บรรยายพิเศษ
เรื่อง
"สถานการณ์เศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ที่มีผลกระทบต่อภาคธุรกิจ"
โดย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
วันที่ 1 กันยายน 2544
ณ โรงแรมสยามซิตี้
_______________________
กราบขอบพระคุณมากที่ให้เกียรติเชิญผมมาบรรยายในวันนี้ จริงๆ แล้วคิวของผมเป็นเมื่อวานนี้ตอนเย็น ผมคะเนว่า เมื่อวานนี้ตอนเย็นถ้ามาที่นี่ก็คงไม่มีแรงมาบรรยายแน่นอน เพราะว่าต้องอยู่ที่วุฒิสภาตั้งแต่เช้า ก็เลยขออนุญาตท่านคณะกรรมการว่าขอสลับมาวันนี้ได้หรือไม่ ผลปรากฏว่าได้
หัวข้อในวันนี้ เป็นหัวข้อที่กว้าง แต่ผมจะพยายามหามุมในสิ่งที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์กับพวกเราที่เป็นหอการค้ามาจากจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ เพราะผมคิดว่า หอการค้านี่แหละจะเป็นกำลังที่สำคัญมาก ที่จะเป็นพลังผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่แท้จริงของประเทศ ถ้าไม่มีหอการค้าผมไม่เชื่อว่ารัฐบาลจะมีการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจได้สำเร็จ เพราะท่านเหล่านี้ถือว่าเป็นหัวหอกอยู่ในหลายจังหวัด มีพลัง มีสายสัมพันธ์ ที่จะช่วยเหลือรัฐบาลได้
เมื่อพรรคไทยรักไทย ได้ตั้งพรรคขึ้นมาเมื่อประมาณ 3-4 ปีที่แล้ว ขณะนั้น เวลาที่เราร่างนโยบายขึ้นมา สิ่งที่เป็นพื้นฐานของการร่างนโยบายนั้นมีอยู่ 2 ส่วนใหญ่ๆ ส่วนหนึ่งมาจากประสบการณ์ การศึกษา และวิสัยทัศน์ ของผู้ก่อตั้งพรรคทั้งหลาย ในอีกส่วนหนึ่งมาจากแนวความคิดเชิงวิชาการที่พวกเราได้เรียนรู้ ได้พบ ได้ศึกษามา ณ ขณะนั้นมีหนังสืออยู่เล่มหนึ่งที่ค่อนข้างเป็นหลักสำคัญมากที่ก่อให้เกิดแนวคิดของการวาดแผนของพรรคไทยรักไทยขึ้นมา หนังสือเล่มนั้นเป็นหนังสือที่นิยมมากทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ชื่อ "Rethinking the Future" หรือคิดใหม่ในเรื่องเกี่ยวกับอนาคต ในหนังสือเล่มนั้นผู้ที่เป็น editor หรือบรรณาธิการใหญ่ใช้วิธีการในการแบ่งโครงเรื่องเป็น 3 ประเด็นหลัก ในแต่ละประเด็นหลักเหล่านั้น ท่านก็ไปสัมภาษณ์ผู้จัดการหรือนักธุรกิจที่มีบทบาทดีเด่นในแต่ละด้านมาสอดรับเป็น 3 part ใหญ่ๆ
part ที่ 1 เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคำถามที่ว่า จากวันนี้เป็นต้นไป ถ้าถนนสายเดิมที่มาถึงจุดนี้ได้หมดไปแล้ว จากวันนี้สู่อนาคต ถนนเส้นเดิมหายไปเรียบร้อย ตรงนี้เขาใช้ wording ว่า "The road stops here" หรือถนนทีวิ่งมาในอดีตจนถึงปัจจุบัน จากวันนี้ไปหายไปเสียแล้ว ความหมายของเขาก็คือว่า