ปาฐกถา เรื่อง
"รัฐวิสาหกิจไทยกอบกู้เศรษฐกิจได้อย่างไร" *
โดย
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
วันที่ 26 กันยายน 2544
__________________________
ผมขอขอบคุณคณะผู้จัดงานที่เล็งเห็นความสำคัญของการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ถือว่าเป็นการให้เกียรติผมเป็นอย่างสูง ผมจะไม่ใช้วิธีพูดตามโพยที่มีการเขียนกันทั่วๆ ไป แต่ผมจะพูดจากความรู้สึกของผมถึงทุกท่านในที่นี้ว่า ทำไมเรื่องของการแปรรูปรัฐวิสาหกิจจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด
พวกเราทราบดีว่าในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาจากวิกฤตการณ์การเงิน เกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทยของเรา วิกฤติการณ์ครั้งนี้มาเร็ว แต่ไปช้า ส่งผลให้ความมั่งคั่งของประเทศสูญหายไปมหาศาลทีเดียว เราได้เห็นธุรกิจปิดกิจการเป็นหมื่นแห่ง เราได้เห็นตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่มีมูลค่าตลาดหายวับไปกับตาเป็นล้านล้านบาท และที่สำคัญที่สุด เราได้เห็นทรัพย์สินของประเทศขณะนี้มีมูลค่าตกลงมาจนน่าใจหาย ความมั่งคั่งเหล่านี้มันมากับวิกฤตการณ์ ฉะนั้นเป้าหมายของรัฐบาลชุดนี้จึงไม่ใช่เป็นเพียงแค่การเพิ่ม GDP แต่เป้าหมายของรัฐบาลชุดนี้คือ ความพยายามที่จะสร้างความมั่งคั่งขึ้นมาใหม่ หรือ wealth creation สร้างขึ้นใหม่ แล้วค่อยนำไปกระจายความมั่งคั่งอย่างมีคุณภาพ อย่างเท่าเทียมกันมากขึ้น ด้วยจุดประสงค์หลักอันนี้ท่านจะเห็นว่าไม่ใช่เรื่องง่ายๆ และยากยิ่งขึ้นเมื่อต้องประสบกับภาวะแวดล้อมของโลกที่ส่อเค้าว่าเศรษฐกิจโลกจะถดถอย แต่กระนั้นรัฐบาลชุดนี้ก็ไม่ได้หวั่นวิตก ยังคงยึดหลักการที่เรายึดมั่นอย่างแน่นแฟ้น
ในช่วงที่เรารณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ผมเคยกราบเรียนกับท่านนายกรัฐมนตรีว่า เราจะขอใช้หลักการ 3 ประการ จริงๆ แล้วผมได้รับความรู้สึกนี้จากตอนที่ได้อ่านประวัติศาสตร์จีนบทหนึ่ง ในช่วงที่บ้านเมืองของประเทศจีนมีความวุ่นวาย เกิดลัทธิที่เรียกว่า "ไตรราชย์" ในภาษาแต้จิ๋วเรียกว่า "ซานหมิงจู่อี้" คือเน้นความสำคัญในการสร้างประชาชาติ ความอยู่ดีกินดีของประชาชน และเชิดชูประชาธิปไตย นโยบายรัฐบาลชุดนี้ก็เช่นกัน ชูหลักการ 3 ภาค ที่ต้องสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง ภาคที่ 1 คือภาคประชาชน ภาคที่ 2 คือภาคธุรกิจเอกชน และภาคที่ 3 คือภาครัฐภาคของประชาชนนั้น เมื่อรัฐบาลชุดนี้ขึ้นมา ได้ประกาศนโยบายหลายประการท่ามกลางการวิพากษ์วิจารณ์นานาประการ แต่เวลาเท่านั้นจะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่ารัฐบาลนี้ใช้นโยบายที่ถูกต้องหรือไม่เพียงใด ตั้งแต่การประกาศลดหนี้ ประกาศพักหนี้เกษตรกร การเน้นกองทุนหมู่บ้าน หมู่บ้านละ 1 ล้านบาท นโยบาย 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ ที่ประกาศออกมา และล่าสุด ผมไปที่ ธ.ก.ส. หรือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ ณ วันนี้ ธ.ก.ส. ทั่วประเทศปรับทิศทางใหม่ มิใช่เป็นเพียงแค่ให้สินเชื่อแก่ชาวนา แล้วถึงเวลาก็มาถามว่ามีปัญญาจ่ายคืนไหม? จ่ายคืนไม่ได้ก็ยึดที่นา ไม่ใช่อย่างนั้น ทิศทางใหม่ของ ธ.ก.ส.ในขณะนี้ก็คือว่าจะทำอย่างไรที่จะพัฒนาภาคเกษตรให้แข็งแรง จะช่วยพัฒนาได้อย่างไร การให้สินเชื่อจึงเป็นเพียงเครื่องมือเท่านั้นเอง ฉะนั้น ธ.ก.ส. ต้องไปสอดรับกับนโยบาย 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ จะทำอย่างไรที่จะเข้าไปช่วยคณะกรรมการหมู่บ้าน จะทำอย่างไรที่จะช่วยให้เขาสามารถสร้างงาน สร้างรายได้ขึ้นมาได้ นั่นคือ ธ.ก.ส. ธนาคารประชาชนก็เป็นอีกสิ่งที่ออกมาเพื่อให้ความหวังกับคนที่ไม่มีโอกาสเข้าหาสถาบันการเงิน สิ่งเหล่านี้จะค่อยๆ ติดตามมาทีละชุด นี่คือภาคของประชาชนที่เราต้องการสร้างความเข้มแข็งขึ้นมา ไม่นับโครงการ 30 บาทฯ ของกระทรวงสาธารณสุข
ในภาคเอกชน สิ่งสำคัญที่สุด คือ เรื่องของ บสท. มีความเข้าใจผิดว่าเรามี บสท. เพื่อไว้อุ้มแบงก์ อุ้มคนรวย ไม่ใช่เช่นนั้นเลย ประเทศไทยจะไม่มีทางฟื้นขึ้นมาได้เลยถ้าหากว่าธุรกิจทั้งหลายที่เป็น NPL ขณะนี้ไม่สามารถกลับมาเข้มแข็งได้ใหม่ และทำการผลิตขึ้นมาใหม่ ถ้าเขาไม่แข็งแรง ไม่ผลิต จะจ้างงานได้อย่างไร ฉะนั้นการปรับโครงสร้างกิจการ การปรับโครงสร้างหนี้ NPL ให้เข้มแข็งขึ้นมานั้น ไม่เพียงแต่จะช่วยทำให้เศรษฐกิจกลับมาขับเคลื่อนต่อไปได้ แต่ยังจะทำให้สถาบันการเงินสามารถกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้อีกครั้ง โดยไม่ต้องห่วงใยปัญหา NPL การเน้นธุรกิจ SMEs หรือผู้ประกอบการรายย่อย เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่รัฐบาลทำ ไม่เคยปรากฏมาก่อนเลยในยุคใด สมัยใด ที่ให้ความสำคัญกับผู้ประกอบการรายย่อยเท่ากับรัฐบาลชุดนี้ อันนี้ท้าพิสูจน์ได้ ล่าสุดเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (25 กันยายน) เราได้ใช้นโยบายภาษีอากรช่วยเขา คนตัวเล็กต้องให้โอกาสให้เขายืนขึ้นมาให้ได้ ฉะนั้นกลุ่มกิจการที่ทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท หากทำกำไรปีหนึ่งไม่เกิน 1 ล้านบาท เสียภาษีนิติบุคคล 20 เปอร์เซ็นต์ กำไร 1-3 ล้านบาทเสีย 25 เปอร์เซ็นต์ กำไร 3 ล้านบาทขึ้นไปเสีย 30% และยังให้เรื่องของสินเชื่อจาก บอย. เป็นการพิเศษสิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ต้องการที่จะสร้างธุรกิจใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น เพื่อให้เป็นเหมือนกับป่าที่เราจะได้รับความร่มเย็นต่อไปในภายภาคหน้า ธุรกิจขนาดใหญ่ เราจะไม่ไปทำให้เขาเดือดร้อน ตรงกันข้ามเราจะทำให้เขาใหญ่ขึ้น เข้มแข็งขึ้น เพื่อให้สามารถแข่งขันกับบริษัทในตลาดโลกได้ ฉะนั้น นักรบทางเศรษฐกิจของเมืองไทยต้องมีทั้งใหญ่และเล็ก และมีความคล่องตัวสูง นั่นคือ ภาคประชาชน อนาคตข้างหน้าผมจะใช้เวลามากขึ้นกับสภาหอการค้าฯ และสมาคมธนาคารไทยเพื่อทำให้ภาคเอกชนเข้มแข็งมากขึ้นกว่านี้
