มหาอำนาจกับการเจรจารอบใหม่ -------------------------------------------------------------------------------- มหาอำนาจทางเศรษฐกิจสี่ประเทศหรือที่เรียกว่ากลุ่ม QUAD (กลุ่มสี่) คือสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และแคนาดาได้ตกลงให้การประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลกครั้งที่สาม ที่จะมีขึ้นที่นครซีแอตเติล สหรัฐอเมริกา ในเดือนพฤศจิกายน ศกนี้ เป็นการประกาศเปิดการเจรจารอบใหม่ "Millennium Round" และให้การเจรจาดังกล่าวเป็นการเจรจาในกรอบกว้าง (broad-based) ครอบคลุมเรื่องอื่นๆ นอกเหนือ จากเรื่องที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการต่อจากรอบอุรุกวัย โดยกำหนดให้เจรจาสิ้นเสร็จภายใน 3 ปี อย่างไรก็ตาม ทั้งสี่ประเทศยังไม่สามารถตกลงกันได้ว่ารูปแบบของการเจรจาควรจะเป็นอย่างไร ควรจะยึด หลักการ "single undertaking" (โดยเริ่มเจรจาทุกเรื่องพร้อมกันและจบพร้อมกันเพื่อให้ผลการเจรจา มีความสมดุล) ตามที่สหภาพยุโรปและญี่ปุ่นต้องการ หรือจะแยกการเจรจาออกเป็น sectoral approach (รายสาขาตามความต้องการของสหรัฐฯ) หรือแยกเป็นกลุ่มย่อย (ตามความต้องการของแคนาดา) กลุ่ม QUAD ได้จัดประชุมรัฐมนตรีการค้าขึ้นที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 10 - 11 พฤษภาคม 2542 เพื่อเตรียมการสำหรับการเจรจาการค้าหลายฝ่ายรอบใหม่ภายใต้ WTO เช่นการเจรจาการค้า รอบใหม่ควรประกอบด้วยเรื่องใดบ้าง และกลุ่ม QUAD จะมีท่าทีอย่างไร นอกจากนั้นก็ได้พิจารณากำหนด ท่าทีในการแก้ไขปัญหาที่สำคัญอื่นๆ ด้วย เช่น การคัดเลือกผู้อำนวยการใหญ่คนใหม่ของ WTO และ การรับจีนเข้าเป็นสมาชิก WTO ความตกลงรอบอุรุกวัยกำหนดให้มีการประชุมเจรจาต่อเนื่องจากการ เจรจารอบอุรุกวัย (2529 - 2536) 3 ประเด็นใหม่ๆ คือ (1) ให้มีการเจรจารอบใหม่การค้าเกษตร 1 ปีก่อนความตกลงหมดอายุลง (เริ่มใช้ความตกลง มกราคม 1995) (2) เจรจาเปิดเสรีการค้าบริการ เพื่อเปิดเสรีให้มากยิ่งขึ้นหลังจากที่ดำเนินการตามความตกลงไปแล้ว5 ปี (เริ่ม 1 มกราคม ค.ศ. 2000) (3) ทำการทบทวนความตกลงที่ตกลงกันไว้ในรอบอุรุกวัยหลังจากที่นำไปปฏิบัติแล้ว 4 - 5 ปี เช่น ความตกลงเรื่องสุขอนามัยมนุษย์ สัตว์ และพืช ความตกลงว่าด้วยอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า ความตกลง ว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา ความตกลงว่าด้วยมาตรการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการค้า ความตกลงว่าด้วยการอุดหนุน ความตกลงว่าด้วยสิ่งทอและเสื้อผ้า และความเข้าใจว่าด้วยการระงับข้อ พิพาท เป็นต้น ดังนั้น ในระหว่างที่ WTO กำลังเตรียมการประชุมระดับรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก ครั้งที่สาม ซึ่งจะจัดขึ้น ณ นครซีแอตเติล ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน - 3 ธันวาคม 2542 ประเทศพัฒนาแล้วจึงมีท่าที ที่จะให้ที่ประชุมระดับรัฐมนตรีที่ซีแอตเติลประกาศเปิดการ เจรจารอบใหม่โดยนำเรื่องอื่นๆ (เช่นการลงทุน นโยบายการแข่งขัน การอำนวยความสะดวกทางการค้า ความโปร่งใสในการจัดซื้อโดยรัฐ และสิ่งแวดล้อม) เข้ามาเจรจารวมกับเรื่องการค้าเกษตรและบริการด้วย อย่างไรก็ตาม สมาชิก WTO ยังมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องรูปแบบและสาระของการเจรจาเช่น