สิ่งที่เกิดขึ้นมาในอดีตนานนับทศวรรษไม่สามารถที่จะใช้เป็นฐานในการทำนายความเปลี่ยนแปลงแห่งอนาคตได้อีกต่อไป เพราะว่าปัจจัยที่อยู่บนพื้นฐานหลายอย่างแตกต่างโดยสิ้นเชิงจากเหตุการณ์ในอดีต ฉะนั้นตำรับตำราหรือวิธีการต่างๆ ที่แต่ละธุรกิจใช้ในการที่จะวางแผนในอนาคตข้างหน้าจะไม่สามารถใช้วิธีการเดิมๆ ได้ ถ้าพวกเราจำได้ เวลาเราทำ training programme ใดๆ ก็แล้วแต่ในอดีตสอนให้พวกคุณทำ ลอง list planning ดูว่าในแผน 5-10 ปีข้างหน้า โดยใช้ข้อมูลในอดีตรับ projection ออกไปในอนาคตข้างหน้า ตรงนี้ จากนี้เป็นต้นไป ใครบอกให้ท่านทำ 5 ปี 10 ปีข้างหน้า โดยใช้วิธีเอาข้อมูลในอดีต เป็นสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ใดๆ ทำไปแล้วเสียเวลา เพราะในแต่ละปีๆ ความเปลี่ยนแปลงเร็วมาก และถ้าหากเราใช้แต่สิ่งที่เป็นเฉพาะในอดีตมา projection ไปข้างหน้า ความผิดพลาดมีสูงมาก ฉะนั้นในหมวดแรก คำพูดที่เขาใช้ก็คือว่า ถนนจากอดีตมาสู่ปัจจุบันได้หยุด ณ ที่ตรงนี้ จากวันนี้เป็นต้นไปเป็นยุคแห่งความไม่แน่นอน เป็นยุคแห่งความไม่ต่อเนื่อง ฉะนั้นไม่ว่าประเทศ หรือองค์กรใดๆ ก็แล้วแต่จะต้องรู้จักติดตามความเปลี่ยนแปลงอันนั้นอย่างใกล้ชิดและคาดคะเนไปตลอด
ในหมวดที่ 2 เป็นหมวดที่ว่าด้วยคำถามที่ว่า "แล้วเราจะเดินทางไปทางเส้นไหนต่อไป ?" เขาใช้คำว่า "Where should we go next?" หมายความว่า ถ้าหากว่าอนาคตข้างหน้าเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน เต็มไปด้วยความไม่ต่อเนื่องจากอดีตที่ผ่านมา ความเปลี่ยนแปลงเป็นไปในเชิงอัตราเร่ง เราจะไปทางไหน ตรงนี้สำคัญมาก เพราะถ้าหากเราไม่มีตรงนี้ ตัวเราจะเดินไปข้างหน้าได้อย่างไร ยิ่งกว่าคนตาบอดเสียอีก เพราะว่าในอดีตที่ผ่านมานั้นความแน่นอนมีอยู่ เดินตามสิ่งที่เคยทำมา ยังไงซะก็ไม่ถึงกับหายนะ แต่ในเมื่ออนาคตข้างหน้าเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงเร็ว ไม่ต่อเนื่อง แตกต่างจากอดีตโดยสิ้นเชิง หากไม่มีคำว่า "วิสัยทัศน์" หากไม่มีคำว่า "ภารกิจที่แน่ชัด" หากไม่มีคำว่า "ยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน" ร้อยละ 99 มีโอกาสไปไม่ถึงฝั่ง ถ้าเป็นเรือก็มีหวังอับปาง
ในส่วนที่ 3 เป็นส่วนที่เขาตั้งเป็นคำถามที่ว่า "New time requires new organization" ยุคใหม่ต้องการองค์กรแบบใหม่ เพื่อให้สามารถ fit กับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้า สิ่งที่เขาเปรียบเปรยและเป็นประโยชน์มาก เขาบอกว่า ในเมื่อเส้นทางในอดีตที่ขับมาถึงตรงนี้เป็นเส้นทางแห่งความราบเรียบ ไม่ขรุขระ คุณขับรถเก๋งคันหนึ่งวิ่งมา ก็วิ่งสบายๆ แต่ในเมื่อจากวันนี้ไปสู่อนาคตข้างหน้านั้น เป็นถนนที่คุณไม่รู้ว่าเป็นถนนอะไร ฉะนั้นจากวันนี้เป็นต้นไป ถ้าคุณขับรถ รถที่คุณขับนั้นก็เป็น off road คือเป็นรถที่ใช้สำหรับไม่ใช่ขับบนถนนธรรมดา ต้องเต็มไปด้วยความคล่องตัว ปรับปรุง เปลี่ยนแปลงได้เร็ว
