คุณภาพเพียงพอกับความต้องการของประเทศ รวมทั้งส่งเสริมและพัฒนาการจัดระบบความรู้และสร้างมาตรฐานด้านการแพทย์แผนไทย การแพทย์ทางเลือกอื่น ๆ และสมุนไพร เพื่อนำไปใช้ในระบบบริการสุขภาพอย่างมีคุณภาพและปลอดภัย
(๓) จัดระบบการป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตราย การป้องกันอุบัติเหตุและอุบัติภัย การควบคุมการเพิ่มจำนวนผู้ป่วยโรคเอดส์และดูแลผู้ป่วยโรคเอดส์อย่างเหมาะสม พร้อมกับสนับสนุนการสร้างและเผยแพร่องค์ความรู้ด้านสุขภาพ เร่งรัดกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพ การกีฬา และสนับสนุนให้เกิดองค์กรเครือข่ายควบคุมป้องกันโรคในทุกระดับ
๑๐.๒ ด้านการกีฬา
(๑) ส่งเสริมกิจกรรมกีฬาระดับชุมชนและโรงเรียน เพื่อส่งเสริมสุขภาพ และเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาสู่กีฬากึ่งอาชีพและกีฬาอาชีพโดยสนับสนุนบทบาทของภาคเอกชนให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาการกีฬา
(๒) ส่งเสริมและสนับสนุนการแข่งขันกีฬาระดับประเทศและระดับนานาชาติอย่างเป็นระบบเพื่อสร้างเกียรติภูมิแก่ประเทศ และความภูมิใจของประชาชน ตลอดจนส่งเสริมและปลูกฝังค่านิยมที่ดีต่อการกีฬา
๑๐.๓ ด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด
รัฐบาลจะเร่งรัดดำเนินการเพื่อให้การป้องกันและปราบปรามยาเสพติดภายใต้นโยบายระยะเร่งด่วน โดยหลัก การป้องกันนำหน้าการปราบปราม ผู้เสพต้องได้รับการรักษา ผู้ค้าต้องได้รับการลงโทษโดยเด็ดขาดดังนี้
(๑) เข้มงวดกับการบังคับใช้กฎหมาย และสร้างกระบวนการพิเศษ เพื่อควบคุมและปราบปรามผู้ค้าและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตและการค้ายาเสพติดอย่างเด็ดขาด รวดเร็วและเป็นธรรม พร้อมทั้งแก้ไขกฎหมายเพื่อเพิ่มบทลงโทษสูงสุดกับข้าราชการการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้อง และให้รางวัลและการคุ้มครองเป็นพิเศษแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐและประชาชนที่ให้ความร่วมมือในการปราบปรามยาเสพติด
(๒) ควบคุมการนำเข้าสารเคมีที่อาจนำไปสู่การผลิตยาเสพติดอย่างเข้มงวด และเสริมสร้างกลไกของภาครัฐและมาตรการทางกฎหมาย ให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในการผลิตยาเสพติด
(๓) สร้างความร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศและนานาประเทศ เพื่อควบคุมและกำจัดแหล่งผลิตและเครือข่ายการจำหน่ายยาเสพติดข้ามชาติ
(๔) แก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้ารับการบำบัดรักษา และการฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจของผู้เสพยาเสพติด โดยให้ผู้ติดยาเสพติดสามารถเข้ารับการบำบัดและฟื้นฟูสภาพได้ทันที โดยไม่มีความผิดทางกฎหมาย พร้อมกันนี้ รัฐบาลจะจัดให้มีระบบการบริการบำบัดและฟื้นฟู การฝึกอบรมด้านอาชีพ และการปรับสภาพแวดล้อมให้แก่ผู้เสพยาเสพติดอย่างทั่วถึงเพื่อให้ผู้เสพสามารถกลับเข้าสู่สังคมได้อย่างปกติสุข
๑๐.๔ ด้านครอบครัว เด็ก เยาวชน สตรี และผู้สูงอายุ
รัฐบาลมีนโยบายในการสร้างครอบครัวให้อบอุ่นและเข้มแข็งเป็นหน่วยพื้นฐานในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และเป็นภูมิคุ้มกันจากปัญหาสังคมแก่สมาชิกทุกวัยในครอบครัว ดังนี้
(๑) จัดตั้งศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชนโดยการมีส่วนร่วมของบุคลากรในชุมชน เพื่อให้คำปรึกษาและบริการต่าง ๆ เกี่ยวกับครอบครัว ทั้งด้านสุขภาพ และการวางแผนและแก้ไขปัญหาครอบครัว
(๒) สนับสนุนให้มีศูนย์เลี้ยงเด็กก่อนวัยเรียนที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานในชุมชนและสถานประกอบการ
(๓) แก้ไขปรับปรุงกฎหมายและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกัน ปราบปรามและลงโทษอย่างจริงจังต่อผู้กระทำผิดที่ละเมิดสิทธิเด็กและกระทำทารุณกรรมต่อเด็กในทุกด้าน
(๔) มุ่งส่งเสริมสิทธิ สถานภาพและบทบาทของสตรี การพัฒนาศักยภาพของสตรีให้สามารถมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในการพัฒนาชุมชนและประเทศทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง รวมทั้งส่งเสริมความเท่าเทียมกันของสตรีในการรับราชการ
