สรุปข่าวประชุมสมัชชาใหญ่องค์การรัฐสภาอาเซียน ครั้งที่ 21 ณ ประเทศสิงคโปร์
ระหว่างวันที่ 10-15 กันยายน พ.ศ. 2543
นายพิชัย รัตตกุล ประธานรัฐสภา ได้นำคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมประชุมสมัชชาใหญ่องค์การรัฐสภาอาเซียน ครั้งที่ 21
ประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร คือ นายประกอบ จิรกิติ นายชาญศักดิ์ ชวลิตนิติธรรม นายสืบแสง พรหมบุญ
นางลลิตา ฤกษ์สำราญ นายองอาจ คร้ามไพบูลย์ และสมาชิกวุฒิสภา คือ นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ นางเพ็ญศักดิ์ จักษุจินดา
นายอิมรอน มะลูลีม พร้อมด้วยนางศิริลักษณ์ ปั้นบำรุงกิจ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
การประชุมสมัชชาใหญ่ ครั้งที่ 21 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 10-15 สิงหาคม พ.ศ. 2543 ณ โรงแรมแซงกรีล่า ประเทศสิงคโปร์
โดยมีรัฐสภาสิงคโปร์เป็นเจ้าภาพ มีผู้เข้าร่วมประเทศสมาชิกองค์การรัฐสภาอาเซียน 8 ประเทศ (กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว
มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม) ประเทศผู้สังเกตการณ์พิเศษ 2 ประเทศ (บรูไนดาลุสซาลาม และเมียนมาร์)
ประเทศคู่เจรจา 8 ประเทศ (ออสเตรเลีย แคนาดา รัฐสภายุโรป ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐเกาหลี
และรัสเซีย)
การประชุมครั้งนี้ นายพิชัย รัตตกุล ประธานรัฐสภา ได้เดินทางไปรับตำแหน่งประธานองค์การรัฐสภาอาเซียน ต่อจาก
นาย Tan Soo khoon ประธานรัฐสภาสิงคโปร์ เป็นระยะเวลา 1 ปี ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวรัฐสภาไทยจะเป็นผู้ดูแลและ
บริหารงานในกิจการขององค์การรัฐสภาอาเซียน และจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสมัชชาใหญ่องค์การรัฐสภาอาเซียน ครั้งที่ 22
ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-7 กันยายน พ.ศ. 2544 ณ กรุงเทพฯ ประเทศไทย
อนึ่ง นางศิริลักษณ์ ปั้นบำรุงกิจ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้รับตำแหน่งเลขาธิการองค์การรัฐสภาอาเซียน ต่อจาก
นางสาว Ng Sheau Jiaun รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ประเทศสิงคโปร์
นายพิชัย รัตตกุล หัวหน้าคณะผู้แทนไทยฯ ได้กล่าวคำปราศรัยในการเข้ารับตำแหน่งประธานองค์การรัฐสภาอาเซียนว่า
ในช่วงเวลา 3 ปีที่ผ่านมา องค์การรัฐสภาอาเซียนได้มีความเปลี่ยนแปลงอย่างมาก เพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงในภูมิภาคอาเซียน
องค์การรัฐสภาอาเซียนมีความกระตือรือร้นในการแก้ปัญหาต่าง ๆ และเตรียมรองรับสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ซึ่งจะเห็นได้
จากการจัดการประชุมกรรมาธิการวิสามัญเฉพาะด้าน เพื่อแก้ไขปัญหาเร่งด่วนในภูมิภาค รัฐสภาไทยในฐานะเจ้าภาพการประชุมองค์การ
รัฐสภาอาเซียนครั้งต่อไป ตระหนักถึงความสำคัญของการประชุมสมัชชาใหญ่องค์การรัฐสภาอาเซียนที่สอดคล้องกับจุดมุ่งหมายของอาเซียน
และความต้องการของสมาชิกรัฐสภาอาเซียน อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ของสมาชิกรัฐสภาอาเซียนในระดับภูมิภาคนั้นยังไม่เพียงพอ
ดังนั้น องค์การรัฐสภาอาเซียนควรจะมีบทบาทในกิจการต่าง ๆ ในระดับโลกด้วย นอกจากนี้ ประธานรัฐสภายังได้เน้นถึงความสำคัญ
ของการสร้างจิตสำนึกความเป็นอาเซียนร่วมกัน และควรให้ความสนใจในประเด็นด้านสังคมในประเทศและในภูมิภาคมากขึ้น โดยเฉพาะ
เรื่องความมั่นคงของคน (Human Security) เพราะเรื่องความมั่นคงของคนนี้เป็นรากฐานสำคัญในการที่จะก่อให้เกิดความเจริญและ
ความมั่นคงของภูมิภาคต่อไป
ที่ประชุมสมัชชาใหญ่ครั้งนี้ ได้พิจารณาเรื่องต่าง ๆ ดังนี้
1. ด้านการเมือง
- การรวมตัวในภูมิภาคอาเซียน
- โลกาภิวัตน์และผลกระทบต่อภูมิภาคอาเซียน
- การประชุมว่าด้วยความมั่นคงในภูมิภาคอาเซียน
- แผนปฏิบัติการฮานอย
2. ด้านเศรษฐกิจ
- ผลกระทบของโลกาภิวัตน์ต่อเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียน
- เขตการค้าเสรีอาเซียน
3. ด้านสังคม
- แรงงานเด็กและการป้องปกสิทธิเด็ก
- โรคเอดส์
- การต่อต้านยาเสพย์ติด
- เครือข่ายความปลอดภัยทางสังคม
4. ด้านกิจการองค์การฯ
- รายงานการเงินปีงบประมาณที่ผ่านมา
- กำหนดสถานที่และช่วงวันประชุมของการประชุมสมัชชาใหญ่ ครั้งที่ 22
5. การประชุมร่วมกับประเทศผู้สังเกตการณ์
- ความสัมพันธ์ในภูมิภาคและระหว่างประเทศ
- การค้าและการลงทุน
- สิ่งแวดล้อม
- ความร่วมมือด้านการศึกษาและวัฒนธรรม
นอกจากนี้ยังได้มีการประชุมรัฐสภาสตรี องค์การรัฐสภาอาเซียนอีกด้วย