สามหมวดดังกล่าว เขาก็ได้เอาวิชาการมาใส่เป็นข้อความอยู่ในนั้น หนังสือนี้ดังมาก ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ผมยกอันนี้เป็นอุทาหรณ์มาใส่ไว้ในใจของพวกท่าน หลายท่านในวันนี้เป็นระดับที่เขาเรียกว่าเถ้าแก่ในยุคของเตี่ยก็มี ในยุคของเสี่ยก็เยอะ ที่ผมใช้คำว่าเตี่ยกับเสี่ยก็เพราะว่า 10 กว่าปีที่แล้ว ผมเคยไปทำ training NIDA AMEX ทั่วประเทศ ผมจำได้ว่า 15 ปีที่แล้ว ผมทำ training กับนักธุรกิจในระดับเตี่ย แต่ที่ผมเห็นในวันนี้ ระดับเสี่ยเยอะแล้ว คือยึดอำนาจจากเตี่ยเรียบร้อย ตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญ
เราต้องถามคำถามว่า คำถามแรก "อนาคตข้างหน้าคืออะไร ? สิ่งที่ท่านต้องเผชิญคืออะไร ?" และมาสู่คำถามที่ 2 "พวกท่านจะเดินไปบนเส้นทางไหน ?" ผมจำได้ว่า 15 ปีที่แล้ว ผมไปพูดที่เชียงใหม่ในรายการ Mini MBA ผมบอกเจ้าของกิจการรายหนึ่งที่ทำ detail store ว่าผมอ่านหนังสือมาเยอะแล้ว ผมรู้ว่าถ้า detail store ในเชียงใหม่ไม่ปรับตัวในวันนี้ ถ้าถามว่ายักษ์ใหญ่ยกกองทัพมาจากกรุงเทพฯ เมื่อไร พวกท่านจะไม่มีที่ยืน เพราะมันถูกจารึกเอาไว้แล้ว เป็น case study ในหนังสือที่ผมเรียน วันนั้นมีแต่เสียงขำขันและหัวเราะ วันนี้ขำไม่ออก เพราะโชห่วย 200,000 กว่าราย เหลือเพียงแค่ 100,000 กว่าราย ถ้าไม่ดูดีๆ จะสูญพันธุ์แน่นอน และก็มาสู่คำถามที่ 3 ว่า "ถ้าคุณเดินทางไหน ตัวบริษัทห้างร้านของพวกเรานี่แหละต้องมีการปรับเปลี่ยนอย่างไร ?" เหมือนกับรถที่ขับจะ off road หรือ on the road จึงเหมาะสม อันนี้เป็นสิ่งสำคัญมาก
ผมกลับไปข้อแรกก่อน อนาคตข้างหน้าที่พวกเราต้องเผชิญคืออะไร ? ข้อที่ 1 หนีไม่พ้นเรื่องของเศรษฐกิจ สิ่งแรกเศรษฐกิจถดถอยแน่นอน ถ้าหากว่าภาวะเศรษฐกิจภายนอกเป็นเช่นนี้ การที่จะมาบอกว่าเศรษฐกิจไทยแข็งโป๊กเลย มั่นคงมาก การเติบโตมีสูง อันนั้นเป็นสิ่งที่ไม่สามารถพูดได้ เศรษฐกิจไทยถ้าหากว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ กับญี่ปุ่นเป็นเช่นนี้ การถดถอยมีแน่ เพียงแต่ว่าการถดถอยของเรานั้นมันไม่รุนแรง และหนักหน่วงเท่ากับประเทศอื่นๆ ที่กำลังประสบอยู่ในขณะนี้ เหตุผลหลักไม่ใช่เหตุผลใหม่เลย
