ข้อมูลประกอบการบรรยายเรื่อง “การค้ามิติใหม่”

ข่าวเศรษฐกิจ Saturday March 24, 2001 10:42 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

          ข้อมูลประกอบการบรรยาย เรื่อง “การค้ามิติใหม่” โดย นางบุญทิพา สิมะสกุล  อธิบดีกรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ ณ โรงแรมเฟลิกซ์ ริเวอร์แคว จังหวัดกาญจนบุรี วันเสาร์ที่ 24 มีนาคม 2544 
1. ทิศทางการค้ามิติใหม่
- ลกก้าวสู่ยุคเศรษฐกิจใหม่ (New Economy) ปัจจุบันระบบเศรษฐกิจโลกมีการเปลี่ยนแปลงที่สลับซับซ้อนและเชื่อมโยงกันรวดเร็วมากขึ้นด้วยนวัตกรรมของเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศ เทคโนโลยีชีวภาพและเทคโนโลยีโลหะและวัสดุ มาใช้ในกระบวนการผลิต การตลาด การบริหาร และการสื่อสารโทรคมนาคม อย่างเข้มข้นมากขึ้น อีกทั้งความก้าวหน้าของระบบอิเล็กทรอนิกส์หรือ Internet ที่แพร่กระจายไปทั่วทั้งด้านการค้า (E-Commerce) สังคม (E-Society) และการบริการของรัฐ (E-Government) ส่งผลให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกต้องปรับตัวและให้ความสำคัญในการจัดทำวิสัยทัศน์เพื่อกำหนดแผนยุทธศาสตร์ของชาติอย่างเป็นรูปธรรม และดำเนินการด้วยความรวดเร็ว ยืดหยุ่น และทันต่อเหตุการณ์
- บทบาทของสถาบันหรือองค์กรระหว่างประเทศจะมีมากขึ้นในอนาคต นั่นหมายถึง ประเทศไทยหรือกระทรวงพาณิชย์ จะบริหารนโยบายการค้าโดยลำพังไม่ได้ การออกกฎระเบียบต่างๆ จะต้องเป็นสากลและโลกยอมรับ
- การแข่งขันทางการค้าจะเข้มข้น วัฎจักรเศรษฐกิจและสินค้าจะสั้นลงการเปิดตลาดการค้าตามพันธกรณีขององค์การการค้าโลก และการรวมกลุ่มการค้าในภูมิภาคต่าง ๆ จะทำให้การแข่งขันทางการค้าเข้มข้นมากขึ้น สินค้าสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างรวดเร็วและไม่มีขีดจำกัดด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ อายุของสินค้าที่ผลิตออกขายแต่ละรุ่นจะสั้นลงด้วยความก้าวหน้าของนวัตกรรมสมัยใหม่ ที่ทำให้เกิดการประดิษฐ์คิดค้นสินค้าใหม่ ๆ หลั่งไหลสู่ตลาดมากขึ้น เพื่อสนองความต้องการของผู้บริโภคและการช่วงชิงตลาด สินค้าจะมีราคาถูกลง ขณะที่คุณภาพจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
- โลกการค้าในอนาคตเป็นโลกที่ต้องสำนึกในเรื่องความปลอดภัย คุณภาพชีวิต สุขอนามัยและสิ่งแวดล้อม ทุกเรื่องจะเกี่ยวข้องกับการค้าในขณะที่ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้เจริญไปอย่างไม่หยุดยั้ง กระแสของความห่วงใยในคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมได้เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน และมนุษย์เริ่มหันไปหาธรรมชาติมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากความนิยมในพืช ผัก และอาหารปลอดสารพิษ สินค้าปลอด GMOs สินค้าปลาทูนาที่ส่งเข้าสหรัฐอเมริกาต้องติดฉลาก “dolphin safe ” เป็นต้น ซึ่งทุกเรื่องจะถูกนำมาเชื่อมโยงกับการค้าระหว่างประเทศและอาจมีการใช้เป็นข้ออ้างในการใช้มาตรการกีดกันทางการค้าอย่างแอบแฝง
