บันทึกการประชุมวุฒิสภาครั้งที่ ๑ (สมัยสามัญนิติบัญญัติ)

ข่าวการเมือง Monday August 6, 2001 13:02 —รัฐสภา

                                บันทึกการประชุมวุฒิสภา
ครั้งที่ ๑ (สมัยสามัญนิติบัญญัติ)
วันศุกร์ที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๔๔
ณ ตึกรัฐสภา
เริ่มประชุมเวลา ๐๙. ๓๕ นาฬิกา
เมื่อสมาชิกฯ มาครบองค์ประชุมแล้ว พลตรี มนูญกฤต รูปขจร ประธานวุฒิสภา
นายพิเชฐ พัฒนโชติ รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง และนายบุญทัน ดอกไธสง รองประธานวุฒิสภา
คนที่สอง ขึ้นบัลลังก์
ประธานวุฒิสภาได้กล่าวเปิดประชุม แล้วให้เลขาธิการวุฒิสภาอ่าน
พระบรมราชโองการให้ที่ประชุมทราบ รวม ๓ ฉบับ ดังนี้
๑. พระบรมราชโองการประกาศพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภาสมัยประชุม
สามัญนิติบัญญัติ พ.ศ. ๒๕๔๔ ตั้งแต่วันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๔๔ เป็นต้นไป
๒. พระบรมราชโองการประกาศแต่งตั้ง นายเกษม วัฒนชัย และนายพลากร
สุวรรณรัฐ เป็นองคมนตรี ตั้งแต่วันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๔๔ เป็นต้นไป
๓. พระบรมราชโองการประกาศแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการสิทธิมนุษยชน
แห่งชาติ ดังต่อไปนี้
๑) นายเสน่ห์ จามริก เป็นประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
๒) นายจรัล ดิษฐาอภิชัย เป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
๓) คุณหญิงจันทนี สันตะบุตร เป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
๔) นางสาวนัยนา สุภาพึ่ง เป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
๕) นายประดิษฐ์ เจริญไทยทวี เป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
๖) นายวสันต์ พานิช เป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
๗) นายสุทิน นพเกตุ เป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
๘) นางสุนี ไชยรส เป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
๙) นายสุรสีห์ โกศลนาวิน เป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
๑๐) คุณหญิงอัมพร มีศุข เป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
๑๑) นางสาวอาภร วงษ์สังข์ เป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
ตั้งแต่วันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๔๔ เป็นต้นไป
จากนั้น ประธานวุฒิสภาได้กล่าวนำสมาชิกวุฒิสภาใหม่ (นางสุนีย์ อินฉัตร)
ปฏิญาณตนในที่ประชุมก่อนเข้ารับหน้าที่ ตามมาตรา ๑๕๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
พุทธศักราช ๒๕๔๐
ต่อมา ประธานวุฒิสภาได้แจ้งให้ที่ประชุมรับทราบเรื่องต่าง ๆ ดังนี้
๑. รายงานสรุปข้อเท็จจริงเรื่องคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา
เขตเลือกตั้งจังหวัดเลย กรณี พลเอก อาทิตย์ กำลังเอก ของผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา
ตามมาตรา ๓๓ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน
ของรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๔๒
๒. เหตุขัดข้องที่ไม่อาจบรรจุกระทู้ถามเข้าระเบียบวาระการประชุมวุฒิสภาได้
ภายในกำหนดเวลา ตามข้อบังคับฯ ข้อ ๑๓๖ วรรคสาม จำนวน ๔ กระทู้ คือ
