ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๔๔ หมวด ๓ กรรมาธิการ

ข่าวการเมือง Thursday May 31, 2001 10:35 —รัฐสภา

                        ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา
พ.ศ. ๒๕๔๔
หมวด ๓
กรรมาธิการ
ข้อ ๖๑ การตั้งคณะกรรมาธิการของรัฐสภา กรรมาธิการที่ตั้งจากผู้ที่เป็นสมาชิก
ของแต่ละสภาจะต้องมีจำนวนตามหรือใกล้เคียงกับอัตราส่วนของจำนวนสมาชิกของ
แต่ละสภา และกรรมาธิการที่ตั้งจากผู้ที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องมีจำนวนตามหรือ
ใกล้เคียงกับอัตราส่วนของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของแต่ละพรรคการเมืองหรือ
กลุ่มพรรคการเมืองที่มีอยู่ในสภาผู้แทนราษฎร
ข้อ ๖๒ ภายใต้บังคับข้อ ๖๑ ในการเลือกตั้งคณะกรรมาธิการของรัฐสภา
สมาชิกรัฐสภาแต่ละคนมีสิทธิเสนอชื่อได้ไม่เกินจำนวนกรรมาธิการ การเสนอนั้นต้องมี
สมาชิกรัฐสภารับรองไม่น้อยกว่าสิบคน ถ้ามีการเสนอชื่อกรรมาธิการเท่ากับจำนวน
กรรมาธิการทั้งหมด ให้ถือว่าผู้ถูกเสนอชื่อนั้นเป็นผู้ได้รับเลือก ถ้ามีการเสนอชื่อมากกว่า
จำนวนกรรมาธิการทั้งหมด ให้ออกเสียงลงคะแนนเป็นการลับ
ข้อ ๖๓ การประชุมคณะกรรมาธิการต้องมีกรรมาธิการมาประชุม
ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมาธิการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ จึงจะเป็นองค์ประชุม
ข้อ ๖๔ การประชุมคณะกรรมาธิการให้นำข้อบังคับนี้เฉพาะที่เกี่ยวกับ
การประชุมรัฐสภามาใช้บังคับโดยอนุโลม
ให้คณะกรรมาธิการแต่ละคณะเลือกตั้งประธาน รองประธาน เลขานุการ
และตำแหน่งอื่น ๆ จากกรรมาธิการในคณะนั้น ๆ
ในการดำเนินการตามวรรคสอง ให้กรรมาธิการผู้มีอายุสูงสูดซึ่งอยู่ในที่ประชุม
ของคณะกรรมาธิการ เป็นประธานชั่วคราวของที่ประชุม เพื่อดำเนินการเลือกตั้งประธานและ
รองประธาน
คณะกรรมาธิการมีอำนาจตั้งคณะอนุกรรมาธิการเพื่อพิจารณาปัญหาใด ๆ
ในเรื่องที่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ตามแต่จะมอบหมายได้
ข้อ ๖๕ การเรียกเอกสารจากบุคคลใด ๆ หรือเรียกบุคคลใด ๆ
มาแถลงข้อเท็จจริง หรือแสดงความคิดเห็นในการประชุมคณะกรรมาธิการให้ทำเป็นหนังสือ
ลงลายมือชื่อประธานคณะกรรมาธิการ หรือผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานคณะกรรมาธิการ
ข้อ ๖๖ ในการประชุมคณะกรรมาธิการ สมาชิกรัฐสภา รัฐมนตรี
หรือผู้ซึ่งประธานของที่ประชุมอนุญาตมีสิทธิเข้าฟังการประชุม
ในกรณีประชุมลับ ผู้ที่จะเข้าฟังการประชุมได้ต้องเป็นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง
กับการประชุมและได้รับอนุญาตจากประธานของที่ประชุม
ข้อ ๖๗ ภายใต้บังคับข้อ ๖๖ ผู้เสนอญัตติ รัฐมนตรี และผู้ซึ่งคณะรัฐมนตรี
มอบหมายมีสิทธิชี้แจงแสดงความคิดเห็นในที่ประชุมคณะกรรมาธิการได้ตลอดเรื่อง
ส่วนผู้แปรญัตติมีสิทธิชี้แจงแสดงความคิดเห็นได้เฉพาะที่แปรญัตติไว้
การชี้แจงแสดงความคิดเห็นตามวรรคหนึ่ง ผู้เสนอญัตติหรือผู้แปรญัตติ
อาจมอบหมายเป็นหนังสือให้สมาชิกรัฐสภาผู้อื่นหรือกรรมาธิการท่านใดท่านหนึ่งกระทำแทนได้
ข้อ ๖๘ ให้เลขาธิการรัฐสภาประกาศกำหนดการประชุมคณะกรรมาธิการไว้
