การประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (AEM) ครั้งที่ 37 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 27, 2005 15:06 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

          นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเดินทางเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (AEM) ครั้งที่ 37 และการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา ระหว่างวันที่ 28-30 กันยายน 2548 ณ กรุงเวียงจันทน์  สปป. ลาว โดยจะมีการประชุมคณะมนตรีเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA Council) และคณะมนตรีด้านการลงทุน (AIA Council) ในวันที่ 27 กันยายน 2548 ซึ่งในการประชุม AEM ครั้งนี้ จะหารือประเด็นสำคัญด้านเศรษฐกิจ ดังนี้
1. การดำเนินการเร่งรัดการรวมกลุ่มสาขาสำคัญของอาเซียน รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนจะพิจารณาให้แนวนโยบายการดำเนินงานในระยะต่อไปตามรายงานที่ได้จากการจัดประชุมหารือร่วมระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ภายในอาเซียน (Consultative Meeting on Priority Sectors) และข้อเสนอของคณะทำงานระดับสูงว่าด้วยการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียน (HLTF) เพื่อปรับปรุงแผนงานการรวมกลุ่ม (Roadmap) 11 สาขาสำคัญของอาเซียนให้มีความชัดเจนและตอบสนองสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันได้อย่างเหมาะสม ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญที่จะหารือ เช่น การรับรองหลักเกณฑ์การจำแนกมาตรการที่มิใช่ภาษี (NTBs) การพิจารณารับหลักเกณฑ์การเปลี่ยนพิกัดศุลกากร (Change of Tariff Classification: CTC) เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการคิดแหล่งกำเนิดสินค้าของอาเซียน และการเร่งรัดดำเนินการเรื่องการอำนวย ความสะดวกด้านศุลกากรด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียว (ASEAN Single Window) เป็นต้น
2. การดำเนินงานภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน ที่ประชุมจะพิจารณาประเด็นสืบเนื่องจาก การประชุมคณะมนตรีเขตการค้าเสรีอาเซียน ครั้งที่ 19 ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 27 กันยายน 2548 ซึ่งมีประเด็นสำคัญ ได้แก่ การปฏิบัติตามพันธกรณีของประเทศสมาชิกในการลดภาษีสินค้าภายใต้ AFTA อาทิ การโอนย้ายสินค้ารถยนต์ CBUs/CKDs เข้าสู่บัญชีลดภาษีของมาเลเซีย การโอนย้ายสินค้าในบัญชีอ่อนไหวและ อ่อนไหวสูงเข้าสู่บัญชีลดภาษีของประเทศสมาชิก และการทบทวนรายการสินค้าในบัญชียกเว้นการลดภาษี (General Exceptions List : GE) เพื่อให้เหลือแต่รายการที่สอดคล้องตามความตกลง CEPT เป็นต้น
3. การเปิดเสรีภาคบริการของอาเซียน รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนจะพิจารณาให้การรับรอง เป้าหมายการเปิดเสรีภาคบริการภายในของอาเซียน โดยสาขาบริการสำคัญ (Priority Services Sectors) 3 สาขา ได้แก่ สาขาสุขภาพ สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ และสาขาการท่องเที่ยว ให้ดำเนินการเปิดเสรี ภายในปี 2553 สำหรับสาขาบริการอื่นๆ (Non-Priority Services Sector) ที่ครอบคลุมบริการทุกสาขา นอกเหนือจาก priority sectors กำหนดให้ดำเนินการแล้วเสร็จภายในปี 2558
4. การลงทุนของอาเซียน ที่ประชุมจะพิจารณาประเด็นสืบเนื่องจากการประชุมคณะมนตรีด้าน การลงทุนของอาเซียน (AIA Council) ครั้งที่ 8 ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 27 กันยายน 2548 โดยมีประเด็นสำคัญ คือ การสนับสนุนการลงทุนภายในภูมิภาคให้สูงขึ้น โดยการจัดกิจกรรมสนับสนุนต่างๆ เช่น การจัดคณะ ผู้แทนด้านการลงทุนของอาเซียน (Inbound/Outbound Investment Mission)นอกจากนี้ ที่ประชุมจะพิจารณารายงานการศึกษาด้านการลงทุน (ASEAN Investment Surveillance Report) ของบริษัท Pricewaterhouse Cooper ที่จะเสนอแนวนโยบายด้านการลงทุนเพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงของสภาวะเศรษฐกิจโลก และใช้ประโยชน์จากการเจรจาจัดทำเขตการค้าเสรีของอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
5. ความสัมพันธ์ของอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาต่างๆ รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนจะหารือประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการเจรจาจัดทำเขตการค้าเสรีกับประเทศคู่เจรจาต่างๆ ดังนี้
5.1 อาเซียน-จีน ผลักดันการเจรจาด้านการค้าบริการให้แล้วเสร็จตามกำหนดเวลา เพื่อการลงนามในความตกลงว่าด้วยการค้าบริการ ในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 11 ในเดือนธันวาคม 2548
5.2 อาเซียน-ญี่ปุ่น หารือแนวทางการเจรจาเปิดเสรีการค้าสินค้าและกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้าในกรอบภูมิภาค ซึ่งในชั้นนี้ ทั้งสองฝ่ายยังมีท่าทีที่แตกต่างกันอยู่โดยเฉพาะรูปแบบ/แนวทาง การเจรจา ทั้งนี้ คาดว่า ทั้งสองฝ่ายจะสามารถประนีประนอมและหาทางออกร่วมกันได้โดยเร็ว เพื่อให้ การเจรจามีความคืบหน้าและเอื้อประโยชน์ระหว่างกันให้มากที่สุด
5.3 อาเซียน-เกาหลี พิจารณาแนวทางการเปิดเสรีทางการค้าระหว่างกัน โดยเฉพาะประเด็นเรื่องขอบเขต/จำนวนรายการสินค้าที่จะลดภาษี และกรอบระยะเวลาในการลดภาษี ซึ่งหากสามารถสรุปผลได้ คาดว่าทั้งสองฝ่ายจะสามารถลงนามในกรอบความตกลงได้ในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 11
5.4 อาเซียน-ออสเตรเลีย/นิวซีแลนด์ (CER) พิจารณาให้แนวทางการเจรจาและอาจเสนอให้ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์เริ่มเจรจาในเรื่อง Trade in Goods ก่อน แล้วจึงเริ่มเจรจา Trade in Services และ Investment ในลำดับต่อไป เนื่องจากประเทศสมาชิกใหม่อาเซียนมีข้อจำกัดในด้านทรัพยากรทั้งงบประมาณและบุคลากร
5.5 อาเซียน-อินเดีย ให้แนวทางการเจรจาเรื่องกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า ซึ่งทั้งสองฝ่ายยังไม่สามารถหาท่าทีร่วมกันได้ เป็นเหตุให้การเจรจาต้องหยุดชะงักไปตั้งแต่ต้นปี 2548 ทั้งนี้ หากสามารถหาข้อสรุปได้ จะได้เริ่มเจรจาในข้อบทความตกลงด้านการค้าสินค้าต่อไป
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (66) 2282-6171-9 แฟกซ์ (66) 2280-0775
-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