คำต่อคำ : นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อภิปราย ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2548

ข่าวการเมือง Thursday April 21, 2005 09:26 —พรรคประชาธิปัตย์

          คำต่อคำ : นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อภิปราย ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2548 วันที่ 20 เม.ย. 48
ท่านประธานที่เคารพกระผมอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์ วันนี้รัฐบาลได้เสนอร่างพระราชบัญญติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณพุทธศักราช 2548 พ.ศ. ...ซึ่งก็เป็นปีที่ 2 ที่รัฐบาลได้ดำเนินการขออนุมัติงบประมาณที่เราเรียกว่างบประมาณกลางปีจากรัฐสภา ผมอยากจะกราบเรียนในเบื้องต้นกับท่านประธานว่าการนำเสนอร่างพระราชบัญญติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีหรืองบกลางปีในอดีตเราจะไม่ค่อยได้เห็นเท่าไหร่ แต่ว่ารัฐบาลของท่านนายกฯชุดที่แล้วและชุดนี้ดูจะได้มีความรู้สึกว่าเป็นแนวทางของการที่จะตอบสนองการบริหารราชการแผ่นดินได้ดี ดังจะสังเกตได้ว่าหลังจากที่มีการเสนองบกลางปีเมื่อปีที่แล้วตั้งแต่ก่อนมีการเลือกตั้ง รัฐมนตรีก็ได้มีมติในวันที่ 4 มกราคมปีนี้ ว่าหลังจากที่มีรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาก็จะมีการเตรียมการในเรื่องของการจัดงบประมาณเพิ่มเติมงบกลางปีอีกครั้งหนึ่ง
ท่านประธานครับการจัดงบประมาณเพิ่มเติมนั้นก็เป็นไปตามพระราชบัญญัติว่าด้วยวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 ในมาตรา 17 ซึ่งกระผมขออนุญาตที่จะอ่านเพื่อให้เห็นถึงเจตนารมณ์ของการมีงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม มาตรา 17 ของวิธีการงบประมาณได้บัญญัติเอาไว้ว่าในกรณีจำเป็นจะต้องจ่ายเงินหรือก่อหนี้ผูกพันเกินกว่าหรือนอกเหนือไปจากที่กำหนดในร่างพระราชบัญญัติไว้ในร่างพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปี คณะรัฐมนตรีอาจเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมต่อรัฐสภาได้ และให้แสดงถึงเงินที่พึงได้มา สำหรับจ่ายตามงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมที่ขอตั้งด้วย
ประเด็นที่ผมอยากจะชี้ให้เห็นก็คือว่าถ้าอ่านจากกฎหมายนั้นจริง ๆ แล้วต้องถือว่าการมีงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมนั้นไม่ใช่กรณีปกติ ไม่ใช่กรณีทั่วไป เป็นกรณีที่รัฐบาลมองเห็นว่าความจำเป็นต้องจ่ายเงินหรือก่อหนี้ผูกพันเกินกว่าที่ขอสภาไว้ประจำปี ในหลักการและเหตุผลของร่างพระราชบัญญัติที่รัฐบาลเสนอมาก็ได้เขียนล้อตามนั้น คือเขียนว่าเนื่องจากรัฐบาลมีความจำเป็นจะต้องใช้จ่ายเงินในการดำเนินนโยบายและมาตรการต่าง ๆ ในการพัฒนาประเทศ จึงได้เสนอตั้งงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมมา 50,000 ล้านบาท ที่กระผมต้องย้ำตรงนี้เพราะว่าเงินงบประมาณที่เราพูดกันนั้น บางทีเราพูดกันไปและเข้าใจว่าเป็นเงินของรัฐบาล เสมือนกับว่าถ้ารัฐบาลมีการตั้งงบประมาณใช้จ่ายเงินทุกบาททุกสตางค์ที่ลงไปนั้นเป็นเงินของรัฐบาลไปสร้างประโยชน์ตามโครงการต่าง ๆ ที่ระบุเอาไว้ตามรายจ่าย