ในภาครัฐ ในวันศุกร์นี้ (28 กันยายน 2544) จะมีการทำ Workshop รอบที่ 2 ของการปฏิรูปโครงสร้างข้าราชการ เมื่อวันก่อนได้ไปช่วยกระทรวงมหาดไทยพูดในเรื่องของการพัฒนาผู้ว่า CEO เพื่อรองรับนโยบายราชการที่จะลงไปในระดับจังหวัด แต่สิ่งสำคัญที่สุดในภาครัฐที่คนอื่นมักจะมองข้ามไปและไม่อยากจะไปแตะก็คือ รัฐวิสาหกิจ รัฐวิสาหกิจเคยถูกมองว่าเป็นภาระ เพราะทั้งระบบมีหนี้สินเกือบ 4.3 ล้านล้านบาท เคยถูกมองว่าขาดประสิทธิภาพ เพราะหลายๆ องค์กรมีภาระขาดทุนสูง แต่ผมกลับมองตรงกันข้าม ผมมองว่าแทนที่จะเป็นภาระ รัฐวิสาหกิจนี่แหละจะกลายเป็นขุมพลังที่ยิ่งใหญ่ ที่สามารถขึ้นมาทดแทนในช่วงที่ธุรกิจเอกชนกำลังอ่อนแอ กลับเป็นโชคดีของไทยที่ยังเหลือรัฐวิสาหกิจเหล่านี้อยู่ แม้ว่าบางแห่งจะขาดทุนสูงก็ตาม แทนที่จะมองว่าเขาขาดประสิทธิภาพ ผมกลับมองว่านี่แหละคือโอกาส ถ้าเราสามารถเปลี่ยนจากความที่ยังขาดประสิทธิภาพไปสู่
องค์กรที่มีพลัง และสามารถจะทำกำไร จะช่วยชาติได้ขนาดไหน? เพราะรายได้ทุกบาททุกสตางค์ของรัฐวิสาหกิจ ก็คือรายได้ของรัฐที่จะเอาไปใช้ในการพัฒนา ไปใช้ในการชดใช้หนี้ต่างประเทศที่พวกเรากันเองก่อกันมา ตรงนี้สำคัญมาก ผมมองว่ามันเป็นโอกาส ท่านทราบไหมว่ารัฐวิสาหกิจ 59 แห่ง ที่มีสินทรัพย์รวมกัน 4.6 ล้านล้านบาท ถ้าหากว่าท่านสามารถเพิ่มอัตราผลกำไรต่อสินทรัพย์เพียงแค่ 1 % ท่านจะมีกำไรสุทธิ 46,000 ล้านบาท ถ้าท่านรวมพลังกันสามารถเพิ่มพูนประสิทธิภาพสัก 2 หรือ 3% ต่อปี จะด้วยวิธีการใดก็แล้วแต่ในการเพิ่มพัฒนาประสิทธิภาพและการสร้างรายได้ ท่านจะสามารถสร้างรายได้ปีหนึ่งเป็นแสนล้าน ฉะนั้น สิ่งเหล่านี้แทนที่จะมองว่าเป็นสิ่งที่เป็นภาระเหมือนในอดีต อันนี้นี่แหละคือโอกาสอันสำคัญ ถ้าไม่เช่นนั้น ผมอยากจะถามว่าเราจะเอาเงินที่ไหนไปพัฒนาประเทศในขณะนี้ งบประมาณแผ่นดินร้อยละ 80 เป็นงบฯ ประจำ เหลือแค่ 20 ไปใช้ในการลงทุน ปีหนึ่งๆ ต้องจ่ายหนี้ ทั้งดอกทั้งต้นจากหนี้สินที่เรามีอยู่ถึง 2.8 ล้านล้านบาท ลำพังการเก็บภาษีอย่างเดียวไม่มีทาง จำได้ว่าตอนที่ผมเข้ามาในตำแหน่งใหม่ๆ เจ้าหนี้เขาไม่เชี่อมั่นว่าไทยเราจะมีความสามารถชดใช้หนี้ได้ จะสามารถหารายได้จากภาษีอากรมาใช้หนี้ได้ แต่ทันทีที่ผมชี้ให้เห็นว่าหนี้สินที่เกิดขึ้นในอดีตมันมากก็จริง แต่ไม่ใช่สิ่งที่แก้ไขไม่ได้ เพราะซีกหนึ่งผมปรับปรุงภาษีอากร สร้างฐานใหม่ มีแผน 5 ปีออกมา ผมรู้ว่าควรจะเก็บเท่าไหร่อยู่ในใจ แต่อีกซีกหนึ่งผมก็มีสินทรัพย์ที่ไม่ต้องขาย แต่ผมสามารถบริหารทรัพย์สินเหล่านั้นเพื่อให้เกิดเป็นรายได้เป็นกอบเป็นกำเข้าสู่แผ่นดินได้ ผมมีที่ราชพัสดุของกรมธนารักษ์มหาศาลทีเดียว ที่แค่เดินเก็บแต่ค่าเช่าถูกๆ ในอนาคตกรมธนารักษ์ต้องรู้จักพัฒนาสิ่งเหล่านี้เป็นรายได้ให้กับแผ่นดิน แผนการเขาเข้ามาแล้วใน 5 ปีข้างหน้า
รัฐวิสาหกิจสามารถสร้างรายได้มหาศาล ถ้าท่านสามารถปรับเปลี่ยนตัวเองให้มีมูลค่าสูงขึ้นๆ โดยที่ประเทศไม่ต้องขายรัฐวิสาหกิจทิ้งเลย เราเคยพูดถึงการช่วยพัฒนารัฐวิสาหกิจเป็นสิบๆ ปี แต่เรารำวงอยู่นั่นแหละ รำวงมาหลาย 10 ปีแล้ว จนกระทั่ง แทนที่จะทำให้รัฐวิสาหกิจแข็งแรงขึ้นมา กลับค่อยๆ อ่อนแอลง หนี้สินพอกพูนขึ้น ยกตัวอย่างง่ายๆ หลายองค์กร ไม่ว่า อตก. ธ.ก.ส. ธอส. การเคหะฯ การรถไฟฯ องค์กรเหล่านี้เป็นองค์กรที่มีค่าทั้งสิ้น แต่เพราะขาดความเอาใจใส่อย่างจริงจังจากระดับบนทำให้ไม่สามารถปรับเปลี่ยนองค์กรเหล่านี้ให้มีพลังได้ หนี้สินจึงได้พอกพูนขึ้นมามหาศาล แม้กระนั้นก็ดี อันนี้เป็นโอกาสที่ดีถ้าเราสามารถพลิกโฉมมันได้ พลิกโฉมอย่างไร ผมเรียนอย่างนี้ว่าในกระบวนการสร้างมูลค่าให้รัฐวิสาหกิจ หรือ A Value Creation Process ของรัฐวิสาหกิจ ผมถือว่ามีหลักสำคัญ 3 ประการคือ
1. การพลิกโฉมรัฐวิสาหกิจให้เป็นองค์กรที่มีพลัง มีชีวิตชีวา มีความปรารถนาอย่างยิ่งยวดที่จะทำงานให้ดีเพื่อประเทศชาติ ผมใช้คำว่า hi-performance organization ท่านสังเกตได้ในองค์กรที่ขาดพลังเหล่านี้ ผู้บริหารจะเข้าไปทำงานวันต่อวัน ถามว่าอนาคตจะทำอะไร ไม่ทราบ ! พนักงานเข้าไปทำงานวันต่อวัน สักแต่ว่าเขาจ้างมา ใช้อะไรก็ทำอย่างงั้น ระบบเป็นอย่างไรก็ทำอย่างงั้นทุกวัน ไม่คิดว่าจะปรับเปลี่ยนมันได้อย่างไร อันนี้เป็นองค์กรที่ขาดชีวิต ขาดพลัง แต่ถ้าเราเปลี่ยนมันเสียใหม่ ตอบตัวเองให้ได้ว่า องค์กรแห่งนี้ทิศทางข้างหน้าจะทำอะไร เป้าหมายชัดเจนเลย จะสร้างรายได้อย่างไร จะเพิ่มประสิทธิภาพอย่างไร ปักธงชัยไว้ว่า ทุกคนในรัฐวิสาหกิจจะร่วมกันสร้างสิ่งเหล่านี้ องค์กรก็จะกลับมีชีวิตขึ้นมา การทำงานจะมีเป้าหมายขึ้นมา ความรักในองค์กรจะมีขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เริ่มจากข้างล่าง สิ่งเหล่านี้ต้องเริ่มจากข้างบน คณะกรรมการรัฐวิสาหกิจจากวันนี้เป็นต้นไปจะมีการสรรหาอย่างเข้มข้น เพราะคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจจะต้องไม่ใช่ตัวแทนที่นักการเมืองส่งเข้าไป แต่ต้องเป็นคนที่เข้าไปวางกรอบ วางทิศทาง วางนโยบายของรัฐวิสาหกิจ ช่วยกำกับดูแลการจัดการทุกอย่างให้มีประสิทธิภาพและมีความโปร่งใส ผู้รักษาการหรือผู้อำนวยการรัฐวิสาหกิจต้องเป็น CEO ที่แท้จริง และถ้าต้องการเป็น CEO ที่แท้จริง ความหมายมิใช่แปลว่า กรรมการผู้จัดการใหญ่เฉยๆ มิใช่เป็นผู้ว่าเฉยๆ แต่ความหมายจะต้องประกอบด้วยหลัก 3 ประการ ได้แก่
