สรุปนโยบายและมาตรการด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล (พฤศจิกายน 2544)

ข่าวเศรษฐกิจ Saturday December 1, 2001 16:27 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

          1.การจัดตั้งบริษัทเพื่อดำเนินการรองรับโครงการส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวพำนักระยะยาว  (Long Stay)
คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จัดตั้งศูนย์บริการนักท่องเที่ยวพำนักระยะยาว (Long Stay One Stop Service Center) เพื่ออำนวยความสะดวก สร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวและเป็นศูนย์กลางในการรวบรวมข้อมูล และจัดตั้งคณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวระยะยาวแห่งชาติ เพื่อดำเนินการส่งเสริมสนับสนุนการพำนักระยะยาวในประเทศไทย
สำหรับการจัดตั้งบริษัทเพื่อดำเนินการรองรับโครงการส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวพำนักระยะยาว ให้ ททท. รับไปพิจารณาทบทวนโดยรับความเห็นและข้อสังเกตของคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอ ค.ร.ม. คณะที่ 4 ไปพิจารณาด้วย
2. การปรับบทบาท ภารกิจและโครงสร้างส่วนราชการ
คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการจัดโครงสร้างส่วนราชการในระดับกระทรวงเป็น 17
กระทรวง และ 1 ทบวง
1) สำนักนายกรัฐมนตรี ในบทบาทของศูนย์บัญชาการการบริหารราชการของนายกรัฐมนตรี
2) กระทรวงกลาโหม บริหารกองป้องกันประเทศ
3) กระทรวงการขนส่ง พัฒนาและออกแบบให้ประเทศไทยมีระบบการขนส่งที่มีประสิทธิภาพสูงและนำไปสู่การเป็นศูนย์กลางเครือข่ายการขนส่งของภูมิภาค
4) กระทรวงการคลัง กำหนดและดำเนินนโยบายการคลังและกำกับดูแลนโยบายการเงิน
5) กระทรวงการค้า ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นผู้นำทางการค้าของเอเซีย ส่งเสริมให้มีการค้าอย่างเสรีและเป็นธรรม
6) กระทรวงการต่างประเทศ เจริญความสัมพันธ์ในทุกด้านกับนานาประเทศ
7) กระทรวงการท่องเที่ยว กีฬาและนันทนาการ ส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยว กีฬาและนันทนาการ
8) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จัดระเบียบสังคมและระบบสวัสดิการสังคม คุ้มครอง พิทักษ์สิทธิและหน้าที่ของประชาชน สร้างความเป็นธรรมทางสังคม ยกระดับมาตรฐานการดำรงชีวิต
9) กระทรวงการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม พัฒนาและส่งเสริมการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม
10) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พัฒนาเกษตรกรให้เป็นผู้ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและได้ส่วนแบ่งตลาดอย่างมีนัยสำคัญในตลาดโลก
11) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
12) กระทรวงพัฒนาอาชีพและการทำงาน พัฒนากำลังแรงงาน ปกป้อง คุ้มครองและสร้างหลักประกันความมั่นคง ขยายโอกาสการมีงานทำ
13) กระทรวงมหาดไทย เสริมสร้างความสงบสุขในสังคม ความมั่นคงภายในและส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความเข้มแข็งสามารถปกครองตนเองได้ รวมทั้งเสริมสร้างวงจรเศรษฐกิจที่ยั่งยืน
14) กระทรวงยุติธรรม ส่งเสริมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ป้องกันแก้ไขปัญหาอาชญากรรม บำบัด แก้ไข ฟื้นฟูผู้กระทำผิด พัฒนากฎหมายและบริหารจัดการงานในกระบวนการยุติธรรม
15) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พัฒนาเศรษฐกิจและสังคมใหม่เป็นสังคมแห่งความรู้ คิดและทำอย่างวิทยาศาสตร์
16) กระทรวงสาธารณสุข พัฒนาประชากรให้มีสุขภาพแข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจ
17) กระทรวงอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและความได้เปรียบในการแข่งขัน
18) ทบวงพลังงาน พัฒนาและส่งเสริมพลังงาน
ทั้งนี้ การปฏิรูประบบราชการเป็นนโยบายที่สำคัญและเร่งด่วนของรัฐบาล เพื่อให้มีการทดลองปฏิบัติและมีผลตามกฎหมาย ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2545 เป็นต้นไป ซึ่งสำนักงาน ก.พ. ได้จัดให้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อระดมความเห็นรวม 3 ครั้ง โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุม และในการประชุมเชิงปฏิบัติการ ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2544 ที่ประชุมได้เห็นชอบร่วมกันในการจัดกลุ่มภารกิจหลักสำคัญของภาครัฐเป็น 11 กลุ่ม ดังนี้
กลุ่มที่ 1 กำหนดยุทธศาสตร์และนโยบายพัฒนาประเทศ การบริหารราชการมีประสิทธิภาพ โปร่งใสและเป็นธรรม มีการกำกับ ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลสัมฤทธิ์ ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารและทราบความคืบหน้าการบริหารงานภาครัฐ
กลุ่มที่ 2 จัดให้มีมาตรการสนับสนุนและพัฒนาการเมืองในระบอบประชาธิปไตย
กลุ่มที่ 3 จัดให้มีการสนับสนุนกิจการส่วนพระองค์ และโครงการตามพระราชดำริ
กลุ่มที่ 4 ส่งเสริมการผลิตเพื่อสร้างรายได้ และเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันและปกป้องผลประโยชน์ของชาติในสังคมโลก
กลุ่มที่ 5 ดูแล พัฒนา การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ และรักษาดุลยภาพของสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เอื้อต่อการดำรงชีวิต เกิดความสมดุลในการพัฒนาและเป็นรากฐานในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในประเทศอย่างยั่งยืน
กลุ่มที่ 6 พัฒนาองค์ความรู้ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจและการแข่งขัน
กลุ่มที่ 7 พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านการคมนาคมและขนส่ง ให้เอื้อต่อการดำรงชีวิต ความได้เปรียบในการแข่งขันและเพิ่มประสิทธิภาพการทำธุรกิจ และนำไปสู่การเป็นศูนย์กลางเครือข่ายการคมนาคมขนส่งของภูมิภาค
กลุ่มที่ 8 บริหารรายได้ รายจ่ายของรัฐ จัดสรรทรัพยากรและบริหารทรัพย์สินให้มีประสิทธิภาพเพื่อความมีเสถียรภาพทางการเงิน การคลัง และความมั่นคงอันยั่งยืนของประเทศ
กลุ่มที่ 9 พัฒนาประชากรให้มีสุขภาพ มีความรู้ ความคิดกว้างไกล มีพลานามัยและศักยภาพด้านกีฬา มีวัฒนธรรมที่ดีงาม เพื่อให้สังคมไทยเป็นสังคมที่มีคุณภาพเป็นสังคมแห่งความรู้คู่คุณธรรม พร้อมนำประเทศชาติไปสู่ความมั่งคั่ง มีชื่อเสียง มีเกียรติ และมีศักดิ์ศรี สามารถดำรงตนร่วมกับสังคมโลกได้อย่างมีความสุข
กลุ่มที่ 10 จัดระเบียบสังคม สร้างความเป็นธรรมในการดำรงชีวิต พัฒนาบรรทัดฐานทางสังคม คุ้มครองและพิทักษ์สิทธิ พัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ให้มีงานทำและมีรายได้เป็นที่พึ่งของตนเองและผู้อื่น ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาสังคม เพื่อให้คนไทยมีคุณภาพชีวิต มีสวัสดิการที่เหมาะสม มีเกียรติภูมิ รู้เท่าทันโลก มุ่งประโยชน์ส่วนรวม เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ เพื่อให้สังคมมีความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน
กลุ่มที่ 11 กำหนดยุทธศาสตร์ความมั่นคงของชาติ การรักษาอธิปไตย การจัดระเบียบสังคมและอำนวยความยุติธรรม การเสริมสร้างความสงบสุขของสังคม ตลอดจนการส่งเสริมความเข้มแข็งของสังคม เพื่อให้ประชาชนมีความมั่งคั่งและประเทศชาติมีความมั่นคง
3. ยุทธศาสตร์การแก้ไขและจัดการปัญหาความยากจนของเกษตรกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการแนวคิดและยุทธศาสตร์การแก้ไขและจัดการปัญหาความยากจนของเกษตรกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดแนวทางการดำเนินงานให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ ดังนี้
1) เร่งรัดการพัฒนาและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ โดยดำเนินงานด้านการกระจาย การถือครองที่ดินและการปฏิรูปที่ดินให้แก่เกษตรกรรายย่อยและยากจน เพื่อให้เกิดความมั่นคงในการถือครองที่ดิน รวมทั้งการพัฒนา ฟื้นฟูสมรรถนะของดินเพื่อเกษตรกรรมและพัฒนาโครงสร้างปัจจัยพื้นฐานด้านการผลิตแก่เกษตรกร เช่น แหล่งน้ำ เงินทุน เทคโนโลยีและการเพิ่มมูลค่าผลผลิต
2) ปรับกระบวนทัศน์ของบุคลากรในภาครัฐ เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้สอดคล้องกับแนวคิดและวิธีการทำงานในรูปแบบใหม่ที่มุ่งเน้นการทำงานโดยกระบวนการมีส่วนร่วม การทำงานแบบบูรณาการ มีการวางแผนและปฏิบัติงานในลักษณะจากล่างสู่บน ยอมรับในศักยภาพด้านการพัฒนาของเกษตรกรและชุมชน และการปรับเปลี่ยนบทบาทของเจ้าหน้าที่รัฐจากผู้ชี้นำมาเป็นผู้สนับสนุน ทั้งนี้ โดยเน้นให้บุคลากรภาครัฐ ได้ผ่านการเสริมสร้างกระบวนการเรียนรู้จากเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาความยากจนและสามารถพึ่งพาตนเองได้
3) เร่งรัดการปรับโครงสร้างองค์กรในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทั้งในระดับส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เพื่อให้มีการทำงานในลักษณะบูรณาการระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคประชาสังคม โดยใช้ “ศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรชุมชน” เป็นกลไกหลักของการดำเนินงานพัฒนาชนบท โดยทำหน้าที่หลัก ในด้านการสนับสนุนกระบวนการเรียนรู้ ถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร การจัดทำแผนพัฒนาของชุมชนในด้านการพัฒนาการเกษตรและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพให้มีความสมดุลและยั่งยืน ทั้งนี้ ศูนย์บริการฯ ดังกล่าวจะทำหน้าที่ให้การบริการแก่ชุมชนในลักษณะเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) โดยรวมบทบาทและหน้าที่ในด้านการส่งเสริมของกรมส่งเสริมการเกษตร กรมประมงและกรมปศุสัตว์ ในระดับอำเภอ และดำเนินการออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรชุมชน เป็นเครื่องมือในการพัฒนาชนบทของรัฐบาล
ทั้งนี้ ให้จัดตั้ง “สถาบันพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน” ในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อให้เป็นองค์กรหลักในการประสานนโยบายโดยให้มีเจ้าหน้าที่วิเคราะห์ และนำเสนอนโยบาย มาตรการ แผนงาน ด้านส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืนด้านการวิจัยและใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน ด้านการสร้างความมั่นคงทางอาหาร รวมทั้งการกำหนดท่าทีของประเทศไทยในความตกลงระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับระบบเกษตรกรรมยั่งยืนทั้งในด้านพืช ประมง ปศุสัตว์ และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนเพื่อการผลิตทางเศรษฐกิจ