๑) กระทู้ถามเรื่อง นโยบายการแก้ไขกฎหมายหรือแนวทางปฏิบัติเพื่อปรับปรุง
วิธีการงบประมาณแผ่นดิน เพื่อให้ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายตุลาการมีความอิสระต่อกัน
ของนายวิบูลย์ แช่มชื่น
๒) กระทู้ถามเรื่อง กรณีองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยประกาศเปลี่ยนแปลง
เงื่อนไขการจ่ายส่วนแบ่งรายได้กับบริษัทเอไอเอส ของนายวิสิษฐ์ เตชะธีราวัฒน์
๓) กระทู้ถามเรื่อง นโยบายการขุดเจาะน้ำมันในเชิงพาณิชย์
ของนายสราวุธ นิยมทรัพย์
๔) กระทู้ถามเรื่อง การทุจริตในการจัดเก็บภาษีอากรรถยนต์นำเข้าโดยมี
การดัดแปลงที่นั่ง ของนายสนิท จันทรวงศ์
๓. คณะกรรมาธิการวิสามัญยกร่างข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของ
สมาชิกวุฒิสภาและกรรมาธิการ ขอขยายเวลาการพิจารณาเรื่องดังกล่าวออกไปอีก ๓๐ วัน
นับแต่วันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๔๔ ซึ่งการขอขยายเวลาของคณะกรรมาธิการในครั้งนี้เป็นการ
ขอขยายเวลานอกสมัยประชุม ประธานวุฒิสภาจึงได้อนุญาตให้ขยายเวลาได้ตามที่ขอมา
ตามข้อบังคับฯ ข้อ ๙๒
๔. การจัดให้มีการถ่ายทอดเสียงการประชุมของวุฒิสภาทางสถานีวิทยุ
กระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ และทางสถานีวิทยุรัฐสภา ตั้งแต่สมัยประชุม
สามัญนิติบัญญัตินี้เป็นต้นไป รวมทั้งจัดให้มีการถ่ายทอดการประชุมทางเครื่องขยายเสียงและ
โทรทัศน์วงจรปิดภายในบริเวณรัฐสภา ตามข้อบังคับฯ ข้อ ๑๓ วรรคสอง
จากนั้น ประธานวุฒิสภาได้ปรึกษาที่ประชุมโดยขอเพิ่มวันประชุมใน
สมัยสามัญนิติบัญญัตินี้ เพื่อให้รัฐมนตรีได้มาตอบกระทู้ถามในวันพฤหัสบดีของทุกสัปดาห์
เวลา ๐๙.๓๐ นาฬิกา อีก ๑ วัน ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบ
ต่อมา ประธานวุฒิสภาได้เสนอให้ที่ประชุมรับรองรายงานการประชุมวุฒิสภา
ครั้งที่ ๑๙ (สมัยสามัญนิติบัญญัติ) วันศุกร์ที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๔๓
ครั้งที่ ๒๐ (สมัยสามัญนิติบัญญัติ) เป็นพิเศษ วันจันทร์ที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๔๓ และ
ครั้งที่ ๒๑ (สมัยสามัญนิติบัญญัติ) เป็นพิเศษ วันอังคารที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๔๓
ซึ่งที่ประชุมได้รับรองรายงานการประชุมทั้ง ๓ ครั้งดังกล่าว
จากนั้น รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่งและรองประธานวุฒิสภาคนที่สอง
ได้ผลัดเปลี่ยนกันเป็นประธานของที่ประชุม โดยประธานของที่ประชุมได้เสนอให้ที่ประชุม
พิจารณาเรื่องตามระเบียบวาระเรื่องด่วน ตามลำดับ ดังนี้
๑. ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว ที่ประชุมได้พิจารณาในวาระที่ ๒ เริ่มต้นด้วย
ชื่อร่าง คำปรารภ แล้วเรียงตามลำดับมาตราจนจบร่าง และลงมติในวาระที่ ๓ เห็นชอบด้วยกับ
สภาผู้แทนราษฎร
๒. ร่างพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว
๓. ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว
ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติตามลำดับที่ ๒ และลำดับที่ ๓ ที่ประชุม
ได้พิจารณาในวาระที่ ๒ เริ่มต้นด้วยชื่อร่าง คำปรารภ แล้วเรียงตามลำดับมาตราจนจบร่าง
และลงมติในวาระที่ ๓ ให้แก้ไขเพิ่มเติมทั้ง ๒ ฉบับ ทีละฉบับ ตามลำดับ
