ปาฐกถา เรื่อง "ทิศทางเศรษฐกิจและยุทธศาสตร์ประเทศไทย" โดย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 25, 2001 12:36 —กระทรวงการคลัง

                                ปาฐกถา เรื่อง
"ทิศทางเศรษฐกิจและยุทธศาสตร์ประเทศไทย"
โดย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์
รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมแชงกรี-ลา
วันที่ 25 ตุลาคม 2544
______________________________
ผมขอขอบพระคุณคณะผู้จัดงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนังสือพิมพ์ตงฮั้ว และไทยธนาคาร ที่ให้เกียรติเชิญผมมาในวันนี้ เพื่อมาพูดคุยบอกเล่าให้พวกเรานักธุรกิจ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักธุรกิจที่มีเชื้อสายจีนทำมาค้าขายอยู่ในประเทศนี้
วันนี้ ผมเพิ่งมีโอกาสเห็นรูปของผมที่ปรากฏอยู่ในหนังสือพิมพ์ตงฮั้ว พร้อมกับชื่อจีนที่ปรากฏอยู่ว่า "จัง ฮั้ง กวง" พอได้เห็นรูปถ่ายรูปนั้น สิ่งแรกที่ผมคิดถึงก็คือว่าคุณพ่อ เพราะจำได้ว่าตอนที่คุณพ่อยังมีชีวิตอยู่นั้นผมยังเด็กมาก ท่านเคยบอกว่า "กวงเอ้ย…เมื่อไรจะมีโอกาสเห็นชื่อ 'จัง ฮั้ง กวง' บนหนังสือพิมพ์ที่อ่านเสียที?" ผมนั่งอยู่ข้างๆ ฟังหูซ้ายทะลุหูขวา ไม่ได้เอาใจใส่มากนัก แต่ก็ตระหนักอยู่แก่ใจว่า สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นความหวังของคนจีนโพ้นทะเลที่มาปักหลักอยู่ในเมืองไทยว่า สักวันหนึ่งเขาจะสามารถยืนหยัดลืมตาอ้าปากในระบบเศรษฐกิจไทย และถ้าหากเป็นไปได้ก็อยากจะเห็นลูกหลานสามารถสืบทอดนามสกุลของคนจีนให้ปรากฏอยู่ในแผ่นดินไทย
ทุกสิ่งทุกอย่างที่ท่านพร่ำสอนก็คือว่า เวลาเรามีชีวิตเราต้องทำงานให้หนัก อย่าคดโกง อย่าทุจริต ให้ถือเกียรติ ถือศักดิ์ศรีมาก่อน เรื่องอื่นๆ มาทีหลัง สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่คนจีนเราสอนลูกหลานมาตลอด เมื่อเรายังเป็นเด็กยังไม่ค่อยเข้าใจมันนัก แต่เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ขึ้นก็รู้ว่า สิ่งเหล่านี้มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง หนังสือพิมพ์ฉบับนั้นผมเก็บเอาไว้ อีกหน่อยจะส่งให้คุณพ่อทางแอร์เมล์ ใช้วิธีเผาส่งไปก็แล้วกัน
ชื่อจริงของผมคือ จัง ฮั้ง กวง ผมเกิดที่เยาวราช ตรอกเทียนกัวเทียน จำได้ว่าปากซอยมีร้ายขายทอง อีกข้างหนึ่งมีร้านขายซาลาเปา ขายขนมปัง จากนั้นก็ได้มีโอกาสโยกย้ายที่อยู่จากตรงนั้นไปสู่วัดเกาะแถว ๆ บ้านเจียไต๋ ได้มีโอกาสกินลูกชิ้นของเหล่าโหงว จากนั้นก็ไปอยู่แถบสะพานเหลือง แล้วก็ค่อยๆ ขยับขยายออกไป โรงเรียนแห่งแรกที่เรียนคือโรงเรียนเขี่ยวกวง (คริสต์ธรรมวิทยา) ตรงสะพานเหลือง แล้วก็โยกไปอยู่ตรงที่ขณะนี้เป็นโรบินสันเก่า ก็คือ โรงเรียนพาณิชยวิทยาลัย แผนกสามัญ ได้มีโอกาสเรียนภาษาจีน ตอนช่วงเล็ก ๆ น่าเสียดายที่ว่าเลิกเรียนกลางคันก็เลยปะติดปะต่อไม่ได้ ได้งู ๆ ปลา ๆ แต่ก็ยังรู้สึกว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่มีโอกาสได้เรียนก็ยังใช้ประโยชน์ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวอักษรจีน เป็นสิ่งที่มีความหมายมหาศาลทีเดียว
มีอักษรอยู่ 2 - 3 ตัวที่ผมคิดว่า วันนี้ทุกคนต้องยึดหลักเป็นคาถาท่องประจำใจ คำแรกก็คือ "เหวยจี" ก็คือ ทุกวิกฤตการณ์คือโอกาส อันนี้เป็นเรื่องจริง ถ้าไม่มีวิกฤตไม่มีโอกาสเด็ดขาด ฉะนั้นภายใต้สิ่งที่มันหมองมัวไม่แน่นอน มักจะมีโอกาสเปิดอยู่ แต่ภายใต้โอกาสเปิดอยู่นั้น มีอักษรจีนอยู่ตัวหนึ่ง ซึ่งสำคัญมาก ผมถือเป็นหลักเลย ตั้งไว้บนโต๊ะทำงาน ตั้งไว้ในห้องนอน เตือนสติตัวเองตลอดเวลา คำนั้นถ้าผมจำไม่ผิด อ่านว่า "เยิ่น" เป็นตัวอักษรสองตัวประกบกัน ตัวบนแปลว่า มีด ตาว มีด แต่มีอักษรขีดคั่นเล็ก ๆ หมายถึงมีดเล็ก ๆ เล่มหนึ่ง ข้างล่างคือตัว ซิน แปลว่า จิตใจ ทีแรกผมก็ไม่เข้าใจ แต่นั่งคิดในใจ แปลว่ามีดที่พักอยู่ที่ใจ สงสัยแปลว่ากระบี่อยู่ที่ใจ เพราะว่าตอนเด็ก ผมอ่านหนังสือกำลังภายในบ่อย ๆ แต่พอไปถามผู้รู้แล้วกลับไม่ใช่ คำๆ นั้นแปลว่า ในหัวใจของคนทุกคนมันเหมือนมีมีดเล็ก ๆ ปักอยู่ ฉะนั้นทุกคนต้องมีความอดทนอดกลั้น อย่าใช้อารมณ์เข้าว่า ความอดกลั้นจะช่วยเรา
