การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจของอาเซียน (SEOM) ครั้งที่ 4/36 และการประชุม SEOM กับประเทศคู่เจรจา

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 25, 2005 10:39 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

          นางอภิรดี  ตันตราภรณ์  อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเศรษฐกิจอาเซียน (SEOM) ครั้งที่ 4/36 ระหว่างวันที่ 22-27 สิงหาคม 2548  ณ โรงแรม Sofitel Central Plaza กรุงเทพฯ   โดยในการประชุมครั้งนี้จะพิจารณาในเรื่องความร่วมมือทางเศรษฐกิจของอาเซียนและการหารือกับประเทศคู่เจรจาต่างๆ ของอาเซียน  เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลี  ออสเตรเลีย/นิวซีแลนด์ และอินเดีย  ซึ่งมีสาระสำคัญที่หยิบยกขึ้นมาหารือกันใน 3 ประเด็น คือ 
1. ความคืบหน้าการดำเนินงานตามแผนงานการรวมกลุ่ม 11 สาขาสำคัญ โดยมีประเด็นสำคัญได้แก่
- การเพิ่มขอบเขตของสินค้าที่จะเร่งลดภาษีใน 9 สาขาสำคัญ โดยมีข้อเสนอที่จะเพิ่มขอบเขตสินค้าในสาขาเกษตร สาขาสุขภาพ และสาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อให้ครอบคลุมสินค้าที่เป็นวัตถุดิบ การพัฒนาสินค้าและบริการของอาเซียน เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ของสินค้าและบริการของอาเซียนให้เป็นที่รู้จักในตลาดโลก และส่งเสริมกระบวนการผลิต/การใช้วัตถุดิบภายในภูมิภาคโดยเฉพาะในสาขาที่อาเซียนมีศักยภาพ เช่น ในด้านผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม และบริการในด้านสปา และการจัดทำมาตรฐานในสาขาบริการที่สำคัญ เช่น บริการด้านการท่องเที่ยว
- การเร่งเปิดเสรีสาขาบริการสำคัญของอาเซียน (priority services sectors) ในเบื้องต้นสมาชิกอาเซียนได้ตกลงกำหนดการเปิดตลาดการค้าบริการในสาขาดังกล่าว ภายในปี 2553 โดยจะทยอยเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นของต่างชาติ และพิจารณาการลดอุปสรรค/ข้อจำกัดอื่นๆ ในการประกอบกิจการ
- การอำนวยความสะดวกด้านศุลกากรด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียว (ASEAN Single Window: ASW) ขณะนี้ประเทศสมาชิกอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบอำนวยความสะดวกด้านศุลกากรภายในของตน (National Single Window) เพื่อจะเชื่อมโยงในระดับภูมิภาคต่อไป โดยไทยและฟิลิปปินส์จะเริ่มโครงการนำร่องในช่วงปลายปีนี้ การดำเนินงานในช่วงแรกจะเป็นรัฐบาลต่อรัฐบาล (G to G) โดยจะให้ดำเนินการได้อย่างเต็มรูปแบบในปี 2549
2. ประเด็นการดำเนินงานภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน เรื่องการปรับลดจำนวนสินค้าในบัญชียกเว้นการลดภาษีทั่วไป หรือ General Exception List : GE List ให้คงเหลือเฉพาะรายการที่สอดคล้องกับมาตรา 9 ของความตกลง CEPT ว่าด้วยการยกเว้นการลดภาษีในสินค้าที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ ศีลธรรมและจริยธรรมของสังคม ชีวิตและสุขอนามัยประชาชน พันธุ์สัตว์และพืช ทรัพย์สินทางประวัติศาสตร์ และวัตถุโบราณ นอกจากนั้น จะได้เร่งรัดให้ดำเนินการยกเลิกมาตรการกีดกันทางการค้า หรือมาตรการที่มิใช่ภาษี (NTBs) รวมทั้ง เร่งรัดการโอนย้ายบัญชีสินค้าอ่อนไหวเข้าสู่บัญชีลดภาษีตามกำหนดการ ขณะนี้ มีแนวโน้มว่าหลายประเทศจะไม่สามารถดำเนินการได้ สืบเนื่องมาจากปัญหาภายในประเทศ
3. การเจรจาเขตการค้าเสรีของอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา
- อาเซียน-จีน การเจรจามีความคืบหน้าไปมาก หลังจากอาเซียนและจีนได้เริ่มลดภาษีสินค้าเกษตร เกษตรแปรรูป และอุตสาหกรรม ไปเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2548 ในการประชุมครั้งนี้จะหารือเรื่องการเจรจาเปิดเสรีการค้าบริการและการลงทุน ซึ่งคาดว่า ทั้งสองฝ่ายจะสามารถสรุปความตกลงว่าด้วยการค้าบริการได้ทันการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 11 ในปลายปีนี้
- อาเซียน-ญี่ปุ่น อยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อจัดทำกรอบความตกลงการค้าเสรี ซึ่งทั้งสองฝ่ายยังต้องหารือในเรื่องกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า และประเด็นข้อเสนอของญี่ปุ่นที่ต้องการให้สร้างกฎเกณฑ์ในการเจรจาเรื่องนโยบายการแข่งขัน และสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งฝ่ายอาเซียนยังไม่เห็นด้วยและต้องการให้เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องความร่วมมือระหว่างกันเท่านั้น
- อาเซียน-เกาหลี คณะเจรจาอยู่ระหว่างการหารือในร่างความตกลงว่าด้วยการค้าสินค้า ซึ่งประกอบด้วยรูปแบบการลดภาษี และรายการสินค้าอ่อนไหวของแต่ละฝ่าย ซึ่งหากสามารถสรุปผลได้ภายในปลายปีนี้ คาดว่า ทั้งสองฝ่ายจะสามารถเริ่มต้นการลดภาษีได้ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2549 เป็นต้นไป
- อาเซียน-อินเดีย ที่ประชุมจะหารือเพื่อผลักดันการเจรจาให้มีความคืบหน้า โดยเฉพาะประเด็นเรื่องกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้าที่ทั้งสองฝ่ายยังมีท่าทีไม่ตรงกัน และทำให้การเจรจาหยุดชะงัก
- อาเซียน-สหภาพยุโรป ได้มีการจัดตั้งคณะผู้เชี่ยวชาญขึ้นเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำเขตการค้าเสรีระหว่างกันและจะเสนอรายงานการศึกษาเบื้องต้นให้รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนทราบในช่วงการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (AEM) ครั้งที่ 37 ในเดือนกันยายน 2548
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (66) 2282-6171-9 แฟกซ์ (66) 2280-0775
-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