นายวิทูร ตุลยานนท์ รองอธิบดีกรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ แถลงว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) โดย นายศุภชัย พานิชภักดิ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2543 มีวาระการรายงานให้ที่ประชุมทราบ เรื่อง National Trade Estimate ของสหรัฐอเมริกา ประจำปี 2000 ดังนี้ ตามกฎหมายการค้าของสหรัฐฯ วันที่ 31 มีนาคม ของทุกปี USTR จะจัดทำรายงาน National Trade Estimate Report on Foreign Trade Barriers (NTE) เสนอฝ่ายนิติบัญญัติว่าในรอบปีที่ผ่านมา ประเทศคู่ค้าต่างๆ มีพฤติกรรมทางการค้าอย่างไรบ้างที่อาจจะกระทบต่อผลประโยชน์ของสหรัฐฯ และภายในวันที่ 30 เมษายน USTR จะระบุรายชื่อประเทศที่ไม่ให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐฯอย่างเพียงพอ ซึ่งอาจจะมีการไต่สวนภายใต้กฎหมายการค้า มาตรา Special 301 และภายในวันที่ 30 กันยายน USTR จะระบุรายชื่อประเทศที่มีมาตรการกีดกันทางการค้าที่เป็นอุปสรรคต่อการส่งออกสินค้าและบริการของสหรัฐฯ ภายใต้กฎหมายการค้า มาตรา Super 301 เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2543 USTR ได้เสนอรายงาน NTE ประจำปี 2000 ซึ่งประเทศที่ถูกกล่าวหามี 55 ประเทศ สำหรับประเทศไทย ได้ระบุเรื่องต่างๆ สรุปสาระสำคัญ ดังนี้ 1. นโยบายการนำเข้า อัตราภาษีศุลกากร วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจส่งผลให้ไทยมีการปรับโครงสร้างภาษีศุลกากรล่าช้า รัฐบาลยังคงการเพิ่มอัตราภาษีศุลกากรชั่วคราวในสินค้าบางรายการต่อไป เช่น รถยนต์ พาหนะที่ใช้ในการกีฬา ทั้งที่ได้ประกาศให้มีผลใช้ได้แค่สิ้นปี 1999 นอกจากนั้น แม้รัฐบาลยกเลิกภาษีศุลกากรสินค้าที่เกี่ยวข้องกับ IT จำนวน 153 รายการตามข้อผูกพัน ITA แต่กลับกำหนดระเบียบว่าด้วยเรื่องใบรับรองถิ่นกำเนิดของสินค้าขึ้นบังคับใช้แทน การจัดเก็บภาษี สินค้าเกษตรและสินค้าอ่อนไหวบางรายการไม่อยู่ในแผนปรับโครงสร้างภาษีศุลกากร ภาษีสรรพสามิตบางรายการมีการจัดเก็บในอัตราสูง เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง (ร้อยละ 25-31) เบียร์ (ร้อยละ 50 -53) และสินค้าฟุ่มเฟือย เช่นเรือยอชต์ (ร้อยละ 50) เป็นต้น สินค้าเกษตรและอาหาร ยังคงมีอัตราภาษีศุลกากรอยู่ในระดับสูง เช่น สินค้าอาหารสด อาหารพร้อมรับประทาน เนื้อสัตว์ ผลไม้และผักสด ไวน์ เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีการใช้มาตรการโควต้าภาษี และมาตรการด้านสุขอนามัย 2 การจำกัดปริมาณการนำเข้า และการออกใบอนุญาตนำเข้า การนำเข้าสินค้าอาหารเพื่อการบริโภคทุกรายการต้องได้รับอนุญาตจากรัฐ ซึ่งมักจะมีปัญหาความโปร่งใสในการอนุญาต และปัญหาขั้นตอนการปฏิบัติที่ไม่ชัดเจน 3 อุปสรรคด้านศุลกากร การประเมินราคาศุลกากรยังคงเป็นอุปสรรคที่สำคัญต่อสินค้าจากสหรัฐฯ เจ้าหน้าที่มีการปฏิบัติตามอำเภอใจ และมีการเรียกค่าอำนวยความสะดวก 4. มาตรฐาน การทดสอบ การปิดฉลาก และการออกใบรับรอง มีขั้นตอนสลับซับซ้อน ต้องใช้เวลาและมีต้นทุนสูง และในบางกรณีกำหนดให้เปิดเผยข้อมูลที่อาจเป็นความลับทางการค้า 5. การจัดซื้อโดยรัฐ ยังมีปัญหาเรื่องความโปร่งใสในการดำเนินการ 6. การอุดหนุนการส่งออก มีการสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับสินค้าส่งออก 7. การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ถึงแม้จะมีความก้าวหน้าในด้านการออกกฎหมายเพื่อคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา แต่การบังคับใช้กฎหมายยังไม่ดีพอ ศาลลังเลที่จะพิจารณาคดีว่าการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาเป็นอาชญากรรมร้ายแรง และมักจะลงโทษสถานเบาหรือกลับคำตัดสินเมื่อมีการอุทธรณ์ สิทธิบัตร รัฐบาลได้ปรับปรุงและแก้ไขพรบ.