ผมมีคำกลอนเขียนอยู่ใต้อักษรหนึ่งที่บอกว่าต้องรอให้ฟ้าเปิด รอให้ทะเลมหาสมุทรเปิดกว้าง พายุ ฝนฟ้าสงบ แต่ในระหว่างช่วงที่เราเล็งอยู่นั้น เราดูสิว่าโอกาสอยู่ที่ไหน เมื่อฟ้าเปิด ทะเลเปิดกว้าง ให้เราพุ่งทะยานออกไป อย่ารอช้า หมายความว่าช่วงที่ลำบากให้ตระเตรียม เมื่อโอกาสเปิดเราทะลวงไป อย่ามัวแต่นั่งกอดเข่า บอกว่าวันนี้ GDP ตก แย่แล้ว! แย่แล้ว! ถ้าคิดอย่างนี้ ต่อให้ฟ้าเปิด เปิดแล้วก็ยังไปไม่ได้ เพราะว่าไม่ได้เตรียมตัว ฉะนั้นอักษร 2 ประโยคนี้ คำว่า "เหวยจี" ก็คือทุก ๆ วิกฤตการณ์ยังมีโอกาส กับคำว่า "เยิ่น" ที่แปลว่า ต้องอดทนอดกลั้น รอจังหวะเวลา เตรียมตัวรอให้พร้อม มีน้อยคนนักที่สามารถอดทนอดกลั้น และคนที่รู้จักอดทนอดกลั้น รอโอกาสคือผู้สำเร็จในที่สุด
เมื่อเราเกิดมาอยู่ที่เมืองไทย โดยที่เราเป็นลูกคนจีน วิถีชีวิตก็ยังคงวนเวียนอยู่แถบคนจีนพอสมควร เพราะว่าเราติดนิสัยอะไรหลาย ๆ อย่าง เช่น เสาร์อาทิตย์ ถ้ามีเวลาก็พาลูกพาเมียไปเดินเที่ยวแถบเยาวราชเป็นประจำ เมื่อวันหยุดที่ 23 ตุลา วันปิยมหาราช ตกเย็นก็พาภรรยากับลูก 2 คนไปทานข้าวต้มปลาที่ซอยข้าง ๆ โรงแรมแกรนด์ไชน่า ตั้งใจว่าวันนั้นตกเย็นอยากทานข้าวต้มปลาอร่อย ๆ ไม่ให้ใครเห็นหน้า ก็ให้รถสุ่มไปแล้วลงไปทันที พอลงไปถึง สิ่งแรกก็คือว่า อาแปะที่เป็นเจ้าของร้าน อายุ 60 กว่า เดินมาหาทันที จูงมือเข้าไปนั่งทานข้าวต้มปลา บอกว่าผมจำท่านได้ วันนี้ใส่หมูเต็มที่ ใส่ปลาเต็มที่ แต่ไม่ยอมเก็บสตางค์ผม ก็ขอโฆษณาไว้ ณ ที่นี้ว่าให้ไปอุดหนุนท่านหน่อย เพราะในขณะที่ทานอร่อย ๆ อยู่นั้น ผมก็ถามว่า อาแปะ ธุรกิจเป็นอย่างไร อาแปะบอกว่าพอขายได้ แต่อยากให้เศรษฐกิจฟื้นเร็ว ๆ จะได้ขายดี "ขายดี" คำพูดคำนั้นทำให้น้ำย่อยที่กำลังย่อยดีอยู่เริ่มชะงักหาย แต่มันเป็นสิ่งที่ดีมาก ๆ เพราะว่าทันทีที่ทานเสร็จ นั่งรถกลับบ้าน มันมีสิ่งที่อยู่ในใจ คือว่า ถ้ามีโอกาสทำให้สิ่งเหล่านี้ดีขึ้นมา อันนั้นถือเป็นบุญกุศลที่ยิ่งใหญ่จะพยายามให้เต็มที่ เพราะนั่นคือภารกิจ
ทุกคนอยากให้ทุกอย่างดีขึ้นและก็ต้องมีใครบางคนที่ต้องมาทำงานเพื่อสิ่งเหล่านี้ เรื่องตำแหน่งไม่ใช่เรื่องสำคัญเลย ชีวิตการเมืองเป็นชีวิตที่มาแล้วก็ไป แต่ถ้าคนเรามีโอกาสมาอยู่ตรงนี้ ทำงานให้คนอื่นเขา ได้เห็นคนอื่นมีความสุขขึ้นอันนั้นเป็นสิ่งที่ดี เพียงแต่ว่า ผมยังไม่สามารถอธิบายให้อาแปะฟังได้ว่า การที่จะฟื้นเศรษฐกิจให้เร็วนั้น มันไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมืองไทย ที่ไม่เคยทำอะไรมาหนัก ๆ เราสุขสบายมานาน แล้วจู่ ๆ เจอพายุฝน จะมานั่งให้อาแปะเข้าใจผมคงใช้เวลายาว แต่วันนี้ ผมจะพยายามถ่ายทอดในสิ่งที่ผมรู้ ที่ผมคิดว่ารัฐบาลคิดอะไร รัฐบาลทำอะไร มาให้พวกเราฟัง เพื่อจะได้เข้าใจร่วมกัน ผมจะพูดในสิ่งเหล่านี้ เท่าที่เสียงผมมีอยู่
เมื่อรัฐบาลชุดนี้เริ่มเข้าบริหารงานใหม่ ๆ เรารู้แน่ ๆ ว่า ปัญหาหลักมีอยู่ประมาณ 5 ประการ
