บทสรุปภาวะการส่งออกของประเทศไทยระหว่างเดือน ม.ค.- พ.ย. 2547

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 26, 2005 17:06 —กรมส่งเสริมการส่งออก

          1. เศรษฐกิจไทยในปี 2547 คาดว่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 6.0-6.5 โดยครึ่งปีแรก GDP ขยายตัวประมาณร้อยละ 6.6  ส่วนไตรมาสที่สามประมาณร้อยละ 6.0 ในและปี 2548 คาดว่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 5.5-6.5
2. ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกสำคัญอันดับที่ 23 ของโลก ในช่วงครึ่งแรกของปี 2547 มีสัดส่วนการส่งออกประมาณร้อยละ 1.13 ของการส่งออกรวมในตลาดโลก(ปี 2546 ไทยอยู่อันดับที่ 23 สัดส่วนร้อยละ 1.16)
3. ประเทศไทยเป็นผู้นำเข้าสำคัญอันดับที่ 22 ของโลก ในช่วงครึ่งแรกของปี 2547 มีสัดส่วนการนำเข้าประมาณร้อยละ 1.11 ของการนำเข้าในตลาดโลก(ปี 2546 ไทยอยู่อันดับที่ 22 สัดส่วนร้อยละ 1.06)
4. การค้าของไทยช่วง 11 เดือน(ม.ค.-พ.ย.)2547 มีมูลค่า 176,665.09 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.76 แยกเป็นการส่งออกมูลค่า 89,232.92 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 22.57 การนำเข้ามีมูลค่า 87.432.17 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.18 ไทยได้เปรียบดุลการค้าเป็นมูลค่า 1,800.75 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 64.80 สำหรับเดือนพฤศจิกายน 2547 ไทยได้ดุลการค้าเป็นมูลค่า 151.60 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
5. กระทรวงพาณิชย์ได้ตั้งเป้าหมายการส่งออกในปี 2547 ที่มูลค่า 92,060 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 15 การส่งออกเดือน ม.ค.-พ.ย. 2547 มีมูลค่า 89,232.92 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 96.93 ของเป้าหมายการส่งออก
6. สินค้าส่งออกสำคัญ 50 อันดับแรก สัดส่วนรวมกันร้อยละ 82.85 ของมูลค่าการส่งออกเดือน ม.ค.- พ.ย. 2547 สินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกเปลี่ยนแปลงสูง มีดังนี้
- เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 100 มี 2 รายการ คือ วงจรพิมพ์ เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ เพิ่มขึ้นร้อยละ 104.63 และ 126.57 ตามลำดับ
- เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 50 มี 7 รายการคือ ข้าว เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่นๆ น้ำมันสำเร็จรูป เลนซ์ เตาอบไมโครเวฟและเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้ความร้อน รถจักรยาน-ยนต์และส่วนประกอบ และเครื่องคอมเพรสเซอร์ของเครื่องทำความเย็น เพิ่มขึ้นร้อยละ 52.18, 92.26, 68.96, 59.26, 56.31, 53.84 และ 63.17 ตามลำดับ
7. ตลาดส่งออกสำคัญ 50 อันดับแรก สัดส่วนรวมกันร้อยละ 95.06 ของมูลค่าการส่งออกเดือน ม.ค.-พ.ย. 2547 ตลาดที่มีมูลค่าการส่งออกเปลี่ยนแปลงสูง มีดังนี้
- เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 50 มี 5 ตลาด ได้แก่ แอฟริกาใต้ อิหร่าน ตุรกี ฟินแลนด์ และอิรัก โดยมีอัตราการขยายตัวร้อยละ 77.05, 54.56, 66.03, 61.28 และ 55.76 ตามลำดับ
8. การนำเข้า
8.1 สินค้านำเข้ามีสัดส่วนโครงสร้างดังนี้
- สินค้าเชื้อเพลิง สัดส่วนร้อยละ 13.44 เพิ่มขึ้นร้อยละ 47.15
- สินค้าทุน สัดส่วนร้อยละ 43.05 เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.48
- สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สัดส่วนร้อยละ 30.83 เพิ่มขึ้นร้อยละ 33.16 - - สินค้าบริโภค สัดส่วนร้อยละ 7.83 เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.34
- สินค้ายานพาหนะและอุปกรณ์ขนส่ง สัดส่วนร้อยละ 3.85 เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.16