แต่ข้อเท็จจริงก็คือว่าเงินทุกบาททุกสตางค์ที่เป็นงบประมาณนั้นก็คือเงินที่ต้องเอามาจากประชาชน ไม่เอามาจากการเก็บภาษีก็ต้องไปกู้มา และถ้ากู้มาการใช้จ่ายเงินกู้ คือใช้คืนเงินกู้ก็ต้องมาตั้งเป็นเงินงบประมาณซึ่งจะต้องมาเก็บจากภาษีในวันข้างหน้านั่นเอง เพราะฉะนั้นการจัดงบประมาณแต่ละครั้งคนเป็นรัฐบาลต้องสำนึกตลอดเวลาครับว่า หนี้คือการใช้จ่ายเงินที่เก็บจากพี่น้องประชาชนไม่ใช่เงินของรัฐบาลเอง ที่กระผมกราบเรียนตรงนี้เพราะว่าผมมองว่าการใช้หลักของการจัดงบกลางปีทั้งในปีที่ผ่านมาและในปีนี้นั้นดูจะอยู่บนพื้นฐานความคิดที่ว่าถ้ารัฐบาลเก็บเงินได้เท่าไหร่รัฐบาลจะใช้ให้หมด นั่นก็หมายความว่าถ้าการจัดเก็บภาษีทำได้เกินเป้าหรือเกินประมาณการที่ตั้งไว้ต้นปีจะเท่าไหร่ก็แล้วแต่รัฐบาลก็จะตัดสินใจเอาเงินเหล่านั้นมาใช้จ่ายเป็นงบประมาณเพิ่มเติมโดยมาขออนุมัติจากสภาอย่างที่ทำอยู่ในวันนี้
ท่านประธานครับเงินที่เก็บได้จากประชาชนที่เพิ่มเติมเข้ามานั้นเดี๋ยวเราจะไปดูในรายละเอียดว่ารัฐบาลประเมินอย่างไร แต่ก็เป็นเงินภาษีอากร ต้องกราบเรียนท่านประธานว่าในปัจจุบันนั้นระบบภาษีของเราก็เป็นระบบที่มีความยืดหยุ่นสูงในแง่ของการจัดเก็บภาษี ซึ่งถ้ารัฐบาลตั้งเป้าที่จะเก็บภาษีเท่าไหร่ เราก็มักจะพบว่ารัฐบาลจะเก็บเงินได้เกินเป้า นั่นก็เพราะว่าในทางปฏิบัติก็จะมีเจ้าหน้าที่ของกรมที่เกี่ยวข้องเข้าไปดำเนินการในการประเมินและจัดเก็บภาษี ผมเชื่อว่าผู้แทนราษฎรในที่ประชุมแห่งนี้จะต้องได้ยินในช่วงที่ผ่านมาว่าในระยะหลังภาระของการประเมินและการจัดเก็บภาษีโดยเฉพาะจากผู้ประกอบการรายย่อยนั้นดูจะเพิ่มขึ้นมาก ประเด็นจึงมีอยู่ว่าที่จริงแล้วการจัดตั้งงบประมาณกลางปีเป็นเรื่องที่รัฐบาลมีความจำเป็นที่จะต้องใช้จ่ายเงิน หรือเป็นเรื่องที่ว่ารัฐบาลพยายามที่จะจัดเก็บภาษีให้ได้มาก ๆ เพื่อที่จะใช้จ่ายให้มากที่สุด
กระผมกราบเรียนว่าถ้ารัฐบาลบอกว่า 4, 5 โครงการที่เสนอมาในวันนี้มีความจำเป็นจะต้องใช้จ่ายก็จะต้องถามกลับไปว่าแล้วถ้าสมมติว่าที่ผ่านมา 6 เดือนที่ผ่านมาไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้เกินที่ประมาณการไว้ความจำเป็นตรงนี้ยังมีอยู่หรือไม่ จำเป็นขนาดที่รัฐบาลจะขอตั้งงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม และยอมให้มีการขาดดุลงบประมาณหรือไม่ ผมคิดว่าตรงนี้เป็นหลักคิดเกี่ยวกับการบริหารการเงินการคลังที่สำคัญ เพราะกระผมยืนยันครับว่า ถ้าเรามีความเชื่อว่าเก็บเงินได้เท่าไหร่จะใช้ให้หมด แล้วเรามีความต้องการที่จะใช้จ่ายอย่างไม่มีที่สิ้นสุดวันข้างหน้าแนวทางอย่างนี้ก็จะเป็นการเพิ่มภาระให้แก่ผู้เสียภาษีอากรโดยตรง แล้วก็จะเป็นความเดือดร้อนซ้ำเติมพี่น้องประชาชนในภาวะ ซึ่งขณะนี้ต้องเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจในรูปของข้าวของที่แพง และภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตามเมื่อรัฐบาลยืนยันและแสดงตัวเลขมาว่ามีการจัดเก็บภาษีได้แล้วเกือบ 40,000 ล้านที่เกินประมาณการ และคาดว่าทั้งปีงบประมาณคงจะจัดเก็บเพิ่มเติมมาได้ประมาณ 50,000 ล้าน ก็ต้องมาดูกันต่อว่าความจำเป็นและความเหมาะสมที่จะต้องใช้เงินก้อนนี้ทั้งในแง่ของการบริหารเศรษฐกิจในภาพรวม ทั้งในแง่ของโครงการที่รัฐบาลเสนอมานั้นเป็นอย่างไร
กระผมขออนุญาตที่จะกราบเรียนในเรื่องของเศรษฐกิจในภาพรวมเสียก่อน กระผมได้อภิปรายในวันที่มีการแถลงนโยบายว่าผมอาจจะมองภาวะเศรษฐกิจต่างจากที่รัฐบาลมอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่รัฐบาลพยายามย้ำว่า 4 ปีที่ผ่านมาเป็น 4 ปีแห่งการซ่อม เสมือนกับว่าภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันเป็นภาวะเศรษฐกิจที่เรียบร้อยราบรื่นปราศจากความเสี่ยง และ 4 ปีต่อจากนี้ไปก็เป็น 4 ปีที่รัฐบาลจะคิดจะสร้างอะไรก็ได้ กระผมได้พูดตั้งแต่วันนั้นว่าผมนั่นคือการประเมินสถานการณ์ตามความเป็นจริง ผมมองว่าการที่รัฐบาลเก็บเงินได้เพิ่มและประสงค์จะใช้จ่ายนั้นถ้าเป็น 1 ใน 2 กรณีนี้คงไม่มีปัญหา ถ้า 1 กรณีที่เศรษฐกิจทุกอย่างอยู่ในภาวะปกติ ราบรื่น เมื่อเก็บเงินภาษีของพี่น้องประชาชนมาแล้ว ก็เห็นว่าน่าจะได้เร่งรัดในเรื่องของกระบวนการพัฒนา เรื่องของนโยบายของรัฐบาลที่แถลงไว้ต่อสภา กรณีเช่นนี้ผมคิดว่า พวกเราก็คงไม่มีความคิดที่จะโต้แย้งว่าสมควรจะใช้เงินก้อนนี้หรือไม่