ปัญหาประการ 1 แนวโน้มเศรษฐกิจที่มันเริ่มถดถอย อันนี้ไม่นับปัญหาภายในประเทศ ตอนนั้นเศรษฐกิจอเมริกา ญี่ปุ่น เริ่มส่อแววว่า ยากที่จะเติบโต แต่มันไม่ใช่หน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องไปบอกว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่ดีแล้ว ญี่ปุ่นไม่ดีแล้ว เราจะแย่ ไม่ใช่หน้าที่ เรารู้ว่าเศรษฐกิจโลกกำลังเข้าสู่ภาวะที่เริ่มถดถอย มิหนำซ้ำก็ยังมาพบกับปัญหาซึ่งเราไม่เคยคิดว่าจะพบ คือเรื่องภัยสงครามที่กำลังจะเกิดขึ้น
ปัญหาประการที่ 2 ภาวะที่ภาคการผลิตธุรกิจเอกชนอยู่ในฐานะที่อ่อนแอ ธุรกิจอ่อนแอเพราะเหตุหลาย ๆ อย่าง ทั้งวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ เพราะปัญหาสถาบันการเงิน เพราะปัญหาอุปสงค์ที่ถดถอย สิ่งเหล่านี้มันเริ่มหมักหมมเข้ามา
ปัญหาประการที่ 3 ซึ่งเป็นปัญหาหลัก คือระบบสถาบันการเงิน ซึ่งเป็นตัวหล่อเลี้ยงก่อให้เกิดสภาพคล่อง เหมือนกับเลือดที่หล่อเลี้ยงร่างกายของเรา มันไม่สามารถทำหน้าที่ของมันได้ สถาบันการเงินไม่กล้าปล่อยสินเชื่อ เพราะเกรงว่าปล่อยไปแล้วจะเป็นหนี้เสีย ธนาคารมีปัญหาก็ต้องทุ่มทุนเข้าไป เอาเงินตัวเองเข้ามาเพิ่มทุน เสร็จแล้วก็ต้องถูกลดทุน ฉะนั้นวิธีที่เขาจะต้องทำก็คือ ประคองตัวเขาเองให้ดีที่สุด อย่าให้ทรุด แน่นอนที่สุดการที่นักธุรกิจเริ่มมีปัญหา ไม่มีสภาพคล่อง ไม่มีสินเชื่อ ทั้ง ๆ ที่มี Order เขาก็ไม่กล้าที่จะปล่อยสินเชื่อไป เพราะถ้าปล่อยไปแล้วเกิดวงจรสินเชื่อนั้นขาดตอน ซึ่งพวกเรารู้อยู่แล้วว่าในรอบ 2-3 ปีผ่านมา ระบบสินเชื่อประเทศไทยมันหายไปแล้ว มันพังไปแล้ว มันเหลือแต่ระบบเงินสด ระบบเชื่อถือส่วนตัว ฉะนั้นตรงนี้ระบบสถาบันการเงินไม่สามารถทำงานได้
ปัญหาประการที่ 4 ฐานประชาชนของประเทศอ่อนแอมาก ถ้าเรารู้ว่าเศรษฐกิจนอกประเทศจะเริ่มชะลอตัวลง สิ่งที่สำคัญคือต้องพึ่งเศรษฐกิจภายในประเทศ ถ้าเศรษฐกิจภายในประเทศ ต้องถามว่า อำนาจซื้ออยู่ที่ใคร ก็คือประชาชนธรรมดา ประชาชนส่วนใหญ่อยู่ในชนบทยากจน ผลผลิตไม่ทันออกมาเลยเป็นหนี้แล้ว พวกเราพ่อค้ารู้ดี เศรษฐกิจชาวนามีเงินเพิ่มมา 10 บาท หมุนจำนวนรอบตั้งกี่รอบ การค้าในเมืองดีทันที แต่ถ้าหากว่า ธุรกิจของชาวนาเหล่านั้นไม่มีเงิน มีแต่หนี้ อำนาจซื้อจะเอามาจากที่ไหน? พอหันกลับเข้ามาในเมือง ประชาชนที่เราได้ชื่อว่าชนชั้นกลางก็ประสบสภาพเช่นเดียวกัน เงินเดือนไม่ได้ขึ้น ดีไม่ดีเสี่ยงภัยต่อการตกงาน มีคนส่วนใหญ่ของชนชั้นกลางมีแต่ลูกจ้าง มีที่เป็นนายจ้างจริง ๆ ที่เป็นเถ้าแก่จริง ๆ มีน้อยมาก ยุคสมัยคุณพ่อคุณแม่เรา มีลูกมีเต้าค้าขาย แต่พอตั้งตัวได้ ให้ลูกค้าขาย ลูกชายบอกว่าไม่มีเกียรติ ต้องเป็นลูกจ้างบริษัทห้างร้านฝรั่งถึงจะมีเกียรติ อย่างนี้เขาเรียกว่าถอยหลังเข้าคลอง
คนเรามีการศึกษามีความรู้ต้องกล้าที่จะสร้างธุรกิจ เป็น Entrepreneur เป็นเจ้านายของตัวเอง แต่เราถูกสร้างขึ้นมาในระบบการศึกษาที่บอกว่าเข้าออฟฟิศได้สบาย ๆ กินเงินเดือนประจำ สิ้นเดือนตกเบิก ไม่ยอมรับความเสี่ยง ภาษาจีนเขาเรียกว่า "เกียซู" คือกลัวแพ้ ซึ่งโรคเกียซูมันไม่ได้เกิดมาในเมืองไทยอย่างเดียว มันเกิดแม้กระทั่งในสิงคโปร์ คือรุ่นก่อน ๆ นั้น พ่อแม่เขาลำบากมาเยอะ เขาตั้งหน้าทำมาค้าขาย สร้างธุรกิจขึ้นมา หมุนเช็คครั้งหนึ่งตั้งกี่รอบ พอมีลูกเต้าหวังจะพึ่ง ลูกเต้าบอกว่าไม่รับความเสี่ยง ขอไปเป็นลูกจ้าง เข้าไปในออฟฟิศหรู ๆ แอร์เย็น ๆ นี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในรอบ 30 - 40 ปีที่ผ่านมา ผมก็คนหนึ่งไม่ยอมค้าขาย แต่หันมาทางการเรียนหนังสือ เมื่อเรียนหนังสือสูงมาก ศัพท์ภาษาอังกฤษ เรียกว่า "Opportunity Cost" สูง ไม่ยอมเสี่ยง เสียโอกาส ฉะนั้น แนวโน้มอันนี้ผมจะพยายามเปลี่ยนมันให้ได้ มาถึงจุดนี้ เมื่อคนในชนบทอ่อนแอ คนในเมืองก็ยังไม่เข้มแข็ง อำนาจซื้อจะมาจากที่ไหน? ที่เราบอกให้พึ่งตลาดภายในประเทศ อำนาจซื้ออยู่ที่ไหน?