1) ท่านจะต้องสามารถระบุขอบเขตภารกิจของท่านให้แน่ชัดว่า ท่านเป็นส่วนหนึ่งในองค์กรเหล่านั้น ท่านจะคิดจะทำอย่างไรใน 5 ปีข้างหน้า
2) ท่านจะต้องมีความคิดเชิงกลยุทธ์ว่าใน 5 ปีข้างหน้าท่านจะมี strategy formulation หรือสร้างกลยุทธ์ให้บรรลุภารกิจเหล่านั้นได้อย่างไร ถ้าท่านบอกว่าท่านต้องการสร้างรายได้ให้กับองค์กร ลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพ ท่านมียุทธวิธีอย่างไร เพราะถ้าท่านทำไม่ได้ บอกมา เราจะได้เปลี่ยนคน เพราะ CEO มีได้คนเดียว
3) จากนั้น ก็ถึงขั้นว่าจะทำอย่างไรให้ยุทธศาสตร์นั้นๆ สามารถนำไปสู่การปฏิบัติ หรือ strategy implementation ตรงนี้เป็นศิลปะจะทำอย่างไรให้รัฐวิสาหกิจมีความรักร่วมกัน ทำงานเป็นองค์กร ทำงานให้เป็นทีม นั่นคือวิธีการในขั้นสุดท้าย 3 หลักการใหญ่ ตรงนี้ผมใช้คำว่าเป็นการพลิกฟื้นชีวิตเติมพลังให้รัฐวิสาหกิจ รัฐบาลทำอะไรไม่ได้หรอกหากผู้บริหารและพนักงานไม่ร่วมมือ กระทรวงการคลังเริ่มแล้ว เริ่ม set เป้าหมาย bench-mark การรับผลงาน เพื่อให้ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจได้ใช้ในการประเมินผล ใช้ในการติดตาม ถ้ามีความร่วมมือที่ดีผมเชื่อว่าภายใน 5 ปีข้างหน้า รัฐวิสาหกิจไทยจะเริ่มดีขึ้นกว่านี้ การเพิ่ม return 1 % ของสินทรัพย์เป็นเรื่องง่ายมาก ไม่ยาก
ประการที่ 2 นอกจากจะเติมพลังให้องค์กรแล้ว คือการเติมความแข็งแกร่งให้กับองค์กรรัฐวิสาหกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความแข็งแกร่งทางการเงิน ท่านทราบไหมครับว่ารัฐวิสาหกิจ 10 แห่ง top performance ใหญ่ๆ มีเกือบ 10 แห่งที่มีหนี้สินต่อทุนเกิน 10 ต่อ 1 แค่แบกหนี้อย่างเดียวเหนื่อยแล้ว ฉะนั้น ตราบใดที่ยังแบกหนี้ก้อนนี้อยู่ โอกาสที่จะทำกำไรยากมากเพราะท่านต้องจ่ายดอกเบี้ยตลอดเวลา จะทำอย่างไรที่จะทำให้รัฐวิสาหกิจเหล่านี้ จริงๆ แล้วเขาก็สามารถทำกำไรได้ แต่เพราะหนี้มหาศาลที่แบกอยู่สั่งสมกันมาในอดีตทำให้เขายืนหยัดไม่ได้ เมื่อยืนหยัดไม่ได้ กำไรก็น้อย พนักงานไม่มีเงินเดือนเพิ่ม โบนัสไม่มี เป็นปัญหางูกินหาง ตรงนี้นี่แหละที่ต้องมีการทำ financial turnaround หรือพลิกฟื้นทางการเงินขึ้นทำอย่างไรที่จะทำให้ฐานะโครงสร้างทุนรัฐวิสาหกิจแข็งแรงขึ้นมา โดยไม่ต้องหันไปยืมหรือพึ่งพากระทรวงการคลัง ทุกสัปดาห์เวลาเข้า ครม. ผมต้องเซ็นทุกทีบอกว่ารัฐวิสาหกิจนี้ขอ refinance กระทรวงการคลังค้ำตลอด เหมือนเรามีลูกหลายๆ คน แต่ลูกไม่สามารถยืนอยู่บนขาของตนได้ แล้วถ้าพ่อแก่ตัวลงพ่อจะทำอย่างไร มันต้องถึงวันที่ลูกสามารถตรงยืนขึ้นมาได้ แล้วหันมาบอกพ่อว่า "พ่อ! วันนี้ลูกขอเลี้ยงข้าวพ่อสักมื้อ" ประเทศถึงจะอยู่ได้ กระบวนการนี้นี่เองที่นำไปสู่ความคิดที่ว่าจะต้องมีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็นบริษัท แปรรูปรัฐวิสาหกิจเพื่ออะไร เพื่อแปลงให้เป็นหุ้น เอาหุ้นเหล่านั้นขายให้กับประชาชน ขายให้นักลงทุน ทั้งในและต่างประเทศ ตามสัดส่วนที่เราคิดว่าเหมาะสม เงินที่ขายได้จะเท่าไหร่ก็แล้วแต่ มันคือกองทุนที่เข้ามาสู่รัฐวิสาหกิจ เป็นการลดหนี้ที่เรามีอยู่ เมื่อหนี้ลดลงไป เราเอาทุนตรงนั้นกลับมาเสริม มันก็กลับเป็นความแข็งแกร่งขึ้นมา เมื่อมีความแข็งแกร่งขึ้นมา ถ้าเรารวมประชาชนในห้องนี้ซื้อหุ้นรัฐวิสาหกิจเอาไว้ 10 บาท มันจะไม่มีความหมายเลย แต่หากท่านเอาหุ้นเหล่านี้ไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ถ้าท่านทำงานได้ดี รัฐวิสาหกิจทำกำไรได้ มูลค่าหุ้นจะเพิ่มเป็นเท่าๆ ขึ้นไป เมื่อนั้นคนที่ถือหุ้นรัฐวิสาหกิจเหล่านั้นก็สบาย
รัฐวิสาหกิจเอง แต่เดิมต้องยืมจมูกกระทรวงการคลังหายใจ วันนี้ทุนที่มีอยู่ 10 บาทต่อหุ้น มันอาจกลายเป็น 40, 50 หรือ 60 บาทก็ได้ ทุนก็แน่นหนาขึ้นมา หนี้ต่อทุนก็ลดน้อยลงไป การกู้หนี้ยืมสินข้างนอกต่อไปดอกเบี้ยก็จะถูกลงเพราะท่านมั่นคงขึ้น รัฐบาลไม่ต้องค้ำประกัน เอาหุ้นที่มีอยู่นั่นแหละไปค้ำประกัน ความคิดเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญมาก คนเข้าใจผิดบอกว่าการแปรรูปรัฐวิสาหกิจคือการขายรัฐวิสาหกิจ อันนี้มันถูกบิดเบือนโดยความไม่เข้าใจ Concept ของมัน
ถ้าท่านคิดในสิ่งที่ผมเล่าให้ฟังท่านจะสังเกตได้เลยว่า การเข้าตลาดหลักทรัพย์นั้นเป็นเพียงแค่การเริ่มต้นเท่านั้น การเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์หมายความว่า นำหุ้นเหล่านั้นไปจดทะเบียนที่ตลาดหลักทรัพย์เพื่อให้มีการซื้อขาย แต่ถ้าท่านทำรัฐวิสาหกิจของท่านให้ดีมีกำไรเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ กำไรเหล่านั้นจะทำให้ราคาหุ้นจาก 10 บาทค่อย ๆ เพิ่มขึ้นมา เมื่อเพิ่มขึ้นมาแปลว่า องค์กรของท่านร่ำรวยขึ้น หุ้นที่ท่านถืออยู่ถ้าไม่รีบขายก็คือเพิ่มเงินมากขึ้น เมื่อองค์กรมีเงินมากขึ้นก็สามารถขยายกิจการได้มากขึ้น ขยายกิจการได้มากขึ้นก็สามารถจ้างพนักงานได้มากขึ้น ฉะนั้น ความคิดที่บอกว่า เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ แปรรูปแล้วต้องมีการโละพนักงานไม่เคยอยู่ในสมองของผม มีแต่ว่าถ้าทำให้มันเจริญแล้ว พนักงานจะมีรายได้มากขึ้น โบนัสมากขึ้น สามารถจ้างงานรองรับมากขึ้น ในขณะที่ภาคเอกชนนั้นยังอ่อนแออยู่ นี่คือการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่ถูกต้อง ถ้าใครมาบิดเบือนให้ท่านทราบเป็นอย่างอื่น ขอความกรุณาช่วยตอบแทนผมด้วย ผมคนเดียวตอบแทนไม่ได้หรอก