(๕) ยกย่องและให้หลักประกันแก่ผู้สูงอายุ โดยการสร้างโครงข่ายความปลอดภัยทางสังคมสำหรับผู้สูงอายุ พัฒนาการบริการสุขภาพอนามัย รวมทั้งนำประสบการณ์และภูมิปัญญาของผู้สูงอายุมาช่วยในการพัฒนาสังคม
๑๐.๕ ด้านการส่งเสริมผู้ด้อยโอกาส
(๑) ให้การสงเคราะห์และสนับสนุนการพัฒนาอย่างมีส่วนร่วมแก่ผู้ยากไร้ ผู้พิการหรือทุพพลภาพ และผู้ด้อยโอกาสให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและสามารถพึ่งพาตนเองได้
(๒) สนับสนุนองค์กรสาธารณกุศลเพื่อการบรรเทาสาธารณภัยและสงเคราะห์ผู้ประสบภัยในระดับชาติและในระดับชุมชน
(๓) จัดระบบการศึกษาและการฝึกอาชีพที่สอดคล้องกับระดับและลักษณะของความพิการหรือทุพพลภาพ รวมทั้งพัฒนาสื่อการเรียนการสอน การเสริมทักษะพิเศษเฉพาะด้าน และการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็นสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพ
๑๑. นโยบายการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม
๑๑.๑ ด้านการศึกษา
รัฐบาลจะปฏิรูปการศึกษาตามเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒ เพื่อพัฒนาสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งความรู้ อันเป็นเงื่อนไขไปสู่ระบบเศรษฐกิจฐานความรู้ให้คนไทยทั้งปวงได้รับโอกาสเท่าเทียมกันที่จะเรียนรู้และฝึกอบรมได้ตลอดชีวิต และมีปัญญาเป็นทุนไว้สร้างงานและสร้างรายได้ และนำประเทศให้รอดพ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจและสังคมโดยยึดหลักการศึกษาสร้างชาติ สร้างคน และสร้างงาน ดังนี้
(๑) เร่งจัดให้มีระบบและโครงสร้างทางการศึกษาที่มีคุณภาพเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั้งปวงอย่างแท้จริง
(๒) เน้นคุณภาพ ประสิทธิภาพ และความเที่ยงธรรมในการบริหารจัดการศึกษาทุกประเภทและทุกระดับ ตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนถึงอุดมศึกษา
(๓) พัฒนาระบบเทคโนโลยีทางการศึกษาและเครือข่ายสารสนเทศ เพื่อเพิ่มและกระจายโอกาสทางการศึกษาให้คนไทยทั้งในเมืองและชนบท
(๔) จัดให้มีวิทยาลัยชุมชน โดยเฉพาะในจังหวัดที่ยังขาดแคลนสถาบันอุดมศึกษา
(๕) ส่งเสริมและสนับสนุนให้ทุกฝ่ายร่วมรับผิดชอบการจัดการศึกษาและฝึกอบรม โดยรัฐเป็นผู้วางระบบ นโยบาย กำกับคุณภาพมาตรฐานสนับสนุนและระดมทรัพยากร เตรียมความพร้อมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเอกชน เครื่อข่ายครอบครัว และอื่น ๆ รวมทั้งการจัดการศึกษาเพื่อคนพิการหรือทุพพลภาพ และผู้ด้อยโอกาส
(๖) สนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์การศึกษาในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน
(๗) ส่งเสริมให้เกิดบูรณาการทางการศึกษา ศาสนา ศิลปวัฒนธรรมและกีฬา ในการให้การศึกษาอบรมแก่เด็กและเยาวชน
(๘) ปฏิรูปการเรียนรู้ โดยยึดหลักผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง หลักการเรียนรู้ด้วยตนเอง และหลักการเรียนรู้ตลอดชีวิต เน้นพลังความคิดสร้างสรรค์การสร้างนิสัยรักการอ่าน การจัดให้มีห้องสมุด ศูนย์การเรียนรู้ชุมชน และสื่อการเรียนรู้ประเภทต่าง ๆ อย่างทั่วถึง
(๙) ส่งเสริมวิชาชีพครูให้มีศักดิ์ศรี เป็นที่ยอมรับนับถือ และไว้วางใจจากสาธารณชนรวมทั้งพัฒนาและผลิตครูที่มีคุณภาพและคุณธรรม
(๑๐) ปรับปรุงหลักสูตรการศึกษา เพื่อให้เด็กและเยาวชนมีวินัยรักงาน และทำงานเป็น
(๑๑) ให้โอกาสแก่ผู้สำเร็จการศึกษาภาคบังคับหรือมัธยมปลายผู้ว่างงาน และผู้สูงอายุได้ฝึกงานอาชีพอย่างน้อย ๑ อาชีพ พร้อมทั้งส่งเสริมให้เป็นผู้ประกอบการอิสระได้
(๑๒) ปฏิรูปการอาชีวศึกษาให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น และพัฒนาถึงระดับปริญญาตรี เพื่อตอบสนองต่อภาคเกษตร อุตสาหกรรมและภาคบริการ รวมทั้งสนับสนุนให้ผู้เรียนได้เข้าฝึกทักษะในสถานประกอบการ
๑๑.๒ ด้านการศาสนา
(๑) ส่งเสริมและสนับสนุนศาสนศึกษาและศาสนทายาทเพื่อเผยแพร่ศาสนธรรม รวมทั้งสนับสนุนให้มีการพัฒนาศาสนสถานให้สะอาด ร่มเย็นสงบสุข เพื่อให้เป็นประโยชน์ด้านจิตใจต่อชุมชน
(๒) สนับสนุนให้เด็กและเยาวชนได้ศึกษาศาสนธรรม และร่วมประกอบพิธีกรรมทางศาสนามากขึ้น โดยเฉพาะกับสมาชิกในครอบครัว