ปัญหาหลักที่ 5 ซึ่งก็เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ประเทศนี้เรื่องไม่มีความสามารถที่จะแข่งขัน ลองไล่โยงมาเศรษฐกิจเริ่มมีแนวโน้มว่าชะลอตัว ภาคเอกชนไม่แข็งแรง ระบบสถาบันการเงินไม่สามารถทำงานตามหน้าที่ปกติ ประเทศ Non-competitive เพิ่งถูกลดอันดับลงมา ในบรรดาการเปรียบเทียบหลาย ๆ ประเทศ เราไม่ต้องมาโทษว่ารัฐบาลนี้หรือรัฐบาลที่แล้ว เพราะสิ่งเหล่านี้สั่งสมกันมาเป็นสิบ ๆ ปี วัดที่ปัจจัยไม่กี่ตัว คุณภาพของคน คุณภาพเทคโนโลยี Good Governance หรือว่าการจัดการการบริหารที่ดี Science และเทคโนโลยี ฯลฯ เราไม่เคยสนใจในสิ่งเหล่านี้อย่างจริงจังเป็นเวลาสิบ ๆ ปี ฉะนั้นไม่ใช่ความผิดของรัฐบาลชุดที่แล้ว ไม่ใช่ชุดนี้ แต่เป็นหน้าที่ของทุกรัฐบาลที่จะต้องเริ่มสร้างตรงนี้ขึ้นมาใหม่ และมันจะใช้เวลาอีกหลายปี อันนี้ข้อเท็จจริงที่ต้องยอมรับกัน
ทั้งหมดนี้คือปัญหาหลัก ๆ ที่เมื่อจะเข้ามาเรารู้ว่าปัญหาเหล่านี้มีอยู่ การที่เราเป็นอาจารย์อยู่ข้างนอก คลุกคลีกับภาคเอกชนเราเห็นปัญหารอบ ฉะนั้นปัญหาเมืองไทยมันไม่ได้อยู่ที่แบงก์ไม่ทำงาน ไม่ใช่อยู่ที่เอกชนมี NPL เอกชนไม่มี NPL ความสามารถในเชิงแข่งขันก็ไม่มีอยู่แล้ว ทรุดลงทุกวัน วันนี้ถามว่า ใครจะเป็นผู้ไปแข่งขันกับผู้ประกอบการผลิตที่เมืองจีนระดับสูสีได้บ้าง ถ้าไม่รีบปรับตัวตั้งแต่วันนี้ อนาคตจะเป็นอย่างไร เราทราบกันดีอยู่ทุกคน ฉะนั้นนี้คือปัญหาที่เรารู้ว่าเรากำลังเจออยู่ แล้วแถมอยู่ภายใต้ข้อจำกัด 2 ข้อ
ข้อที่ 1 ข้อจำกัดของงบประมาณแผ่นดิน มีงบเท่าไรก็แล้วแต่ตัดออกมาแล้ว 80% เป็นค่าใช้จ่ายประจำ ถามว่าตัดงบประจำนี้ได้ไหม? ช่วงนี้ตัดไม่ได้เลย จะตัดเงินเดือน จะลดคนงาน ลดข้าราชการ จะให้เขาเอาชีวิตเหล่านี้ไปอยู่ที่ไหน เป็นภาระสังคมอย่างนั้นหรือ? เป็นไปไม่ได้ ยังเหลือประมาณ 20% เป็นงบลงทุน ไม่รวมหนี้ที่ต้องจ่ายปีละ 100,000 ล้านโดยประมาณ 100,000 ล้านหารด้วย 12 เหลือเท่าไหร่ครับ ตีเสียว่าเดือนละประมาณ 10,000 ล้าน นับเป็นวันไหม? หารดู เพราะถ้านับเป็นวันท่านจะกินข้าวไม่ลง นี้คือข้อเท็จจริงที่มีอยู่ภายใต้ข้อจำกัดที่เป็นหนี้ เราก็ไม่รู้ว่า ทำไมประเทศของเราถึงต้องมาตรงนี้ได้อย่างไรไม่ทราบ
ข้อที่ 2 ภายใต้ภาวะอย่างนี้ต้องพึ่งพาตลาดภายในประเทศ ความมั่นใจเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง แต่ ณ วันนี้ คนเริ่มสูญเสียความมั่นใจมาตลอด 3-4 ปีที่ผ่านมา ยิ่งเกิดสงครามขึ้นมา คนก็ยิ่งเริ่มสูญเสียความมั่นใจ วันนี้สิ่งที่ผมเป็นห่วงที่สุดคือว่า ถ้าคนไทยสูญเสียความมั่นใจ เขาจะไม่ยอมใช้จ่าย จะชะลอการใช้จ่าย ทั้ง ๆ ที่เศรษฐกิจยังไม่ได้ทรุด แต่เขาจะทำให้เศรษฐกิจเริ่มทรุด เพราะชะลอการใช้จ่าย ก็ในเมื่อเงินตราจากนอกประเทศจะลดน้อยลง ทั้งส่งออก และท่องเที่ยว ภายในประเทศการใช้จ่ายเป็นสิ่งสำคัญ ฉะนั้นความเชื่อมั่นจะต้องมี ผมคงไม่สามารถบอกได้ว่าต้องเชื่อแบบปิดหูปิดตา มันเป็นไปไม่ได้ แต่ท่านต้องเชื่อในศักยภาพของเมืองไทย เมืองไทยมันก็เหมือนเรือลำหนึ่ง ผมเคยเปรียบเทียบเอาไว้ เรือลำนี้เป็นเรือที่ดี มีทุกอย่างพร้อม แต่เหตุการณ์ที่ผ่านมามันทำให้เรือมีรอยแตกบ้าง มีรอยรั่วบ้าง เป็นหน้าที่ของทุกรัฐบาลเข้ามา ต้องปะ ต้องทำให้มันดีก่อนที่จะสร้างขึ้นมาใหม่ในอนาคตข้างหน้า ฉะนั้นภายใต้ทรัพยากรที่เรามีอยู่ ข้างนอกมีพายุฝน เราต้องช่วยกันประคับประคองไป ต้องเชื่อมั่นในศักยภาพของเมืองไทย มีสักกี่ประเทศที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากร มีกี่ประเทศที่มีแรงงานราคาถูก มีกี่ประเทศที่ไม่เคยมีสงครามเลย สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เรามีเป็นทรัพย์สิน แม้ว่าเราจะมีหนี้เยอะ แต่ทรัพย์สินเหล่านี้ มันจะเป็นตัวช่วยบอกว่า เราฝ่าไปได้ เรามีปัญญาจะใช้หนี้ฝรั่งได้
