มุ่งหมายให้มีการหารือถึงคำจำกัดความของการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ (electronic transmissions) ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการค้าสินค้าหรือบริการ ข้อเสนอดังกล่าวของสหรัฐฯ แม้จะเป็นเรื่องใหม่ในเวที WTO แต่มิใช่เรื่องใหม่ในเวทีระหว่างประเทศ เพราะเมื่อเดือนกรกฎาคม 2540 ทำเนียบขาวได้ออกแถลงการณ์กำหนดแนวนโยบายของสหรัฐฯ ในชื่อเรื่อง กรอบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์โลก (Framework for Global Electronic Commerce) ซึ่งระบุถึงแนวทางการหารือในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในเวทีระหว่างประเทศ เช่น ระบบภาษีศุลกากร ระบบภาษีภายในประเทศ การชำระเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ การรับรองทางกฎหมาย การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การปกป้องความเป็นส่วนตัว การรักษาความลับ โครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมและสารสนเทศ กฎระเบียบในเรื่องเนื้อหาสาระ และมาตรฐานทางเทคนิค เป็นต้น ทั้งนี้ ฝ่ายบริหารของสหรัฐฯ เรียกร้องให้ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทเป็นผู้นำพร้อมกับกำกับดูแลกันเองในเรื่องนี้ด้วย อย่างไรก็ตาม การหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นในการประชุมของคณะมนตรีใหญ่ของ WTO ดังกล่าว นับเป็นก้าวแรกของสหรัฐฯ ที่นำเรื่องพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (electonic commerce) เข้าสู่วาระการพิจารณาของ WTO และ ในขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่า เรื่องนี้จะมีขอบเขตรวมถึงการไม่เรียกเก็บภาษีศุลกากรจากสินค้าและบริการที่สั่งและส่งด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ด้วยหรือไม่ เช่น การ download software หนังสือ เพลง ภาพยนตร์ รวมทั้งบริการบางประเภท เช่น บริการให้คำปรึกษา เป็นต้น พร้อมกันนี้สหรัฐฯ ก็แสดงท่าทีที่เปิดเผยว่า จะหารือเพิ่มเติมในประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไปในอนาคตด้วย ประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ รวมทั้งประเทศสมาชิกกลุ่มอาเซียนต่างแสดงความห่วงกังวลว่า ในขณะนี้ยังไม่สามารถมองเห็นภาพที่ชัดเจนถึงนัยและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อประเทศกำลังพัฒนา เพราะแม้ว่า เรื่องนี้จะเป็นเรื่องที่มีความสำคัญยิ่งขึ้นในโลกยุคปัจจุบัน แต่ก็ยังเป็นเรื่องใหม่ซึ่งจำเป็นต้องศึกษาให้ละเอียดถ่องแท้ รวมทั้งควรสร้างความเข้าใจที่ตรงกันในเรื่องของคำจำกัดความและขอบเขตของเรื่องนี้ เพราะในปัจจุบันยังไม่มีแนวความเข้าที่เป็นสากลและมีความชัดเจน ทั้งนี้ มีการตั้งข้อสังเกตด้วยว่า การใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ (electronic transmissions) และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (electronic commerce) ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน ในขณะที่ข้อเสนอของสหรัฐฯ ในเรื่องนี้เปรียบเสมอความพยายามที่จะเข้ามายึดหัวหาดไว้ด้วยการผูกมัดทางด้านการใช้สื่อ ซึ่งในอนาคตอาจมีผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อการค้าทั้งที่ผ่านสื่อชนิดนี้ และการค้าโดยรวมที่ผ่านสื่ออื่นๆ ตามปกติด้วย นอกจากนี้ แม้ว่า สหรัฐฯ จะไม่ได้เรียกร้องให้มีการผูกพันสิ่งใดเพิ่มเติม แต่การผูกพันหลักปฏิบัติที่ไม่เคยผูกพันมากก่อนก็ถือได้ว่า เป็นการสร้างความผูกพันเพิ่มเติมในตัวเองเช่นกันและถึงแม้สหรัฐฯ จะพยายามเน้นว่า ข้อเสนอนี้เป็นเรื่องง่ายเนื่องจากประเทศสมาชิกเพียงแต่ยืนยันหลัก ปฎิบัติที่ทำอยู่ในปัจจุบัน แต่ก็ดูเหมือนประเทศสมาชิกส่วนใหญ่จะไม่เห็นว่า เป็นเรื่องง่ายดังเช่นว่า เนื่องจากระบบการจัดเก็บภาษีศุลกากรของแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน และหลายประเทศก็ไม่ได้แยกแยะวิธีการหรือสื่อในการค้า ดังนั้น