สิทธิบัตร ซึ่งประกาศใช้เมื่อเดือนตุลาคม 1998 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ กันยายน 1999 ลิขสิทธิ์ สหรัฐฯรายงานว่าอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ในซอฟต์แวร์ธุรกิจเท่ากับ ร้อยละ 81 (คิดเป็นมูลค่าสูญเสียประมาณ 66 ล้านดอลลาร์) อัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ในซอฟต์แวร์ด้านการบันเทิงเท่ากับ ร้อยละ 95 (คิดเป็นมูลค่าสูญเสียประมาณ 116.3 ล้านดอลลาร์) เนื่องจากข้อบังคับของกฎหมายยังมีช่องว่าง และค่าปรับของการละเมิดลิขสิทธิ์ไม่สูงพอที่ผู้กระทำผิดจะเกรงกลัว เครื่องหมายการค้า การแก้ไขพรบ.เครื่องหมายการค้าในปี 1992 เพื่อเพิ่มโทษ และขยายขอบเขตของกฎหมายให้ครอบคลุมถึงการค้าบริการ certification และ collective marks ทำให้การคุ้มครองเครื่องหมายการค้าได้ผลในระดับหนึ่ง แต่การผลิตสินค้าปลอมจำพวกตุ๊กตาผ้าในต่างจังหวัดนับเป็นปัญหาใหม่ และทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น 8. อุปสรรคด้านการค้าบริการ รัฐบาลยังควบคุมกิจการโทรคมนาคมขั้นพื้นฐาน การบริการทางด้านกฎหมาย และการดำเนินธุรกิจของธนาคารต่างชาติ โดยยังไม่อนุญาตให้มีการแข่งขันจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น 9. อุปสรรคด้านการลงทุน ถึงแม้รัฐบาลได้ประกาศยกเลิกข้อกำหนดการใช้วัตถุดิบหรือชิ้นส่วนที่ผลิตภายในประเทศสำหรับอุตสาหกรรมนมและผลิตภัณฑ์ และอุตสาหกรรมรถยนต์ แต่กลับทดแทนมาตรการดังกล่าวด้วยการเพิ่มภาษีศุลกากรใน CKD kits แทน 10. อุปสรรคในด้านอื่นๆ รัฐวิสาหกิจหลายแห่งได้รับการคุ้มครองจากการเข้ามาแข่งขันจากบริษัทต่างประเทศ สำหรับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ขณะนี้ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายที่ดูแลการดำเนินการเรื่องพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ กรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ในฐานะเลขานุการ กนศ. ได้ประสานกรมทรัพย์สินทางปัญญาชี้แจงประเด็นที่เกี่ยวกับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา โดยตอบข้อร้องเรียนของภาคเอกชนสหรัฐฯ (The International Anti-Counterfeiting Coalition :IACC) ที่ยื่นขอให้ USTR พิจารณาเลื่อนสถานะของไทยจากบัญชีประเทศที่ถูกจับตามอง (Watch List :WL) เป็นประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ (Priority Watch List:PWL) โดยได้ส่งคำชี้แจงให้สำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน แจ้งต่อ USTR แล้ว ขณะนี้ ฝ่ายเลขานุการกนศ.กำลังประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อชี้แจงข้อกล่าวหา ในเรื่องการเข้าสู่ตลาดสินค้าและบริการของสหรัฐฯตามที่ระบุในรายงาน NTE ซึ่งขณะนี้มีหน่วยงานต่างๆได้ชี้แจงข้อกล่าวหาไปยังกรมเศรษฐกิจการพาณิชย์แล้ว ได้แก่ กระทรวงคมนาคม กระทรวงยุติธรรม สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หากรวบรวมคำชี้แจงจากทุกหน่วยงานแล้วกรมเศรษฐกิจการพาณิชย์จะได้ส่งคำชี้แจงและความคืบหน้าของไทยให้ USTR ต่อไปมีข้อสังเกตว่า รายงาน NTE ของสหรัฐฯ ประจำปีนี้ ได้กล่าวถึงภาพรวมของประเทศไทยในลักษณะที่มีการปรับปรุงและมีความก้าวหน้าที่ดีขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการประกาศใช้กฎหมายคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่ครอบคลุมมากขึ้น ปัญหาที่ระบุมีเพียงการบังคับใช้กฎหมายเท่านั้น สำหรับในด้านอื่นๆ สหรัฐฯได้เน้นในเรื่องมาตรฐาน การทดสอบ การปิดฉลาก การออกใบรับรอง และการจัดซื้อโดยรัฐ ซึ่งมีปัญหาคล้ายกับที่ระบุไว้ในปีที่ผ่านมา
--กรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ มิถุนายน 2543--
-ปส-
--กรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ มิถุนายน 2543--
-ปส-