ความหมายและความสำคัญ
การลงทุนหรือการสะสมทุน (Capital Formation) คือการใช้จ่ายที่ก่อให้เกิดผลผลิตในระยะต่อไปประกอบด้วย การลงทุนในรูป
สินทรัพย์ถาวร (FixedCapitalFormation) และส่วนเปลี่ยนสินค้าคงเหลือ (Change in Inventories) ทั้งนี้อาจจำแนกการลงทุนใน
สินทรัพย์ถาวร เป็นการลงทุน ด้านการก่อสร้างและการลงทุนด้านเครื่องจักรอุปกรณ์
การลงทุนในภาคเหนือ
ในช่วงปี 2532-2539 เศรษฐกิจภาคเหนือขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 5.8 ต่อปีการลงทุนนับเป็นปัจจัยสำคัญและเป็นกลไกผลักดันการเจริญ
เติบโต ของเศรษฐกิจภาคเหนือโดยขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 11.8 ต่อปี และมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 44.3 ของผลิตภัณฑ์ภาคและเฉลี่ยลงทุนปีละ
101.7 พันล้าน บาท จำแนกเป็นการลงทุนของภาคเอกชนและการลงทุนภาครัฐ 80.0 พันล้านบาท และ 21.7 พันล้านบาท หรือเฉลี่ยร้อยละ
35.1 และ 9.2 ของผลิตภัณฑ์ภาค ตามลำดับ การลงทุนเพิ่มความ สำคัญขึ้นเป็นลำดับจากสัดส่วนร้อยละ 34.3 ของผลิตภัณฑ์ภาคเมื่อปี 2532
เป็นร้อยละ 50.8 ในปี 2538 แต่กลับลดลงเหลือร้อยละ 49.8 ในปี 2539 ตามแนวโน้มเศรษฐกิจส่วนรวมของประเทศ แต่สัดส่วนดังกล่าวสูง
กว่าร้อยละ 42.6 ของเฉลี่ยทั้งประเทศ
แม้ว่าการลงทุนของภาครัฐบาลจะมีความสำคัญน้อยกว่าภาคเอกชน แต่ในบางจังหวัดเช่น จังหวัดลำปางและพิษณุโลก บทบาทของ
ภาครัฐบาลกลับมีสูงกว่าภาคเอกชน กรณีจังหวัดลำปางเป็นผลจากการลงทุนสร้างโรงงานผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินลิกไนต์ ขณะที่จังหวัดพิษณุโลกมีการลง
ทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน เนื่องจากเป็นศูนย์ราชการ การศึกษา และคมนาคมระดับภาค
การลงทุนจำแนกตามประเภทการลงทุน
เมื่อพิจารณาองค์ประกอบการลงทุนพบว่าการลงทุน ด้านก่อสร้างและการลงทุนในเครื่องจักรอุปกรณ์มีสัดส่วนใกล้เคียงกันเมื่อเทียบ
กับผลิตภัณฑ์ภาคเหนือ คือเฉลี่ยร้อยละ 22.1 และร้อยละ 22.2 ตามลำดับ แต่สัดส่วนการลงทุนด้าน ก่อสร้างในภาคเหนือตอนบน โดยเฉพาะ
จังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย สูงกว่าการลงทุนในเครื่องจักรอุปกรณ์ เนื่องจากมีการลงทุนก่อสร้างโรงแรม รีสอร์ท อาคารชุดอยู่อาศัย บ้านอยู่
อาศัย ทาวเฮ้าส์ และอาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นมากในปี 2533-2534 และปี 2537-2538 ขณะที่สัดส่วนการลงทุนในเครื่องจักรอุปกรณ์ของภาคเหนือ
ตอนล่าง และบางจังหวัดของภาคเหนือตอนบน เช่น จังหวัดลำพูนกลับสูงกว่าด้านก่อสร้าง จากการลงทุนของอุตสาหกรรมน้ำตาล โดยเฉพาะใน
จังหวัด กำแพงเพชร นครสวรรค์ อุตรดิตถ์ และเพชรบูรณ์ สำหรับ จังหวัดลำพูนเป็นผลจากการเปิดดำเนินการของนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ
ในระหว่างปี 2532-2539 ภาคเอกชนให้ความสำคัญ โดยเปรียบเทียบกับการลงทุนประเภทเครื่องจักรอุปกรณ์มากกว่าการลงทุน
ประเภทก่อสร้าง ส่วนภาครัฐกลับให้ความสำคัญด้านการก่อสร้าง สัดส่วนการลงทุนของภาคเอกชนในเครื่องจักรอุปกรณ์และการก่อสร้างเฉลี่ยร้อยละ
20.7 และ 14.4 ของผลิตภัณฑ์ภาคเหนือเทียบกับการลงทุนของภาครัฐบาลเฉลี่ยร้อยละ 1.6 และ 7.7 ของผลิตภัณฑ์ภาคตามลำดับ
การลงทุนจำแนกตามพื้นที่
การลงทุนในภาคเหนือตอนล่างขยายตัวสูงในอัตราที่เร่งตัวกว่าภาคเหนือตอนบน โดยขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 12.1 เทียบกับร้อยละ
