องค์การการค้าโลกกำหนดการประชุมระดับรัฐมนตรีองค์การการค้าโลกครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 9-13 พฤศจิกายน 2544 ณ กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ ขณะนี้เหลือเวลาอีก 16 สัปดาห์ หรือ 112 วัน
เพื่อให้การเตรียมการประชุมดังกล่าวเป็นไปอย่างราบรื่นและไม่ให้มีปัญหาหรือข้อขัดแย้งดังเช่นที่เกิดขึ้นในการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลกครั้งที่ 3 ที่ซีแอตเติล เมื่อปลายปี 2542 คณะมนตรีทั่วไปซึ่งเป็นหน่วยงานสูงสุดของ WTO ที่ทำหน้าที่ในการบริหารและกำหนดนโยบายของ WTO ในช่วงที่ไม่มีการประชุมระดับรัฐมนตรี ได้จัดประชุมเตรียมการการประชุมระดับรัฐมนตรีองค์การการค้าโลกครั้งที่ 4 อย่าง ต่อเนื่อง เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2544 คณะมนตรีทั่วไปได้หารือเกี่ยวกับประเด็นใดที่อาจจะบรรจุไว้ในวาระการประชุมระดับรัฐมนตรีองค์การการค้าโลกครั้งที่ 4 ได้ โดยแบ่งประเด็นออกเป็น 6 หัวข้อด้วยกัน ประกอบด้วย (1) ถ้อยแถลงของรัฐมนตรีเกี่ยวกับประเด็นต่างๆที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์โลกในปัจจุบัน (2) ประเด็นปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามพันธกรณีความตกลงรอบอุรุกวัย (3) เรื่องที่อยู่ระหว่างการเจรจาในขณะนี้ ได้แก่ เกษตร และบริการ รวมทั้งเรื่องต่างๆที่กำหนดอยู่แล้วในข้อตกลงให้มีการทบทวน (4) เรื่องใหม่ๆ ได้แก่ การลงทุน นโยบายการแข่งขัน สิ่งแวดล้อม เป็นต้น รวมถึงเรื่องอื่นๆที่ประเทศสมาชิกเห็นควรให้มีการเจรจา (5) การจัดทำแผนการดำเนินงาน สำหรับช่วงหลังการประชุมระดับรัฐมนตรีองค์การ การค้าโลกครั้งที่ 4 (6) ความร่วมมือทางวิชาการและการเสริมสร้างศักยภาพ และเห็นพ้องว่าสมาชิกควรประเมินความคืบหน้าของการเตรียมการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลกครั้งที่ 4 ว่าควรมีเรื่องอะไรบ้าง ที่จะพิจารณา ใน MC 4 รวมทั้งจะสามารถเปิดการเจรจารอบใหม่ได้หรือไม่
แม้ว่าคณะมนตรีทั่วไปได้มีการประชุมหารือเรื่องนี้หลายครั้งที่นครเจนีวา แต่สมาชิกยังมีท่าทีที่แตกต่างกันมากโดยเฉพาะเกี่ยวกับเรื่องที่จะบรรจุไว้ในวาระการประชุมฯ และเรื่องที่จะเสนอให้มีการเจรจาในรอบใหม่
คณะมนตรีทั่วไปจึงได้จัดประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสระดับสูงสุดจากเมืองหลวงเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2544 ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อหาทางประนีประนอมท่าทีของประเทศสมาชิก รวมทั้งโน้มน้าวให้เมืองหลวงทบทวนท่าทีให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อช่วยให้การเตรียมการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลกครั้งที่ 4 มีความคืบหน้ามากที่สุด และสามารถหาข้อยุติเกี่ยวกับวาระการประชุมได้ทันตามกำหนดเวลาในสิ้นเดือนกรกฎาคม ศกนี้ แต่สมาชิกก็ยังคงมีท่าทีที่แตกต่างกันมาก กล่าวคือ ประเทศสมาชิกส่วนใหญ่ อาทิ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น ไทย ฮ่องกง สิงคโปร์ ให้การสนับสนุนการเปิดการเจรจารอบใหม่ที่กาตาร์ แต่ยังมีความเห็นที่แตกต่างกันในเรื่องเป้าหมายในการเจรจาในแต่ละเรื่อง