(๓) เอื้อให้ศาสนิกชนต่างศาสนาร่วมกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ต่อส่วนรวม เพื่อความสมานฉันท์ และเพื่อสันติธรรมในสังคม
๑๑.๓ ด้านวัฒนธรรม
(๑) ส่งเสริมให้นักเรียน นักศึกษา ได้สืบค้นและศึกษาเรื่องราวของมรดกศิลปวัฒนธรรมไทยเพื่อการอนุรักษ์ เผยแพร่ และสืบสานศิลปวัฒนธรรมไทย
(๒) พัฒนาแหล่งวัฒนธรรม ศิลปวัตถุ และโบราณสถาน ให้เป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งรายได้ของประชาชน
(๓) ประสานให้ประชาชนและเยาวชนมีบทบาทและกิจกรรมด้านศิลปวัฒนธรรมร่วมกับสถานศึกษา ครอบครัว และชุมชน
(๔) สนับสนุนให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิดชูและเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทยอย่างสมศักดิ์ศรีและสร้างสรรค์
๑๒. นโยบายความมั่นคงแห่งรัฐ
การรักษาไว้ซึ่งความมั่นคงและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศนอกจากจะขึ้นอยู่กับการมีนโยบายเศรษฐกิจที่ถูกต้องแล้ว ยังต้องพึ่งพาหน่วยงานด้านความมั่นคงของประเทศเป็นกลไกสำคัญ ดังนี้
(๑) พัฒนาระบบการป้องกันประเทศให้มีขีดความสามารถในการป้องกันตนเอง และรักษาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยการเสริมสร้างความสมานฉันท์ของประชาชนเพื่อร่วมพัฒนาระบบการป้องกันประเทศตามแนวทางการรักษาความมั่นคงสมบูรณ์แบบ รวมทั้งสนับสนุนภารกิจในการรักษาสันติภาพในภูมิภาคภายใต้กรอบขององค์การสหประชาชาติ
(๒) พัฒนาความพร้อมของกองทัพ ตลอดจนปรับปรุงโครงสร้างและระบบการบริหารจัดการของกระทรวงกลาโหมและกองทัพ เพื่อให้กองทัพมีความพร้อมในการรักษาไว้ซึ่งอธิปไตยและผลประโยชน์ของประเทศ
(๓) สนับสนุนบทบาทของกองทัพในการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาความยากจนของประชาชน ให้การช่วยเหลือประชาชนที่ประสบสาธารณภัย และมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และป้องกันการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
(๔) สนับสนุนกองทัพในการให้ความร่วมมือกับส่วนราชการ องค์กรและประชาชน เพื่อการแก้ไขปัญหายาเสพติดให้บรรลุผลอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งให้การสนับสนุนการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด
(๕) สนับสนุนให้กองทัพมีส่วนร่วมกับภาครัฐในการดูแลสุขภาพอนามัยการศึกษา และการฝึกอาชีพเพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่กำลังพลและสมาชิกในครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งทหารผ่านศึกและครอบครัวทหารผ่านศึกซึ่งต้องพิการ ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิตในการปฏิบัติหน้าที่
๑๓. นโยบายด้านการต่างประเทศ
(๑) มุ่งดำเนินนโยบายการต่างประเทศโดยเน้นการทูตเชิงรุกด้านเศรษฐกิจ ประกอบกับการทูตในด้านต่าง ๆ เพื่อฟื้นฟูและสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รวมทั้งแสวงหาความร่วมมือระหว่างประเทศในทุกด้าน
(๒) ยึดหลักการดำเนินงานด้านความมั่นคง การพัฒนา และการสร้างสันติภาพระหว่างประเทศเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมภายใต้กรอบแห่งสหประชาชาติและองค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องซึ่งประเทศไทยเป็นสมาชิก
(๓) เพิ่มบทบาทเชิงรุกในสังคมระหว่างประเทศ โดยริเริ่มการขยายความร่วมมือและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในกลุ่มประเทศอาเซียนไปยังภูมิภาคเอเชียตะวันออก เอเชียใต้ และภูมิภาคอื่น ๆ ให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น รวมทั้งจะทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการประสานให้เกิดความร่วมมือเพื่อดำรงสันติภาพและระงับความขัดแย้งระหว่างประเทศในภูมิภาค
(๔) ส่งเสริม รักษา และคุ้มครองสิทธิและผลประโยชน์ของประเทศรวมทั้งของภาคเอกชนไทย แรงงานไทย และคนไทยในต่างประเทศ
(๕) ฟื้นฟูและกระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านและประเทศในภูมิภาคเอเชียอย่างเร่งด่วนด้วยการสานต่อหรือริเริ่มความสัมพันธ์และความร่วมมือเพื่อการพัฒนาในทุกด้านทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี เพื่อนำมาซึ่งความเข้าใจอันดีระหว่างกันในการแก้ไขปัญหาและการแสวงหาผลประโยชน์ร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ จริงใจ และโดยสันติวิธี