กรณีที่ 2 ที่อาจจะเป็นความจำเป็น ซึ่งผมเข้าใจว่ารัฐบาลก็ไม่ได้อยู่บนสมมุติฐานนี้ก็คือว่า เศรษฐกิจกำลังมีปัญหาในเรื่องของความซบเซา การชะลอตัว ซึ่งทำให้รัฐบาลมีความจำเป็นที่จะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยการใช้เครื่องมือทางการคลัง แต่ว่าถ้าจะเป็นในภาวะเช่นนั้นก็ต้องเป็นภาวะของการชะลอตัวที่เศรษฐกิจไม่มีปัญหาในเรื่องของเสถียรภาพ คือไม่มีความเสี่ยงเรื่องเงินเฟ้อ ไม่มีความเสี่ยงเรื่องของการขาดดุล จะเป็นการขาดดุลการค้า การขาดดุลบัญชีเงินสะพัด
แต่สิ่งที่กระผมอยากจะกราบเรียนในภาพรวมของเศรษฐกิจขณะนี้ก็คือว่า ผมไม่คิดว่าเราอยู่ในสถานการณ์ที่เป็นเงื่อนไข ใน 2 เงื่อนไขที่กระผมได้กราบเรียนมา ผมมองว่าวันนี้ เราเห็นชัดเจนว่าเศรษฐกิจมีสัญญาณที่บ่งบอกถึงการชะลอตัว ควบคู่ไปกับปัญหาเสถียรภาพที่เพิ่มขึ้น ซึ่งหมายถึงการบริหารจัดการเศรษฐกิจต้องมุ่งเน้นไปในเรื่องของด้านของการผลิต หรือทางด้านของอุปทานมากกว่าในการที่จะเร่งหรือกระตุ้นการใช้จ่าย นอกจากนั้นยังมีปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้อีกจำนวนมากพอสมควรที่รัฐบาลจะต้องคำนึงถึง และประเด็นในเรื่องของเสถียรภาพทางเศรษฐกิจก็ต้องได้รับการบริหารจัดการควบคู่ไปกับเป้าหมายของการที่จะรักษาการขยายตัวทางเศรษฐกิจ สิ่งเหล่านี้เป็นภาวะที่ผมอยากจะกราบเรียนว่าต้องบอกว่าแม้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ผ่านมาอยู่ในเกณฑ์ที่หลายฝ่ายพึงพอใจ และวันนี้รัฐบาลก็ประเมินว่ายังสามารถที่จะรักษาอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้อยู่ที่ประมาณร้อยละ 5.5 — 6.5 นั้น แต่เป็นการขยายตัวที่ขาดความสมดุล และยังมีความเสี่ยง และมีประเด็นในเรื่องของเสถียรภาพที่ต้องได้รับการบริหารจัดการ
ผมกราบเรียนให้เห็นครับว่า ที่บอกว่าอะไรบ้างที่เป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ผมเชื่อว่ารัฐบาลทราบดีและทราบตรงกับผมครับ ว่า จากตัวเลขภาวะเศรษฐกิจล่าสุดในช่วงเดือน สองเดือนที่ผ่านมา ตัวชี้วัดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม ก็ขยายตัวเป็นอัตราที่ติดลบ การขยายตัวของตัวชี้วัดในเรื่องของการบริโภคก็ดี การลงทุนของภาคเอกชนก็ดี ก็อยู่ในภาวะการชะลอตัว และที่สำคัญมาก ก็คือ ตัวเลขของการขยายตัวของการส่งออก โดยเฉพาะใน 2 เดือนแรกของปีนี้ ก็ได้ลดลงมามาก สิ่งเหล่านี้บ่งบอกว่าเศรษฐกิจเริ่มมีปัญหาในแง่ของการใช้จ่ายในระบบจริง แต่ขณะเดียวกันการที่เราคาดหวังจะให้เศรษฐกิจขยายตัวโดยไม่กระทบกับเสถียรภาพนั้น เราก็คงจะต้องไปตั้งเป้าเอาไว้ในเรื่องของการส่งออกค่อนข้างมาก ไม่ใช่เรื่องของการมากระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการใช้จ่ายเงินงบประมาณเพิ่มเติม
ผมจึงไม่แปลกใจว่าทางรัฐบาลจึงได้มุ่งมั่นที่จะตั้งเป้าว่าปีนี้การส่งออกจะต้อวขยายตัวให้ได้ร้อยละ 20 เป็นเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ถือว่าสูงมากครับ แต่เป็นเป้าหมายที่จำเป็นต้องตั้งด้วยเหตุผลหลายประการคือ