เมื่อประมาณ 18 ปีที่แล้ว ตอนที่ผมเขียนหนังสือเล่มแรก ชื่อ "The New Competition" ผมบอกอาจารย์ผมในขณะนั้นว่า อาจารย์ครับผมไม่เชื่อว่า export และ economy อย่างเช่นสิงคโปร์ เกาหลีใต้ ไต้หวันจะได้ผล เพราะว่าสิ่งที่ในใจผมเขียน เรื่อง "The New Competition" เรื่องของญี่ปุ่นนี้มันชัดเลย ญี่ปุ่นเจริญได้ก็เพราะว่า local market ของเขาใหญ่มาก ตลาดไทยมหาศาล เขาเขียนของเขาเติบโตมาจาก economy of scale ภายในประเทศ จนต้นทุนต่ำมากในการผลิต จากนั้นเมื่อขยายสู่ต่างประเทศ เขาส่งออกไปทีละประเทศอย่างมียุทธศาสตร์ จากญี่ปุ่นเขามุ่งไปสู่ประเทศที่กำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนา เพราะสินค้าเขาไม่ดี คุณภาพไม่มี แต่สินค้าของเขาราคาถูก เมื่อเขายึดหัวหาดในตลาดต่างประเทศได้จากสิ่งที่เราเรียกว่า learning curve effect หมายความว่าขายให้ต่ำ เพื่อขายให้ได้เยอะ ราคาถูก ขายได้เยอะ ต้นทุนก็จะถูกลงมา เมื่อต้นทุนถูกลงมาตาม learning curve เขาก็ตีตลาดได้ พอตีตลาดได้ เขาก็รุกสู่ประเทศอเมริกา และก็ยุโรป ยุโรปต้องตามหลังอเมริกา เพราะตลาดยุโรปนั้นต้องการสิ่งที่มีคุณภาพสูงมาก การผ่านสนามรบในอเมริกาจะทำให้สินค้านั้นสามารถขายในยุโรปได้ง่ายขึ้น ของเขาเวลาส่งออกเป็นเชิงยุทธศาสตร์ จากญี่ปุ่นไปสู่ประเทศด้อยพัฒนา เขาใช้ธุรกิจยักษ์ใหญ่ใน 4 บริษัทเป็นตัวจัดจำหน่ายทั่วประเทศ
ฉะนั้นเรามองด้วยมุมที่ชัดเจน economic miracle หรือว่าความมหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจนั้นไม่ได้เกิดขึ้นโดยฟลุ้ก พอหันมาดูสิงคโปร์โมเดล เกาหลีใต้โมเดล ไม่เหมือนกันเพราะพวกเขา export ใน economy 100% หรือมากกว่า 100 ฉะนั้นระบบเศรษฐกิจที่อิงอยู่กับการส่งออกเกิน 100 หมายความว่ายืมจมูกคนอื่นหายใจ ถ้าเมื่อใดตลาดนอกลำบาก ตัวเขาจะลำบาก ตัวเลขปรากฏอยู่ในบทความล่าสุดใน Asiaweek ระบุว่าในเอเชียที่ผ่านมาครึ่งปี แต่ละประเทศไม่ว่าสิงคโปร์ ไต้หวัน เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย หนักหน่วงทั้งสิ้น แต่ประเทศส่วนใหญ่เหล่านั้นหนักหน่วงมากกว่าไทย เพราะว่าตลาดไทยนั้นยังมีตลาดนอกอยู่ส่วนหนึ่ง ตลาดใหญ่ในประเทศอีกส่วนหนึ่ง แต่บังเอิญว่าประมาณร้อยละ 30 กว่าของการส่งออกของเรานั้นเป็นตลาดอิเล็กทรอนิกส์ส่วนหนึ่ง ซึ่งตลาดใหญ่นั้นมันอยู่ในอเมริกา อยู่ในญี่ปุ่น อยู่ในตลาดต่างประเทศใหญ่ๆ ฉะนั้นเมื่อตลาดอเมริกาไม่ดี ส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ย่อมไม่ดี ตัวเลข GDP ย่อมตกลงมาแน่นอน แต่คำถามก็คือว่า ตกลงมาแล้วอันตรายหรือไม่ คำว่าอันตรายหรือไม่อยู่ที่ตัวเราเอง เพราะว่าอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์นั้นเป็นอุตสาหกรรมที่มีการจ้างงานที่ไม่มากนัก