- สินค้าอื่นๆ สัดส่วนร้อยละ 1.00 เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.65
8.2 แหล่งนำเข้าสำคัญ 10 อันดับแรก
มีสัดส่วนรวมกันร้อยละ 67.58 ของมูลค่าการนำเข้าทั้งสิ้น(ม.ค.-พ.ย.2547) ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน สหรัฐอเมริกา มาเลเซีย สิงคโปร์ ไต้หวัน เกาหลีใต้ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เยอรมนี และอินโดนีเซีย สัดส่วนร้อยละ 23.88, 8.54, 7.63, 5.86, 4.43, 4.25, 3.81, 3.79, 2.99 และ 2.40 โดยมีอัตราการขยายตัวร้อยละ 27.84, 37.07, 6.99, 25.90, 32.52, 29.19, 28.37, 90.34, 15.18 และ 28.36 ตามลำดับ
9. ข้อคิดเห็น
1. แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2548 คาดว่าจะยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีปัจจัยเสี่ยงมากมาย อาทิภาวะราคาน้ำมันในตลาดโลกมีการปรับขึ้น การแข็งค่าของค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ การเตรียมปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ เรื่องไข้หวัดนก สถานการณ์ความไม่สงบในภาคใต้ แนวโน้มการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะขยายตัวประมาณ 4.3% ในปี2548 ลดลงจากปี 2547 ที่คาดว่าจะขยายตัวที่ประมาณ 5% รวมทั้งผลกระทบจากการชะลอความร้อนแรงของเศรษฐกิจจีน และความเสี่ยงจากเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึงอย่างเช่นการก่อการร้ายและภัยพิบัติธรรมชาติ เช่น เหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิ เป็นต้น
คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2548 จะขยายตัวอยู่ในระดับ 5.5-6.0% แต่อาจจะขาดดุลการค้าถึงประมาณ 800 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เนื่องจากการขยายการลงทุนภายในประเทศ และต้นทุนการนำเข้าที่เพิ่มสูงจากปัจจัยเสี่ยงที่อยู่เหนือการควบคุม โดยการขยายตัวของเศรษฐกิจปี 2548 มีปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากการส่งออก ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 50% ของจีดีพี คาดว่าการส่งออกของไทยในปี 2548 จะขยายตัวไม่ต่ำกว่า 15% มูลค่าสูงกว่า 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งน่าจะเป็นผลมาจากการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการเพื่อรองรับการ แข่งขันที่สูงขึ้น โครงการสนับสนุนการส่งออกเชิงรุกทั้งในตลาดหลักและตลาดใหม่ เช่น หน่วยปฏิบัติการพิเศษเคลื่อนที่เร็วเพื่อเจาะตลาด โครงการไทยแลนด์มาร์เก็ตเพลส และการสร้างช่องทางในการขยายตลาดส่งออกเพิ่มขึ้นของภาครัฐ เช่น การจัดทำเขตการค้าเสรี(FTA)กับประเทศต่างๆ เป็นต้น
ในปี 2548 ผู้ประกอบการไทยต้องเร่งปรับปรุงและพัฒนาศักยภาพในทุกด้านเพราะการเปิดตลาดเสรีจะส่งผลให้การแข่งขันทวีความรุนแรงมากขึ้น ทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเพื่อลดต้นทุน การประหยัดพลังงาน การพัฒนาระบบบริหารจัดการและการตลาด เน้นการพัฒนาสินค้าให้มีมูลค่าเพิ่มสูง สร้างแบรนด์เนมสินค้า เพื่อรักษาฐานลูกค้าเดิมและเพิ่มคู่ค้าใหม่ รวมทั้งต้องมีการวางแผนทางการเงินที่ดี เพื่อลดความเสี่ยงจากความผันผวนของค่าเงินในการส่งออกสินค้า สำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี)ควรรวมตัวกันในภาคธุรกิจที่คล้ายคลึงกันและมีผลประโยชน์ร่วมกัน(คลัสเตอร์)เป็นการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันกับบริษัทใหญ่จากต่างประเทศ