ประการที่ 3 เมื่อเติมพลัง เติมฐานะทางการเงิน ต้องเติมความเฉียบคมเชิงการแข่งขันให้กับรัฐวิสาหกิจ ตรงนี้นี่เองที่ผมใช้คำว่า strategy turnaround รัฐวิสาหกิจจะต้องมีความคิดของตัวเองว่าจะแข่งขันอย่างไรในกลุ่มธุรกิจเหล่านั้น เพราะท่านมี 59 รัฐวิสาหกิจอยู่ แต่ละรัฐวิสาหกิจอยู่ในแต่ละอุตสาหกรรม ท่านต้องแข่งกับเอกชน ฉะนั้น คณะผู้บริหาร ไม่ว่าคณะกรรมการหรือ CEO ต้องมีความคิดว่า ท่านจะวาง positioning หรือตำแหน่งแห่งการแข่งขันได้อย่างไร ท่านถึงจะแข่งขันกับบริษัทอื่นๆ ได้
ถ้าท่านทำครบ 3 ประการนี้ มูลค่าหุ้นของรัฐวิสาหกิจของท่านจะเข้มแข็งและมั่นคง กระทรวงการคลังเองถือหุ้นท่านเป็นหุ้นใหญ่ เมื่อกฎหมายรัฐวิสาหกิจใหม่ออกมา อย่างไรเสียเราต้องถือเกิน 51% อยู่แล้ว แต่เราจะไม่รีบร้อนขายหุ้นของเราเพราะถ้ารีบขายเยอะ ท่านยังไม่ได้พัฒนารัฐวิสาหกิจให้แข็งแรง หุ้นก็ราคาถูก ขายมากกระทรวงการคลังก็ได้เงินน้อย แต่ถ้าเราช่วยกันพัฒนาให้รัฐวิสาหกิจแข็งแรงขึ้นมา กำไรมากขึ้น ผมค่อย ๆ ทยอยขายสัดส่วนบางส่วน ผมก็ได้เงินเข้ามามากขึ้น เอามาพัฒนา เอามาชดใช้หนี้ ฉะนั้นการเพิ่มทุนในแต่ละครั้งจะมี 2 อย่าง
1. เพิ่มทุนจากบุคคลภายนอกเข้ามาเป็นหุ้นใหม่ เอาเงินเข้ามาทำให้ทุนของรัฐวิสาหกิจแข็งแรง นี้คือเม็ดเงินใหม่เข้ามาเลย รัฐวิสาหกิจจะมั่งคั่งขึ้น
2. การขายหุ้นเก่ากระทรวงการคลังให้อีกอย่างหนึ่งคือ เมื่อหุ้นมีราคาแล้วกระทรวงการคลังก็ค่อยทยอยขายในบางส่วนแต่อย่างไรเสียกระทรวงการคลังต้องเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เพราะเราไม่ต้องการให้รัฐวิสาหกิจตกอยู่ในมือของใคร มีคำถามบอกว่าถ้าเอาหุ้นเข้าตลาดหลักทรัพย์แล้วขายฝรั่ง วันหนึ่งจะตกเป็นของฝรั่งหรือเปล่า? เป็นไปไม่ได้ หุ้นมันมี 100% ผมถือหุ้นใหญ่ใครจะเป็นเจ้าของ เราจะมีสัดส่วนบางส่วนที่ขายให้นักลงทุนต่างประเทศ เพราะถ้าท่านไม่ขายให้นักลงทุนต่างประเทศ หุ้นนั้นจะไม่มีความหมายเลย มันจะไม่มีการซื้อขาย รายการนี้เราจะต้องมีสัดส่วนบางส่วนให้กับนักลงทุนเขา แต่ไม่มาก ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของเราว่าเท่าไหร่จึงจะเหมาะสม รายการนี้ถือว่าต้องใช้ฝรั่งให้เป็นประโยชน์จากเราเพราะเขาใช้ประโยชน์จากเรามามากพอสมควรแล้ว
สิ่งที่ผมพูดมา 3 ประการใหญ่คือ กระบวนการในการสร้างมูลค่า กระบวนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้มีพลัง ฉะนั้นผมอธิบายชัดเจนแล้วว่า คำว่า "แปรรูป" คืออะไร แปรรูปไม่ใช่การขายรัฐวิสาหกิจอย่างที่เคยเข้าใจ แปรรูปคือ การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับรัฐวิสาหกิจ สร้างอนาคตให้กับพนักงานรัฐวิสาหกิจ รายการนี้ทุกคนได้ประโยชน์ ประชาชนก็ได้ประโยชน์ เพราะว่าถ้าท่านมุ่งมั่นพัฒนาองค์กร บริการก็ดีขึ้น ต้นทุนก็ถูกลง พนักงานรัฐวิสาหกิจก็ได้ประโยชน์ เพราะแทนที่บอกว่า จะต้องมีการเรียกร้องค่าแรง ต่อรองกัน ไม่มีประโยชน์อะไรเลย เพราะถ้าท่านทำได้ดี ถือหุ้นรัฐวิสาหกิจเอาไว้ องค์กรได้กำไร โบนัสท่านตามมาแน่นอน แต่ถ้าองค์กรขาดทุนจะเอาโบนัสที่ไหน? ประเทศก็ได้ประโยชน์เพราะเงินเข้าสู่คลัง มีเงินไว้พัฒนา ไปรวมกับเงินภาษีอากรที่จัดเก็บได้ เป็นกอบเป็นกำ เจ้าหนี้ต่างประเทศก็ไม่กล้าที่จะมาพูดอะไรมาก เพราะประเทศไม่ได้ล่มจม ประเทศแค่เผชิญวิกฤตการณ์ในอดีต 3 ปีที่ผ่านมา แต่ศักยภาพที่มีอยู่ พื้นฐานเศรษฐกิจที่มีอยู่นั้นเข้มแข็งมาก รัฐบาลเองจะค่อย ๆ ถอยจากรัฐวิสาหกิจ ไม่เข้าไปก้าวก่ายมากนัก
กฎหมายรัฐวิสาหกิจใหม่ต้องการให้มีการตั้ง holding company ขึ้นมา เป็นบริษัทถือหุ้น แทนที่กระทรวงการคลังจะไปถือหุ้น holding company จะไปถือหุ้นรัฐวิสาหกิจ 100% จะคอยจัดแจงเรื่องที่ว่าจะมีการลงทุนใหม่ จะขายหุ้นเดิม เป็นคนจัดการเรื่องการถือหุ้นอย่างเดียว ท่านทราบหรือไม่ว่าขณะนี้ กระทรวงการคลังถือหุ้นอยู่เต็มหมดเลย ผมไป find out ในช่วงหลังว่า รัฐบาลไม่เคยมีการไปดูแลเลยว่า หุ้นนี้ยังมีอยู่นะ จะซื้อทำกำไรหรือเปล่า? หุ้นนี้จะขายหรือเปล่า? ไม่มีใครจะจัดการอย่างแท้จริง อีกหน่อยบรรษัทใหม่จะเป็นคนดูแลตรงนี้ การแต่งตั้งคณะกรรมการบริษัทของรัฐวิสาหกิจจะมาจาก กนร. และในอนาคตจะขึ้นอยู่กับใครเป็นผู้ถือหุ้น ผู้ถือหุ้นใหญ่ก็สามารถส่งกรรมการตามสัดส่วนหุ้นที่ถือ ฉะนั้น รัฐวิสาหกิจจะต้องเป็นองค์กรของเขาเอง บริหารโดยตัวของเขาเอง รัฐบาลจะคอย support อยู่ข้างหลัง สิ่งเหล่านี้ได้ประโยชน์ทุกฝ่าย ทั้งประชาชน รัฐวิสาหกิจ และรัฐบาล แต่จะไม่มีทางเป็นไปได้เลยถ้าไม่มีความเข้าใจซึ่งกันและกัน ถ้าไม่มีการร่วมมือกัน ผมเห็นป้ายต่อต้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจบนทางด่วน ผมก็ไม่เข้าใจว่าต่อต้านเพื่ออะไร ในเมื่อทำสิ่งเหล่านี้แล้วทุกคนได้ประโยชน์ ทุกคนได้สตางค์ องค์กรเข้มแข็ง ประเทศมั่งคั่ง แล้วจะต่อต้านไปเพื่ออะไร?