margin ต่ำ ถ้ายอดส่งออกตก GDP ก็ตก แต่ขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าจะสามารถทำให้ราคาสินค้าเกษตรอยู่ได้ไหม? สินค้าอื่นๆ ที่เราผลิตอยู่ได้ไหม? สามารถสร้างความมั่นใจให้คนในประเทศจับจ่ายใช้สอยได้ไหม? แทนที่แต่ละวันจะมาบอกว่าเศรษฐกิจแย่แล้วๆ ๆ ถ้าเราคุยว่าเศรษฐกิจแย่แล้ว แล้วไม่จับจ่าย ทฤษฎีเชิงการตลาดมันสอนไว้ชัดเจน ความเป็นจริงจะเริ่มแย่ทันที ฉะนั้นถ้าวันนี้ประเทศไทยยังไม่แย่ แต่จะแย่หรือเปล่านั้นขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่า จะประคองสิ่งที่เกิดขึ้นภายในให้นิ่งและทรงตัวได้อย่างไร ขึ้นอยู่กับพวกท่านด้วยว่าจะมี confidence หรือมีความมั่นใจเพียงใด รัฐบาลนั้นเป็นแค่ทัพหน้า แต่ต้องถามพวกเราว่าจะช่วยเหลือรัฐบาลยังไง อันนี้สำคัญ
ไม่ใช่ว่า 4 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจตก รัฐบาลนี้ไม่ดี ออกไป เอาชุดใหม่เข้ามา ใช้แล้วใช้เล่า วันนี้ผมจะตั้งคณะกรรมการที่จะเป็นบอร์ดของแบงก์สักแบงก์หนึ่ง ยังหาได้ยาก ใช้กันเปลือง ใช้จนหมด ตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญมากๆ ประเทศเป็นของทุกคน ผมเพียงแต่จะตอกย้ำว่า เศรษฐกิจของเรานั้นถดถอยแน่นอน แต่ถดถอยไม่มาก ถ้า range อยู่ระหว่าง 1.5-2 ถือว่าใช้ได้แล้ว ปัญหาคือว่าอย่าให้สินค้าภายในถดถอย สินค้าเกษตรคือตัวสำคัญ ถ้าหากว่านโยบายกองทุนหมู่บ้านของรัฐบาลออกไปได้ทัน สิ่งที่ผ่านมาทั้งหมดที่เราไม่ได้ทำ มันก็จะประคองตัวอยู่ได้ สิ้นเดือนกันยายนนี้จะมี project ที่จะมาขอของ SAL ที่มาจากคำย่อว่า Structural Adjustment Loan เป็นเงินกู้เพื่อปรับโครงสร้างตั้งแต่รัฐบาลชุดที่แล้ว เหลือเงินอยู่ประมาณ 5,000 ล้านบาท และจะมีงบใหม่พิเศษ 58,000 ล้านบาทที่รออยู่ แต่ละกระทรวงต้องตั้งแท่นเพื่อดูว่าจะมีโครงการใดที่ใช้ การท่องเที่ยวฯ สัปดาห์หน้าจะเริ่มขอเงินแล้ว เพื่อฉีดเข้าไปปรับปรุงการท่องเที่ยวในประเทศไทย สิ่งเหล่านี้ก็คือความพยายามที่จะประคองไว้โดยที่ไม่สร้างหนี้ ผมบอกหลายครั้งแล้วว่า ถ้าเห็น GDP ตก 1% แล้วจะบอกให้ผมกู้เงินมาอุด มาฉีด โดยที่ไม่มีวิถีทาง ผมไม่ทำ อยากทำ ให้เปลี่ยนรัฐมนตรีคลัง