- E-Commerce เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในการก้าวเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจใหม่ การดำเนินธุรกิจจะต่างจากเดิมอย่างสิ้นเชิง คือ เน้นความไวของการจัดระบบการผลิต การตลาด การขาย ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และมีการใช้จ่ายที่น้อยลง โดยอาศัยเทคโนโลยีด้านคอมพิวเตอร์และระบบสื่อสาร เชื่อมโยงเข้าด้วยกันจนกลายเป็นระบบ E-Commerce ที่ดำเนินการผ่านเครือข่าย Internet ซึ่งเชื่อมโยงไปทั่วโลก ซึ่งปัจจุบันมีผู้ใช้ Internet ทั่วโลกประมาณ 200 ล้านคนใน 160 ประเทศการนำ E-Commerce มาใช้กับการค้าส่งผลดีหลายประการ ได้แก่ 1) ผู้ซื้อและผู้ขายสามารถติดต่อซื้อขายกันได้โดยตรงไม่ต้องผ่านคนกลาง ไม่จำกัดเวลาและสถานที่ 2) ช่วยลดต้นทุน เช่น แสดงสินค้าผ่านเว็บไซต์ได้ทั่วโลกโดยไม่ต้องจัดพิมพ์เป็นเอกสาร ใช้บุคลากรน้อย ไม่ต้องมีสาขา เป็นต้น 3) ขยายตลาดได้กว้างขวาง 4) ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างรวดเร็วดังนั้นในภาวะที่การแข่งขันรุนแรงมากขึ้นจากการเปิดเสรีการค้า E-Commerce จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
- โลกจะก้าวเข้าสู่ยุคการค้าไร้พรมแดน หลังจากการเจรจารอบอุรุกวัยเสร็จสิ้นลง และมีการเปิดเสรีการค้าสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้นตามพันธกรณีของ WTO ในปี 2544 นี้ อาจมีการเจรจาการค้าพหุภาคีรอบใหม่เกิดขึ้น ซึ่งจะมีการผลักดันให้เปิดเสรีในด้านอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากการค้าสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น อันจะทำให้โลกก้าวเข้าสู่ยุคของการค้าไร้พรมแดนอย่างแท้จริงเป็นการค้าเสรีอย่างเต็มรูปแบบ โดยมี WTO เป็นองค์กรระหว่างประเทศที่ดูแลการดำเนินกิจกรรมการค้าให้อยู่ภายในกรอบกติกาเพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม
2. ความก้าวหน้าของการเจรจาในเวทีการค้าต่าง ๆ
2.1 องค์การการค้าโลก (WTO)
- WTO หรือ แกตต์เดิม ได้ก่อตั้งขึ้นในปี 2538 หลังการเจรจารอบอุรุกวัย ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 140 ประเทศ
- วัตถุประสงค์ เพื่อสร้างกฎเกณฑ์ และระเบียบทางการค้า เพื่อให้การค้าในโลกเป็นไปโดยเสรีและมีการแข่งขันอย่างเป็นธรรมมากขึ้น โดยมีหน้าที่ที่สำคัญ คือ
- บริหารความตกลงพหุภาคีต่าง ๆ ซึ่งครอบคลุมถึงการค้าบริการ การลงทุน และทรัพย์สินทางปัญญา
- เป็นเวทีการเจรจาระหว่างสมาชิกในเรื่องความสัมพันธ์ทางการค้าที่เกี่ยวข้องกับความตกลงแบบต่าง ๆ ตลอดจนการปฏิบัติตามผลการเจรจา
- บริหารความเข้าใจว่าด้วยกระบวนการระงับข้อพิพาทและกลไกทบทวนนโยบายการค้า - ร่วมมือกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลก เพื่อให้การวางนโยบายเศรษฐกิจสอดคล้องกัน
- สถานะปัจจุบัน