๑๔. นโยบายความปลอดภัยของประชาชน
(๑) ดูแลให้ประชาชนมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน โดยมุ่งเน้นมาตรการทั้งการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทุกประเภท พร้อมทั้งจัดระบบป้องกันสาธารณภัยและอุบัติภัยอย่างมีประสิทธิภาพ ทั่วถึงและทันท่วงที
(๒) สนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการป้องกันอาชญากรรมและสาธารณภัยในชุมชนและท้องถิ่นของตนเอง
๑๕. นโยบายการบริหารราชการแผ่นดิน
รัฐบาลมีนโยบายที่จะพัฒนาการเมืองของประเทศไปสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถปกครองตนเองและพิทักษ์สิทธิของตนได้เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งจะมุ่งเพิ่มประสิทธิภาพ สร้างความโปร่งใส และขจัดการทุจริตในการบริหารราชการแผ่นดินและการให้บริการประชาชน ทั้งนี้ เพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคม และเอื้อต่อการพัฒนาประเทศทั้งในปัจจุบันและอนาคต ดังนี้
๑๕.๑ ด้านการปฏิรูปการเมือง
(๑) เร่งรัดการตราและแก้ไขปรับปรุงกฎหมายให้เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเพื่อให้ประชาชนได้รับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง โดยกำหนดขั้นตอนระยะเวลา และหน่วยงานที่รับผิดชอบอย่างชัดเจน รวมทั้งจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากภาครัฐและประชาชนเกี่ยวกับการปฏิรูปการเมือง และการจัดทำแผนพัฒนาการเมือง
(๒) ส่งเสริมให้ใช้หลักสิทธิมนุษยชนในการบริหารราชการ และสนับสนุนให้มีการเรียนรู้ด้านสิทธิมนุษยชนและหน้าที่พลเมืองในสถานศึกษา
(๓) สนับสนุนการทำงานขององค์กรอิสระต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ เพื่อให้สามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส และถูกตรวจสอบได้
(๔) ส่งเสริมและสนับสนุนการรวมกลุ่มของประชาชนขึ้นเป็นองค์กรประชาชนในรูปแบบต่าง ๆ และส่งเสริมให้องค์กรประชาชนสามารถมีกิจกรรมทางการเมือง รวมทั้งมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นและประเมินผลในโครงการสำคัญที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ การตรวจสอบ การทำงานภาครัฐ และการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายสำคัญ
(๕) ส่งเสริมให้ประชาชนและองค์กรประชาชนของไทยมีความร่วมมืออันดีกับประชาชนและองค์กรประชาชนในประเทศต่าง ๆ เพื่อเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์เชิงสร้างสรรค์ระหว่างประเทศและระหว่างประชาชน
๑๕.๒ ด้านการบริหารราชการ
(๑) ปฏิรูประบบราชการให้มีประสิทธิภาพและมีโครงสร้างที่กระชับ เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน และสามารถตอบสนองต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ พร้อมทั้งเร่งตรากฎหมายเพื่อปรับโครงสร้างกระทรวง ทบวง กรม เพื่อให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงในกระแสโลก และสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม
(๒) ปรับปรุงบทบาทของภาครัฐจากผู้ปฏิบัติและควบคุมมาเป็นผู้สนับสนุนและอำนวยความสะดวก และให้การสนับสนุนการดำเนินงานของภาคเอกชนและประชาชน โดยส่งเสริมให้ภาคเอกชนและประชาชนสามารถมีส่วนร่วมอย่างสำคัญในการปฏิรูประบบราชการ เพื่อวางแนวทางดำเนินการให้ชัดเจนและต่อเนื่อง
(๓) ปรับกระบวนการบริหารราชการโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการข้อมูลข่าวสารอย่างกว้างขวาง รวดเร็วและเท่าเทียมกัน พร้อมกันนี้จะปรับปรุงพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของทางราชการให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง
(๔) เร่งพัฒนาคุณภาพของข้าราชการ ให้มีทัศนคติที่เอื้อต่องานบริการประชาชน รวมทั้งทบทวนกฎหมาย ระเบียบ ขั้นตอน และวิธีปฏิบัติงานเพื่อให้การบริหารราชการมีความยืดหยุ่นมีประสิทธิผล โปร่งใส ตรวจสอบได้ และมีการประเมินผลที่เป็นระบบและเป็นธรรม