ทั้งหมดนี้ต้องมีการรวมพลัง รัฐบาลทำฝ่ายเดียวไม่ได้ ในอดีต 30-40 ปีเป็นประจักษ์พยาน พูดอย่างเดียวไม่เกิดแน่นอน ต้องทำเลย และเราจะทำจริงๆ ปตท. จะเป็นจุดแรก แล้วค่อยไล่ไปทีละแห่ง แต่วิธีการของผมจะต่างกับในอดีต คือเราจะไม่ทำแห่งเดียว แล้วก็แห้ง แห่งเดียวแล้วก็แห้ง แต่เราต้องการให้มีพลังต่อเนื่องกัน ท่านทราบไหมว่า ตลาดหุ้นของเมืองไทยในขณะนี้เหลือแค่ล้านล้านเศษๆ เท่านั้นเอง ถ้าท่านทำได้ดี หุ้นรัฐวิสาหกิจเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ใน 3 ปีข้างหน้า ตลาดฯ จะสามารถขยายใหญ่อีกเกือบ 50% เศรษฐกิจไทยจะโตขึ้น
วันนี้ ผมตั้งใจมาพูดทำความเข้าใจให้ชัดเจน เพื่อขอความร่วมมือจากทุกรัฐวิสาหกิจ ไม่ใช่การพูดลอยๆ ตัวเลขได้ทำประเมินออกมาแล้ว 5 ปีข้างหน้าว่า จะช่วยชาติได้เท่าไหร่ ตัวนี้นี่เองที่จะทำให้หนี้ต่างประเทศเงียบไปประมาณ 2 เดือนแล้ว ฉะนั้นขอให้มีความมั่นใจว่า รัฐบาลไม่เคยมีเจตนาที่จะทำให้รัฐวิสาหกิจแย่ลง ตรงกันข้าม ตรงนี้เป็นขุมพลังอันยิ่งใหญ่ของประเทศ เราต้องการให้เป็นเสาหลักของรัฐที่มีประสิทธิภาพมีพลัง ไม่แพ้ภาคเอกชน ขอบคุณครับ
_______________________________
* จัดโดย กระทรวงการคลัง, ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
ณัฐศิรี อัคนิทัต : ถอดเทป
ปิยะภัทร ไชยสาม : พิมพ์
เชาวลิตร์ บุณยภูษิต : ตรวจ/ทาน--จบ--
-ศน-
"รัฐวิสาหกิจไทยกอบกู้เศรษฐกิจได้อย่างไร" *
โดย
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
วันที่ 26 กันยายน 2544
__________________________
ผมขอขอบคุณคณะผู้จัดงานที่เล็งเห็นความสำคัญของการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ถือว่าเป็นการให้เกียรติผมเป็นอย่างสูง ผมจะไม่ใช้วิธีพูดตามโพยที่มีการเขียนกันทั่วๆ ไป แต่ผมจะพูดจากความรู้สึกของผมถึงทุกท่านในที่นี้ว่า ทำไมเรื่องของการแปรรูปรัฐวิสาหกิจจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด
พวกเราทราบดีว่าในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาจากวิกฤตการณ์การเงิน เกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทยของเรา วิกฤติการณ์ครั้งนี้มาเร็ว แต่ไปช้า ส่งผลให้ความมั่งคั่งของประเทศสูญหายไปมหาศาลทีเดียว เราได้เห็นธุรกิจปิดกิจการเป็นหมื่นแห่ง เราได้เห็นตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่มีมูลค่าตลาดหายวับไปกับตาเป็นล้านล้านบาท และที่สำคัญที่สุด เราได้เห็นทรัพย์สินของประเทศขณะนี้มีมูลค่าตกลงมาจนน่าใจหาย ความมั่งคั่งเหล่านี้มันมากับวิกฤตการณ์ ฉะนั้นเป้าหมายของรัฐบาลชุดนี้จึงไม่ใช่เป็นเพียงแค่การเพิ่ม GDP แต่เป้าหมายของรัฐบาลชุดนี้คือ ความพยายามที่จะสร้างความมั่งคั่งขึ้นมาใหม่ หรือ wealth creation สร้างขึ้นใหม่ แล้วค่อยนำไปกระจายความมั่งคั่งอย่างมีคุณภาพ อย่างเท่าเทียมกันมากขึ้น ด้วยจุดประสงค์หลักอันนี้ท่านจะเห็นว่าไม่ใช่เรื่องง่ายๆ และยากยิ่งขึ้นเมื่อต้องประสบกับภาวะแวดล้อมของโลกที่ส่อเค้าว่าเศรษฐกิจโลกจะถดถอย แต่กระนั้นรัฐบาลชุดนี้ก็ไม่ได้หวั่นวิตก ยังคงยึดหลักการที่เรายึดมั่นอย่างแน่นแฟ้น
ในช่วงที่เรารณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ผมเคยกราบเรียนกับท่านนายกรัฐมนตรีว่า เราจะขอใช้หลักการ 3 ประการ จริงๆ แล้วผมได้รับความรู้สึกนี้จากตอนที่ได้อ่านประวัติศาสตร์จีนบทหนึ่ง ในช่วงที่บ้านเมืองของประเทศจีนมีความวุ่นวาย เกิดลัทธิที่เรียกว่า "ไตรราชย์" ในภาษาแต้จิ๋วเรียกว่า "ซานหมิงจู่อี้" คือเน้นความสำคัญในการสร้างประชาชาติ ความอยู่ดีกินดีของประชาชน และเชิดชูประชาธิปไตย นโยบายรัฐบาลชุดนี้ก็เช่นกัน ชูหลักการ 3 ภาค ที่ต้องสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง ภาคที่ 1 คือภาคประชาชน ภาคที่ 2 คือภาคธุรกิจเอกชน และภาคที่ 3 คือภาครัฐภาคของประชาชนนั้น เมื่อรัฐบาลชุดนี้ขึ้นมา ได้ประกาศนโยบายหลายประการท่ามกลางการวิพากษ์วิจารณ์นานาประการ แต่เวลาเท่านั้นจะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่ารัฐบาลนี้ใช้นโยบายที่ถูกต้องหรือไม่เพียงใด ตั้งแต่การประกาศลดหนี้ ประกาศพักหนี้เกษตรกร การเน้นกองทุนหมู่บ้าน หมู่บ้านละ 1 ล้านบาท นโยบาย 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ ที่ประกาศออกมา และล่าสุด ผมไปที่ ธ.ก.ส. หรือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ ณ วันนี้ ธ.ก.ส. ทั่วประเทศปรับทิศทางใหม่ มิใช่เป็นเพียงแค่ให้สินเชื่อแก่ชาวนา แล้วถึงเวลาก็มาถามว่ามีปัญญาจ่ายคืนไหม? จ่ายคืนไม่ได้ก็ยึดที่นา ไม่ใช่อย่างนั้น ทิศทางใหม่ของ ธ.ก.ส.ในขณะนี้ก็คือว่าจะทำอย่างไรที่จะพัฒนาภาคเกษตรให้แข็งแรง จะช่วยพัฒนาได้อย่างไร การให้สินเชื่อจึงเป็นเพียงเครื่องมือเท่านั้นเอง ฉะนั้น ธ.ก.ส. ต้องไปสอดรับกับนโยบาย 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ จะทำอย่างไรที่จะเข้าไปช่วยคณะกรรมการหมู่บ้าน จะทำอย่างไรที่จะช่วยให้เขาสามารถสร้างงาน สร้างรายได้ขึ้นมาได้ นั่นคือ ธ.ก.ส. ธนาคารประชาชนก็เป็นอีกสิ่งที่ออกมาเพื่อให้ความหวังกับคนที่ไม่มีโอกาสเข้าหาสถาบันการเงิน สิ่งเหล่านี้จะค่อยๆ ติดตามมาทีละชุด นี่คือภาคของประชาชนที่เราต้องการสร้างความเข้มแข็งขึ้นมา ไม่นับโครงการ 30 บาทฯ ของกระทรวงสาธารณสุข