1. ถ้าการส่งออกขยายตัวต่ำกว่านี้ ก็เป็นเรื่องยากที่เศรษฐกิจในภาพรวมจะขยายตัวได้ร้อยละ 6
2. ถ้าการส่งออกขยายตัวต่ำกว่าเป้าที่รัฐบาลกำหนด ก็จะเริ่มเป็นปัญหาในเรื่องของการขาดดุลการค้า หรือการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด
แต่ท่านประธานครับการตั้งเป้าก็ต้องอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง ตัวเลขที่ออกมาเกี่ยวกับเรื่องของการขยายตัวทางเศรษฐกิจโลกก็ดี การขยายตัวของปริมาณการค้าระหว่างประเทศ คือ ปริมาณการค้าที่เกิดขึ้นในโลกก็ดีในปีนี้ ทุกสถาบันมองตรงกันว่ามีการชะลอตัวลงค่อนข้างมาก หลายฝ่ายดูตัวเลขของการขยายตัวของการส่งออกใน 2 เดือนแรกแล้ว จะมองเห็นชัดเจนครับว่า จะเป็นภาระที่หนักมากที่รัฐบาลจะสามารถบรรลุเป้าหมายของการขยายตัวการส่งออกได้ถึงร้อยละ 20 โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน 2 เดือนแรกนั้น ตัวเลขได้ลดต่ำลงมากกว่าเป้าที่ตั้งไว้กว่าครึ่ง นั่นคือสิ่งที่ผมคิดว่าเป็นเครื่องหมายคำถามที่ทำให้เราต้องมาพิจารณากันอย่างรอบคอบว่า การตัดสินใจที่จะใช้เงินงบประมาณเพิ่มเติม 50,000 ล้านในวันนี้สอดคล้องกับการบริหารเศรษฐกิจมหภาคหรือไม่ เพราะถ้าบอกว่าเป็นการกระตุ้นเพื่อแก้ปัญหาการชะลอตัว ก็ต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อเสถียรภาพ
ท่านประธานครับ ในเรื่องของเสถียรภาพนั้น มีประเด็นตัวเลขที่น่าสนใจหลายตัว ตัวเลขตัวแรก ก็คือ วันนี้รัฐบาลมาแถลงกับสภาว่า จะสามารถจัดเก็บงบประมาณ จัดเก็บภาษี หรือจัดเก็บรายได้เพิ่มกว่าที่ประมาณการไว้เมื่อตอนต้นปีงบประมาณ 50,000 ล้านบาท พูดง่ายๆถ้าสมมุติว่าไม่ขอใช้เงินในวันนี้รัฐบาลก็กำลังบอกกับสภาว่า ที่จริงแล้วปีนี้งบประมาณจะเกินดุล เพราะที่เคยตั้งไว้ ที่เคยประมาณการรายได้ รายจ่ายไว้ วันนี้แนวโน้มคือจะเก็บได้เพิ่มมากกว่าที่คิดไว้ปีนี้ 50,000 ล้านบาท แต่รัฐบาลต้องไม่ลืมว่า ในขณะที่มีรายได้ที่เกินเลยมาจากการคาดหมายของรัฐบาล รัฐบาลก็กำลังมีหนี้ที่เพิ่มขึ้น ที่อยู่นอกเหนือความคาดหมายของรัฐบาลเช่นเดียวกัน ผมเอาตัวเดียวเท่านั้นล่ะครับ คือ หนี้กองทุนน้ำมัน จากการที่รัฐบาลได้ตัดสินใจตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม ปีที่แล้ว ที่จะใช้วิธีการในการตรึงราคาน้ำมัน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน รัฐบาลก็ต้องก่อหนี้ คือเอาเงินจากกองทุนน้ำมัน ซึ่งกู้ยืมมามาชดเชยตรงนี้
วันนี้หนี้ตรงนี้อยู่ที่ประมาณ 80,000 ล้าน ตัวเลข 80,000 ล้านมากกว่ารายได้ที่รัฐบาลบอกว่าจัดเก็บได้เพิ่มกว่าที่เคยประมาณการไว้ 80,000 ล้านตัวนี้ ท่านประธานครับไม่หนีไปไหนหรอกครับ ยกเว้นเสียแต่ว่ารัฐบาลจะบอกกับประชาชนว่า วันข้างหน้าเมื่อราคาน้ำมันในตลาดโลก ราคาน้ำมันดิบลดลง รัฐบาลจะไม่ยอมลดราคาขายปลีก ซึ่งผมไม่เชื่อว่ารัฐบาลในอนาคตจะทำอย่างนั้น เพราะจะทำให้ประชาชนเดือดร้อนด้วย และประเทศชาติเสียเปรียบด้วย ในเรื่องของต้นทุนในการแข่งขัน เพราะฉะนั้นหนี้ 80,000 ล้านนี้ ในที่สุดก็ต้องกลับมาเป็นหนี้ของรัฐบาล ต้องมาเก็บเงินจากพี่น้องประชาชน
วันนี้รัฐบาลบอกว่ามีแนวคิดที่จะออกพันธบัตร เพื่อมาชดเชยหนี้ 80,000 ล้านตรงนี้ พันธบัตรที่ออกผมคิดง่ายๆว่า ถ้าสมมุติท่านให้อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5 นั่นหมายความว่าจากนี้ไปทุกปีจะมีภาระในเรื่องดอกเบี้ยอย่างเดียว 4,000 ล้านบาท ประเด็นของผมก็คือว่า วันนี้ที่รัฐบาลตั้งสมมุติฐานว่าเก็บเงินมาได้มากกว่าที่คิด ขอเอาเงินไปใช้ เป็นภาพที่เป็นจริงหรือไม่ เงินที่เก็บเพิ่มกับหนี้ที่กำลังเพิ่มขึ้นจากกองทุนน้ำมัน ถ้าจะพูดไปโดยเคร่งครัดแล้ว หนี้ที่เกิดขึ้น เกิดขึ้นมากกว่า ถ้ามานับรวมอยู่ในดุลงบประมาณ วันนี้เท่ากับรัฐบาลขาดดุล แม้จะรวมรายได้ที่จัดเก็บเพิ่มเติมเข้ามาแล้ว