การคิดจะสร้างหนี้เพื่อประคองตัวเลข GDP นั้นไร้สาระ แต่สำคัญก็คือว่า อย่าให้เศรษฐกิจภายในถดถอย ถ้าท่านจำเป็นจะต้องใช้เงิน เอาเงินนั้นมาดูแลสินค้าเกษตรอย่าให้สินค้าเกษตรตกต่ำ เอาเงินนั้นมาสร้างความมั่นใจให้กับผู้ผลิตในประเทศ ฉะนั้นผมเพียงจะบอกว่า ในช่วงครึ่งหลังของปี ท่านต้องเผชิญกับข่าวที่บอกว่าเศรษฐกิจเริ่มถดถอย อย่าตกใจ มันไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะประเทศไทยประเทศเดียว มันเกิดขึ้นไม่เพียงแต่ในเอเชีย แต่มันอาจเกิดขึ้นหลายๆ ภูมิภาค แต่สิ่งที่ผมอยากจะเติมเข้าไปก็คือว่า ผมอยากจะฉายภาพว่า ท่านจะเห็นภาพอะไรที่จะยาวไปกว่านี้ เพื่อว่าท่านในฐานะของ 1. ใส่หมวกของหอการค้า ว่าท่านจะทำอะไรให้กับประเทศ 2. ใส่หมวกของนักธุรกิจ ท่านจะทำอะไรเพื่อตัวท่านเอง
ภาพที่ 1 ท่านจะเห็นภาพของการปฏิรูปอย่างต่อเนื่อง 3 ปี ท่านจะได้เห็นเรื่องของการทำงานของ บสท. ประธานหอการค้าของท่านอยู่ที่นี่ เป็นกรรมการคนหนึ่งใน บสท. ผมฝากท่านไว้แล้ว บอกท่าน เวลาผมมีน้อย ท่านช่วยดูแลให้ผมด้วย มีอะไรบอกผมเลย เมื่อวานนี้ประชุมในวุฒิสภา บรรยากาศผมอยากจะเรียนว่าดีมาก วันนี้อ่านข่าวว่า "วุฒิฯ หักหน้านายกฯ ไม่ผ่าน 3 วาระ" ไม่ใช่ บรรยากาศเมื่อวานนี้ดี เขารับหลักการ แต่เขาต้องการใช้เวลาช่วงหนึ่งดูแลว่าเพียงพอหรือยัง เพราะเราชี้แจงกับเขา มิใช่เป็นการรบกันนะครับ รัฐบาลมีเกิน 300 เสียง จะไม่มีความหมาย ถ้าไม่สามารถร่วมมือกับสภาและวุฒิสภาได้ การปฏิรูปมีอีกยาว บสท.นั้นเป็นเพียงจุดเริ่มต้น และถ้าไม่ใช้โอกาสนี้ในการประสานร่วมกันระหว่างรัฐบาล สภา และวุฒิสภา โอกาสนี้จะหายไปทันที ฉะนั้นป่วยการมาก จะเป็นสิ่งที่ไร้สาระมากถ้ามัวแต่มาบอกว่าทะเลาะกัน ทั้ง 3 สถาบันนี้จะต้องร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด
ผมถึงได้บอกในสภาเมื่อวานนี้ว่า ต่อจากนี้ไป กฎหมายฉบับใดที่เกี่ยวข้องกับผม ผมจะพยายามประสานกับสภา ประสานกับรัฐสภา ให้เข้าใจร่วมกันเสียก่อนว่าเจตนาคืออะไร อย่างเมื่อวานนี้เห็นชัดเจน เรื่องของ บสท. ประเด็นหนึ่งที่แก้ไขก็คือเรื่องของการตีมูลค่าทรัพย์สิน ผมขอเล่ารายละเอียดสักนิดหนึ่ง เดิมทีเขียนไว้ในกฎหมายว่า ใช้การตีราคาจากกรมที่ดิน แต่เนื่องจากว่าราคากรมที่ดินนั้น กรมที่ดินมีหน้าที่ในการดูแลว่าเรื่องของการเป็นเจ้าของที่ดิน และการใช้ประโยชน์จากที่ดินตามกฎหมาย เรื่องของราคาที่เขามีเอาไว้เพื่อเป็นการจัดเก็บภาษี จัดเก็บค่าธรรมเนียม ฉะนั้นราคาที่ดินของเขาไม่ใช่ว่าไม่มีคุณภาพ แต่มีคุณภาพเพียงพอที่จะใช้ในการประเมินคร่าวๆ แต่จะไม่เพียงพอในการที่จะนำไปใช้ในการเกี่ยวข้องกับสถาบันการเงิน เพราะลักษณะการประเมินที่ดินของเขานั้นเป็นลักษณะตีเป็นย่าน เป็นบล็อก เมื่อตีเป็นย่าน เป็นบล็อก หมายความว่า ที่ดินติดกันแถบนั้นเหมือนกันหมด ไม่ได้ดูการตีราคาเป็นแปลงๆ เฉพาะอย่าง ลักษณะเช่นนี้ไม่สามารถไปใช้ในเรื่องของการตีราคามูลหนี้ได้ เพราะแต่ละมูลหนี้นั้นมีหลักทรัพย์ค้ำประกันที่มีระดับการพัฒนาที่ไม่เท่ากัน