หากให้มีการยกเว้นภาษีศุลกากรเฉพาะวิธีการที่ใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ก็อาจเป็นการสร้างความไม่เป็นธรรม และผู้ที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะเป็นฝ่ายได้เปรียบ เรื่องนี้หากดูโดยผิวเผินก็อาจเห็นว่า ข้อเสนอของสหรัฐฯ น่าสนใจและไม่น่าจะก่อให้เกิดปัญหาที่ซับซ้อน รวมทั้งน่าจะเป็นการแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจที่จะส่งเสริมการค้าผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ อย่างไรก็ตาม ประเทศสมาชิกสามารถที่จะคงหลักปฏิบัติที่มีอยู่ในปัจจุบันและส่งเสริมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไปพร้อมกันได้โดยไม่จำเป็นต้องสร้างความผูกมัดใดๆ ดังนั้น จึงทำให้มีข้อสงสัยว่า สหรัฐฯ มีวัตถุประสงค์ใดแอบแฝงอยู่หรือไม่ แต่ถึงแม้ว่า จะยังไม่สามารถหาคำตอบที่ชัดเจนในเรื่องนี้ได้ในขณะนี้ แต่ข้อเท็จจริงที่จะต้องคำนึงถึงคือ สหรัฐฯ เป็นประเทศที่มีมูลค่าการค้าผ่านระบบ อินเตอร์เนตมากที่สุด และเป็นเจ้าของเทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้าที่สุดในโลก ซึ่งหมายความว่า สหรัฐฯ เป็นประเทศที่ใช้และได้รับประโยชน์จากพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์มากที่สุด ดังนั้น การที่สหรัฐฯ สามารถผูกมัดรักษาสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อผลประโยชน์ของตนเช่นนี้ไว้ อย่างน้อยก็จเป็นการสร้างความมั่นคงในระดับหนึ่งที่อาจเป็นการปูพื้นให้แก่เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะสามารถนำสื่ออิเล็กทรอนิกส์มาสร้างประโยชน์ในเชิงพาณิชย์เพิ่มมากขึ้นต่อไปในอนาคตได้อีกด้วย ปัญหาที่สำคัญอีกประการที่ควรคำนึงถึงในเรื่องนี้คือข้อเท็จจริงที่ว่า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของ ระบบอินเตอร์เนตในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้นับเป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และทุกวันนี้คนส่วนใหญ่ก็ยังคงพยายามวิ่งไล่ตามเทคโนโลยีเหล่านี้ ซึ่งก็ดูเหมือนจะวิ่งหนีไกลออกไปเร็วขึ้นทุกวันเช่นกัน ดังนั้น สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ สังคมโลกยังขาดกฎระเบียบในการควบคุมติดตามที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ในขณะที่การสร้างกฎระเบียบให้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายไม่ใช่เรื่องง่ายและต้องใช้เวลา แต่การพัฒนาเทคโนโลยีในเรื่องพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ยังคงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงที่ก้าวล้ำหน้าไปอยู่เสมอและยากที่จะมีกฎระเบียบที่ก้าวตามทันได้ อย่างไรก็ตามในส่วนของไทยก็คงจะต้องเร่งรัดศึกษาหาความกระจ่างเกี่ยวกับขอบเขตและวิธีปฏิบัติทางพาณิชย์ของการค้าผ่านระบบอินเตอร์เนต รวมทั้งการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ในเชิงการค้าและบริการในความเข้าใจของไทยและระหว่างประเทศ และวิเคราะห์สถานะของกฎเกณฑ์ ระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้องของไทย และความจำเป็นที่จะต้องจัดทำกฎระเบียบเพื่อรองรับ เพราะในอนาคตอันใกล้ไทยคงต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการหารือเรื่องประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในเวทีระหว่างประเทศเพื่อปกป้องและส่งเสริมผลประโยชน์ของไทยในเรื่องนี้ด้วย ติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมผ่าน E-mail mailto:thai(WTO)@lprolink.ch หรือ http://www.dbe.moc.go.th/MOCOff/Oversea/OverSeaPart.html#The Permanent Mission of Thailand More Information Contact to The Permanent Mission of Thailand to the World Trade Organization (WTO)
--กรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ กุมภาพันธ์ 2543--
-ปส-
--กรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ กุมภาพันธ์ 2543--
-ปส-