ความมั่นใจเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งท่านต้องช่วยผม เพราะว่าวันนี้ต้องปลูกฝังความเชื่อมั่นตัวนี้ให้ได้ และที่สำคัญคือต้องมี Trust ระหว่างกัน Trust หมายความว่าความเชื่อถือซึ่งกันและกัน เกื้อกูลกัน และถ้ามีเรามี Confidence เรามี Trust เราก็จะสามารถรวมพลังได้ ถ้าภายใต้วิกฤตการณ์กำลังมีพายุอยู่ เรือกำลังเจอพายุ จะมาบอกว่าทุกคนอภิปรายเสนอความเห็น ทุกคน Consensus ประชาพิจารณ์ให้ครบเลย ท่านเคยเห็นเรือที่ฝ่าพายุแล้วนั่งประชาพิจารณ์กลาสีทั้งลำเรือ แล้วเรือลำนั้นจะเป็นอย่างไร ล่มแน่นอน ในภาวการณ์อย่างนี้ต้องมีผู้นำ มีผู้นำคิดวิธีการ และระดมความเห็น นั่นคือประชาพิจารณ์ ทุกฝ่ายต้องเข้ามาช่วยกัน ไม่ใช่มานั่งจับผิด จะอภิปรายไม่ไว้วางใจ วันนี้อภิปรายในสภาไม่ไว้วางใจ ต้องออกมาช่วยกันให้ความเห็น อันนี้ท่านทำไม่ถูกแล้ว เราเสนอทางนี้ มานั่งคุยกัน รับมาช่วยกัน วันนี้ต้องไม่มีฝ่ายค้านฝ่ายรัฐบาล ประเทศจึงจะอยู่รอด ความคิดเหล่านี้ คิดอะไร ๆ ก็จะอภิปรายไม่ไว้วางใจ ขอให้เปลี่ยนใหม่เสีย เรามาวันนี้ก็เพื่อทำงานร่วมกันเป็นสำคัญ
ปัญหาหลัก ๆ 4-5 ประการ ภายใต้ข้อจำกัด 2 ข้อจำกัดใหญ่ เป็นสิ่งที่ท้าทายรัฐบาลชุดนี้เป็นอย่างมาก เมื่อเริ่มต้นที่รัฐบาลชุดนี้เข้าไป สิ่งที่ผมทำคืออะไร
1. ต้องวางกรอบมหภาคให้ชัดเจน เข้าไป 1-2 เดือนแรกยากมาก เพราะผมต้องใช้เวลา แต่พอจับทางได้เราก็ประกาศสิ่งที่เราเรียกว่า "ยุทธศาสตร์ประเทศไทย" ไม่ค่อยมีคนสนใจ แต่ฝรั่งสนใจเต็มที่ และนี่เป็นเหตุที่เขาไม่มาตามทวงหนี้เราอยู่ทุกวันนี้ มันคืออะไร เราบอกว่า เราตั้งเป้าหมายของ GDP Growth อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่พอยอมรับได้ ภายใต้ภาวะอย่างนี้ไม่มีทางที่จะบอกว่า GDP สูง เป็นไม่ได้ อันนั้นหนังการ์ตูน GDP พอไปได้ Trade Account ดุลการชำระเงินต้องเกินดุลพอประมาณ เงินสำรองระหว่างประเทศมั่นคง พยายามไม่ให้ต่ำกว่า 30 Billion ดอลลาร์สหรัฐ เงินเฟ้ออยู่ในช่วงที่ยอมรับได้ ชี้ให้เขาเห็น วางกรอบ 5 ปีออกมา
จากนั้นก็มองว่าฐานะการคลังที่ท่านเกรงว่าจะไม่มีปัญญาใช้หนี้นั้น เราจะชี้ให้ท่านดูว่า แหล่งรายได้ของประเทศ 1) คือภาษี 2) คือทรัพย์สินที่เรามีอยู่ ภาษีนั้นไม่ใช้มีแค่ VAT ท่านอย่ามาบังคับให้ขึ้น VAT โดยใช่เหตุ ถ้าเศรษฐกิจไม่ดี ผมไม่ขึ้น VAT แต่เราจะดูสถานการณ์ เราพยายามขยายฐานภาษีให้ดีขึ้นกว้างขึ้น เป็นธรรมขึ้น ดูจังหวะเวลาให้เหมาะสม แล้วค่อยออกมาปรับปรุงประสิทธิภาพให้การจัดเก็บ ตัวนี้ 5 ปีข้างหน้าเป็นอย่างไร ทรัพย์สินของประเทศมีอะไร ชี้ให้เขาดู รัฐวิสาหกิจมีกี่แห่ง แต่เราไม่ขายท่าน เราจะทำให้รัฐวิสาหกิจเหล่านี้ดีขึ้นแล้วเอาเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ขยายมูลค่าจากไม่มี Par Value กลายเป็นสินทรัพย์เป็นหมื่นล้านขึ้นมา ตรงนี้คือ ที่บอกว่าอนาคตข้างหน้าผมไม่ต้องขายทรัพย์สิน แต่ผมมีฐานทรัพย์สินที่สามารถสร้างรายได้มาใช้หนี้ท่าน ฉะนั้นท่านเป็นแค่เจ้าหนี้ ทิศทางผมเป็นคนกำหนด เรามีปัญญาใช้หนี้