นี่คือสิ่งที่ผมคิดว่ารัฐบาลไม่ควรปฏิเสธ และจึงเป็นเหตุผลที่กระผมเสนอตั้งแต่วันที่รัฐบาลแถลงนโยบายว่า ผมทราบว่ารัฐบาลจะจัดเก็บภาษีได้เพิ่ม เพราะภาษีที่เพิ่ม ส่วนใหญ่ก็มาจากเรื่องมูลค่าเพิ่ม และภาษีน้ำมันนั่นเอง คือ ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ทำไมวันนี้รัฐบาลไม่วางแผนล่วงหน้า ด้วยการเอาเงินบางส่วนที่จะไปชดใช้หนี้ที่เกิดขึ้นจากกองทุนน้ำมัน เพื่อไม่ให้เป็นภาระกับประเทศชาติ กับประชาชนในวันข้างหน้า นั่นคือประเด็นที่กระผมอยากจะกราบเรียนในแง่ของความไม่สอดคล้องกับสถานการณ์เรื่องของเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ
ประการที่ 2 ครับที่เกี่ยวข้องกับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจก็คือว่า 2 เดือนแรกของปีนี้ประเทศไทยขาดดุลการค้า และขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ดุลบัญชีเดินสะพัด 2 เดือนรวมกันขาดดุล ดุลการค้าขาดดุลทั้ง 2 เดือน ตรงนี้เป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวังอย่างยิ่งเพราะว่า ตัวนี้ล่ะครับจะเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่า เศรษฐกิจจะมีปัญหาในวันข้างหน้าหรือไม่ เพราะใครที่จำได้ก่อนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 สัญญาณตัวแรกที่บ่งบอกก็คือปัญหาในเรื่องของการส่งออกที่ลดลง กับเรื่องของการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งจะสามารถกระทบต่อความเชื่อมั่น ที่ประชาคมโลกจะมีต่อเศรษฐกิจไทยได้
ท่านประธานที่เคารพครับ เงิน 50,000 ล้านที่จะไปใช้จ่ายตามโครงการที่เสนอมาไม่มีความชัดเจนว่า จะไปช่วยเสริมศักยภาพหรือยุทธศาสตร์ในการส่งเสริมการส่งออกที่รัฐบาลตั้งไว้สูงว่าต้องขยายตัวให้ได้ร้อยละ 20 ปีนี้อย่างไร แต่เชื่อว่าใน 50,000 ล้านนี้ เมื่อใช้จ่ายไปแล้วบางส่วนจะจ้องเป็นการใช้จ่ายที่นำไปสู่การนำเข้าของสินค้า เพราะฉะนั้นการใช้จ่ายเพิ่มเติมของรัฐบาลตรงนี้ก้จะเป็นการเร่งให้ประเทศไทยเข้าสู่ภาะวะการขาดดุลการค้าและการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่ชัดเจนเร็วขึ้น ตรงนี้ล่ะครับ คือสิ่งที่เป็นปัญหา
ผมกราบเรียนต่อไปว่าในภาพรวมของปัญหาเสถียรภาพและการชะลอตัวของเศรษฐกิจอย่างนี้ ตัวชี้วัดหลายอย่างซึ่งเราอาจจะเคยมั่นใจ หรือตายใจ เราไม่สามารถประมาทได้อีกต่อไป รัฐบาลอาจจะบอกว่าวันนี้ไม่มีปัญหาเรื่องหนี้สาธารณะ ไม่มีปัญหาเรื่องภาระหนี้ ไม่มีปัญหาเรื่องของเงินคงคลัง แต่ถ้าท่านประธานได้ฟังสิ่งที่กระผมได้กราบเรียนไปว่า เศรษฐกิจมีแนวโน้มที่จะชะลอตัว รัฐบาลเองก็ปรับลดประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจลง และเรากำลังจะมีปัญหาเรื่องของเสถียรภาพมากขึ้น ปัจจัยต่างๆเหล่านี้ย่อมกระทบต่อความเข้มแข็งพื้นฐานในแง่ของเสถียรภาพ ในเรื่องของฐานะการเงินการคลังด้วย เช่น ผมบกตัวอย่างครับว่า ถ้าวันนี้เราบอกว่าหนี้สาธารณะยังต่ำกว่าร้อยละ 50 ของรายได้ประชาชาติ ตัวเลขอยู่ที่ร้อยละ 47 แต่ว่ามันมีปัจจัยที่เรามองเห็นในวันข้างหน้าครับว่า อาจจะทำให้สัดส่วนหนี้ตรงนี้เพิ่มขึ้นได้