(๕) เร่งรัดการปรับเปลี่ยนกระบวนจัดทำและจัดสรรงบประมาณให้เป็นเครื่องมือในการจัดสรรทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับนโยบายและยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศ และส่งเสริมให้กระทรวง ทบวง กรมมีบทบาทในการตัดสินใจมากขึ้น พร้อมทั้งจัดให้มีระบบควบคุมตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพและโปร่งใส
๑๕.๓ ด้านการกระจายอำนาจ
(๑) ให้ความสำคัญกับการจัดเก็บรายได้ของท้องถิ่น และการกระจายอำนาจทางการคลังลงสู่ท้องถิ่น เพื่อให้ท้องถิ่นสามารถจัดการบริหารงบประมาณของตนเองได้อย่างอิสระมากขึ้น โดยคำนึงถึงความจำเป็นและความเหมาะสมในการพัฒนาท้องถิ่น
(๒) ส่งเสริมการกระจายอำนาจการปกครองจากส่วนกลางลงสู่ท้องถิ่นให้มีความชัดเจนเหมาะสมตามขั้นตอนของการกระจายอำนาจ ในขณะเดียวกัน จะเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพของการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้สอดคล้องกับภารกิจของแต่ละท้องถิ่นรวมถึงการมีอิสระในการจัดการด้านงบประมาณของท้องถิ่น การแสวงหารายได้ และการจัดการทรัพย์สินของท้องถิ่น
(๓) ส่งเสริมให้ประชาชน ภาคประชาสังคม และองค์กรเอกชนมีส่วนร่วมในการปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งจัดให้มีการตรวจสอบ และประเมินผลการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น ตั้งแต่กระบวนการตัดสินใจ การกำหนดนโยบายการจัดซื้อจัดจ้าง และการแต่งตั้งถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งเพื่อความโปร่งใส มีประสิทธิภาพ และตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนในท้องถิ่น ตลอดจนเร่งส่งเสริมความเข้าใจในบทบาทและการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประสานให้การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นเกิดประสิทธิผล
๑๕.๔ ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
(๑) ดำเนินมาตรการลงโทษทั้งทางวินัย ทางปกครอง ทางแพ่งทางอาญาและทางภาษีอย่างเด็ดขาด รวดเร็ว และเป็นธรรมแก่ผู้ทุจริตหรือมีส่วนปกป้องผู้ทุจริต รวมทั้งจะผลักดันให้มีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายและพัฒนากระบวนการติดตามตรวจสอบ เพื่อให้สามารถลงโทษผู้ทุจริตอย่างเด็ดขาดและสามารถชดเชยความเสียหายแก่ภาครัฐหรือประชาชนที่ต้องได้รับความเสียหายจากการกระทำทุจริตที่เกิดขึ้น
(๒) รณรงค์อย่างจริงจังและปลูกฝังจิตสำนึกและค่านิยมของสังคมให้ประชาชนร่วมกันต่อต้านการทุจริตและการประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐและให้ความร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบทั้งในภาคราชการและภาคเอกชน รวมทั้งส่งเสริมขวัญและกำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริต
(๓) ส่งเสริมให้มีการรวมตัวเป็นองค์กรภาคประชาชนและส่งเสริมให้ประชาชนมีบทบาทและส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมทั้งการสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในรูปแบบต่าง ๆ
(๔) ปฏิรูปกระบวนการจัดและการใช้งบประมาณแผ่นดิน และระบบการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและมีประสิทธิภาพในการอนุมัติงบประมาณ โดยสนับสนุนให้ผู้ทรงคุณวุฒิและประชาชนสามารถมีส่วนร่วมเพิ่มมากขึ้นในการตรวจสอบและวิเคราะห์การเสนอของบประมาณและการใช้งบประมาณ
๑๕.๕ ด้านการพัฒนากระบวนการยุติธรรมและการปฏิรูปกฎหมาย
(๑) เร่งรัดการจัดโครงสร้างกระทรวงยุติธรรมให้มีบทบาทและหน้าที่ครอบคลุมกระบวนการยุติธรรมอย่างกว้างขวางและมีประสิทธิภาพ
(๒) ส่งเสริมและสนับสนุนการใช้มาตรการระงับข้อพิพาทนอกเหนือจากการระงับข้อพิพาทโดยศาล เพื่อให้เป็นเครื่องมือของประชาชน ผู้บริโภคผู้ด้อยโอกาส และผู้เสียเปรียบ ให้มีโอกาสเข้าถึงและได้ใช้ประโยชน์ในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของตนเองมากขึ้น
(๓) ปรับปรุงระบบและวิธีการปฏิบัติต่อผู้กระทำความผิดให้มีความหลากหลาย มีประสิทธิภาพในการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิด
(๔) ส่งเสริมให้ชุมชน ประชาชน และเครือข่ายองค์กรประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้นในกระบวนการยุติธรรม และการกำหนดนโยบายการบริหารงานยุติธรรม