4) ปรับเปลี่ยนระบบการจัดทำแผนและงบประมาณ โดยเน้นการจัดสรรงบประมาณในลักษณะเงินอุดหนุนให้แก่ชุมชน โดยให้ชุมชนดำเนินการบริหารจัดการเอง เพื่อสนับสนุนแผนงานของชุมชนที่ได้จัดทำขึ้น โดยอาศัยกระบวนการมีส่วนร่วมผ่านศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรชุมชน
5) ให้มีการปรับปรุงกฎระเบียบ วิธีปฏิบัติ ตลอดจนข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องที่ไม่สอดคล้องกับกรอบแนวทางและกระบวนการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์นี้
6) สนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมเสริมสร้างระบบการเรียนรู้ของ ชุมชน โดยการจัดการของชุมชน การจัดทำแผนของชุมชน รวมทั้งการพัฒนาเครือข่ายระหว่างชุมชนให้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ทรัพยากรและการพัฒนาตนเอง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและความเข้มแข็งของเกษตรกรและชุมชน
7) กำหนดพื้นที่นำร่อง โดยให้เริ่มดำเนินการในการแก้ไขจัดการปัญหาความยากจนของเกษตรกรอย่างเบ็ดเสร็จ ในลักษณะการพัฒนาเชิงพื้นที่ของจังหวัดนำร่องและนำกระบวนการแนวทางและรูปแบบการดำเนินงาน ขยายผลไปสู่พื้นที่อื่น ๆ ต่อไป
ทั้งนี้ ให้จังหวัดสุรินทร์เป็นจังหวัดนำร่อง ในการดำเนินการเรื่องการเกษตรอินทรีย์ (Organic farming) และให้กระทรวงที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงสาธารณสุข ให้ความร่วมมือในการประสานและพัฒนาโดยมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) รับเรื่องนี้ไปดำเนินการร่วมกับหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง
ยุทธศาสตร์การแก้ไข และจัดการปัญหาความยากจนของเกษตรกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะแบ่งออกเป็น 2 แนวคือ
1) แนวตั้ง ที่เน้นสินค้าเกษตรรายสินค้า
2) แนวนอน คือ การดูแลพื้นที่การเกษตรทั้งหมด
ยุทธศาสตร์ด้านการเกษตรจะเป็นการเกษตรอินทรีย์ เนื่องจากประเทศไทยมีศักยภาพที่
สามารถทำได้และเป็นการลดการนำเข้าปุ๋ยเคมีจากต่างประเทศด้วย
4. การขอหารือกับสหภาพยุโรปภายใต้กระบวนการระงับข้อพิพาทของ WTO เรื่องการให้ GSP ภายใต้ drug regime
คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการขอหารือกับสหภาพยุโรปภายใต้ WTO ตามมติของคณะอนุกรรมการเพื่อติดตามและแก้ไขปัญหาการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีศุลกากร (GSP) ซึ่งในการประชุมคณะอนุกรรมการฯ ครั้งที่ 1/2544 ได้พิจารณาหาทางแก้ไขปัญหาสินค้าไทยถูกสหภาพ
ยุโรปตัดสิทธิ GSP และได้รับผลกระทบจากการที่สหภาพยุโรปเลือกปฏิบัติให้สิทธิ GSP ยกเว้นภาษีนำเข้าภายใต้ drug regime แก่ประเทศที่ดำเนินการปราบปรามยาเสพติดคือ ประเทศในกลุ่ม ANDEAN และ Central American Common Market : CACM โดยที่ประชุมมีมติเห็นว่า มาตรการของสหภาพยุโรปขัดกับหลักการของความตกลง WTO จึงเห็นควรให้นำเรื่องนี้ขอหารือกับสหภาพยุโรปภายใต้กระบวนการระงับข้อพิพาทของ WTO และนำมตินี้ขอความเห็นชอบต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.)