2. การเปิดเสรีกับออสเตรเลีย เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2548 ไทยและออสเตรเลียได้เริ่มมีการลดภาษีระหว่างกัน ซึ่งของไทยมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 50 ของรายการสินค้าทั้งหมด ส่วนออสเตรเลียมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 83 โดยทางภาคเอกชนไทยได้แบ่งกลุ่มสินค้า อุตสาหกรรมจากแนวโน้มการแข่งขันเป็น 4 ประเภท ได้แก่ 1) สินค้าที่ไทยน่าจะได้รับประโยชน์ อาทิ ยานยนต์ เสื้อผ้า อัญมณี เซรามิค พลาสติก เคมีภัณฑ์ 2) สินค้าที่แข่งขันทัดเทียม เช่น ปูนซีเมนต์ เฟอร์นิเจอร์ ไม้ ยางพารา กระจก ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์บางชนิด 3) สินค้าที่แข่งขันลำบาก เช่น น้ำมันปาล์ม เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์บางชนิด และ 4) สินค้าที่ได้รับการลดภาษีเป็น 0% อยู่แล้ว เช่น สินค้าเกษตร เป็นต้น
ขณะนี้อุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งคาดว่าไทยจะได้รับประโยชน์จากการเปิดตลาด โดยเฉพาะจากรถปิกอัพ รถยนต์ขนาดเล็กกำลังเตรียมผลิตเพื่อขยายตลาดเพิ่มเติม ส่วนสินค้าสิ่งทอและอาหารไทยหลายรายการมีความสามารถในการแข่งขัน แต่ยังมีผู้สนใจขยายตลาดไม่มากนัก และสำหรับโคเนื้อของไทยที่หลายฝ่ายมีความกังกล ทางสมาคมโคเนื้อแห่งประเทศไทยได้จัดทำยุทธศาสตร์เพื่อรองรับผลกระทบจากการเปิด FTA โดยการขอการสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้แก่เกษตรกรที่เลี้ยงโคเนื้อ ขอความร่วมมือทั้งจากภาครัฐและเอกชนร่วมแก้ไขปัญหาเรื่องมาตรการกีดกันการค้า การปรับโครงสร้างภาษีสินค้าภายในประเทศ และเรื่องแหล่งกำเนิดสินค้าให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยทางสมาคมโคเนื้อเชื่อว่าไทยยังได้เปรียบออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ในเรื่องต้นทุนค่าขนส่ง ทำให้สินค้าเข้ามาแข่งขันยาก แต่กับประเทศอินเดียซึ่งมีโคเนื้อคุณภาพดี หากมีการลดภาษีระหว่างไทยและอินเดียในส่วนนี้ด้วย ไทยจะเสียเปรียบมาก
3. สินค้ากุ้ง ผลกระทบจากคลื่นยักษ์สึนามิที่พัดถล่มในหลายประเทศริมมหาสมุทรอินเดียเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 ต่ออุตสาหกรรมเพาะเลี้ยงกุ้ง โดยเฉพาะในไทยและอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกกุ้งรายใหญ่อันดับ 1 และ 3 ของโลก คลื่นยักษ์สึนามิสร้างความเสียหายต่อฟาร์มกุ้งกว่าครึ่ง อาจส่งผลให้ราคากุ้งในตลาดโลกแพงขึ้นอีก 10-15% ในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า
ทางคณะกรรมาธิการการค้าระหว่างประเทศสหรัฐฯ(ITC)ที่ได้ประกาศผลการพิจารณาการทุ่มตลาดกุ้ง เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2548 ว่ามีการทุ่มตลาดจริงจาก 6 ประเทศ ได้แก่ ไทย เอกวาดอร์ เวียดนาม จีน อินเดีย และบราซิล และจะประกาศอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด(Antidumping)ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2548 จึงจะทบทวนการพิจารณาภาษี AD ใหม่ให้กับไทยและอินเดีย เนื่องจากสภาพแวดล้อมในการแข่งขันได้เปลี่ยนแปลงไป ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลความเสียหายต่ออุตสาหกรรมกุ้งจากผลกระทบของคลื่นยักษ์สึนามิ ซึ่งทางสมาคมผู้บริโภคในสหรัฐฯ ได้สนับสนุนการทบทวนการพิจารณาของ ITC เพราะการเก็บภาษีทุ่มตลาดของสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบในทางลบกับผู้บริโภคในสหรัฐฯ ให้ต้องซื้อสินค้ากุ้งในราคาแพงขึ้น เพราะสหรัฐฯนำเข้ากุ้งถึงร้อยละ 90 ของปริมาณการบริโภคกุ้งในประเทศ และ มีการนำเข้าจากไทยเป็นอันดับ 1
การทบทวนการพิจารณาภาษีทุ่มตลาดกุ้งใหม่ ซึ่งไทยมีโอกาสที่จะได้รับการพิจารณาเก็บภาษีในอัตราที่ต่ำลงหรือไม่เก็บภาษี AD ทั้งนี้น่าจะเป็นผลดีต่อทั้งไทยและสหรัฐฯ เพราะอุตสาหกรรมกุ้งไทยที่ได้รับผลกระทบเสียหายจากคลื่นยักษ์สึนามิ ต้องการระยะเวลาและความช่วยเหลือเพื่อการฟื้นฟู และทางสหรัฐฯก็จะลดผลกระทบจากราคาสินค้ากุ้งภายในตลาดที่อาจเพิ่มสูงขึ้น ทั้งจากการเก็บภาษีจากประเทศผู้ส่งออกสำคัญและจากแนวโน้มราคาสินค้ากุ้งในตลาดโลกที่อาจเพิ่มขึ้นได้
ที่มา: http://www.depthai.go.th
-ดท-

แท็ก การส่งออก   GDP  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