1. ก็คือเรื่องของภาระดอกเบี้ย ที่จะเพิ่มขึ้นจากภาวะดอกเบี้ย เป็นภาวะขาขึ้น ตรงนี้แม้หนี้ส่วนใหญ่ของรัฐบาลจะเป็นหนี้ที่มีดอกเบี้ยตายตัว ไม่ใช่ดอกเบี้ยลอยตัวก็ตาม แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่รัฐบาลจะประมาทได้ มีการประเมินครับว่าในอีก 2 ปีข้างหน้า ภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นจากดอกเบี้ยขาขึ้นนั้น อาจจะเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 5 ในอีก 2 ปีข้างหน้า เช่นเดียวกันเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยน ท่านประธานถ้าท่านได้ติดตามการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนในช่วงที่ผ่านมา จะพบว่ามีความผันผวนสูงมาก หนี้ที่เป็นหนี้สาธารณะจำนวนไม่น้อยก็เป็นหนี้ที่อยู่ในสกุลเงินต่างประเทศ ที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทยต้องเข้าไปดำเนินการจัดการหรือแทรกแซงในเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยน ในจำนวนเงินที่ค่อนข้างจะสูงเมื่อเทียบกับในอดีตที่ผ่านมา ถ้าอัตราแลกเปลี่ยนมีความผันผวน ถ้าเงินบาทอ่อนตัวลง จึงมีความเป็นไปได้ โดยเฉพาะถ้าหากว่า อัตราดอกเบี้ยในต่างประเทศเพิ่มขึ้นเร็วกว่าในประเทศไทย สิ่งเหล่านี้ก็จะเป็นตัวที่เพิ่มภาระหนี้ของประเทศได้ทันที
นอกจากนั้นเรื่องของการบริหารกองทุนน้ำมันก็เป็นตัวอย่างครับว่ามันจะมีหนี้อีกหลายก้อน ที่อยู่นอกบัญชีหนี้สาธารณะในปัจจุบัน แต่เมื่อภาวะเปลี่ยนแปลงไป เช่น ดอกเบี้ยสูงขึ้น เศรษฐกิจชะลอตัวลง หนี้เหล่านั้นอาจจะต้องกลับกลายมาเป็นหนี้สาธารณะ เป็นหนี้ที่รัฐบาลต้องเข้าไปแบกรับ เพราะฉะนั้นตรงนี้เป็นสิ่งที่ผมอยากเห็นรัฐบาลใช้ความระมัดระวังมากขึ้น แม้แต่เงินคงคลังครับท่านประธานครับ แน่นอนที่สุดการบริหารเงินคงคลังนั้นเนื่องจากเงินก้อนนี้เป็นเงินที่เราไม่เอาออกมาใช้ เราก็ไม่ต้องการเก็บเกินความจำเป็น ในภาวะปกติเขาก็บอกว่า อย่างน้อยก็ควรจะเก็บเงินคงคลังไว้เพียงพอสำหรับที่จะใช้ 10 วันทำการ ประมาณ 40,000 ล้าน ตัวเลขเงินคงคลังวันนี้อยู่ที่ 45,278 ล้าน ก็คือประมาณ 11 วันทำการ ก็คือใกล้เคียงกับขั้นต่ำ ซึ่งผมก็เข้าใจครับว่า ประสิทธิภาพการบริหารจัดการเราไม่ต้องการเก็บไว้เกินความจำเป็น แต่นั่นหมายถึงภาวะปกติ
วันนี้สิ่งที่กระผมกราบเรียน เพื่อเตือนไปยังรัฐบาลก็คือว่า มันมีปัจจัยเสี่ยง มันมีความผันผวน มันมีสัญญาณบอกเหตุหลายอย่างที่รัฐบาลควรจะได้มีความระมัดระวังมากขึ้น และสิ่งสำคัญในการประคับประคองเพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวต่อไปได้ กระบวนการพัฒนาเดินต่อไปได้ วันนี้จึงน่าจะต้องมุ่งเน้นไปในเรื่องของการส่งออกและเรื่องของการปรับปรุงเรื่องของการผลิต โดยเฉพาะประสิทธิภาพ ผลิตภาพ
ผมกราบเรียนว่า ถ้า วันนี้รัฐบาลเก็บเงินได้เพิ่ม ซึ่งผมเชื่อว่าทำได้เพราะว่า อีกเพียงหมื่นกว่าล้านในช่วง 3-4 เดือนที่เหลือก็คงจะทำได้ ผมยังยืนยันครับว่า สิ่งที่ดีที่สุดก็คือรัฐบาลเอาเงินนี้ไป 1. เพื่อใช้หนี้ที่เกิดขึ้นจากกองทุนน้ำมัน กับ 2. คือ การเตรียมการการลงทุนที่เป็นระบบ เพราะรัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภาแห่งนี้นั่นเองว่า กำลังมีการเตรียมการที่จะลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ ใช้เงินลงทุนมากถึงหนึ่งล้านห้าแสนล้านบาท แต่เงินห้าหมื่นล้านตรงนี้เราก็ไม่ได้เอาไปเป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมการของการลงทุนเหล่านั้น เพราะฉะนั้นผมกราบเรียนว่า วันนี้ด้วยภาวะการณ์เหล่านี้ การที่รัฐบาลจะใช้หลักคิดว่าเก็บเงินมาได้เท่าไรให้รีบใช้ให้หมด ผมถือว่าเป็นลักษณะของการบริหารจัดการที่ขาดการวางแผนที่ดี ไม่คำนึงถึงการวางแผนระยะยาว ไม่คำนึงถึงยุทธศาสตร์ของการพัฒนาประเทศ และผมคิดว่ามีความเสี่ยงอย่างยิ่งต่อการที่จะขาดวินัยทางการเงิน การคลัง