แต่โดยที่การขอหารือกับสหภาพยุโรปเป็นเรื่องเร่งด่วน และ กนศ. ยังไม่สามารถกำหนดให้มีการประชุมได้ ในขณะเดียวกันสหภาพยุโรปกำลังเตรียมการยื่นขอผ่อนผัน (waiver) ระบบ drug regime ต่อสมาชิกองค์การการค้าโลก กระทรวงพาณิชย์พิจารณาแล้วเห็นว่า ไทยควรขอหารือกับสหภาพ
ยุโรปก่อนที่สหภาพยุโรปจะยื่นขอ waiver
5. ค่าใช้จ่ายสำรองเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจในงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2545
คณะรัฐมนตรีพิจารณาค่าใช้จ่ายสำรองเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาาณ พ.ศ. 2545 ตามที่คณะกรรมการกลั่นกรองโครงการเร่งด่วนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเสนอแล้วมีมติตามมติของคณะกรรมการกลั่นกรองฯ สรุปได้ดังนี้
1) อนุมัติโครงการปรับปรุงและพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในอุทยานแห่งชาติของกรมป่าไม้ วงเงินลงทุน 217.72 ล้านบาท เพื่อพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและเพิ่มคุณภาพ/มาตรการการบริการของที่พักแรมในอุทยานแห่งชาติทั้งทางบกและทางทะเลทั่วประเทศ จำนวน 54 แห่ง โดยปรับปรุงและพัฒนาที่พักแรม จัดหา/พัฒนาคุณภาพ มาตรฐานสิ่งอำนวยความสะดวกและการบริการ และประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในอุทยานแห่งชาติ โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวในพื้นที่อุทยานแห่งชาติจาก 11.9 ล้านคน/ปี เป็น 12.5 ล้านคน/ปี
ในระหว่างการดำเนินโครงการจะก่อให้เกิดการสร้างงานประมาณ 2,500 คน/เดือน และระยะยาวจะทำให้เกิดการสร้างงานด้านบริการท่องเที่ยวประมาณ 2,700 คน/เดือน รวมทั้งจะสร้างบุคลากรที่มีความพร้อมสำหรับบริการการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์อย่างมีคุณภาพเพิ่มขึ้นจำนวนประมาณ 560 คน
การดำเนินงานโครงการจะใช้ระยะเวลาทั้งสิ้น 1 ปี (ตุลาคม 2544 | กันยายน 2545)
2) ให้ความเห็นชอบกรอบแนวทางการจัดทำโครงการพัฒนาเศรษฐกิจระดับชุมชน
เพื่อเสริมสร้างกระบวนการพัฒนาแบบมีส่วนร่วมของชุมชน และสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก โดยมีพื้นที่ชุมชนเป้าหมายจำนวน 8,434 แห่งทั่วประเทศ
การดำเนินโครงการจะจัดเวทีกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดทำแผนชุมชนและโครงการพัฒนาเศรษฐกิจระดับชุมชนในทุกตำบล/อบต. เทศบาลทั่วประเทศ รวมทั้งเขตในกรุงเทพฯ และเมืองพัทยา โดยเน้นโครงการที่ก่อให้เกิดการจ้างงานและเพิ่มรายได้ ส่งผลประโยชน์ต่อประชาชนในวงกว้างเป็นโครงการที่มาจากเวทีพิจารณาร่วมระหว่างชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ไม่เป็นโครงการด้านก่อสร้างถนนและแหล่งน้ำ) และไม่ซ้ำซ้อนกับงบประมาณแหล่งอื่น
ขั้นตอนการอนุมัติโครงการสามารถจำแนกได้ 2 ระดับ ได้แก่
1) ระดับตำบล/เทศบาลเมือง
(1) ประชาคมตำบลร่วมกับสภาตำบล/อบต. เทศบาลตำบล เสนอแผนงาน/
โครงการพัฒนาเศรษฐกิจระดับชุมชนให้คณะกรรมการพัฒนาอำเภอ (กพอ.) พิจารณากลั่นกรอง เพื่อเสนอคณะกรรมการพัฒนาจังหวัด (กพจ.) พิจารณาอนุมัติโครงการและคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการเร่งด่วนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจพิจารณาอนุมัติงบประมาณ
(2) ประชาคมเมืองร่วมกับเทศบาลเมือง/เทศบาลนคร/เมืองพัทยา เสนอ
แผนงาน/โครงการพัฒนาเศรษฐกิจระดับชุมชน ให้คณะกรรมการพัฒนาจังหวัด พิจารณากลั่นกรองและอนุมัติโครงการ เพื่อเสนอคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการเร่งด่วนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจพิจารณาอนุมัติงบประมาณ