9.3 ของภาคเหนือตอนบน แต่สัดส่วนการลงทุนของภาคเหนือตอนล่างต่อผลิตภัณฑ์ภาคยังต่ำกว่าภาคเหนือตอนบนเฉลี่ยเพียงร้อยละ 40.5 เทียบกับ
ร้อยละ 47.8 ในภาคเหนือตอนบน อย่างไรก็ตามทั้งการลงทุนในภาคเหนือตอนบนและตอนล่างยังคงขึ้นอยู่กับภาคเอกชนเป็นสำคัญ
ในปี 2539 การลงทุนภาคเอกชนในภาคเหนือตอนบนหดตัวทั้งในประเภทเครื่องจักรอุปกรณ์และก่อสร้าง ขณะที่การลงทุนภาครัฐ
ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง ทำให้การลงทุนในภาคเหนือตอนบนหดตัวเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2532 อัตราการลงทุนในเกือบทุกจังหวัดของภาคเหนือ
ตอนบนชะลอตัวลงเป็นสำคัญ ทำให้เศรษฐกิจภาคเหนือตอนบนในปี 2539 เติบโตเพียงร้อยละ 4.7 ต่ำที่สุดในรอบ 8 ปี จังหวัดเชียงรายมีสัดส่วน
การลงทุนต่อผลิตภัณฑ์ภาคสูงสุดเฉลี่ยร้อยละ 63.1 ในช่วงปี 2532-2539 รองลงมาได้แก่ จังหวัดแพร่และจังหวัดน่าน ร้อยละ 54.2 และ 51.2
ตามลำดับ ส่วนจังหวัดที่มีเงินลงทุนสูงสุดคือจังหวัดเชียงใหม่เฉลี่ย 19.9 พันล้านบาทต่อปี รองลงมาได้แก่ จังหวัดเชียงราย และจังหวัดลำปาง
11.5 พันล้านบาท และ 8.4 พันล้านบาท ตามลำดับ
ในภาคเหนือตอนล่าง การลงทุนภาคเอกชนยังขยายตัว ในปี 2539 ทำให้สัดส่วนการลงทุนของภาคเหนือตอนล่าง ต่อผลิตภัณฑ์ภาค
เพิ่มขึ้น ทั้งนี้จังหวัดพิษณุโลก มีสัดส่วนการลงทุนต่อผลิตภัณฑ์ภาคสูงสุดเฉลี่ยร้อยละ 51.6 ระหว่างปี 2532-2539 รองลงมาได้แก่ จังหวัดอุทัยธานี
และจังหวัด เพชรบูรณ์ ร้อยละ 45.0 และร้อยละ 42.1ตามลำดับ ส่วนเงินลงทุนสูงสุดได้แก่จังหวัดนครสวรรค์เฉลี่ย 8.6 พันล้านบาทต่อปี รองลง
มาได้แก่ จังหวัดพิษณุโลก 8.3 พันล้านบาท และ จังหวัดเพชรบูรณ์ 6.2 พันล้านบาท
ตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา การลงทุนภาคเอกชน และภาครัฐบาลในภาคเหนือหดตัวแต่ก็มีทิศทางปรับตัวดีขึ้น โดยในปี 2542 ราย
จ่ายลงทุนภาครัฐลดลงร้อยละ 1.8 จากปีก่อน เทียบกับที่ลดลงร้อยละ 25.9 ในปีก่อนหน้า แต่รัฐบาลก็มีมาตรการเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐเพื่อกระตุ้น
เศรษฐกิจ (มิยาซาวา) ณ สิ้นปี 2542 เบิกจ่ายในภาคเหนือแล้ว 6.8 พันล้านบาท และส่วนหนึ่งเป็นค่าใช้จ่ายด้านลงทุนเมื่อรวมการใช้จ่ายส่วนนี้
ทำให้การลงทุนของภาครัฐบาลในภาคเหนือเพิ่มขึ้น
การลงทุนในภาคเหนือ (หน่วย : ร้อยละ)
2532 2535 2536 2537 2538 2539 เฉลี่ยปี
2532-2539
การลงทุนรวม
ภาคเหนือ 1/ 34.3 42.2 43.8 49.5 50.8 49.8 44.3
ตอนบน 2/ 38.8 46.9 47.1 53.2 53.2 50.9 47.8
ตอนล่าง 3/ 29.1 36.9 40.1 45.2 48.2 48.6 40.5
การลงทุนภาคเอกชน
ภาคเหนือ 1/ 28.2 33 34.2 38.3 38.3 37.9 35.1
ตอนบน 2/ 31.4 36.8 36.9 40.9 39.7 37.6 37.6
ตอนล่าง 3/ 24.6 28.6 31.1 35.4 36.7 38.3 32.3
การลงทุนภาครัฐ
ภาคเหนือ 1/ 6.1 9.2 9.6 11.2 12.5 11.9 9.2
ตอนบน 2/ 7.4 10.1 10.2 12.3 13.5 13.3 10.2
ตอนล่าง 3/ 4.5 8.3 9 9.9 11.4 10.3 8.2
หมายเหตุ : 1/ สัดส่วนต่อผลิตภัณฑ์ภาคเหนือ
2/ สัดส่วนต่อผลิตภัณฑ์ภาคเหนือตอนบน
3/ สัดส่วนต่อผลิตภัณฑ์ภาคเหนือตอนล่าง
ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
การลงทุนในภาคเหนือจำแนกตามประเภทการลงทุน (หน่วย : ร้อยละ)
เฉลี่ยปี 2532-2539
ก่อสร้าง เครื่องจักรอุปกรณ์ การลงทุนรวม
ภาคเหนือ 1/ 22.1 22.2 44.3
ตอนบน 2/ 24.9 22.9 47.8
ตอนล่าง 3/ 19.0 21.5 40.5
หมายเหตุ : 1/ สัดส่วนต่อผลิตภัณฑ์ภาคเหนือ
2/ สัดส่วนต่อผลิตภัณฑ์ภาคเหนือตอนบน
3/ สัดส่วนต่อผลิตภัณฑ์ภาคเหนือตอนล่าง
ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