ท่านประธานที่เคารพครับ ถ้าเราไปดูว่า เงินห้าหมื่นล้านนั้นรัฐบาลประสงค์จะไปใช้ในเรื่องใด อย่างไรบ้าง เราก็จะพบชัดเจนครับว่า การใช้จ่ายทั้งหลายนั้นจัดอยู่ในรูปของงบกลางทั้งสิ้น มติของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 มกราคม ตอนที่เป็นความคิดเริ่มต้นที่จัดงบกลางปีนั้นเขียนชัดครับ ว่ารัฐบาลชอบใจการบริหารจัดการ โดยอาศัยงบกลางเพราะมีความคล่องตัว ความคล่องตัวตรงนี้ครับที่ทำให้เราสูญเสียกลไกของการบริหารจัดการที่ดีในเรื่องของความชัดเจนในการวางแผนและการติดตามตรวจสอบการประเมิน เพื่อนสมาชิกจำนวนไม่น้อยครับที่จะได้อภิปรายลงไปในแต่ละรายการ ซึ่งแทบไม่มีรายละเอียดอยู่ในเอกสารประกอบการเสนอกกฎหมาย และตัวชี้วัดที่ให้มาประเมินความสำเร็จของโครงการเหล่านี้ก็เป็นตัวชี้วัด ซึ่งวัดได้ยาก และดูจะเป็นนามธรรมมาก
กระผมคงจะขออนุญาตกราบเรียนสั้นๆ ต่อรายการต่างๆ ที่รัฐบาลเสนอมาว่า มีข้อสังเกตอย่างไร เช่น เรื่องเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ซึ่งตรงนี้ก็เป็นที่เข้าใจ โดยเฉพาะเมื่อเกิดปัญหาธรณีพิบัติ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม ที่ผ่านมา แต่กราบเรียนท่านประธานอย่างนี้ครับว่า ที่ตั้งไว้เพิ่มอีก 17,000 ล้านบาท ที่จริงวันนี้ผมอยากจะเห็นรัฐบาลสามารถมาแจกแจงโครงการและกระบวนการในการฟื้นฟูพื้นที่ ที่ได้รับผลกระทบจากสึนามิอย่างชัดเจนมากกว่า เพระเวลาก็ล่วงเลยมาพอสมควรแล้ว และจากที่เราไปตรวจสอบครับว่า ที่ผ่านมารัฐบาลก็ได้อนุมัติงบประมาณสำหรับที่จะไปฟื้นฟูพื้นที่นั้น ถึง 20,000 ล้านบาท
แต่ท่านประธานทราบไหมครับว่า การใช้จ่ายจริงทำได้เพียงประมาณไม่ถึง 1 ใน 4 ยังมีความล่าช้า และกระผมก็ยังได้กราบเรียนท่านประธานไปแล้วในวันแถลงนโยบายว่า การรอคอย การช่วยเหลือ หรือแม้กระทั่งตอบชัดเจนของการใช้เงินบริจาค ซึ่งมาจากน้ำใจของคนไทยทั้งประเทศนั้นก็ยังเป็นเรื่องที่ขาดความชัดเจนอยู่ ทั้งในระดับพื้นที่ และในหมู่ประชาชนทั่วไป ก็อยากจะกราบเรียนว่า เงินที่จำเป็นที่จะต้องใช้ ที่เป็นเงินสำรองจ่าย เพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นนั้น ผมเข้าใจ แต่วันนี้ผมคิดว่ารัฐบาลน่าจะมีความพร้อมมากกว่านี้ในแง่ของการใช้จ่ายเงิน จากภัยพิบัติที่เกิดขึ้นและในแง่ของการมาให้รายละเอียดกับผู้แทนของประชาชนได้ว่า โครงการที่เตรียมการในการฟื้นฟูนั้นเป็นอย่างไร มากกว่าที่จะมาขออนุมัติเงินที่ไม่มีรายละเอียดประกอบสิ่งเหล่านี้
เงินก้อนที่ 2 ที่รัฐบาลต้องการไปใช้ก็คือ เงินตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดสำหรับผู้ว่าราชการจังหวัด แบบบูรณาการหรือที่เรียกว่าผู้ว่าซีอีโอ อันนี้ขอไว้ 15,000 ล้านบาท ผมก็มีข้อสังเกตครับว่า เมื่อเดือนที่แล้วนี้เอง กพร. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ติดตามประเมินผล เกี่ยวกับเรื่องของการปฏิรูประบบราชการก็ได้มีการประเมินผลการทำงานของผู้ว่าซีอีโอ และระบบซีอีโอ มีการวิจัยและมีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ สิ่งที่น่าสนใจก็คือว่า เขาก็พบทั้งจุดเด่นและจุดด้อยของการบริหารตามแนวทางนี้ จุดเด่นก็มี 4 ด้าน เรื่องการวางแผนการเชิญเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม การให้ประชาชนมีส่วนร่วม มีเว็ปไซต์ มีการจัดรายการวิทยุ แต่จุดด้อยที่ประเมินออกมาก็มี 6 ด้าน ผมไม่ลงรายละเอียดทั้งหมดครับ แต่ 2 ด้าน 1. คือปัญหาเรื่องงบประมาณและการใช้จ่าย ซึ่งโอนเงินล่าช้า และส่งผลให้การจัดงบไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์จังหวัด กับ 2. ความไม่พร้อมหรือความบกพร่องในขั้นตอนของการจัดทำยุทธศาสตร์นั้น ทำให้ยุทธศาสตร์ที่ออกมาในหลายโครงการไม่ได้สอดคล้องกับความต้องการของจังหวัดหรือกับปัญหาที่บ่งบอก โดยตัวชี้วัดต่างๆ