รวมทั้งเรื่องอะไรบ้างที่จะอยู่ในการเจรจารอบใหม่ ซึ่งอาจจัดได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ (1) กลุ่มประเทศที่ต้องการการเจรจารอบใหม่ในกรอบกว้างครอบคลุมทุกเรื่อง รวมทั้งเรื่องใหม่ๆ เช่น นโยบายการแข่งขัน การลงทุน สิ่งแวดล้อม เป็นต้น กลุ่มนี้นำโดยสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลี นอร์เวย์ (2) กลุ่มที่สนับสนุนการเจรจาที่จำกัดเพียงไม่กี่เรื่อง เช่น เรื่องการเปิดตลาด เกษตร บริการ ซึ่งนำโดยสหรัฐฯ กลุ่มเคร์นส์ รวมทั้งไทย และ (3) กลุ่มที่ต้องการผูกโยงการเปิดการเจรจารอบใหม่กับเงื่อนไขที่ว่าต้องมีความคืบหน้าและแก้ไขปัญหาการปฏิบัติตามพันธกรณีความตกลงรอบอุรุกวัยอย่างจริงจัง นำโดยกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่เรียกตัวเองว่า Like-Minded Group เช่น อินเดีย ปากีสถาน มาเลเซีย และอียิปต์
สำหรับความคืบหน้าในรอบ 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีประเด็นสำคัญที่มีความเคลื่อนไหวที่ WTO ดังนี้
1. เรื่องสำคัญที่ประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ต้องการให้ปรากฏในปฏิญญารัฐมนตรีองค์การการค้าโลกครั้งที่ 4 คือ เรื่องการแก้ไขปัญหายาที่จำเป็นแต่ราคาแพง โดยกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาเห็นว่าความตกลงว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า (TRIPS) ในเรื่องสิทธิบัตรยาอาจเป็นสาเหตุทำให้ยามีราคาแพงในขณะนี้ ทั้งนี้ประเทศกำลังพัฒนาจะร่วมกันเตรียมการในด้านสาระที่ต้องการเสนอที่ประชุมรัฐมนตรี WTO พิจารณามีข้อตัดสินใจ และกำหนดแนวทางการผลักดันเรื่องนี้ควบคู่ไปกับการหารือในกรอบของคณะมนตรี TRIPS ด้วย
2. สำหรับในเรื่องปัญหาการปฏิบัติตามพันธกรณีความตกลงรอบอุรุกวัยซึ่งเป็นเรื่องที่ประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมากให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกนั้น แม้ว่าจะมีความพยายามของบางกลุ่มประเทศสมาชิกที่มีท่าทีเป็นกลางในเรื่องนี้ซึ่งเรียกตัวเองว่า กลุ่ม 7 (ประกอบด้วย อุรุกวัย อาร์เจนติน่า ไทย โมร็อกโก นอร์เวย์ นิวซีแลนด์ และสวิตเซอร์แลนด์) จัดทำข้อเสนอประนีประนอมในเรื่องนี้ ซึ่งประเทศสมาชิกส่วนใหญ่เห็นว่าน่าจะสามารถใช้เป็นพื้นฐานในการเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ได้ อย่างไรก็ดี ในภาพรวมการเจรจาแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ยังมีความคืบหน้าไม่มากนัก
3. คณะผู้แทนถาวรสวิตเซอร์แลนด์ประจำ WTO จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม retreat เจ้าหน้าที่อาวุโสระดับสูงจากเมืองหลวงในวันที่ 21-22 กรกฎาคม 2544 ที่นครเจนีวา โดยได้เชิญประเทศสมาชิกที่มีบทบาทสำคัญใน WTO จากภูมิภาคต่างๆ รวม 13 ประเทศ (แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ นอร์เวย์ ชิลี มอรีเซียส โมร็อกโก เกาหลี ฮ่องกง ไทย สิงคโปร์ อุรุกวัย และฮังการี) หารือและแลกเปลี่ยนความเห็นในเรื่องต่างๆที่จะเสนอให้ที่ประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลกครั้งที่ 4 พิจารณา