2) กรุงเทพมหานคร
ประชาคมเมืองร่วมกับสำนักงานเขตในแต่ละเขตเสนอแผนงาน/โครงการพัฒนา
เศรษฐกิจระดับชุมชน ให้สำนักงานปลัดกรุงเทพมหานครพิจารณากลั่นกรองและอนุมัติโครงการเพื่อเสนอคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการเร่งด่วนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจพิจารณาอนุมัติงบประมาณ
การดำเนินการจัดเตรียมโครงการจะใช้ระยะเวลาทั้งสิ้น 6 เดือน (พฤศจิกายน 2544 - เมษายน 2545) โดยงบประมาณดำเนินการประกอบด้วย
1) การจัดเวทีกระบวนการมีส่วนร่วมในระดับชุมชน จะใช้จ่ายจากงบประมาณของเทศบาล/อบต. แต่ละแห่ง
2) การจัดเวทีกระบวนการมีส่วนร่วมระดับจังหวัด จะใช้จ่ายจากโครงการเงินกู้เพื่อ
ปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ (SAL) จำนวน 20 ล้านบาท
3) งบประมาณสนับสนุนการบริหารและดำเนินโครงการพัฒนาเศรษฐกิจระดับชุมชน ใช้งบค่าใช้จ่ายสำรองเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฯ จำนวน 8,500 ล้านบาท โดยมีงบบริหารจัดการโครงการไม่เกินร้อยละ 1
สำหรับการบริหารจัดโครงการนั้น สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยเป็นแกนกลางรับผิดชอบการดำเนินงานตามแผนงานด้านชุมชน และมีหน่วยงานสนับสนุนได้แก่ คณะทำงานประชารัฐ กรมส่งเสริมการเกษตร และมูลนิธิหมู่บ้าน เป็นหน่วยงานร่วมสนับสนุนงบประมาณ บุคลากรและวิชาการ ในการดำเนินงานตามแผนงานด้านชุมชน และจัดเวทีกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในระดับต่าง ๆ
6. ร่างพระราชบัญญัติธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย
คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอและให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป
ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมีสาระสำคัญ ดังนี้
1) ให้ยุบเลิกบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมขนาดย่อม (บอย.) และจัดตั้งธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทยขึ้น โดยให้โอนบรรดากิจการ สินทรัพย์ สิทธิ หนี้สิน ทุนและความรับผิดชอบของ บอย. ไปเป็นของธนาคารที่จัดตั้งขึ้นใหม่ ทั้งนี้ เพื่อให้การสนับสนุน ส่งเสริม และพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทยเป็นไปอย่างมีระบบ
2) กำหนดทุนเรือนหุ้นของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทยไว้เป็นจำนวนหนึ่งหมื่นล้านบาท ในระยะเริ่มแรกให้โอนทุนของ บอย. ไปเป็นทุนเรือนหุ้นของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย และสามารถเพิ่มทุนได้โดยการออกหุ้นสามัญหรือหุ้นบุริมสิทธิ
3) กำหนดให้ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทยมีวัตถุประสงค์ในการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอย่างครบวงจร ตั้งแต่การให้สินเชื่อ ค้ำประกัน การร่วมทุนและให้คำปรึกษา แนะนำ รวมถึงให้บริการด้านการรับฝากเงินจากผู้ประกอบวิสาหกิจซึ่งเป็นลูกค้าของธนาคารเพื่อประโยชน์ในการให้บริการและติดตามความเคลื่อนไหวของลูกค้า แต่การรับฝากเงินจากประชาชนทั่วไปต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อน
4) กำหนดให้ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย มีรูปแบบการจัดการในลักษณะบริษัทมหาชนจำกัด โดยให้ถือหุ้นเป็นผู้มีอำนาจในการแต่งตั้งกรรมการและกำหนดอัตราเงินเดือนและค่าตอบแทนของผู้บริหาร
5) กำหนดให้รัฐบาลต้องจัดสรรเงินชดใช้ให้แก่ธนาคารในกรณีที่ธนาคารได้รับความเสียหายเนื่องจากการดำเนินธุรกิจตามนโยบายของรัฐบาล
ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ว่ารัฐบาลมีนโยบายเร่งด่วนที่จะให้ความช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเดิมและเพิ่มจำนวนผู้ประกอบการใหม่อย่างเป็นระบบ เพื่อสร้างและรักษาฐานการผลิต การจ้างงาน การสร้างรายได้ การส่งออกและเป็นแกนหลักในการสร้างความเติบโตและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งนี้ โดยการจัดตั้งธนาคารขนาดกลางและขนาดเล็ก
7.การพัฒนาพันธุ์ข้าวหอมมะลิของนักวิจัยอเมริกัน
คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานของกระทรวงพาณิชย์เกี่ยวกับการพัฒนาพันธุ์ข้าวหอมมะลิของนักวิจัยอเมริกัน สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
1) การวิจัยดังกล่าวได้รับการสนับสนุนโดยกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ร่วมกับมหาวิทยาลัยฟลอริดาและอาร์คันซอวส์ ขณะนี้อยู่ในขั้นเริ่มต้นเพื่อพัฒนาข้าวหอมมะลิพันธุ์ใหม่ให้ผลผลิตในลักษณะเดียวกับข้าวหอมมะลิของไทย เมื่อสามารถยืนยันลักษณะพันธุ์เรียบร้อยแล้ว จะทำการผสมข้ามกับพันธุ์อื่นในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า อย่างไรก็ดี การทดลองดังกล่าวจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 7-10 ปี จึงจะสามารถพัฒนาให้เพาะปลูกในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้ คงจะต้องเปรียบเทียบต้นทุนการผลิตกับข้าวหอมมะลิของไทยด้วยว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร
2) กระทรวงพาณิชย์อยู่ในระหว่างประสานกับสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. และสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองไมอามี่ เพื่อศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับต้นทุนการผลิตและผลผลิตต่อไร่ ในกรณีที่ข้าวหอมมะลิพันธุ์ดังกล่าวสามารถเพาะปลูกได้ในเชิงพาณิชย์ในสหรัฐฯ เปรียบเทียบกับของไทย
3) ปัจจุบันนาย Chistopher W. Deren ยังไม่ได้ยื่นขอจดทะเบียนข้าวหอมมะลิพันธุ์ใหม่ เพื่อคุ้มครองพันธุ์พืชต่อ The Plant Variety Protection Office ของสหรัฐอเมริกา
4) ข้าวหอมมะลิเป็นพันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป ไม่ใช่พันธุ์ใหม่ จึงไม่สามารถจะจดทะเบียนขอรับความคุ้มครองเป็นพันธุ์พืชใหม่ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน 2542 แต่จะได้รับความคุ้มครองในฐานะเป็นพันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป ตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติฉบับนี้
5) คณะอนุกรรมาธิการตรวจสอบการจารกรรมพันธุ์ข้าวหอมมะลิไทยในคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปร่วมประชุมเพื่อพิจารณาแนวทางแก้ไขในเรื่องนี้
ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์ได้ลงนามในสัญญาจ้างจดทะเบียนเครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทยในต่างประเทศกับบริษัทที่ปรึกษากฎหมายในประเทศไทย เพื่อจดทะเบียนเครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทยใน 6 ประเทศ คือ สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย ฮ่องกง สิงคโปร์ และมาเลเซีย และมีโครงการที่จะจดทะเบียนในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลกอีกประมาณ 47 ประเทศในปี 2545
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้มอบหมายให้สำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ติดตามความคืบหน้าของผลการวิจัยและกระบวนการในการจดทะเบียนพันธุ์พืชของนักวิจัยดังกล่าวอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง เมื่อเจ้าของงานวิจัยยื่นคำร้องขอจดทะเบียน ณ ที่ใด สำนักงานฯ จะต้องรีบยื่นเรื่องคัดค้านในทุกโอกาสโดยเร็วที่สุด
กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าต่างประเทศจะเร่งรัดการจดทะเบียนเครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทยโดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาเพื่อให้เสร็จสิ้นโดยเร็วที่สุด และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทยให้เป็นที่รู้จักกว้างขวางยิ่งขึ้นและเป็นไปอย่างต่อเนื่อง สำหรับโครงการในปี 2545 ในเบื้องต้นได้กำหนดกิจกรรมเผยแพร่ในรัฐฟลอริดาไว้ด้วยแล้ว
8. ผลการประชุมสัมมนาเรื่อง “ระบบความปลอดภัยด้านอาหารแห่งชาติ”
คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมสัมมนาเรื่อง “ระบบความปลอดภัยด้านอาหารแห่งชาติ” ตามที่
กระทรวงสาธารณสุขได้จัดให้มีการประชุมสัมมนาระหว่างกระทรวงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2544 ผลการประชุมสรุปได้ดังนี้
ที่ประชุมเน้นว่ามาตรฐานอาหารที่คนไทยบริโภคต้องเป็นมาตรฐานเดียวกับที่นานาชาติใช้ วิธีการทำงาน มุ่งป้องกันและแก้ไขปัญหาความไม่ปลอดภัยของอาหารที่เกิดขึ้นในทุก ๆ ช่วงให้ครบวงจรตลอดทั้งห่วงโซ่อาหาร (food chain) การดูแลตลอดทั้งห่วงโซ่อาหารมากกว่าที่จะตรวจสอบเพียงผลิตภัณฑ์สำเร็จที่ปลายทาง นี้เป็นแนวทางที่หลายประเทศเริ่มนำมาใช้ในปัจจุบัน เนื่องจากอันตรายในอาหารหลาย ๆ อย่างไม่สามารถกำจัดจากอาหารได้ในขั้นท้ายของห่วงโซ่แต่จะต้องป้องกันไม่ให้เกิดตั้งแต่ต้นเท่านั้น ที่ประชุมเห็นชอบให้ทุกหน่วยงานจะต้องประสานงานกันตั้งแต่หารือเรื่องแก้ไขกฎหมายใด ๆ ที่ซ้ำซ้อนเป็นอุปสรรค ทำงานร่วมกันอย่างสอดคล้องเป็นระบบ และหากปัญหาความไม่ปลอดภัยของอาหารที่เกิดขึ้นในช่วงใดของห่วงโซ่อาหาร หน่วยงานที่ดูแลหลักในช่วงนั้น ๆ ก็จะต้องรับผิดชอบดูแลอย่างเต็มที่ โดยมีความร่วมมือจากหน่วยงานอื่น ๆ เข้ามาร่วมให้ครบวงจร
ในการดำเนินการร่วมกันนี้ให้ใช้กลไก “อนุกรรมการความปลอดภัยด้านอาหารแห่งชาติ” ภายใต้คณะกรรมการแห่งชาติด้านอาหาร ซึ่งแต่งตั้งขึ้นโดยมติคณะรัฐมนตรีและมีองค์ประกอบเป็นหน่วยงานต่าง ๆ ที่อยู่ในแต่ละช่วงของห่วงโซ่อาหารอยู่แล้ว
นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นชอบให้ร่วมมือกันทำโครงการความปลอดภัยของอาหารครบวงจรที่เป็นปัญหาเร่งด่วนรวม 7 โครงการ โดยมอบหมายให้มีหน่วยงานเป็นผู้รับผิดชอบหลัก (Project Manager) ของแต่ละโครงการ ได้แก่
1) โครงการแก้ไขปัญหาความไม่ปลอดภัยจากสารซาลบูทามอล สารบอแรกซ์ ยาสัตว์ตกค้างและจุลินทรีย์ อาหารเป็นพิษในเนื้อหมู มีกรมปศุสัตว์เป็นผู้รับผิดชอบหลัก
2) โครงการแก้ไขปัญหาความไม่ปลอดภัยจากสารพิษตกค้าง จากสารกำจัดศัตรูพืชในผัก มีกรมวิชาการเกษตรเป็นผู้รับผิดชอบหลัก
3) โครงการแก้ไขปัญหาความไม่ปลอดภัยจากยาสัตว์ตกค้างและจุลินทรีย์ที่ทำให้
เกิดโรคอาหารเป็นพิษในเนื้อไก่ มีกรมควบคุมโรคติดต่อเป็นผู้รับผิดชอบหลัก
4) โครงการแก้ไขปัญหาสารตกค้างจากยาต้านจุลชีพและความเสี่ยงอื่น ๆ ในกุ้งเลี้ยง มีกรมประมงเป็นผู้รับผิดชอบหลัก
5) โครงการแก้ไขปัญหาความไม่ปลอดภัยจากสารกลุ่ม 3 |MCPD ที่เกิดจากกระบวนการผลิตซอสปรุงรสจากถั่วเหลือง มีสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเป็นผู้รับผิดชอบหลัก
6) โครงการแก้ไขปัญหาความไม่ปลอดภัยของอาหารที่ปรุงและจำหน่ายในร้านอาหาร (Clean Food Good Taste) มีกรมอนามัยเป็นผู้รับผิดชอบหลัก
(ยังมีต่อ)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