* ในการประชุมระดับรัฐมนตรี WTO ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน — 3 ธันวาคม2542 ณ นครซีแอตเติล สหรัฐอเมริกา ประเทศสมาชิกได้พยายามผลักดันให้รวมเรื่องอื่น ๆ เพื่อเปิดเจรจารอบใหม่ เช่น การลงทุน นโยบายการแข่งขัน แรงงานและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น แต่ประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ได้คัดค้านการเจรจารอบใหม่ เพราะเห็นว่ายังมีปัญหาเรื่องการปฏิบัติตามพันธกรณีความตกลงรอบอุรุกวัย การประชุมครั้งนั้นจึงประสบความล้มเหลว แต่ก็ได้มีการเจรจาสินค้าเกษตรและบริการรอบใหม่ ในปี 2543 ซึ่งเป็นเรื่องที่กำหนดไว้ในความตกลงแล้วว่าต้องเริ่มเจรจาต่อ
* หลังการประชุมที่ซีแอตเติล ผู้อำนวยการใหญ่ WTO เห็นว่า เรื่องเร่งด่วนที่ต้องหาข้อยุติให้ได้ก่อนการเจรจารอบใหม่ คือ การเรียกความเชื่อมั่นใน WTO กลับคืนมา ซึ่งในปี 2543 ได้มีการดำเนินการดังนี้
1) การเปิดตลาด โดยการยกเว้นภาษีศุลกากรและโควตาแก่ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด(LDCs)
2) การเพิ่มงบประมาณเพื่อให้ความช่วยเหลือทางด้านวิชาการและการเสริมสร้างสมรรถนะแก่ประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาน้อยที่สุด
3) การปฏิบัติตามพันธกรณีและการแก้ไขปัญหาการปฏิบัติตามพันธกรณีของความตกลงรอบอุรุกวัย
4) การปรับปรุงกระบวนการตัดสินใจของ WTO ให้โปร่งใสและให้ประเทศที่มีระดับการพัฒนาน้อยมีส่วนร่วมมากขึ้น
* ขณะนี้มีความพยายามผลักดันให้เปิดการเจรจารอบใหม่ภายในปีนี้ ซึ่งตามกำหนดจะมีการประชุมระดับรัฐมนตรี WTO ในระหว่างวันที่ 9-13 พฤศจิกายน 2544 ณ เมืองโดฮา ประเทศกาตาร์
- การเจรจาเปิดเสรีสินค้าเกษตรและบริการรอบใหม่
การเจรจาเปิดเสรีสินค้าเกษตรรอบใหม่
การเจรจาเปิดเสรีสินค้าเกษตรรอบใหม่ได้เริ่มต้นขึ้นแล้วเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2543 การเจรจาในช่วงแรก เป็นเพียงการพิจารณาข้อเสนอของประเทศต่าง ๆ ซึ่งขณะนี้มีข้อเสนอรวม 29 ฉบับ ทั้งนี้ ประเทศสมาชิกมีท่าทีในการเจรจาเรื่องเกษตรแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ
(1) กลุ่มประเทศที่สนับสนุนให้เปิดเสรีและลดการบิดเบือนการผลิตและการค้าสินค้าเกษตร กลุ่มนี้ ได้แก่ กลุ่มผู้ส่งออกสินค้าเกษตร เช่น สหรัฐฯ กลุ่มเคร์นส์ รวมทั้งไทย
(2) กลุ่มประเทศที่ไม่สนับสนุนการเปิดเสรีสินค้าเกษตร เช่น สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลี สวิตเซอร์แลนด์ ให้ความสำคัญกับเรื่อง non-trade concerns (multifuctionatity) Food Security สิ่งแวดล้อม เป็นต้น เพื่อขยายขอบเขตการเจรจาให้กว้างขึ้น และ
(3) กลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งต้องการให้มีการปฏิบัติที่เป็นพิเศษและแตกต่างแก่ประเทศกำลังพัฒนา คาดว่าการเจรจาสินค้าเกษตรจะเริ่มขึ้นจริงจังได้ภายหลังเดือนมีนาคม 2544 ซึ่งจะมีการตกลงเกี่ยวกับแนวทางและวิธีการเจรจาก่อน
การเจรจาเปิดเสรีการค้าบริการรอบใหม่