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ กระทรวงพาณิชย์ โทร. 281-9723, 282-6171-9 : 1176-7 โทรสาร. 82-6623--จบ--
-สส-
เพื่อให้การเตรียมการประชุมดังกล่าวเป็นไปอย่างราบรื่นและไม่ให้มีปัญหาหรือข้อขัดแย้งดังเช่นที่เกิดขึ้นในการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลกครั้งที่ 3 ที่ซีแอตเติล เมื่อปลายปี 2542 คณะมนตรีทั่วไปซึ่งเป็นหน่วยงานสูงสุดของ WTO ที่ทำหน้าที่ในการบริหารและกำหนดนโยบายของ WTO ในช่วงที่ไม่มีการประชุมระดับรัฐมนตรี ได้จัดประชุมเตรียมการการประชุมระดับรัฐมนตรีองค์การการค้าโลกครั้งที่ 4 อย่าง ต่อเนื่อง เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2544 คณะมนตรีทั่วไปได้หารือเกี่ยวกับประเด็นใดที่อาจจะบรรจุไว้ในวาระการประชุมระดับรัฐมนตรีองค์การการค้าโลกครั้งที่ 4 ได้ โดยแบ่งประเด็นออกเป็น 6 หัวข้อด้วยกัน ประกอบด้วย (1) ถ้อยแถลงของรัฐมนตรีเกี่ยวกับประเด็นต่างๆที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์โลกในปัจจุบัน (2) ประเด็นปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามพันธกรณีความตกลงรอบอุรุกวัย (3) เรื่องที่อยู่ระหว่างการเจรจาในขณะนี้ ได้แก่ เกษตร และบริการ รวมทั้งเรื่องต่างๆที่กำหนดอยู่แล้วในข้อตกลงให้มีการทบทวน (4) เรื่องใหม่ๆ ได้แก่ การลงทุน นโยบายการแข่งขัน สิ่งแวดล้อม เป็นต้น รวมถึงเรื่องอื่นๆที่ประเทศสมาชิกเห็นควรให้มีการเจรจา (5) การจัดทำแผนการดำเนินงาน สำหรับช่วงหลังการประชุมระดับรัฐมนตรีองค์การ การค้าโลกครั้งที่ 4 (6) ความร่วมมือทางวิชาการและการเสริมสร้างศักยภาพ และเห็นพ้องว่าสมาชิกควรประเมินความคืบหน้าของการเตรียมการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลกครั้งที่ 4 ว่าควรมีเรื่องอะไรบ้าง ที่จะพิจารณา ใน MC 4 รวมทั้งจะสามารถเปิดการเจรจารอบใหม่ได้หรือไม่
แม้ว่าคณะมนตรีทั่วไปได้มีการประชุมหารือเรื่องนี้หลายครั้งที่นครเจนีวา แต่สมาชิกยังมีท่าทีที่แตกต่างกันมากโดยเฉพาะเกี่ยวกับเรื่องที่จะบรรจุไว้ในวาระการประชุมฯ และเรื่องที่จะเสนอให้มีการเจรจาในรอบใหม่
คณะมนตรีทั่วไปจึงได้จัดประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสระดับสูงสุดจากเมืองหลวงเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2544 ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อหาทางประนีประนอมท่าทีของประเทศสมาชิก รวมทั้งโน้มน้าวให้เมืองหลวงทบทวนท่าทีให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อช่วยให้การเตรียมการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลกครั้งที่ 4 มีความคืบหน้ามากที่สุด และสามารถหาข้อยุติเกี่ยวกับวาระการประชุมได้ทันตามกำหนดเวลาในสิ้นเดือนกรกฎาคม ศกนี้ แต่สมาชิกก็ยังคงมีท่าทีที่แตกต่างกันมาก กล่าวคือ ประเทศสมาชิกส่วนใหญ่ อาทิ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น ไทย ฮ่องกง สิงคโปร์ ให้การสนับสนุนการเปิดการเจรจารอบใหม่ที่กาตาร์ แต่ยังมีความเห็นที่แตกต่างกันในเรื่องเป้าหมายในการเจรจาในแต่ละเรื่อง รวมทั้งเรื่องอะไรบ้างที่จะอยู่ในการเจรจารอบใหม่ ซึ่งอาจจัดได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ (1) กลุ่มประเทศที่ต้องการการเจรจารอบใหม่ในกรอบกว้างครอบคลุมทุกเรื่อง รวมทั้งเรื่องใหม่ๆ เช่น นโยบายการแข่งขัน การลงทุน สิ่งแวดล้อม เป็นต้น กลุ่มนี้นำโดยสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลี นอร์เวย์ (2) กลุ่มที่สนับสนุนการเจรจาที่จำกัดเพียงไม่กี่เรื่อง เช่น เรื่องการเปิดตลาด เกษตร บริการ ซึ่งนำโดยสหรัฐฯ กลุ่มเคร์นส์ รวมทั้งไทย และ (3) กลุ่มที่ต้องการผูกโยงการเปิดการเจรจารอบใหม่กับเงื่อนไขที่ว่าต้องมีความคืบหน้าและแก้ไขปัญหาการปฏิบัติตามพันธกรณีความตกลงรอบอุรุกวัยอย่างจริงจัง นำโดยกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่เรียกตัวเองว่า Like-Minded Group เช่น อินเดีย ปากีสถาน มาเลเซีย และอียิปต์
สำหรับความคืบหน้าในรอบ 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีประเด็นสำคัญที่มีความเคลื่อนไหวที่ WTO ดังนี้
1. เรื่องสำคัญที่ประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ต้องการให้ปรากฏในปฏิญญารัฐมนตรีองค์การการค้าโลกครั้งที่ 4 คือ เรื่องการแก้ไขปัญหายาที่จำเป็นแต่ราคาแพง โดยกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาเห็นว่าความตกลงว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า (TRIPS) ในเรื่องสิทธิบัตรยาอาจเป็นสาเหตุทำให้ยามีราคาแพงในขณะนี้ ทั้งนี้ประเทศกำลังพัฒนาจะร่วมกันเตรียมการในด้านสาระที่ต้องการเสนอที่ประชุมรัฐมนตรี WTO พิจารณามีข้อตัดสินใจ และกำหนดแนวทางการผลักดันเรื่องนี้ควบคู่ไปกับการหารือในกรอบของคณะมนตรี TRIPS ด้วย
2. สำหรับในเรื่องปัญหาการปฏิบัติตามพันธกรณีความตกลงรอบอุรุกวัยซึ่งเป็นเรื่องที่ประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมากให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกนั้น แม้ว่าจะมีความพยายามของบางกลุ่มประเทศสมาชิกที่มีท่าทีเป็นกลางในเรื่องนี้ซึ่งเรียกตัวเองว่า กลุ่ม 7 (ประกอบด้วย อุรุกวัย อาร์เจนติน่า ไทย โมร็อกโก นอร์เวย์ นิวซีแลนด์ และสวิตเซอร์แลนด์) จัดทำข้อเสนอประนีประนอมในเรื่องนี้ ซึ่งประเทศสมาชิกส่วนใหญ่เห็นว่าน่าจะสามารถใช้เป็นพื้นฐานในการเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ได้ อย่างไรก็ดี ในภาพรวมการเจรจาแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ยังมีความคืบหน้าไม่มากนัก
3. คณะผู้แทนถาวรสวิตเซอร์แลนด์ประจำ WTO จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม retreat เจ้าหน้าที่อาวุโสระดับสูงจากเมืองหลวงในวันที่ 21-22 กรกฎาคม 2544 ที่นครเจนีวา โดยได้เชิญประเทศสมาชิกที่มีบทบาทสำคัญใน WTO จากภูมิภาคต่างๆ รวม 13 ประเทศ (แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ นอร์เวย์ ชิลี มอรีเซียส โมร็อกโก เกาหลี ฮ่องกง ไทย สิงคโปร์ อุรุกวัย และฮังการี) หารือและแลกเปลี่ยนความเห็นในเรื่องต่างๆที่จะเสนอให้ที่ประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลกครั้งที่ 4 พิจารณา
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ กระทรวงพาณิชย์ โทร. 281-9723, 282-6171-9 : 1176-7 โทรสาร. 82-6623--จบ--
-สส-