เนื่องจาก บสท.เป็นสิ่งใหม่ คนเขียนกฎหมายก็ใหม่ กรรมการก็ใหม่ มันก็ต้องมีสิ่งที่ผิดพลาด เราไม่โทษใคร ผมในฐานะ รัฐมนตรีคลังก็ไปยืนอยู่ตรงนั้น พูดแทนคณะกรรมการ บสท. นั่นคือข้อเท็จจริง เพียงแต่ว่าสภาจะมี concern นิดหน่อย เป็นกังวลนิดหน่อยว่า ถ้าเกิดเป็นกรณีที่ราคากรมที่ดินต่ำกว่าราคาของเกณฑ์แบงก์ชาติ ประชาชนจะเสียหายมากมายหรือไม่ สิ่งหนึ่งที่ต้องชี้แจงก็คือว่า ความเสียหายในระบบสถาบันการเงินมันเกิดขึ้นแล้วในอดีต เราต้องการดูวิธีการแก้ไขปัญหาในภาพรวมว่าอะไร ตรงไหนที่เหมาะสมที่สุด ที่ทำให้ความเสียหายของประเทศน้อยที่สุด ตรงนี้สิสำคัญมาก ฉะนั้นราคานั้นเราไม่ต้องการราคาต่ำเกินความเป็นจริงหรือสูงจนเกินไป เราต้องการราคาที่เป็นธรรม ที่ทำให้เจ้าหนี้ลูกหนี้ตกลงกันได้ ให้ลูกหนี้ที่ไม่มีคุณภาพสามารถทำการปรับโครงสร้างหนี้ให้เกิดเป็นหนี้ที่ดีได้ นั่นคือหัวใจของ บสท. ไม่ใช่การโอนหนี้ การโอนหนี้เป็นเพียงขั้นตอนแรกเท่านั้นเอง แต่หัวใจคือการทำหนี้ที่ไม่ดีกลายเป็นหนี้ที่แข็งแรง มีเงินทุนใหม่เข้ามาใส่ อันนี้คือหัวใจ มีผู้กังวลว่าถ้าซื้อราคาแพง บสท. ก็จะแย่ ขาดทุน ประชาชนก็เสียหาย มันมิใช่เป็นเช่นนั้น ถ้า บสท. ซื้อที่ดินในราคาต่ำเกินเหตุความเสียหายมหาศาลจะตามมา เพราะดูผิวเผินว่าซื้อต่ำก็ใช้เงินน้อยในการซื้อ แต่ความเป็นจริงนั้นไม่ใช่ ถ้าคุณซื้อได้ในราคาต่ำมากๆ แปลว่าสถาบันการเงินที่เขาตั้งสำรองไว้ไม่เพียงพอทันที เขาจะต้องตั้งเกณฑ์สำรองขึ้นมาใหม่ให้เพียงพอกับที่แบงก์ชาติดูแลอยู่ บังคับอยู่ ถามว่าสถาบันการเงินขณะนี้มีสักธนาคารไหมที่ทำอย่างนั้นได้มั่ง ? ทำไม่ได้ เมื่อทำไม่ได้รัฐบาลมีทางเลือก 2 ทาง คือ 1. ปล่อยให้ล้ม 2. รัฐบาลขึ้นไปฉุด ไปแบก ปล่อยให้ล้มได้หรือไม่ ? ปล่อยให้ล้มไม่ได้อยู่แล้ว ต้องเข้าไปแบก เอาเงินที่ไหนไปแบก ก็เงินรัฐบาล เงินรัฐบาลมาจากไหน ก็คือภาษีของราษฎร วนกลับไปสู่ 4 ปีที่แล้วใหม่ ตั้งต้นใหม่ ก.ไก่ แต่อันนี้ยังไม่ใช่เรื่องใหญ่ เรื่องใหญ่คือข้อที่ 2 ถ้า บสท. ตีราคาต่ำผิดปกติ ไม่มีเกณฑ์มาตรฐานในเชิงพาณิชย์ ในอนาคตข้างหน้าการตีมูลค่าที่ดินของทั้งประเทศ ของทุกสถาบันการเงินรวมทั้งแบงก์ชาติ ต้องปรับตามอันนี้ หมายความว่า ทรัพย์สินทุกประเภท ที่ดิน หรือ total asset ราคาจะลดต่ำทันที ซึ่งขณะนี้มันก็ลดมากแล้ว ถ้าลดต่ำทันทีอะไรจะเกิดขึ้น บรรดาลูกหนี้ทั้งหลายที่อยู่ในระบบธนาคารจะถูกเรียกให้เอาหลักทรัพย์ค้ำประกันมาเพิ่มเติมทันที NPL เพิ่มขึ้นทันที ฉะนั้นสิ่งนี้ต่างหากที่เป็นตัวชี้ว่าราคาที่(ยังมีต่อ)
-ศน-