๔. ร่างพระราชบัญญัติเชื้อโรคและพิษจากสัตว์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว ที่ประชุมได้พิจารณาในวาระที่ ๒ เริ่มต้นด้วย
ชื่อร่าง คำปรารภ แล้วเรียงตามลำดับมาตราจนจบร่าง และลงมติในวาระที่ ๓ เห็นชอบ
ด้วยกับสภาผู้แทนราษฎร
ต่อมา ประธานของที่ประชุมได้เสนอให้ที่ประชุมพิจารณาเรื่องตามระเบียบวาระ
กระทู้ถาม ตามลำดับ ดังนี้
๑. กระทู้ถามด่วน เรื่อง ปัญหาอุทกภัยในอำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่
ของนายสมพร คำชื่น ถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวง
มหาดไทยเป็นผู้ตอบ
๒. กระทู้ถาม เรื่อง การจัดหาสถานที่ทำงานแห่งใหม่ให้สมาชิกรัฐสภา
ของนายการุณ ใสงาม ถามนายกรัฐมนตรี ซึ่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
(นายจาตุรนต์ ฉายแสง) ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ตอบ
๓. กระทู้ถาม เรื่อง การพักชำระหนี้เกษตรกร ของนายวิชิต พูลลาภ
ถามนายกรัฐมนตรี ซึ่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (นายวราเทพ รัตนากร)
ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ตอบ
อนึ่ง สำหรับกระทู้ถาม เรื่อง ปัญหาการจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัว
รวมทั้งสถานพินิจในต่างจังหวัด ของนายสันติภาพ อินทรพัฒน์ และกระทู้ถาม เรื่อง
การดูแลเด็กกระทำผิดในกระบวนการยุติธรรม ของนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ถามรัฐมนตรี
ว่าการกระทรวงยุติธรรม นั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมได้ขอเลื่อนการตอบกระทู้ถาม
เรื่องนี้ ไปตอบในการประชุมครั้งต่อไป
จากนั้น ประธานของที่ประชุมได้เสนอให้ที่ประชุมพิจารณาเรื่องตามระเบียบวาระ
เรื่องอื่น ๆ คือ เลือกผู้ทรงคุณวุฒิฝ่ายวุฒิสภาเป็นกรรมการข้าราชการฝ่ายรัฐสภา แทนตำแหน่ง
ที่ว่าง ๒ ตำแหน่ง ซึ่งที่ประชุมได้มีมติให้ขยายเวลาในการพิจารณาเสนอชื่อผู้สมควรเป็นกรรมการ
ผู้ทรงคุณวุฒิดังกล่าว และให้เลื่อนการพิจารณาเรื่องนี้ออกไปก่อน
ต่อมา ประธานของที่ประชุมได้ปรึกษาที่ประชุมเพื่อนำเรื่องตั้งกรรมาธิการวิสามัญ
พิจารณาศึกษาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๕
แทนตำแหน่งที่ว่าง ๑ ตำแหน่งมาให้ที่ประชุมพิจารณา ซี่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบ และมีมติให้ตั้ง
นางสตรี ประทีปะเสน เป็นกรรมาธิการแทน นายจาตุรนต์ ฉายแสง ซึ่งขอลาออกจากตำแหน่ง
กรรมาธิการ
เลิกประชุมเวลา ๑๔.๕๐ นาฬิกา
(ลายเซ็น)
(นายพินิต อารยะศิริ)
เลขาธิการวุฒิสภา
สรุปผลการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ
เห็นชอบด้วยกับสภาผู้แทนราษฎร จำนวน ๒ ฉบับ คือ
๑. ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
๒. ร่างพระราชบัญญัติเชื้อโรคและพิษจากสัตว์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
ให้แก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติ จำนวน ๒ ฉบับ คือ
๑. ร่างพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
๒. ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
ฝ่ายระเบียบวาระและรายงานการประชุม
กองการประชุม
โทร ๐ ๒๒๔๔ ๑๕๖๘
โทรสาร ๐ ๒๒๔๔ ๑๕๖๖

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