การเจรจาเปิดเสรีการค้าบริการรอบใหม่อย่างเป็นทางการได้เริ่มขึ้นแล้ว เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2543 ภายใต้คณะมนตรีทั่วไปว่าด้วยการค้าบริการ โดยการเจรจาจะต้องคำนึงถึงนโยบายภายในของแต่ละประเทศ และการให้ความยืดหยุ่นแก่ประเทศกำลังพัฒนา ที่ประชุมได้กำหนด Work Program สำหรับการเจรจา โดยช่วงแรก (กุมภาพันธ์ 2543 - มีนาคม 2544) ให้ประเทศสมาชิกยื่นข้อเสนอในเรื่องเกี่ยวกับกลไกการเจรจา การเปิดเสรีโดยสมัครใจ การให้ประเทศกำลังพัฒนาเข้าไปมีส่วนร่วมมากขึ้น และการให้การปฏิบัติที่เป็นพิเศษและแตกต่างกับประเทศพัฒนาน้อยที่สุด เป็นต้น ซึ่งขณะนี้ มีผู้ยื่นข้อเสนอในการเจรจาแล้วกว่า 60 ประเทศที่สำคัญ อาทิ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป กลุ่มประเทศกำลังพัฒนา 23 ประเทศ
- แนวโน้มในอนาคต แม้ว่าการเจรจาเปิดเสรีสินค้าเกษตรและบริการจะเริ่มขึ้นแล้วก็ตาม แต่การดำเนินการเปิดเสรีภายใต้ WTO อาจไม่มีความคืบหน้ามากนัก หากไม่สามารถเริ่มการเจรจาเปิดเสรีรอบใหม่ได้ โดยประเทศสมาชิกมีท่าทีต่อการเจรจาเปิดเสรีรอบใหม่ สรุปได้ดังนี้
สหภาพยุโรป : สนับสนุนการเจรจารอบใหม่แบบ Comprehensive Round เนื่องจากเห็นว่าจะเสียประโยชน์จากการเจรจาเรื่องเกษตร จึงได้พยายามผลักดันเรื่อง Multi-functionality ในการเจรจาสินค้าเกษตรและผลักดันให้รวมการเจรจาเรื่องต่าง ๆ อาทิ การลงทุน นโยบายการแข่งขัน สิ่งแวดล้อม การทุ่มตลาด และมาตรฐานทางสังคม เข้าในการเจรจารอบใหม่ด้วย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ สหภาพยุโรปได้แสดงท่าทีผ่อนปรนเพื่อผลักดันให้มีการเปิดการเจรจารอบใหม่โดยเร็ว โดยได้ยอมให้มีการเจรจาจัดทำความตกลงหลายฝ่าย (Plurilateral Agreement) ในเรื่องการลงทุนและนโยบายการแข่งขัน
ญี่ปุ่น : ให้ความสำคัญกับการเริ่มการเจรจารอบใหม่โดยเร็วที่สุด และยืนยันให้มีการเจรจาในกรอบกว้าง (Comprehensive) โดยมีท่าทีสอดคล้องกับสหภาพยุโรป อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสหภาพยุโรปได้มีท่าทีผ่อนปรนในเรื่องการลงทุนและนโยบายการแข่งขันแล้ว แต่ญี่ปุ่นยังคงต้องการให้เป็นความตกลงพหุภาคี (Multilateral Agreement) ใน WTO อยู่
สหรัฐฯ : รัฐบาลสหรัฐฯ เดิมเคยมีท่าทีสนับสนุนให้เริ่มการเจรจารอบใหม่ภายในปีนี้แต่ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอ Comprehensive Agenda และยังคงมีท่าทีแข็งกร้าวต่อข้อเสนอขอปรับปรุงความตกลงว่าด้วยการต่อต้านการทุ่มตลาด และข้อเรียกร้องให้เปิดตลาดสิ่งทอของประเทศกำลังพัฒนา และสหรัฐฯ ยังต้องการผลักดันให้นำเรื่องสิ่งแวดล้อมและมาตรฐานแรงงานมาพิจารณากับเรื่องการค้า อย่างไรก็ดี ท่าทีของรัฐบาลใหม่สหรัฐฯ อาจเปลี่ยนแปลงหรือยืดหยุ่นมากขึ้น อาทิ ยอมรับท่าทีเรื่องการปรับปรุงความตกลงว่าด้วยการต่อต้านการทุ่มตลาด และลดท่าทีที่จะนำเรื่องแรงงานเข้ามาใน WTO เป็นต้น
ประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศ เช่น อินเดีย อียิปต์ ปากีสถาน อินโดนีเซีย และมาเลเซีย (Liked Minded Group) : ไม่ต้องการให้มีการเจรจารอบใหม่ และไม่ต้องการให้มีการเชื่อมโยงเรื่องปัญหาการปฏิบัติตามพันธกรณี (Implementation) กับการเจรจารอบใหม่ และเห็นว่าหากยังไม่มีความคืบหน้าในการหารือเรื่อง Implementation ประเทศกำลังพัฒนาอาจใช้เป็นข้อต่อรองหรือเงื่อนไขในการเปิดการเจรจารอบใหม่ได้
ไทย : สนับสนุนการเจรจาการค้ารอบใหม่ โดยไทยให้ความสำคัญกับเรื่องที่ความตกลงกำหนดให้มีการเจรจาต่อไป คือ การเจรจาเปิดเสรีสินค้าเกษตรและบริการ และการแก้ไขปัญหาการปฏิบัติตามพันธกรณีความตกลงรอบอุรุกวัย การให้ความช่วยเหลือทางด้านวิชาการและการเงินเพื่อพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของประเทศกำลังพัฒนา
2.2 อาเซียน (ASEAN)
? อาเซียน หรือสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (The Association of South East Asian Nations : ASEAN) ก่อตั้งขึ้นในปี 2510 มีสมาชิกรวม 10 ประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้
- เพื่อเร่งรัดความเจริญทางเศรษฐกิจ ความก้าวหน้าทางสังคม และการพัฒนาทางวัฒนธรรม
- เพื่อส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค
- เพื่อส่งเสริมให้มีความร่วมมือกันอย่างจริงจังในด้านต่าง ๆ เช่น เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม วิชาการ วิทยาศาสตร์ และการบริหาร เป็นต้น
2.2.1 เขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area : AFTA)
- AFTA เริ่มดำเนินการในปี 2536 มีหลักการสำคัญ คือ ลดภาษีและยกเลิกมาตรการที่มิใช่ภาษีต่าง ๆ โดยกำหนดการลดภาษีสินค้า ดังนี้
- สมาชิกเดิมต้องลดภาษีสินค้าให้เหลือ 0-5 % ภายในปี ค.ศ. 2002 โดยยืดหยุ่นได้ถึงปี ค.ศ. 2003
- สมาชิกใหม่ (เวียดนาม ลาว พม่าและกัมพูชา) ขยายเวลาออกไปให้อีก 3-5 ปี แล้วแต่กรณี
- ลดภาษีเหลือ 0 % ทุกรายการภายในปี ค.ศ.2010 สำหรับสมาชิกเดิม ส่วนสมาชิกใหม่ให้ลดภายในปี ค.ศ. 2015 โดยยืดหยุ่นได้ถึงปี ค.ศ. 2018
- ปัจจุบันประเทศอาเซียนนำสินค้าเข้ามาลดภาษีแล้ว จำนวน 53,144 รายการ คิดเป็นร้อยละ 82.61 ของจำนวนรายการทั้งหมด อัตราภาษีเฉลี่ยในปัจจุบันเท่ากับ 3.87 % (ก่อนมี AFTA ในปี 2536 อัตราภาษีเฉลี่ยอยู่ที่ 12.76 %)
2.2.2 กรอบความตกลงด้านอิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียน (e-ASEAN Agreement)
- ประเทศสมาชิกอาเซียนได้มีการจัดทำความตกลงด้านอิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียน (e-ASEAN Agreement) ในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2543 ณ ประเทศสิงคโปร์
- กรอบความตกลงนี้ครอบคลุมมาตรการในการดำเนินการสำคัญ 5 ด้าน ดังนี้
1) อำนวยความสะดวกในการจัดสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูลข่าวสารของอาเซียน
2) อำนวยความสะดวกในการขยายตัวของพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในอาเซียน
3) ส่งเสริมและอำนวยความสะดวกการเปิดเสรีด้านการค้าสินค้า บริการ และการลงทุนที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Information and Communication Technology : ICT)