เวลาเราดีกับเจ้าหนี้ พวกท่านเป็นนักธุรกิจ ถ้าท่านหงอกับเจ้าหนี้ ไม่คิดว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร เดินเข้าไปขอความช่วยเหลือเขา เขาให้ท่านไหม? ผมเคยอยู่ในภาคเอกชน เคยแนะนำภาคสถาบันการเงินเรารู้ดี ถ้าทำสถาบันการเงินก็ต้องขออย่างหนึ่ง ถ้าทำธุรกิจก็ต้องขออย่างหนึ่ง ฉะนั้นเขาจะให้หนี้ท่านหรือไม่? ปล่อยหนี้ท่านหรือไม่? ขึ้นอยู่กับว่าท่านสามารถบอกเขาได้ไหมว่า ท่านจะแก้ไขประเทศของเขาเป็นอย่างไร บริษัทมีหนี้เป็นหมื่นล้าน เขายังต่อหนี้ให้เลย ถ้าคุณสามารถบอกได้ว่า คุณจะพยายามสร้างรายได้ได้อย่างไร นั่นคือวิธีการบริหารประเทศในเชิงของภาคเอกชน ไม่ใช่ในเชิงที่เป็นมาในอดีต การเจรจากับเจ้าหนี้ต่างประเทศ IMF ไม่เคยมีการที่ต้องมานั่งอ่านแถลงการณ์ คุยกันเจรจาบนโต๊ะ เป็นเพื่อนกัน คุยเหมือนกับธุรกิจ วันนี้สมัยนี้ต่อให้ IMF มาเจรจา สวมวิญญาณนักธุรกิจทั้งสิ้นเลย แม้กระทั่งทูตแต่ละประเทศมาพบกัน ไม่เห็นมีมาบอกว่าชนแก้ว ทุกคนมาถึงก็บอกว่าประเทศเรากำลังเป็นอย่างนี้ ท่านช่วยเราได้ไหม? ทุกอย่าง Dollar Talk ทั้งสิ้น มีแต่เราที่เจอฝรั่งแล้วยิ้มเจื่อน ๆ เกรงใจเขา ทีกับคนไทยด้วยกันเองไม่เกรงใจ เจรจากับฝรั่งกลัวก่อนแล้วที่จะเจรจากับเขา นี่คือสิ่งที่จะต้องให้มันหมดไปจากนิสัยคนไทย สิ่งแรก กรอบ Macro กรอบมหภาค เมื่อวางแล้วประกาศให้เจ้าหนี้รู้
ขั้นต่อมาคือปัญหาแรกที่ผมกล่าวเมื่อสักครู่ เศรษฐกิจมีแนวโน้มที่จะหดตัว เริ่มจากการใช้งบประมาณขาดดุล ทีแรกคนก็บอกว่าต้องสร้างหนี้อีก ถ้าไม่ขาดดุลแล้วจะเอาเงินที่ไหนไปใช้จ่าย ในเมื่อ 80 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณเป็นค่าใช้จ่ายประจำ งบประมาณอีก 20 เปอร์เซ็นต์เป็นงบที่จะไปลงทุน ถ้าลงทุนเท่านั้นเศรษฐกิจก็ยิ่งหดตัวลง ฉะนั้น มีทางเดียวคือต้องใช้งบประมาณขาดดุลอีกหลายปี ไม่ใช่แค่ปีเดียว สิ่งนี้เป็นมรดกตกทอด ใครอย่ามาบอกว่าเป็นผลงานของรัฐบาลชุดนี้ เมื่อมีงบประมาณขาดดุล ท่านนายกฯ บอกผมว่าไม่พอ ต้องมีงบพิเศษ เพราะเราไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นข้างหน้า อเมริกาก็ทำท่าจะไม่ดี ญี่ปุ่นก็ยังไม่ดี ตอนนั้นยังไม่เกิดสงครามด้วยซ้ำไป ขอให้เตรียมงบก้อนหนึ่ง ตอนนั้นไม่ได้ระบุว่าเท่าไหร่ ผมก็รวมทีมกับ Staff ของผมไปดูว่าเป็นเงินเท่าไหร่ ที่ทำให้ภาระหนี้ต่อ GDP เป็นที่ยอมรับของสากล ภาระหนี้ต่องบประมาณแผ่นดินเป็นเท่าไหร่ที่รับได้โดยมาตรฐานสากล ก็ออกเป็นตัวเลขประมาณ 50,000 กว่าล้านต้องมีไว้ในกระเป๋า ทางการเมืองถือว่าการทำสิ่งนี้เป็นเรื่องที่ไม่ฉลาดเลย เพราะเป็นเป้าให้ถูกโจมตีอภิปราย มีงบไว้แต่ไม่ได้บอกรายละเอียดว่าจะทำอะไร แต่เราคนที่เคยทำธุรกิจจะรู้เลยทันทีว่า เวลาที่หน้าสิ่วหน้าขวานต้องเตรียมสภาพคล่องไว้ก่อนแล้ว ต้องเจรจาแบงก์ไว้ก่อน ต้องเตรียมวงเงินไว้ก่อนแล้ว ถึงเวลาแล้วไม่มีวงเงินจะทำอย่างไร คนที่ไม่เคยบริหารกิจการเลยไม่มีทางเข้าใจ คิดอย่างเดียวคือก่อหนี้ มันคนละเรื่องกัน อันนี้จะเตรียมงบพิเศษขึ้นมาก้อนหนึ่ง เพื่อว่าถ้ามีปัญหาก็เตรียมออกมา ก็ผ่านสภาไปด้วยดี สภาก็ให้ความเห็นชอบมา
