รายงานดัชนีราคาสินค้าส่งออก ประจำเดือน ส.ค.48

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 1, 2005 12:13 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีราคาสินค้าส่งออก เดือนสิงหาคม 2548 
กระทรวงพาณิชย์ ขอรายงานความเคลื่อนไหว ดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนสิงหาคม 2548 โดยสรุป
การประมวลผลดัชนีราคาส่งออกในปี 2548 ใช้มูลค่าส่งออกปี 2547 จากกรมศุลกากร เป็นตัวถ่วงน้ำหนัก สินค้าที่ใช้คำนวณจำนวน 793 รายการ ครอบคลุม 4 หมวดใหญ่ คือ หมวดสินค้าเกษตรกรรม หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร หมวดสินค้าอุตสาหกรรม และหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ตามโครงสร้างเป้าหมายสินค้าส่งออกของกระทรวงพาณิชย์
1. ดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนสิงหาคม 2548 (รูปเงินเหรียญสหรัฐฯ)
ปี 2543 ดัชนีราคาส่งออกของประเทศ เท่ากับ 100 และเดือนสิงหาคม 2548 เท่ากับ 113.3 สำหรับเดือนกรกฎาคม 2548 เท่ากับ 113.1
2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนสิงหาคม 2548 เทียบกับ
2.1 เดือนกรกฎาคม 2548 สูงขึ้นร้อยละ 0.2
2.2 เดือนสิงหาคม 2547 สูงขึ้นร้อยละ 8.6
2.3 เฉลี่ยเดือนมกราคม - สิงหาคม 2548 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2547 สูงขึ้นร้อยละ 7.6
3. ดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนสิงหาคม 2548 เทียบกับเดือนกรกฎาคม 2548
ดัชนีราคาส่งออกสูงขึ้นร้อยละ 0.2 จากการสูงขึ้นของดัชนีราคาหมวดสินค้าอุตสาหกรรม ร้อยละ 0.1 และหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ร้อยละ 2.7 แต่หมวดสินค้าเกษตรกรรม ลดลง ร้อยละ 0.1 สำหรับหมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรดัชนีไม่เปลี่ยนแปลง โดยมีการเคลื่อนไหวของราคาสินค้าที่สำคัญ ดังนี้
3.1 หมวดสินค้าเกษตรกรรม ดัชนีราคาส่งออกลดลง ร้อยละ 0.1
สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง ได้แก่
- ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง จากการลดลงของแป้งมัน เนื่องจากการระบายสต๊อกของผู้ส่งออก ประกอบกับแป้งมันของอินโดนีเซียมีราคาถูกกว่า
- ยางพารา ยางแผ่นรมควัน ผู้ซื้อต่างประเทศชะลอคำสั่งซื้อ เนื่องจากค่าขนส่งเพิ่มขึ้น
สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่
- ข้าว ราคาสูงขึ้นผลจากการรับจำนำข้าวของรัฐบาล ประกอบกับเป็นช่วงที่ตลาดมีความต้องการสูง โดยเฉพาะตลาดอิรักและอิหร่าน
- กุ้ง กุ้งขาวราคาสูงขึ้น เพราะสหภาพยุโรปได้อนุมัติคืนสิทธิพิเศษจีเอสพีให้ไทยตั้งแต่ 1 สิงหาคมนี้ ประกอบกับลูกค้าสำคัญของไทย ได้แก่ สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น มีความต้องการกุ้งเพิ่มมากขึ้น เพื่อสำรองไว้จำหน่ายในช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่
3.2 หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ดัชนีราคาส่งออกไม่เปลี่ยนแปลง
สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่
- อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป จากการสูงขึ้นของราคาวัตถุดิบหลักในการผลิต ได้แก่ ปลาทูน่า ปลาซาร์ดีน ปลาหมึก และ กุ้ง ที่มีคุณภาพดีเป็นที่ต้องการของตลาด
- น้ำตาลทราย สูงขึ้นตามราคาตลาดโลก เนื่องจากผลผลิตของโลกและไทยลดลง
สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง ได้แก่
- สับปะรดกระป๋อง และน้ำสับปะรด จากการลดลงของราคาวัตถุดิบ คือ สับปะรด
3.3 หมวดสินค้าอุตสาหกรรม ดัชนีราคาส่งออกสูงขึ้น ร้อยละ 0.1
สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่
- ผลิตภัณฑ์ยาง ได้แก่ ถุงมือยาง เนื่องจากวัตถุดิบราคาสูงขึ้น
- ผลิตภัณฑ์พลาสติก จากการสูงขึ้นของราคาเม็ดพลาสติก ประกอบกับตลาดส่งออกสำคัญของไทยในภูมิภาคเอเชียขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
- เครื่องใช้ไฟฟ้า เนื่องจากเหล็กเป็นวัตถุดิบในการผลิตส่วนประกอบปรับราคาสูงขึ้น
- รองเท้าและชิ้นส่วน จากการสูงขึ้นของราคาวัตถุดิบ (หนัง) และค่าขนส่งสูงขึ้น
สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง ได้แก่
- เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ภาวะราคาเหล็กอ่อนตัวลง ตามราคาตลาดโลก
3.4 หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ดัชนีราคาส่งออกสูงขึ้น ร้อยละ 2.7
สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่
- น้ำมันดิบ สูงขึ้นตามภาวะตลาดโลก
ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์ โทร.0-2507-5802 โทรสาร.0-2507-5825

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