4) พัฒนาสังคมอิเล็กทรอนิกส์ในอาเซียน และเสริมสร้างความสามารถเพื่อลดช่องว่างด้านอิเล็กทรอนิกส์ในแต่ละประเทศ และระหว่างประเทศอาเซียน
5) ส่งเสริมการใช้ ICT ในการให้บริการของรัฐบาล หรือการจัดตั้งรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ทั้งนี้ ยังได้มีการส่งเสริมประเทศสมาชิกซึ่งมีความพร้อมในการเร่งรัดการดำเนินการตามความตกลงให้สามารถดำเนินการได้ในปี 2545 และให้ความช่วยเหลือประเทศสมาชิกอื่น ๆ ในการเสริมสร้างความสามารถ
2.2.3 เขตการลงทุนอาเซียน (ASEAN Investment Area : AIA)
- อาเซียนได้ลงนามความตกลงเขตการลงทุนอาเซียน (AIA) ในปี 2541 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดตั้งเขตการลงทุนอาเซียนที่มีสมรรถภาพในการแข่งขัน มีบรรยากาศการลงทุนที่เป็นเสรีและโปร่งใสมากขึ้น โดยจะครอบคลุมเฉพาะการลงทุนโดยตรงเท่านั้น ทั้งนี้ได้กำหนดให้เปิดเสรีการลงทุนระหว่างสมาชิกเดิมภายในปี ค.ศ. 2003 และปี ค.ศ. 2010 สำหรับสมาชิกใหม่ โดยยกเว้นได้สำหรับรายการที่ไม่พร้อมเป็นการชั่วคราว สำหรับนักลงทุนทั่วไปจะเปิดเสรีในปี ค.ศ. 2020
- ในช่วงปี 2542-2543 มีการประกาศใช้มาตรการระยะสั้นเพื่อขยายการลงทุน โดยให้สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนเป็นพิเศษแก่นักลงทุนทั้งในและนอกอาเซียน ที่ยื่นคำขออนุมัติโครงการ ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2543 นอกจากนี้ ได้ร่วมมือกันจัดโครงการส่งเสริมการลงทุนร่วมกัน (Joint Investment Promotion) เพื่อดึงดูดการลงทุน และส่งสัญญาณให้นักลงทุนทราบว่า อาเซียนได้ฟื้นตัวจากวิกฤตเศรษฐกิจแล้ว โดยเน้นกลุ่มประเทศเป้าหมายสำคัญ ได้แก่ สหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น
- ขณะนี้ ได้ขยายการเปิดเสรีการลงทุนให้ครอบคลุมอุตสาหกรรมการผลิตเกษตรกรรมป่าไม้ ประมง และเหมืองแร่ และให้การประติบัติเยี่ยงคนชาติแล้ว สำหรับบริการที่เกี่ยวข้องกำลังอยู่ระหว่างการจัดทำบัญชีขอยกเว้นเปิดเสรี ซึ่งบัญชีดังกล่าวกำหนดจะต้องยื่นต่อคณะกรรมาธิการเขตการลงทุนอาเซียน (AIA Council) ในปี 2544
2.2.4 ความร่วมมือด้านบริการของอาเซียน
- อาเซียนได้ลงนามกรอบความตกลงว่าด้วยการบริการของอาเซียน (ASEAN Framework Agreement on Service — AFAS) ในปี 2538 โดยในระหว่างปี 2539-2541 ประเทศสมาชิกได้เจรจาเพื่อทำข้อผูกพันเปิดเสรีการค้าบริการ 7 สาขา ได้แก่ การเงิน การท่องเที่ยว การสื่อสารโทรคมนาคม การขนส่งทางทะเล การขนส่งทางอากาศ การก่อสร้าง และธุรกิจ
- ที่ประชุมผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 6 ในปี 2541 มีมติให้เริ่มเปิดการเจรจาด้านการค้าบริการรอบใหม่ ระหว่างปี 2542-2544 ซึ่งขยายจากการบริการ 7 สาขา เป็นครอบคลุมทุกสาขาบริการ และทุกรูปแบบการให้บริการ (all services sectors and all modes of supply)
2.2.5 โครงการความร่วมมือด้านอุตสาหกรรม (ASEAN Industrial Cooperation Scheme : AICO)
- รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนได้ลงนามโครงการความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมของอาเซียน เมื่อเดือนเมษายน 2539 เพื่อส่งเสริมการขยายความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมระหว่างภาคเอกชนของอาเซียน และเพิ่มศักยภาพในการผลิตสินค้าและการลงทุนระหว่างอาเซียน ผู้ที่เข้าร่วมโครงการ AICO จะได้รับสิทธิประโยชน์ คือ
(1) สินค้าและวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตที่เกี่ยวข้อง เสียภาษีนำเข้าในอัตราร้อยละ 0-5 โดยไม่ต้องรอแผนการลดภาษีภายใต้อาฟต้า
(2) สินค้านั้นได้รับการยอมรับเสมือนเป็นสินค้าที่ผลิตในประเทศ และ
(3) ได้รับสิทธิประโยชน์ที่มิใช่ภาษีอื่น ๆ ขณะนี้มีสินค้าที่ได้รับอนุมัติให้อยู่ในโครงการ AICO แล้วจำนวนมาก เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องยนต์การเกษตร เป็นต้น
2.2.6 การอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าผ่านแดนของอาเซียน (Facilitation of Goods in Transit)
- รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนได้ลงนามกรอบความตกลงอาเซียนว่าด้วยการอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าผ่านแดน (ASEAN Framework Agreement of the Facilitation of Goods in Transit) ในเดือนธันวาคม 2541 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าผ่านแดนระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน
- หลักการ คือ ประเทศหนึ่งสามารถขนส่งสินค้าผ่านแดน (Transit) ของอีกประเทศหนึ่งไปยังประเทศที่สาม โดยจะไม่มีการเปิดตรวจสินค้าโดยไม่จำเป็น ไม่มีการจัดเก็บภาษีนำเข้า และไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนพาหนะในการขนส่งสินค้า ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำพิธีสารแนบท้ายกรอบความตกลงฯ โดยคาดว่าจะเสร็จในปี 2544
2.2.7 ความร่วมมือทางเศรษฐกิจของอาเซียนภายหลังวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ
- ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปี 2540 อาเซียนก็ได้แสดงความมุ่งมั่นในการร่วมมือต่อไป โดยในเดือนธันวาคม 2540 ผู้นำอาเซียนได้ประกาศวิสัยทัศน์อาเซียนปี ค.ศ.2020 (ASEAN Vision 2020) ดังนี้ “an ASEAN as a concert of Southeast Asian Nations, outward looking, living in peace, stability and prosperity bonded together in partnership in dynamic development and in a community of caring societies ”
- ต่อมาในปี 2541 เพื่อบรรลุวิสัยทัศน์อาเซียนปี ค.ศ.2020 ได้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการฮานอย (Hanoi Plan of Action : HPA) ของอาเซียน ซึ่งเป็นแผน 6 ปี ระหว่างปี ค.ศ.1999-ค.ศ.2004 โดยจะมีการทบทวนทุก ๆ 3 ปี สำหรับแผน 3 ปีแรก ระหว่างปี ค.ศ.1999-ค.ศ.2001 มีเป้าหมายในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจมหภาค และด้านการเงิน เพื่อก่อให้เกิดความเชื่อมั่น ส่งเสริมให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และเสริมสร้างความมั่นคงทางการเงินในภูมิภาค