จากตรงนั้น เราก็มาดูว่าตัว G แค่นี้ยังไม่พอ เพราะมันมีข้อจำกัด หัวใจยังคงอยู่ที่ส่งออกกับการท่องเที่ยว เมื่อวันศุกร์ ผมไปที่กระทรวงพาณิชย์ ผมบอกว่าที่ท่านตั้งเป้ามานั้นไม่เป็นไร ติดลบ 6% Growth ของปีนี้ก็ไม่เป็นไร ผมจะทำเหมือนธุรกิจเอกชน คือขีดเส้นทุกประเทศให้คล้ายกันเริ่มตั้งแต่ปีนี้ ภายใต้ Scenario ว่ามันจะแย่ ผมจะไม่มานั่งดูว่า ลดกี่เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ดูให้มันท้อใจทำไม? เมื่อทุกคนถดถอยเหมือนกัน แต่จะมาดูเปรียบเทียบกันว่า ถ้าเทียบกับสิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อย่าแพ้เขา แล้วช่วงโอกาสนี้ผมขอใช้คำว่า "Management by stretch" หมายความว่าการบริหารแบบก้าวกระโดดเต็มที่ Stretch แปลว่า ยืดเต็มที่ ไม่ใช้บริหารแบบ Management by objectives คือถ้าท่านทำงานวันละ 12 ชั่วโมง เพิ่มจำนวนชั่วโมงเข้าไป งานอะไรของกระทรวงพาณิชย์ที่ไม่เกี่ยวกับการส่งออกให้ทุ่มมาสู่การส่งออกให้มากขึ้น วันนี้งานอย่างอื่นมันมีน้อยแล้ว งานอย่างเดียวคือว่า ทำอย่างไรให้การส่งออกมีมากที่สุด ผมไม่ได้หมายความว่าจะสามารถทำให้ท่านขายสินค้าได้มากขึ้น แต่ต้องใช้โอกาสนี้ในการหาตลาดใหม่ ๆ สร้างตลาดใหม่ ๆ เพื่อว่าอีกหนึ่งปีข้างหน้าทุกอย่างดีขึ้น เราก็จะมีตลาดใหม่ ใช้โอกาสนี้ให้เป็นประโยชน์ ก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากกระทรวงพาณิชย์เปลี่ยนแผน ใน 1 เดือนข้างหน้า แทนที่จะรอให้เขามา Take order ในเมืองไทย วันนี้ใครกล้าขึ้นเครื่องบินมา Take order บ้าง? เราจะต้องบินไปหาเขาและต้องใช้ภาคเอกชนด้วย อธิบดีบรรพตฯ ท่านปลัดการุณฯ สัญญาว่าใน 1 เดือนจะเริ่มมี Plan นี้ออกมา แยกกลุ่มเป็นประเทศเพื่อดูว่า ประเทศนี้มีโอกาสตรงไหนบ้าง แล้วทำ Groundwork ออกมา แล้วรัฐบาลจะบินไปด้วย ไปขาย Order ภาคเอกชนไปกับเรา ถ้าเรากล้าไป เอกชนก็กล้าไป แต่ถ้าบอกว่าให้เอกชนไป แล้วเราอยู่เฉย ๆ เอกชนจะไปได้อย่างไร? ฉะนั้นภายใน 1 เดือนจะเริ่มมี Plot สิ่งเหล่านี้ออกมา
เมื่อเช้านี้ผมไปที่การท่องเที่ยวฯ ไปบอกว่า การท่องเที่ยวคือหัวใจ ให้มีแผนระยะสั้น ระยะยาว ระยะสั้นจะส่งข้อมูลอย่างไรให้นักท่องเที่ยวทั้งหลายอุ่นใจได้ว่า เมืองไทยเป็นแหล่งที่เขามาแล้วทำให้สบายใจ ช่วงสั้น ๆ อย่าไปหวังว่าจะให้เขา Maintain order ได้เยอะเพราะทุกคนอยู่ในช่วงช็อกในการเดินทาง แต่หลังจากนั้นแล้วมันจะวัดกันเลยว่า ใครหมู่ ใครจ่า ใช้เวลาช่วงนี้เตรียมตัว ให้ออก Spot Campaign ออกมา Campaign ถึงต่างประเทศ ไม่ใช่ในประเทศ ดูว่าจะหาทางช่วยผู้ประกอบการท่องเที่ยวได้อย่างไร แล้วค่อยมาบอกว่าระยะยาวจะทำอะไร เราอยู่ภาคธุรกิจมาเรารู้ เวลาที่เจอปัญหาช่วงสั้นทำอะไร บอกมาเป็นเป้าเลย แล้วของยาวค่อยต่อไป การท่องเที่ยวฯ เดิมทีไม่มีอำนาจ เพราะว่าหน่วยงานส่วนใหญ่แล้วไปอยู่ตามกระทรวงต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว ผมก็จะไปช่วยเพิ่มตรงนี้ให้ ไปเจรจาไปประสานงานให้ เขาก็สบายใจ รับปากว่าจะช่วยกัน และเราจะไปหาลูกค้าที่ต่างประเทศ มีองค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เราต้องไปหาเขาในวันนี้ ไม่ใช่ขอให้เขามาหาเรา ตัว G รายจ่ายรัฐบาล ตัวส่งออก การท่องเที่ยวนี่คือหัวใจหลัก
มาถึงตัวที่ 2 ซึ่งผมถือว่าสำคัญมาก ๆ ก็คือตัวสถาบันการเงินที่ยังแก้ปัญหากันไม่ตก เพราะต่อให้กระตุ้นยังไงก็แล้วแต่ ถ้าเงินในระบบไม่เดินมันก็ได้แค่ 1-2 รอบ แล้วก็จบ ท่านคงทราบเรื่องการจัดตั้งบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.) ไปแล้ว เพื่อโอนหนี้จากสถาบันการเงิน โดยเฉพาะจากธนาคารของรัฐเข้ามาอยู่ตรงนี้ โอนหนี้เรียบร้อยไปแล้ว Lot แรก เหลืออีก Lot หนึ่งจะทยอยโอนต่อไป แต่หัวใจอยู่ตรงที่จะทำอย่างไรที่จะทำให้หนี้ที่โอนมาเหล่านี้กลับกลายเป็นหนี้ที่ดีขึ้นมาได้ ตรงนี้เป็นหัวใจที่สำคัญมากที่สุด กระบวนการที่เราเรียกว่าปรับโครงสร้างหนี้จะเริ่มต้นขึ้นมา