ในภาคเอกชน สิ่งสำคัญที่สุด คือ เรื่องของ บสท. มีความเข้าใจผิดว่าเรามี บสท. เพื่อไว้อุ้มแบงก์ อุ้มคนรวย ไม่ใช่เช่นนั้นเลย ประเทศไทยจะไม่มีทางฟื้นขึ้นมาได้เลยถ้าหากว่าธุรกิจทั้งหลายที่เป็น NPL ขณะนี้ไม่สามารถกลับมาเข้มแข็งได้ใหม่ และทำการผลิตขึ้นมาใหม่ ถ้าเขาไม่แข็งแรง ไม่ผลิต จะจ้างงานได้อย่างไร ฉะนั้นการปรับโครงสร้างกิจการ การปรับโครงสร้างหนี้ NPL ให้เข้มแข็งขึ้นมานั้น ไม่เพียงแต่จะช่วยทำให้เศรษฐกิจกลับมาขับเคลื่อนต่อไปได้ แต่ยังจะทำให้สถาบันการเงินสามารถกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้อีกครั้ง โดยไม่ต้องห่วงใยปัญหา NPL การเน้นธุรกิจ SMEs หรือผู้ประกอบการรายย่อย เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่รัฐบาลทำ ไม่เคยปรากฏมาก่อนเลยในยุคใด สมัยใด ที่ให้ความสำคัญกับผู้ประกอบการรายย่อยเท่ากับรัฐบาลชุดนี้ อันนี้ท้าพิสูจน์ได้ ล่าสุดเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (25 กันยายน) เราได้ใช้นโยบายภาษีอากรช่วยเขา คนตัวเล็กต้องให้โอกาสให้เขายืนขึ้นมาให้ได้ ฉะนั้นกลุ่มกิจการที่ทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท หากทำกำไรปีหนึ่งไม่เกิน 1 ล้านบาท เสียภาษีนิติบุคคล 20 เปอร์เซ็นต์ กำไร 1-3 ล้านบาทเสีย 25 เปอร์เซ็นต์ กำไร 3 ล้านบาทขึ้นไปเสีย 30% และยังให้เรื่องของสินเชื่อจาก บอย. เป็นการพิเศษสิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ต้องการที่จะสร้างธุรกิจใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น เพื่อให้เป็นเหมือนกับป่าที่เราจะได้รับความร่มเย็นต่อไปในภายภาคหน้า ธุรกิจขนาดใหญ่ เราจะไม่ไปทำให้เขาเดือดร้อน ตรงกันข้ามเราจะทำให้เขาใหญ่ขึ้น เข้มแข็งขึ้น เพื่อให้สามารถแข่งขันกับบริษัทในตลาดโลกได้ ฉะนั้น นักรบทางเศรษฐกิจของเมืองไทยต้องมีทั้งใหญ่และเล็ก และมีความคล่องตัวสูง นั่นคือ ภาคประชาชน อนาคตข้างหน้าผมจะใช้เวลามากขึ้นกับสภาหอการค้าฯ และสมาคมธนาคารไทยเพื่อทำให้ภาคเอกชนเข้มแข็งมากขึ้นกว่านี้
ในภาครัฐ ในวันศุกร์นี้ (28 กันยายน 2544) จะมีการทำ Workshop รอบที่ 2 ของการปฏิรูปโครงสร้างข้าราชการ เมื่อวันก่อนได้ไปช่วยกระทรวงมหาดไทยพูดในเรื่องของการพัฒนาผู้ว่า CEO เพื่อรองรับนโยบายราชการที่จะลงไปในระดับจังหวัด แต่สิ่งสำคัญที่สุดในภาครัฐที่คนอื่นมักจะมองข้ามไปและไม่อยากจะไปแตะก็คือ รัฐวิสาหกิจ รัฐวิสาหกิจเคยถูกมองว่าเป็นภาระ เพราะทั้งระบบมีหนี้สินเกือบ 4.3 ล้านล้านบาท เคยถูกมองว่าขาดประสิทธิภาพ เพราะหลายๆ องค์กรมีภาระขาดทุนสูง แต่ผมกลับมองตรงกันข้าม ผมมองว่าแทนที่จะเป็นภาระ รัฐวิสาหกิจนี่แหละจะกลายเป็นขุมพลังที่ยิ่งใหญ่ ที่สามารถขึ้นมาทดแทนในช่วงที่ธุรกิจเอกชนกำลังอ่อนแอ กลับเป็นโชคดีของไทยที่ยังเหลือรัฐวิสาหกิจเหล่านี้อยู่ แม้ว่าบางแห่งจะขาดทุนสูงก็ตาม แทนที่จะมองว่าเขาขาดประสิทธิภาพ ผมกลับมองว่านี่แหละคือโอกาส ถ้าเราสามารถเปลี่ยนจากความที่ยังขาดประสิทธิภาพไปสู่
องค์กรที่มีพลัง และสามารถจะทำกำไร จะช่วยชาติได้ขนาดไหน? เพราะรายได้ทุกบาททุกสตางค์ของรัฐวิสาหกิจ ก็คือรายได้ของรัฐที่จะเอาไปใช้ในการพัฒนา ไปใช้ในการชดใช้หนี้ต่างประเทศที่พวกเรากันเองก่อกันมา ตรงนี้สำคัญมาก ผมมองว่ามันเป็นโอกาส ท่านทราบไหมว่ารัฐวิสาหกิจ 59 แห่ง ที่มีสินทรัพย์รวมกัน 4.6 ล้านล้านบาท ถ้าหากว่าท่านสามารถเพิ่มอัตราผลกำไรต่อสินทรัพย์เพียงแค่ 1 % ท่านจะมีกำไรสุทธิ 46,000 ล้านบาท ถ้าท่านรวมพลังกันสามารถเพิ่มพูนประสิทธิภาพสัก 2 หรือ 3% ต่อปี จะด้วยวิธีการใดก็แล้วแต่ในการเพิ่มพัฒนาประสิทธิภาพและการสร้างรายได้ ท่านจะสามารถสร้างรายได้ปีหนึ่งเป็นแสนล้าน ฉะนั้น สิ่งเหล่านี้แทนที่จะมองว่าเป็นสิ่งที่เป็นภาระเหมือนในอดีต อันนี้นี่แหละคือโอกาสอันสำคัญ ถ้าไม่เช่นนั้น ผมอยากจะถามว่าเราจะเอาเงินที่ไหนไปพัฒนาประเทศในขณะนี้ งบประมาณแผ่นดินร้อยละ 80 เป็นงบฯ ประจำ เหลือแค่ 20 ไปใช้ในการลงทุน ปีหนึ่งๆ ต้องจ่ายหนี้ ทั้งดอกทั้งต้นจากหนี้สินที่เรามีอยู่ถึง 2.8 ล้านล้านบาท ลำพังการเก็บภาษีอย่างเดียวไม่มีทาง จำได้ว่าตอนที่ผมเข้ามาในตำแหน่งใหม่ๆ เจ้าหนี้เขาไม่เชี่อมั่นว่าไทยเราจะมีความสามารถชดใช้หนี้ได้ จะสามารถหารายได้จากภาษีอากรมาใช้หนี้ได้ แต่ทันทีที่ผมชี้ให้เห็นว่าหนี้สินที่เกิดขึ้นในอดีตมันมากก็จริง แต่ไม่ใช่สิ่งที่แก้ไขไม่ได้ เพราะซีกหนึ่งผมปรับปรุงภาษีอากร สร้างฐานใหม่ มีแผน 5 ปีออกมา ผมรู้ว่าควรจะเก็บเท่าไหร่อยู่ในใจ แต่อีกซีกหนึ่งผมก็มีสินทรัพย์ที่ไม่ต้องขาย แต่ผมสามารถบริหารทรัพย์สินเหล่านั้นเพื่อให้เกิดเป็นรายได้เป็นกอบเป็นกำเข้าสู่แผ่นดินได้ ผมมีที่ราชพัสดุของกรมธนารักษ์มหาศาลทีเดียว ที่แค่เดินเก็บแต่ค่าเช่าถูกๆ ในอนาคตกรมธนารักษ์ต้องรู้จักพัฒนาสิ่งเหล่านี้เป็นรายได้ให้กับแผ่นดิน แผนการเขาเข้ามาแล้วใน 5 ปีข้างหน้า
รัฐวิสาหกิจสามารถสร้างรายได้มหาศาล ถ้าท่านสามารถปรับเปลี่ยนตัวเองให้มีมูลค่าสูงขึ้นๆ โดยที่ประเทศไม่ต้องขายรัฐวิสาหกิจทิ้งเลย เราเคยพูดถึงการช่วยพัฒนารัฐวิสาหกิจเป็นสิบๆ ปี แต่เรารำวงอยู่นั่นแหละ รำวงมาหลาย 10 ปีแล้ว จนกระทั่ง แทนที่จะทำให้รัฐวิสาหกิจแข็งแรงขึ้นมา กลับค่อยๆ อ่อนแอลง หนี้สินพอกพูนขึ้น ยกตัวอย่างง่ายๆ หลายองค์กร ไม่ว่า อตก. ธ.ก.ส. ธอส. การเคหะฯ การรถไฟฯ องค์กรเหล่านี้เป็นองค์กรที่มีค่าทั้งสิ้น แต่เพราะขาดความเอาใจใส่อย่างจริงจังจากระดับบนทำให้ไม่สามารถปรับเปลี่ยนองค์กรเหล่านี้ให้มีพลังได้ หนี้สินจึงได้พอกพูนขึ้นมามหาศาล แม้กระนั้นก็ดี อันนี้เป็นโอกาสที่ดีถ้าเราสามารถพลิกโฉมมันได้ พลิกโฉมอย่างไร ผมเรียนอย่างนี้ว่าในกระบวนการสร้างมูลค่าให้รัฐวิสาหกิจ หรือ A Value Creation Process ของรัฐวิสาหกิจ ผมถือว่ามีหลักสำคัญ 3 ประการคือ
1. การพลิกโฉมรัฐวิสาหกิจให้เป็นองค์กรที่มีพลัง มีชีวิตชีวา มีความปรารถนาอย่างยิ่งยวดที่จะทำงานให้ดีเพื่อประเทศชาติ ผมใช้คำว่า hi-performance organization ท่านสังเกตได้ในองค์กรที่ขาดพลังเหล่านี้ ผู้บริหารจะเข้าไปทำงานวันต่อวัน ถามว่าอนาคตจะทำอะไร ไม่ทราบ ! พนักงานเข้าไปทำงานวันต่อวัน สักแต่ว่าเขาจ้างมา ใช้อะไรก็ทำอย่างงั้น ระบบเป็นอย่างไรก็ทำอย่างงั้นทุกวัน ไม่คิดว่าจะปรับเปลี่ยนมันได้อย่างไร อันนี้เป็นองค์กรที่ขาดชีวิต ขาดพลัง แต่ถ้าเราเปลี่ยนมันเสียใหม่ ตอบตัวเองให้ได้ว่า องค์กรแห่งนี้ทิศทางข้างหน้าจะทำอะไร เป้าหมายชัดเจนเลย จะสร้างรายได้อย่างไร จะเพิ่มประสิทธิภาพอย่างไร ปักธงชัยไว้ว่า ทุกคนในรัฐวิสาหกิจจะร่วมกันสร้างสิ่งเหล่านี้ องค์กรก็จะกลับมีชีวิตขึ้นมา การทำงานจะมีเป้าหมายขึ้นมา ความรักในองค์กรจะมีขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เริ่มจากข้างล่าง สิ่งเหล่านี้ต้องเริ่มจากข้างบน คณะกรรมการรัฐวิสาหกิจจากวันนี้เป็นต้นไปจะมีการสรรหาอย่างเข้มข้น เพราะคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจจะต้องไม่ใช่ตัวแทนที่นักการเมืองส่งเข้าไป แต่ต้องเป็นคนที่เข้าไปวางกรอบ วางทิศทาง วางนโยบายของรัฐวิสาหกิจ ช่วยกำกับดูแลการจัดการทุกอย่างให้มีประสิทธิภาพและมีความโปร่งใส ผู้รักษาการหรือผู้อำนวยการรัฐวิสาหกิจต้องเป็น CEO ที่แท้จริง และถ้าต้องการเป็น CEO ที่แท้จริง ความหมายมิใช่แปลว่า กรรมการผู้จัดการใหญ่เฉยๆ มิใช่เป็นผู้ว่าเฉยๆ แต่ความหมายจะต้องประกอบด้วยหลัก 3 ประการ ได้แก่