กระผมกราบเรียนเรื่องนี้ก็เพราะว่าถ้าเราอยากจะเห็นระบบการบริหารจัดการที่ดี ก่อนที่เราจะอนุมัติเงินงบประมาณให้กับโครงการใดๆ เราน่าจะได้ดูผลของการประเมินที่เกิดขึ้นตามโครงการนั้นด้วย ตรงนั้นชัดเจนว่า โครงการผู้ว่าซีอีโอหรือระบบการบริหารผู้ว่าซีอีโอ ยังมีปัญหา แต่ในภาวะขณะนี้รัฐบาลบอกว่าภาษีที่เก็บจากประชาชนมานั้นพร้อมที่จะทุ่มไปตรงนี้อีก 15,000 ล้านบาท รายการต่อไปอีก 2 รายการนั้น ก็คงจะไม่มีประเด็นที่จะต้องตั้งข้อสังเกตมากครับก็คือ เรื่องของโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน กับเรื่องของเอสเอ็มแอล
นอกจากที่จะกราบเรียนท่านประธานว่า ในทั้ง 2 รายการนี้ก็อีกเช่นกันครับ คือ ยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจนที่จะมาตอบกับพวกเราได้ เช่น กรณีของเอสเอ็มแอล ที่จะดำเนินการที่จะครอบคลุมหมู่บ้านและชุมชน คร่าวๆ ประมาณครึ่งหนึ่งเท่านั้นเอง แต่ก็ไม่สามารถตอบพวกเราได้ว่า ครึ่งหนึ่งที่จะทำอยู่ตรงไหน ครึ่งที่จะไม่ทำอยู่ตรงไหน ตรงนี้คือสิ่งที่ผมกราบเรียนว่า เป็นสิ่งที่ประชาชนอยากจะทราบ เพื่อจะได้มองเห็นว่าจะเกิดความเป็นธรรมในการจัดงบประมาณตรงนี้หรือไม่ จะมีปัจจัยทางการเมืองเข้ามาแทรกแซง เกี่ยวกับการจัดสรรตรงนี้หรือไม่ และที่สำคัญที่สุดครับ ถ้าวันนี้ยังตอบไม่ได้ ระยะเวลาของการใช้งบกลางปีจะมีประมาณ 4 เดือน ถ้ากฎหมายออกประมาณปลายเดือนพฤษภาคม ผมคิดว่าจะกระทบต่อเรื่องของทั้งประสิทธิภาพและความเป็นธรรมในการใช้จ่ายเงินทั้งในโครงการเอสเอ็มแอล และในโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน
รายการสุดท้ายที่รัฐบาลขออนุมัติในวันนี้ก็คืองบประมาณที่บอกว่าจัดผ่านท้องถิ่นไปแก้ไขปัญหาเรื่องภัยแล้ง อันนี้ก็เข้าใจว่าเพื่อไปรักษาสัดส่วนงบประมาณที่ต้องไปให้ท้องถิ่นดำเนินการ ซึ่งก็กราบเรียนว่า การที่พยายามรักษาไว้ก็เป็นเรื่องดี แต่ก็คงจะต้องเตือนรัฐบาลอีกครั้งว่า รัฐบาลมีภาระตามกฎหมายที่จะต้องเพิ่มสัดส่วนตรงนี้ค่อนข้างมาก แม้แต่งบประมาณที่จัดตั้งมาวันนี้ก็ไม่ชัดเจนว่าจริงๆ แล้วเป็นงบของการกระจายอำนาจ แต่ว่ากระผมคิดว่า ถ้าจะดำเนินการพยายามหาทางในการเพิ่มช่องทางของการกระจายอำนาจในเรื่องของเงินงบประมาณไปได้ แล้วสอดคล้องกับการแก้ไขปัญหาที่เป็นปัญหาของชาติ อย่างเช่น ภัยแล้ง ได้ด้วย ตรงนี้ก็อยากให้ทำอย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพต่อไป
ท่านประธานที่เคารพครับ กระผมกราบเรียนว่าเมื่อพิจารณาทั้งจากภาพรวมของเศรษฐกิจแล้ว เมื่อพิจารณาจากเรื่องของโครงการแล้ว กระผมจึงไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลจะตัดสินใจใช้เงินที่เก็บได้เพิ่ม 50,000 ล้านอย่างนี้และนอกจากนั้นแล้ว กระผมอยากจะกราบเรียนท่านประธานว่า สิ่งที่รัฐบาลคาดหวังจากเงิน 50,000 ล้านนี้ ถ้าเป็นเรื่องของประสิทธิภาพนั้น รัฐบาลอาจจะต้องย้อนกลับไปดูประสบการณ์ของปีที่แล้วด้วย
(ยังมีต่อ)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