ประเทศ กำลังพัฒนาส่วนใหญ่ต้องการจำกัดขอบเขตของการเจรจาให้ครอบคลุมเฉพาะการปฏิบัติตามพันธกรณีใน ความตกลงรอบ-อุรุกวัย (Implementation) และเรื่องที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการต่อจากรอบอุรุกวัย (Built-in Agenda) เท่านั้น ส่วนประเทศพัฒนาแล้วต้องการให้มีการเจรจาเรื่องอื่นๆ เพิ่มเติมเช่น การเจรจาลดภาษีสินค้าอุตสาหกรรม การพาณิชย์อีเล็กทรอนิกส์ สิ่งแวดล้อม การลงทุน นโยบายการแข่งขัน ความโปร่งใสในการจัดซื้อโดยรัฐ มาตรฐานแรงงาน เป็นต้น ขณะนี้ กลุ่ม QUAD ได้ประกาศชัดเจนแล้วว่า ต้องการให้การเจรจารอบใหม่มีการเจรจาลดภาษีสินค้า อุตสาหกรรม ลดอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี และจะขอความสนับสนุนจากสมาชิก WTO ทั้งหมดในการจัดทำกฎเกณฑ์เรื่องการลงทุนระหว่างประเทศ (Foreign Direct Investment) ด้วย ที่ผ่านมา มหาอำนาจมักมีอิทธิพลชี้นำและกำหนดทิศทางการค้าและ การเปิดเสรีทางการค้าของโลกในทุก เรื่อง นอกจากการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ดังนั้น ท่าทีของกลุ่ม QUAD ย่อมส่งสัญญาณให้เห็นว่า จะมีความพยายาม ผลักดันให้มีการเปิดการเจรจาการค้ารอบใหม่ในปี ค.ศ. 2000 อย่างแน่นอน ส่วนการเจรจาจะมีขึ้นหรือไม่ในรูปแบบใด และจะมีเรื่องใดรวมอยู่ในการเจรจา บ้างนั้น ก็คงจะต้องมีการเจรจาอย่างเข้มข้นต่อไป เนื่องจากยังคงมีความเห็นหลากหลายในหมู่สมาชิก ประเทศขององค์การการค้าโลกในขณะนี้ แต่ในช่วงมีนาคม - กรกฎาคม 2542 จะเป็นช่วงการเสนอข้อ เสนอแนะเกี่ยวกับเนื้อหาสาระของการเจรจา เพื่อให้ที่ประชุมระดับรัฐมนตรีครั้งที่ 3 พิจารณาในปลายปีนี้ ซึ่งก็เท่ากับเป็นการเตรียมกำหนด วัตถุประสงค์ เป้าหมาย ขอบเขต รูปแบบ โครงสร้าง และระยะเวลา การเจรจานั้นเอง ภาวะชะงักงันของการเลือกสรรผู้อำนวยการใหญ่คนใหม่ ทำให้การเตรียมการล่าช้า ไปด้วย การแบ่งฝ่าย สนับสนุนระหว่างนาย Moore กับ ดร. ศุภชัย ตลอดจนบทบาทของการหาเสียงอย่าง แข็งขันให้นาย Moore โดยฝ่ายสหรัฐฯ ได้สร้างความฉงนฉงายในความคิดของสมาชิกจำนวนมาก และมีผล ต่อทัศนคติของสมาชิกจำนวนมาก อันจะมีผลกระทบต่อ "ผลการประชุม" ไม่มากก็น้อย หรืออาจจะทำให้ การประชุมล้มเหลวได้ แต่ไม่ว่าผลการเลือกสรรตำแหน่งผู้อำนวยการใหญ่หรือผลการประชุมระดับ รัฐมนตรีจะออกมาในรูปแบบ ใด สิ่งที่ประเทศไทยจะต้องตระหนักก็คือ โลกเศรษฐกิจและเศรษฐกิจโลก ในศตวรรษหน้านั้น เป็นโลกของการแข่งขันที่จะอาศัยบุญเก่าและกระแสโชคมาช่วยปัดเป่าไม่ได้ ประเทศ ที่สามารถมีระดับวิทยาการ ความรู้ ความสามารถ และประสิทธิภาพการผลิต การตลาดที่สามารถเอาชนะ คู่แข่งได้เท่านั้น จึงจะยืนยงอยู่ได้ ความล้มเหลวของไทยในช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมา และแนวโน้มในอนาคต คงจะให้บทเรียนแก่ไทยได้ว่าควร จะทำตัวอย่างไรต่อไปในอนาคต ติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมผ่าน E-mail mailto:thai(WTO)@lprolink.ch หรือ http://www.dbe.moc.go.th/MOCOff/Oversea/OverSeaPart.html More Information Contact to The Permanent Mission of Thailand to the World Trade Organization (WTO)
--กรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ กุมภาพันธ์ 2543--
-ปส-
--กรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ กุมภาพันธ์ 2543--
-ปส-