1) ท่านจะต้องสามารถระบุขอบเขตภารกิจของท่านให้แน่ชัดว่า ท่านเป็นส่วนหนึ่งในองค์กรเหล่านั้น ท่านจะคิดจะทำอย่างไรใน 5 ปีข้างหน้า
2) ท่านจะต้องมีความคิดเชิงกลยุทธ์ว่าใน 5 ปีข้างหน้าท่านจะมี strategy formulation หรือสร้างกลยุทธ์ให้บรรลุภารกิจเหล่านั้นได้อย่างไร ถ้าท่านบอกว่าท่านต้องการสร้างรายได้ให้กับองค์กร ลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพ ท่านมียุทธวิธีอย่างไร เพราะถ้าท่านทำไม่ได้ บอกมา เราจะได้เปลี่ยนคน เพราะ CEO มีได้คนเดียว
3) จากนั้น ก็ถึงขั้นว่าจะทำอย่างไรให้ยุทธศาสตร์นั้นๆ สามารถนำไปสู่การปฏิบัติ หรือ strategy implementation ตรงนี้เป็นศิลปะจะทำอย่างไรให้รัฐวิสาหกิจมีความรักร่วมกัน ทำงานเป็นองค์กร ทำงานให้เป็นทีม นั่นคือวิธีการในขั้นสุดท้าย 3 หลักการใหญ่ ตรงนี้ผมใช้คำว่าเป็นการพลิกฟื้นชีวิตเติมพลังให้รัฐวิสาหกิจ รัฐบาลทำอะไรไม่ได้หรอกหากผู้บริหารและพนักงานไม่ร่วมมือ กระทรวงการคลังเริ่มแล้ว เริ่ม set เป้าหมาย bench-mark การรับผลงาน เพื่อให้ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจได้ใช้ในการประเมินผล ใช้ในการติดตาม ถ้ามีความร่วมมือที่ดีผมเชื่อว่าภายใน 5 ปีข้างหน้า รัฐวิสาหกิจไทยจะเริ่มดีขึ้นกว่านี้ การเพิ่ม return 1 % ของสินทรัพย์เป็นเรื่องง่ายมาก ไม่ยาก
ประการที่ 2 นอกจากจะเติมพลังให้องค์กรแล้ว คือการเติมความแข็งแกร่งให้กับองค์กรรัฐวิสาหกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความแข็งแกร่งทางการเงิน ท่านทราบไหมครับว่ารัฐวิสาหกิจ 10 แห่ง top performance ใหญ่ๆ มีเกือบ 10 แห่งที่มีหนี้สินต่อทุนเกิน 10 ต่อ 1 แค่แบกหนี้อย่างเดียวเหนื่อยแล้ว ฉะนั้น ตราบใดที่ยังแบกหนี้ก้อนนี้อยู่ โอกาสที่จะทำกำไรยากมากเพราะท่านต้องจ่ายดอกเบี้ยตลอดเวลา จะทำอย่างไรที่จะทำให้รัฐวิสาหกิจเหล่านี้ จริงๆ แล้วเขาก็สามารถทำกำไรได้ แต่เพราะหนี้มหาศาลที่แบกอยู่สั่งสมกันมาในอดีตทำให้เขายืนหยัดไม่ได้ เมื่อยืนหยัดไม่ได้ กำไรก็น้อย พนักงานไม่มีเงินเดือนเพิ่ม โบนัสไม่มี เป็นปัญหางูกินหาง ตรงนี้นี่แหละที่ต้องมีการทำ financial turnaround หรือพลิกฟื้นทางการเงินขึ้นทำอย่างไรที่จะทำให้ฐานะโครงสร้างทุนรัฐวิสาหกิจแข็งแรงขึ้นมา โดยไม่ต้องหันไปยืมหรือพึ่งพากระทรวงการคลัง ทุกสัปดาห์เวลาเข้า ครม. ผมต้องเซ็นทุกทีบอกว่ารัฐวิสาหกิจนี้ขอ refinance กระทรวงการคลังค้ำตลอด เหมือนเรามีลูกหลายๆ คน แต่ลูกไม่สามารถยืนอยู่บนขาของตนได้ แล้วถ้าพ่อแก่ตัวลงพ่อจะทำอย่างไร มันต้องถึงวันที่ลูกสามารถตรงยืนขึ้นมาได้ แล้วหันมาบอกพ่อว่า "พ่อ! วันนี้ลูกขอเลี้ยงข้าวพ่อสักมื้อ" ประเทศถึงจะอยู่ได้ กระบวนการนี้นี่เองที่นำไปสู่ความคิดที่ว่าจะต้องมีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็นบริษัท แปรรูปรัฐวิสาหกิจเพื่ออะไร เพื่อแปลงให้เป็นหุ้น เอาหุ้นเหล่านั้นขายให้กับประชาชน ขายให้นักลงทุน ทั้งในและต่างประเทศ ตามสัดส่วนที่เราคิดว่าเหมาะสม เงินที่ขายได้จะเท่าไหร่ก็แล้วแต่ มันคือกองทุนที่เข้ามาสู่รัฐวิสาหกิจ เป็นการลดหนี้ที่เรามีอยู่ เมื่อหนี้ลดลงไป เราเอาทุนตรงนั้นกลับมาเสริม มันก็กลับเป็นความแข็งแกร่งขึ้นมา เมื่อมีความแข็งแกร่งขึ้นมา ถ้าเรารวมประชาชนในห้องนี้ซื้อหุ้นรัฐวิสาหกิจเอาไว้ 10 บาท มันจะไม่มีความหมายเลย แต่หากท่านเอาหุ้นเหล่านี้ไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ถ้าท่านทำงานได้ดี รัฐวิสาหกิจทำกำไรได้ มูลค่าหุ้นจะเพิ่มเป็นเท่าๆ ขึ้นไป เมื่อนั้นคนที่ถือหุ้นรัฐวิสาหกิจเหล่านั้นก็สบาย
รัฐวิสาหกิจเอง แต่เดิมต้องยืมจมูกกระทรวงการคลังหายใจ วันนี้ทุนที่มีอยู่ 10 บาทต่อหุ้น มันอาจกลายเป็น 40, 50 หรือ 60 บาทก็ได้ ทุนก็แน่นหนาขึ้นมา หนี้ต่อทุนก็ลดน้อยลงไป การกู้หนี้ยืมสินข้างนอกต่อไปดอกเบี้ยก็จะถูกลงเพราะท่านมั่นคงขึ้น รัฐบาลไม่ต้องค้ำประกัน เอาหุ้นที่มีอยู่นั่นแหละไปค้ำประกัน ความคิดเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญมาก คนเข้าใจผิดบอกว่าการแปรรูปรัฐวิสาหกิจคือการขายรัฐวิสาหกิจ อันนี้มันถูกบิดเบือนโดยความไม่เข้าใจ Concept ของมัน
ถ้าท่านคิดในสิ่งที่ผมเล่าให้ฟังท่านจะสังเกตได้เลยว่า การเข้าตลาดหลักทรัพย์นั้นเป็นเพียงแค่การเริ่มต้นเท่านั้น การเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์หมายความว่า นำหุ้นเหล่านั้นไปจดทะเบียนที่ตลาดหลักทรัพย์เพื่อให้มีการซื้อขาย แต่ถ้าท่านทำรัฐวิสาหกิจของท่านให้ดีมีกำไรเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ กำไรเหล่านั้นจะทำให้ราคาหุ้นจาก 10 บาทค่อย ๆ เพิ่มขึ้นมา เมื่อเพิ่มขึ้นมาแปลว่า องค์กรของท่านร่ำรวยขึ้น หุ้นที่ท่านถืออยู่ถ้าไม่รีบขายก็คือเพิ่มเงินมากขึ้น เมื่อองค์กรมีเงินมากขึ้นก็สามารถขยายกิจการได้มากขึ้น ขยายกิจการได้มากขึ้นก็สามารถจ้างพนักงานได้มากขึ้น ฉะนั้น ความคิดที่บอกว่า เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ แปรรูปแล้วต้องมีการโละพนักงานไม่เคยอยู่ในสมองของผม มีแต่ว่าถ้าทำให้มันเจริญแล้ว พนักงานจะมีรายได้มากขึ้น โบนัสมากขึ้น สามารถจ้างงานรองรับมากขึ้น ในขณะที่ภาคเอกชนนั้นยังอ่อนแออยู่ นี่คือการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่ถูกต้อง ถ้าใครมาบิดเบือนให้ท่านทราบเป็นอย่างอื่น ขอความกรุณาช่วยตอบแทนผมด้วย ผมคนเดียวตอบแทนไม่ได้หรอก