- นับต่อจากนี้ อาเซียนตกลงกันว่าจะทำให้อาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีความสามารถในการแข่งขัน และรวมตัวกันอย่างใกล้ชิด โดยอาเซียนจะต้องร่วมมือกันดำเนินการต่าง ๆ อย่างเป็นหนึ่งเดียว (Single Economy) โดยเฉพาะความร่วมมือที่มีความหมายต่อความสามารถในการแข่งขันในระบบเศรษฐกิจใหม่ (New Economy) ซึ่งรวมทั้ง โทรคมนาคม การขนส่งทางอากาศทะเล ถนน รถไฟ และแม่น้ำ นอกจากนี้มุ่งมั่นที่จะผลักดันความร่วมมือที่มีอยู่ (on-going ASEAN Projects) ให้ก้าวหน้าต่อไป เช่น AFTA AIA รวมทั้งข้อเสนอของไทยที่ให้จัด ASEAN Trade Fair และการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ Singapore-Kunming Railway Link เป็นต้น
2.3 เอเปค (APEC)
- เป็นความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้าของประเทศในเอเชีย-แปซิฟิก จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2532 ผลงานที่โดดเด่น คือ การประกาศปฏิญญาโบกอร์ (Bogor Declaration) ของที่ประชุมผู้นำเอเปคในปี 2537 กำหนดเป้าหมายการเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุนในภูมิภาค ภายในปี ค.ศ.2010 สำหรับประเทศพัฒนาแล้ว และภายในปี ค.ศ.2020 สำหรับประเทศกำลังพัฒนาโดยเป็นการดำเนินการตามความพร้อมและความสมัครใจของประเทศสมาชิก ต่อมาในปี 2538 ที่ประชุมผู้นำเอเปคได้ให้การรับรองแผนปฏิบัติการโอซาก้า (OSAKA Action Agenda : OAA) เป็นกรอบแนวทางการดำเนินงานของสมาชิกเพื่อบรรลุเป้าหมายโบกอร์ โดยให้ความสำคัญกับงาน 3 ด้าน ซึ่งถือเป็นเสาหลักของเอเปค คือ
- การเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุน
- การอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุน
- ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการหรือ ECOTECH
- กลไกหลักในการดำเนินงานของเอเปค คือ แผนปฏิบัติการรายสมาชิก (Individual Action Plan : IAP) ในการเปิดเสรีตามความสมัครใจและความพร้อมของตน ที่จัดทำเป็นแผนระยะสั้น-กลาง-ยาว ตั้งแต่ปี ค.ศ.1997 จนถึงปี ค.ศ.2010-2020 ใน 15 เรื่อง ได้แก่ ภาษีศุลกากร มาตรการที่ไม่ใช่ภาษีศุลกากร บริการ การลงทุน มาตรฐานและการรับรอง พิธีการศุลกากร สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา นโยบายการแข่งขัน การจัดซื้อโดยรัฐ การผ่อนคลายกฎระเบียบ กฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า การปรองดองข้อพิพาท การเคลื่อนย้ายของนักธุรกิจ การปฏิบัติตามผลการเจรจารอบอุรุกวัย การรวบรวมและการวิเคราะห์ข้อมูล
นอกจากนั้นเอเปคยังมีการจัดทำแผนปฏิบัติการร่วมกันของสมาชิก (Collective Action Plan : CAP) โดยมีคณะอนุกรรมการ/คณะทำงาน และกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ รับผิดชอบจัดทำขึ้นรวม 15 เรื่องเช่นเดียวกับ IAP
(ยังมีต่อ)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