(๕) เร่งดำเนินการปฏิรูปกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับต่าง ๆ ที่ล้าสมัย ให้เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในปัจจุบันและยืดหยุ่นต่อสถานการณ์ในอนาคต
(๖) สนับสนุนการศึกษาวิจัยทางด้านนิติศาสตร์และศาสตร์สาขาอื่นที่เกี่ยวข้องแก่ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปรับปรุงหรือการเสนอร่างกฎหมายที่มีความสำคัญและจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ
๑๖. นโยบายพัฒนาภูมิภาคและกรุงเทพมหานคร
๑๖.๑ ด้านการพัฒนาภูมิภาค
(๑) ให้มีการกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาภูมิภาคที่เหมาะสมและสอดคล้องกับคุณลักษณะเด่นทางด้านภูมิศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและศักยภาพการพัฒนาของประชาชนในแต่ละภูมิภาค
(๒) กระจายและเชื่อมโยงการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน ระบบขนส่งคมนาคมและสื่อสาร รวมทั้งการสร้างเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ให้เพียงพอ เป็นระบบและสอดคล้องกับการพัฒนาของแต่ละภูมิภาค
(๓) ส่งเสริมและสนับสนุนให้จังหวัดต่าง ๆ ที่มีความพร้อมเกิดการรวมกลุ่มและประสานกันเพื่อพัฒนาขึ้นเป็นกลุ่มจังหวัดหรือพื้นที่เฉพาะ
(๔) จัดระบบการวางผังเมืองให้สอดคล้องกับทิศทางของการพัฒนาและความต้องการของประชาชนในแต่ละท้องถิ่น รวมทั้งส่งเสริมการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการผังเมืองอย่างจริงจัง
๑๖.๒ ด้านการพัฒนากรุงเทพมหานคร
(๑) สนับสนุนการกำหนดรูปแบบและโครงสร้างใหม่ของเมืองหลวง โดยการวางแผนการใช้ประโยชน์ของพื้นที่ในกรุงเทพมหานครให้มีความชัดเจนรวมทั้งพัฒนาเครือข่ายเพื่อเชื่อมโยงการให้บริการสาธารณะอย่างเป็นระบบ
(๒) ส่งเสริมและสนับสนุนการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นของกรุงเทพมหานครให้มีความคล่องตัวและเป็นอิสระจากราชการส่วนกลางมากขึ้น ทั้งด้านงบประมาณ การกำหนดนโยบายและการบริหารจัดการ
(๓) เร่งรัดและสนับสนุนการสร้างงานสร้างรายได้ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในกรุงเทพมหานคร ด้วยการแก้ไขปัญหาชุมชนแออัดอย่างเป็นระบบ ทั้งด้านการจัดหาที่อยู่อาศัยและสร้างแหล่งงาน การจัดการศึกษา การสาธารณสุข การฟื้นฟูและรักษาสิ่งแวดล้อม การป้องกันและบรรเทาอาชญากรรมและสาธารณภัย รวมทั้งการป้องกันปราบปรามยาเสพติด
(๔) ส่งเสริมการจัดระบบขนส่งมวลชนให้เชื่อมโยงเป็นโครงข่ายอย่างมีประสิทธิภาพพัฒนาคุณภาพการให้บริการของระบบขนส่งมวลชน และประสานการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานให้สอดคล้องอย่างเป็นระบบกับทิศทางการพัฒนาเมืองและการผังเมือง
ท่านประธานรัฐสภาที่เคารพ
การกำหนดยุทธศาสตร์และนโยบายของคณะรัฐมนตรีตามที่กล่าวมาได้วางอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริงของประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และสถานการณ์ของโลกในปัจจุบัน และเพื่อให้รัฐบาลสามารถดำเนินนโยบายจนบรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดไว้ได้ รัฐบาลจะต้องปรับปรุงโครงสร้างหน่วยงานราชการ พัฒนาระบบการบริหารจัดการประเทศใหม่ และต้องเสนอร่างกฎหมายเพื่อให้การดำเนินนโยบายสำคัญเร่งด่วนสามารถบรรลุผลทางปฏิบัติและเกิดประโยชน์อย่างแท้จริง
ในการนี้ รัฐบาลขอระบุกฎหมายที่รัฐบาลเห็นว่าจำเป็นต่อการบริหารราชการแผ่นดินตามมาตรา ๑๗๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ในภาคผนวกแนบท้ายคำแถลงนโยบายนี้และขอชี้แจงในภาคผนวกดังกล่าวด้วยว่ารัฐบาลจะดำเนินการอย่างใดเพื่อบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐตามบทบัญญัติหมวด ๕ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยโดยถือว่า ภาคผนวกดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของคำแถลงนโยบายนี้
ขอขอบคุณภาคผนวก กร่างกฎหมายที่คณะรัฐมนตรีถือว่าจำเป็นต่อการบริหารราชการแผ่นดินตามมาตรา ๑๗๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
๑. ร่างกฎหมายว่าด้วยกองทุนหมู่บ้าน
๒. ร่างกฎหมายว่าด้วยการบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงินแห่งชาติ