ประการที่ 3 เมื่อเติมพลัง เติมฐานะทางการเงิน ต้องเติมความเฉียบคมเชิงการแข่งขันให้กับรัฐวิสาหกิจ ตรงนี้นี่เองที่ผมใช้คำว่า strategy turnaround รัฐวิสาหกิจจะต้องมีความคิดของตัวเองว่าจะแข่งขันอย่างไรในกลุ่มธุรกิจเหล่านั้น เพราะท่านมี 59 รัฐวิสาหกิจอยู่ แต่ละรัฐวิสาหกิจอยู่ในแต่ละอุตสาหกรรม ท่านต้องแข่งกับเอกชน ฉะนั้น คณะผู้บริหาร ไม่ว่าคณะกรรมการหรือ CEO ต้องมีความคิดว่า ท่านจะวาง positioning หรือตำแหน่งแห่งการแข่งขันได้อย่างไร ท่านถึงจะแข่งขันกับบริษัทอื่นๆ ได้
ถ้าท่านทำครบ 3 ประการนี้ มูลค่าหุ้นของรัฐวิสาหกิจของท่านจะเข้มแข็งและมั่นคง กระทรวงการคลังเองถือหุ้นท่านเป็นหุ้นใหญ่ เมื่อกฎหมายรัฐวิสาหกิจใหม่ออกมา อย่างไรเสียเราต้องถือเกิน 51% อยู่แล้ว แต่เราจะไม่รีบร้อนขายหุ้นของเราเพราะถ้ารีบขายเยอะ ท่านยังไม่ได้พัฒนารัฐวิสาหกิจให้แข็งแรง หุ้นก็ราคาถูก ขายมากกระทรวงการคลังก็ได้เงินน้อย แต่ถ้าเราช่วยกันพัฒนาให้รัฐวิสาหกิจแข็งแรงขึ้นมา กำไรมากขึ้น ผมค่อย ๆ ทยอยขายสัดส่วนบางส่วน ผมก็ได้เงินเข้ามามากขึ้น เอามาพัฒนา เอามาชดใช้หนี้ ฉะนั้นการเพิ่มทุนในแต่ละครั้งจะมี 2 อย่าง
1. เพิ่มทุนจากบุคคลภายนอกเข้ามาเป็นหุ้นใหม่ เอาเงินเข้ามาทำให้ทุนของรัฐวิสาหกิจแข็งแรง นี้คือเม็ดเงินใหม่เข้ามาเลย รัฐวิสาหกิจจะมั่งคั่งขึ้น
2. การขายหุ้นเก่ากระทรวงการคลังให้อีกอย่างหนึ่งคือ เมื่อหุ้นมีราคาแล้วกระทรวงการคลังก็ค่อยทยอยขายในบางส่วนแต่อย่างไรเสียกระทรวงการคลังต้องเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เพราะเราไม่ต้องการให้รัฐวิสาหกิจตกอยู่ในมือของใคร มีคำถามบอกว่าถ้าเอาหุ้นเข้าตลาดหลักทรัพย์แล้วขายฝรั่ง วันหนึ่งจะตกเป็นของฝรั่งหรือเปล่า? เป็นไปไม่ได้ หุ้นมันมี 100% ผมถือหุ้นใหญ่ใครจะเป็นเจ้าของ เราจะมีสัดส่วนบางส่วนที่ขายให้นักลงทุนต่างประเทศ เพราะถ้าท่านไม่ขายให้นักลงทุนต่างประเทศ หุ้นนั้นจะไม่มีความหมายเลย มันจะไม่มีการซื้อขาย รายการนี้เราจะต้องมีสัดส่วนบางส่วนให้กับนักลงทุนเขา แต่ไม่มาก ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของเราว่าเท่าไหร่จึงจะเหมาะสม รายการนี้ถือว่าต้องใช้ฝรั่งให้เป็นประโยชน์จากเราเพราะเขาใช้ประโยชน์จากเรามามากพอสมควรแล้ว
สิ่งที่ผมพูดมา 3 ประการใหญ่คือ กระบวนการในการสร้างมูลค่า กระบวนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้มีพลัง ฉะนั้นผมอธิบายชัดเจนแล้วว่า คำว่า "แปรรูป" คืออะไร แปรรูปไม่ใช่การขายรัฐวิสาหกิจอย่างที่เคยเข้าใจ แปรรูปคือ การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับรัฐวิสาหกิจ สร้างอนาคตให้กับพนักงานรัฐวิสาหกิจ รายการนี้ทุกคนได้ประโยชน์ ประชาชนก็ได้ประโยชน์ เพราะว่าถ้าท่านมุ่งมั่นพัฒนาองค์กร บริการก็ดีขึ้น ต้นทุนก็ถูกลง พนักงานรัฐวิสาหกิจก็ได้ประโยชน์ เพราะแทนที่บอกว่า จะต้องมีการเรียกร้องค่าแรง ต่อรองกัน ไม่มีประโยชน์อะไรเลย เพราะถ้าท่านทำได้ดี ถือหุ้นรัฐวิสาหกิจเอาไว้ องค์กรได้กำไร โบนัสท่านตามมาแน่นอน แต่ถ้าองค์กรขาดทุนจะเอาโบนัสที่ไหน? ประเทศก็ได้ประโยชน์เพราะเงินเข้าสู่คลัง มีเงินไว้พัฒนา ไปรวมกับเงินภาษีอากรที่จัดเก็บได้ เป็นกอบเป็นกำ เจ้าหนี้ต่างประเทศก็ไม่กล้าที่จะมาพูดอะไรมาก เพราะประเทศไม่ได้ล่มจม ประเทศแค่เผชิญวิกฤตการณ์ในอดีต 3 ปีที่ผ่านมา แต่ศักยภาพที่มีอยู่ พื้นฐานเศรษฐกิจที่มีอยู่นั้นเข้มแข็งมาก รัฐบาลเองจะค่อย ๆ ถอยจากรัฐวิสาหกิจ ไม่เข้าไปก้าวก่ายมากนัก
กฎหมายรัฐวิสาหกิจใหม่ต้องการให้มีการตั้ง holding company ขึ้นมา เป็นบริษัทถือหุ้น แทนที่กระทรวงการคลังจะไปถือหุ้น holding company จะไปถือหุ้นรัฐวิสาหกิจ 100% จะคอยจัดแจงเรื่องที่ว่าจะมีการลงทุนใหม่ จะขายหุ้นเดิม เป็นคนจัดการเรื่องการถือหุ้นอย่างเดียว ท่านทราบหรือไม่ว่าขณะนี้ กระทรวงการคลังถือหุ้นอยู่เต็มหมดเลย ผมไป find out ในช่วงหลังว่า รัฐบาลไม่เคยมีการไปดูแลเลยว่า หุ้นนี้ยังมีอยู่นะ จะซื้อทำกำไรหรือเปล่า? หุ้นนี้จะขายหรือเปล่า? ไม่มีใครจะจัดการอย่างแท้จริง อีกหน่อยบรรษัทใหม่จะเป็นคนดูแลตรงนี้ การแต่งตั้งคณะกรรมการบริษัทของรัฐวิสาหกิจจะมาจาก กนร. และในอนาคตจะขึ้นอยู่กับใครเป็นผู้ถือหุ้น ผู้ถือหุ้นใหญ่ก็สามารถส่งกรรมการตามสัดส่วนหุ้นที่ถือ ฉะนั้น รัฐวิสาหกิจจะต้องเป็นองค์กรของเขาเอง บริหารโดยตัวของเขาเอง รัฐบาลจะคอย support อยู่ข้างหลัง สิ่งเหล่านี้ได้ประโยชน์ทุกฝ่าย ทั้งประชาชน รัฐวิสาหกิจ และรัฐบาล แต่จะไม่มีทางเป็นไปได้เลยถ้าไม่มีความเข้าใจซึ่งกันและกัน ถ้าไม่มีการร่วมมือกัน ผมเห็นป้ายต่อต้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจบนทางด่วน ผมก็ไม่เข้าใจว่าต่อต้านเพื่ออะไร ในเมื่อทำสิ่งเหล่านี้แล้วทุกคนได้ประโยชน์ ทุกคนได้สตางค์ องค์กรเข้มแข็ง ประเทศมั่งคั่ง แล้วจะต่อต้านไปเพื่ออะไร?
ทั้งหมดนี้ต้องมีการรวมพลัง รัฐบาลทำฝ่ายเดียวไม่ได้ ในอดีต 30-40 ปีเป็นประจักษ์พยาน พูดอย่างเดียวไม่เกิดแน่นอน ต้องทำเลย และเราจะทำจริงๆ ปตท. จะเป็นจุดแรก แล้วค่อยไล่ไปทีละแห่ง แต่วิธีการของผมจะต่างกับในอดีต คือเราจะไม่ทำแห่งเดียว แล้วก็แห้ง แห่งเดียวแล้วก็แห้ง แต่เราต้องการให้มีพลังต่อเนื่องกัน ท่านทราบไหมว่า ตลาดหุ้นของเมืองไทยในขณะนี้เหลือแค่ล้านล้านเศษๆ เท่านั้นเอง ถ้าท่านทำได้ดี หุ้นรัฐวิสาหกิจเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ใน 3 ปีข้างหน้า ตลาดฯ จะสามารถขยายใหญ่อีกเกือบ 50% เศรษฐกิจไทยจะโตขึ้น
วันนี้ ผมตั้งใจมาพูดทำความเข้าใจให้ชัดเจน เพื่อขอความร่วมมือจากทุกรัฐวิสาหกิจ ไม่ใช่การพูดลอยๆ ตัวเลขได้ทำประเมินออกมาแล้ว 5 ปีข้างหน้าว่า จะช่วยชาติได้เท่าไหร่ ตัวนี้นี่เองที่จะทำให้หนี้ต่างประเทศเงียบไปประมาณ 2 เดือนแล้ว ฉะนั้นขอให้มีความมั่นใจว่า รัฐบาลไม่เคยมีเจตนาที่จะทำให้รัฐวิสาหกิจแย่ลง ตรงกันข้าม ตรงนี้เป็นขุมพลังอันยิ่งใหญ่ของประเทศ เราต้องการให้เป็นเสาหลักของรัฐที่มีประสิทธิภาพมีพลัง ไม่แพ้ภาคเอกชน ขอบคุณครับ
_______________________________
* จัดโดย กระทรวงการคลัง, ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
ณัฐศิรี อัคนิทัต : ถอดเทป
ปิยะภัทร ไชยสาม : พิมพ์
เชาวลิตร์ บุณยภูษิต : ตรวจ/ทาน--จบ--
-ศน-