ณ จุดนี้นี่เอง ผมขอให้คณะกรรมการ บสท. ตั้งคณะทำงานขึ้นมาชุดหนึ่ง เพื่อคอยนำเสนอว่าลูกค้ารายใหญ่ทั้งหลายที่เข้าสู่ บสท. ก่อนที่จะส่งให้คณะกรรมการบริหารปรับโครงสร้างหนี้อีกทีหนึ่ง ให้เขานำเสนอมาว่าจะปรับโครงสร้างหนี้อย่างไร ปรับโครงสร้างกิจการอย่างไร แล้วให้บรรษัทเงินทุนอุตสาหรรมแห่งประเทศไทย (IFCT) กับ บอย. ไปนั่งอยู่ในคณะอนุกรรมการนั้นด้วย เพื่ออะไร ท่านลองนึกภาพดู ถ้าท่านมีหนี้ NPL อยู่ใน Port ถ้า NPL กลุ่มเหล่านี้ทุนไม่พอ มีแต่หนี้ ต่อให้มีการเจรจาหนี้อย่างไร แบงก์ก็ไม่ยอมปล่อยสินเชื่อ เพราะเขาไม่มั่นใจ ฉะนั้นหัวใจจึงอยู่ที่การเติมทุนเข้าไป คนที่เติมทุนเข้าไปได้ก็เป็นคนที่มองการณ์ไกล ระยะสั้นสถาบันการเงินไม่ยอมเสี่ยงภัยแน่นอน
ตอนนี้เราเริ่มมีเงินก้อนหนึ่งขึ้นมา ที่จะเริ่มมีการเซ็นสัญญาสิ้นเดือนนี้คือ Thailand Equity Fund มาจากความร่วมมือของต่างประเทศกับประเทศไทย ที่จะมีหน้าที่เอาเงินทุนใส่เข้าไปในบริษัทที่มีปัญหาทั้งหลาย ที่เขาคิดว่ามีประโยชน์มีศักยภาพ แล้วก็ปรับโครงสร้างหนี้ ปรับโครงสร้างกิจการ ให้สามารถกลับมา Perform ได้อีกครั้งหนึ่ง ตรงนี้ IFCT บอย. จะเป็นเครื่องมือในการเติมทุน เราหวังว่าเมื่อสามารถปรับโครงสร้างหนี้ตรงนี้ได้ก็จะทำให้ธุรกิจเหล่านี้กลับมาดีอีกครั้งหนึ่ง แบงก์ทั้งหลายซึ่งขณะนี้ปล่อยสินเชื่อได้แล้ว เพราะว่า NPL ถูกโยกออกไป ก็สามารถปล่อยสินเชื่อมาสู่ NPL กลุ่มเหล่านี้ได้ นี้คือสิ่งแรกที่ต้องเข้าไปดูแลให้ใกล้ชิด
ส่วนที่ 2 อันนี้สำคัญมาก ๆ หนี้ NPL กลุ่มใหญ่เลยเราต้องอย่าลืมว่า ที่วันนี้เศรษฐกิจไทยไม่หมุน มาจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์พัง 10 ปีที่ผ่านมา ผมใช้คำว่า Abused หรือใช้ในทางที่ผิด คือเอาเงินสินเชื่อจากต่างประเทศเข้ามา เพราะต้นทุนต่ำ เอาเงินทุนจากต่างประเทศเข้าผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้วก็เอามาใส่ไว้ในธุรกิจ แต่แทนที่จะใส่ไว้ในธุรกิจเพื่อธุรกิจที่ทำอยู่ กลับหวังแสวงหาความร่ำรวยในทางลัด โดยการไปเก็งกำไรในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อย่างเดียว ผู้ประกอบการทุกคนกระโจนเข้าไปหาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ทั้งเก็งกำไร ทั้งสร้างโครงการ รู้ทั้งรู้อยู่ว่า เปิดเก๊ะออกมาแต่ละบริษัทที่ทำอสังหาริมทรัพย์มีโครงการนับไม่ถ้วน และก็รู้ทั้งรู้อยู่ว่า อีกไม่นานจะถึงจุดที่มันจะ Crash ขึ้นมา จะขายไม่ออก แต่ว่ามันเหมือนอะไรไม่ทราบ คือบังเอิญที่ผ่านเรานั่งอยู่หลายจุด เราเห็นภาพ มันเหมือนกันว่า ผู้ประกอบการแต่ละคนกำลังดิ้น อสังหาริมทรัพย์เมืองไทย มันใช้โครงการหนึ่งตั้งขึ้นมา แล้วก็มาไฟแนนซ์อีกโครงการหนึ่ง ติดพันกันหมด มันไม่ใช่โครงการเดียวโดด ๆ แล้วจบ กู้เงินอันนี้มาแล้วมาไฟแนนซ์อีกโครงการหนึ่ง มันหยุดไม่ได้ ฉะนั้นถึงแม้ทุกคนรู้ว่าปีหน้าเจอแน่นอน แต่ทุกคนคิดว่าขอออกโครงการก่อนให้รอดตัว ทุกคนคิดเหมือนกันหมด มาเปรี้ยงเดียวไปหมดเลย พอไปหมดกลายเป็นว่าทรัพยากรส่วนใหญ่ ธุรกิจวัสดุก่อสร้าง การก่อสร้างทั้งหลาย การจ้างแรงงานทั้งหลาย Supply chain มันยาวมาก อยู่ในฐานะซึ่งไม่สามารถขับเคลื่อนได้ กองนี้ทั้งกองเป็น NPL มหาศาล จะทำอย่างไร ซากตึกซากบ้านที่มีอยู่จะทำอนุสาวรีย์ ก็รู้สึกจะเยอะไปหน่อย(ยังมีต่อ)
-ศน-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