๓. ร่างกฎหมายว่าด้วยบรรษัทรัฐวิสาหกิจแห่งชาติ
๔. ร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม
๕. ร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ
๖. ร่างกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมสุขภาพแห่งชาติ
๗. ร่างกฎหมายว่าด้วยการประกันสุขภาพแห่งชาติ
๘. ร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของทางราชการ
๙. ร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ
๑๐. ร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท
๑๑. ร่างกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการกระทรวงการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม
๑๒. ร่างกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา
๑๓. ร่างกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย
๑๔. ร่างกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา
ภาคผนวก ข
ตารางแสดงนโยบายของคณะรัฐมนตรีเพื่อบริหารราชการแผ่นดินตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ที่บัญญัติไว้ในหมวด ๕ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย นโยบายของคณะรัฐมนตรีมาตรา ๗๒ รัฐต้องจัดให้มีกำลังทหารไว้เพื่อพิทักษ์รักษาเอกราช ความมั่นคงของรัฐ สถาบันพระมหากษัตริย์ ผลประโยชน์แห่งชาติ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเพื่อการพัฒนาประเทศ ข้อ ๑๒ มาตรา ๗๓ รัฐต้องให้ความอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น ส่งเสริมความเข้าใจอันดีและความสมานฉันท์ระหว่างศาสนิกชนของทุกศาสนา รวมทั้งสนับสนุนการนำหลักธรรมของศาสนามาใช้เพื่อเสริมสร้างคุณธรรมและพัฒนาคุณภาพชีวิต ข้อ ๑๑.๒ มาตรา ๗๔ รัฐต้องส่งเสริมสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศ และพึงถือหลักในการปฏิบัติต่อกันอย่างเสมอภาค ข้อ ๑๓ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย นโยบายของคณะรัฐมนตรีมาตรา ๗๕ รัฐต้องดูแลให้มีการปฏิบัติตามกฎหมาย คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคล จัดระบบงานของกระบวนการยุติธรรมให้มีประสิทธิภาพและอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนอย่างรวดเร็วและเท่าเทียมกันรวมทั้งจัดระบบงานราชการและงานของรัฐอย่างอื่นให้มีประสิทธิภาพเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน รัฐต้องจัดสรรงบประมาณให้พอเพียงกับ.การบริหารงานโดยอิสระของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติและคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ข้อ ๑๔ ข้อ ๑๕.๒ ข้อ ๑๕.๕ มาตรา ๗๖ รัฐต้องส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดนโยบาย การตัดสินใจทางการเมือง การวางแผนพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง รวมทั้งการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐทุกระดับข้อ ๑๕.๑ มาตรา ๗๗ รัฐต้องจัดให้มีแผนพัฒนาการเมืองจัดทำมาตรฐานทางคุณธรรมและจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการและพนักงานหรือ ลูกจ้างอื่นของรัฐ เพื่อป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบ และเสริมสร้างประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ ข้อ ๑๕.๑ ข้อ ๑๕.๔
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนโยบายของคณะรัฐมนตรีมาตรา ๗๘ รัฐต้องกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นพึ่งตนเองและตัดสินใจในกิจการท้องถิ่นได้เอง พัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นและระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการตลอดทั้งโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศในท้องถิ่นให้ทั่วถึงและเท่าเทียมกันทั่วประเทศรวมทั้งพัฒนาจังหวัดที่มีความพร้อมให้เป็นองค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ โดยคำนึงถึงเจตนารมณ์ของประชาชนในจังหวัดนั้น ข้อ ๑๕.๓ ข้อ ๑๖.