10 พฤศจิกายน 2542 สหรัฐฯ และ สหภาพยุโรป เสนอเรื่องแรงงาน เข้าสู่การพิจารณาของ WTO ในระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน ถึง 3 ธันวาคม ศกนี้ จะมีการประชุมระดับรัฐมนตรีของ องค์การการค้าโลกครั้งที่ 3 (WTO 3rd Ministerial Conference) ที่เมืองซีแอตเติล ประเทศสหรัฐอเมริกา และขณะนี้ ประเทศสมาชิก WTO อยู่ระหว่างการเจรจาร่างปฏิญญารัฐมนตรีองค์การการค้าโลก (Draft Ministerial Declaration) ซึ่งจะมีผลผูกพันให้ประเทศสมาชิกปฏิบัติตามหลักการและแนวทางในเรื่องต่างๆ ภายใต้กรอบการเจรจาของ WTO ในระยะที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป พยายามผลักดัน อย่างหนัก ให้มีการนำเรื่องมาตรฐานแรงงานเข้าสู่การพิจารณาของ WTO และล่าสุดมหาอำนาจทั้งสอง ได้จัดทำข้อเสนอเรื่องแรงงาน เสนอต่อคณะมนตรีทั่วไปของ WTO แต่ยังมีประเทศสมาชิกให้การสนับสนุน ไม่มากนัก ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่รวมทั้งไทย ยังคงคัดค้านการนำประเด็นเรื่องมาตรฐาน แรงงานมาเชื่อมโยงกับการค้า เนื่องจากเกรงว่าอาจเป็นการเปิดโอกาสให้มีการนำเรื่องมาตรฐานแรงงาน มาใช้เป็นข้ออ้างในการใช้มาตรการกีดกันทางการค้าได้ในอนาคต สาระสำคัญของข้อเสนอฯ มีดังนี้ สหรัฐฯ เสนอให้ WTO จัดตั้งคณะทำงานเรื่องการค้าและแรงงาน (Working Group on Trade and Labour) เพื่อทำการตรวจสอบประเด็นต่างๆ เรื่องแรงงานที่เกี่ยวข้องกับการค้า อาทิ ผลกระทบของการจ้างงาน กับการค้า ความสัมพันธ์ระหว่างมาตรฐานแรงงานหลักกับการค้า การบังคับใช้แรงงานเด็กที่เกี่ยวข้องกับ การค้า ขอบเขตของนโยบายการค้ากับการปฏิบัติตามมาตรฐานแรงงานหลัก เป็นต้น โดยสหรัฐฯ เชื่อว่า การจัดตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษาเรื่องนี้ ประเทศสมาชิก WTO จะได้รับประโยชน์จากการหารือและ ประสานงานกับ ILO IMF World Bank และ UNCTAD สหภาพยุโรป เสนอให้ที่ประชุมรัฐมนตรีที่ ซีแอตเติล มีมติให้ WTO ยอมให้มีการนำเรื่องมาตรฐานแรงงานหลัก มาใช้เป็นเครื่องจูงใจในระบบการให้ สิทธิพิเศษทางการค้า เพื่อต้องการส่งเสริมให้มีการปฏิบัติตามมาตรฐานแรงงานหลัก (incentive-based approach) และยังเสนอให้มีการจัดตั้งคณะทำงานร่วมระหว่าง WTO และ ILO (joint ILO/WTO standing working forum) ว่าด้วยการค้า โลกาภิวัตน์ และประเด็นด้านแรงงาน เพื่อให้เกิดความเข้าใจในเรื่อง ดังกล่าวมากขึ้น โดยผ่านการหารือระหว่างผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งประกอบด้วย รัฐบาล นายจ้าง สหภาพการค้า และองค์การระหว่างประเทศอื่นๆ และให้มีการตรวจสอบถึงความสัมพันธ์ระหว่างนโยบายการค้า การเปิด เสรีทางการค้า การพัฒนา กับมาตรฐานแรงงานด้วย แต่จะไม่รวมถึงประเด็นใดๆ ที่ให้มีการกำหนด บทลงโทษทางการค้า สำหรับประเทศไทย คัดค้านการเชื่อมโยงเรื่องมาตรฐานแรงงานกับการค้าระหว่าง ประเทศ อย่างไรก็ดี เนื่องจากเรื่องดังกล่าว เป็นเรื่องที่ประเทศสมาชิกยังมีความเห็นแบ่งเป็นสองขั้ว อย่างเห็นได้ชัด ดังนั้น เพื่อให้ประเทศสมาชิก WTO มีความเข้าใจในเรื่องนี้มากขึ้น ไทยเห็นว่า ควรใช้วิธีแก้ไขในทางสร้างสรรค์ (positive approach) อาทิ การจัดประชุมระดับสูง (a one-off high level meeting) ในเรื่องแรงงาน เพื่อหารือปัญหาและแนวทางแก้ไข ซึ่งจะเหมาะสมกว่าการเลือกแนวทางใช้ มาตรการกีดกันทางการค้า ลงโทษผู้ที่ไม่สามารถปฏิบัติตามมาตรฐานได้ (negative approach) แต่ทั้งนี้ จะต้องไม่มีการเชื่อมโยงระหว่างประเด็นการค้ากับประเด็นแรงงาน (non-linkage) และจะเป็นการประชุม ที่ไม่มีผลผูกพันต่อผู้เข้าร่วมประชุม (non-binding) ตลอดจนเป็นการประชุมครั้งเดียวไม่มีต่อเนื่อง (one-off basis)
--กรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ กุมภาพันธ์ 2543--
-ปส-
--กรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ กุมภาพันธ์ 2543--
-ปส-