๑ มาตรา ๗๙ รัฐต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการสงวนบำรุงรักษาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุล รวมทั้งมีส่วนรวมในการส่งเสริมบำรุงรักษา และคุ้มครองคุณภาพสิ่งแวดล้อมตามหลักการการพัฒนาที่ยั่งยืน ตลอดจนควบคุมและกำจัดภาวะมลพิษที่มีผลต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ และคุณภาพชีวิตของประชาชนข้อ ๘ มาตรา ๘๐ รัฐต้องคุ้มครองและพัฒนาเด็กและเยาวชน ส่งเสริมความเสมอภาคของหญิงและชาย เสริมสร้างและพัฒนาความเป็นปึกแผ่นของครอบครัว และความเข้มแข็งของชุมชน รัฐต้องสงเคราะห์คนชรา ผู้ยากไร้ ผู้พิการหรือทุพพลภาพและผู้ด้อยโอกาสให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและพึ่งตนเองได้ ข้อ ๑ (๗) ข้อ ๑๐.๔ ข้อ ๑๐.๕ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย นโยบายของคณะรัฐมนตรีมาตรา ๘๑ รัฐต้องจัดการศึกษาอบรมและสนับสนุนให้เอกชนจัดการศึกษาอบรมให้เกิดความรู้คู่คุณธรรม จัดให้มีกฎหมายเกี่ยวกับการศึกษาแห่งชาติ ปรับปรุงการศึกษาให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม สร้างเสริมความรู้และปลูกฝังจิตสำนึกที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข สนับสนุนการค้นคว้าวิจัยในศิลปวิทยาการต่าง ๆ เร่งรัดพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาประเทศ พัฒนาวิชาชีพครู และส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะและวัฒนธรรมของชาติข้อ ๗ ข้อ ๑๑.๑ ข้อ ๑๑.๓ มาตรา ๘๒ รัฐต้องจัดและส่งเสริมการสาธารณสุขให้ประชาชนได้รับบริการที่ได้มาตรฐานและมีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง ข้อ ๑ (๗) ข้อ ๑๐.๑ มาตรา ๘๓ รัฐต้องดำเนินการให้มีการกระจายรายได้อย่างเป็นธรรม ข้อ ๑ (๒), (๓)ข้อ ๓.๑ มาตรา ๘๔ รัฐต้องจัดระบบการถือครองที่ดินและการใช้ที่ดินอย่างเหมาะสมจัดหาแหล่งน้ำเพื่อเกษตรกรรมให้เกษตรกรอย่างทั่วถึง และรักษาผลประโยชน์ของเกษตรกรในการผลิตและการตลาดสินค้าเกษตรให้ได้รับผลตอบแทนสูงสุด รวมทั้งส่งเสริมการรวมตัวของเกษตรกรเพื่อวางแผนการเกษตรและรักษาผลประโยชน์ร่วมกันของเกษตรกรข้อ ๓.๑ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนโยบายของคณะรัฐมนตรีมาตรา ๘๕ รัฐต้องส่งเสริม สนับสนุน และคุ้มครองระบบสหกรณ์ ข้อ ๓.๑ ส่วนที่ ๒ มาตรา ๘๖ รัฐต้องส่งเสริมให้ประชากรวัยทำงานมีงานทำ คุ้มครองแรงงานโดยเฉพาะแรงงานเด็กและแรงงานหญิง จัดระบบแรงงานสัมพันธ์การประกันสังคม รวมทั้งค่าตอบแทนแรงงานให้เป็นธรรม ข้อ ๖ มาตรา ๘๗ รัฐต้องสนับสนุนระบบเศรษฐกิจแบบเสรีโดยอาศัยกลไกตลาดกำกับ ดูแลให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม คุ้มครองผู้บริโภค และป้องกันการผูกขาด ตัดตอนทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมทั้งยกเลิกและละเว้นการตรากฎหมายและกฎเกณฑ์ที่ควบคุมธุรกิจที่ไม่สอดคล้องกับความจำเป็นทางเศรษฐกิจและต้องไม่ประกอบกิจการแข่งขันกับเอกชน เว้นแต่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐ รักษาผลประโยชน์ส่วนรวม หรือการจัดให้มีการสาธารณูปโภค ข้อ ๔.๑ ข้อ ๔.๓
เมื่อนายกรัฐมนตรีได้แถลงนโยบายจบแล้ว ประธานรัฐสภาได้ปรึกษาที่ประชุมว่าจะกำหนดเวลาให้สมาชิกรัฐสภาอภิปรายคนละ ๑๕ นาที ยกเว้นหัวหน้าพรรคการเมืองให้อภิปรายได้โดยไม่กำหนดเวลา ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบ
จากนั้น ประธานรัฐสภาได้อนุญาตให้สมาชิกฯ อภิปรายซักถาม โดยมี ประธานรัฐสภาและรองประธานรัฐสภาได้ผลัดเปลี่ยนกันดำเนินการประชุม นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายจาตุรนต์ ฉายแสง) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (นายวราเทพ รัตนากร)รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม (นางลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์)ตอบข้อซักถามของสมาชิกรัฐสภาจนได้เวลาพอสมควรแล้ว ประธานรัฐสภาได้สั่งเลื่อนการพิจารณาไปในคราวประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ ๒ (สมัยสามัญทั่วไป)วันอังคารที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔ เวลา ๐๙.๓๐ นาฬิกา
เลิกประชุมเวลา ๒๑.๓๐ นาฬิกา
(นางศิริลักษณ์ ปั้นบำรุงกิจ)
เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
ฝ่ายรายงานการประชุมกองการประชุมโทร. ๒๔๔๑๑๑๕-๖โทรสาร ๒๔๔๑๑๑๕-๖