ณ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรและสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา และมีหนังสือนัด
ผู้เสนอญัตติหรือผู้แปรญัตติมาชี้แจงประกอบญัตติหรือคำแปรญัตติ แล้วแต่กรณี
ล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสามวัน หากเรื่องใดจะก่อให้เกิดผลใช้บังคับเป็นกฎหมายหรือเกี่ยวกับ
การบริหารราชการแผ่นดิน ให้แจ้งคณะรัฐมนตรีทราบด้วย
ข้อ ๖๙ ถ้าผู้แปรญัตติหรือผู้รับมอบหมายไม่มาชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการ
ตามนัดจนเวลาล่วงไปเกินกว่าสามสิบนาทีนับแต่เวลาที่ได้เริ่มพิจารณาคำแปรญัตติใด
ให้คำแปรญัตตินั้นเป็นอันตกไป เว้นแต่คณะกรรมาธิการพิจารณาเรื่องนั้นยังไม่เสร็จ
หรือที่ประชุมอนุญาตให้เลื่อนการชี้แจงออกไป
ข้อ ๗๐ ถ้าผู้แปรญัตติหรือผู้รับมอบหมายไม่เห็นด้วยกับมติของ
คณะกรรมาธิการในข้อใด จะสงวนคำแปรญัตติในข้อนั้นไว้เพื่อขอให้รัฐสภาวินิจฉัยก็ได้
ข้อ ๗๑ กรรมาธิการผู้ใดไม่เห็นด้วยกับมติของคณะกรรมาธิการในข้อใด
จะสงวนความเห็นไว้เพื่อขอให้รัฐสภาวินิจฉัยก็ได้
ข้อ ๗๒ เมื่อคณะกรรมาธิการได้กระทำกิจการหรือพิจารณาสอบสวน
หรือศึกษาเรื่องใดตามที่รัฐสภามอบหมายเสร็จแล้ว ให้รายงานต่อรัฐสภา
ในที่ประชุมรัฐสภา คณะกรรมาธิการมีสิทธิแถลง ชี้แจง หรือแก้ไขเพิ่มเติม
เกี่ยวกับการกระทำดังกล่าวในวรรคหนึ่ง ในการนี้ คณะกรรมาธิการจะมอบหมายให้บุคคลใด
แถลงหรือชี้แจงแทนก็ได้เมื่อได้รับอนุญาตจากประธาน
ข้อ ๗๓ ถ้าคณะกรรมาธิการเห็นว่ามีข้อสังเกตที่คณะรัฐมนตรีควรทราบ
หรือควรปฏิบัติ ก็ให้บันทึกข้อสังเกตดังกล่าวนั้นไว้ในรายงานของคณะกรรมาธิการ
เพื่อให้รัฐสภาพิจารณา
ในกรณีที่รัฐสภาเห็นด้วยกับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการ ให้ประธานรัฐสภา
แจ้งไปยังคณะรัฐมนตรี
เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาเก้าสิบวันนับแต่วันที่ประธานรัฐสภาส่งข้อสังเกต
ของคณะกรรมาธิการให้คณะรัฐมนตรีทราบ ให้คณะรัฐมนตรีแจ้งให้ประธานรัฐสภาทราบว่า
ได้ปฏิบัติตามข้อสังเกตนั้นประการใดหรือไม่ และให้ประธานรัฐสภาแจ้งให้ที่ประชุมรัฐสภา
ทราบในโอกาสแรกที่มีการประชุมรัฐสภา
ข้อ ๗๔ ถ้ารัฐสภามีมติให้คณะกรรมาธิการใดกระทำกิจการหรือพิจารณา
สอบสวนหรือศึกษาเรื่องใดให้เสร็จภายในกำหนดเวลาใด และคณะกรรมาธิการนั้น
กระทำกิจการหรือพิจารณาสอบสวนหรือศึกษาไม่เสร็จภายในเวลาที่กำหนด
ประธานคณะกรรมาธิการต้องรายงานให้ประธานรัฐสภาทราบโดยด่วน
ให้ประธานรัฐสภามีอำนาจอนุญาตให้ขยายเวลาที่กำหนดไว้ได้
ตามที่พิจารณาเห็นสมควร แล้วแจ้งให้ที่ประชุมรัฐสภาทราบภายหลัง
ข้อ ๗๕ กรรมาธิการพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ
(๑) อายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง หรือมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร
(๒) ตาย
(๓) ลาออก
(๔) ขาดจากสมาชิกภาพแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิก
(๕) รัฐสภามีมติให้พ้นจากตำแหน่ง
ข้อ ๗๖ ในกรณีที่ตำแหน่งกรรมาธิการในคณะกรรมาธิการใดว่างลง
ให้ประธานคณะกรรมาธิการแจ้งต่อประธานรัฐสภา เพื่อขอให้รัฐสภาตั้งกรรมาธิการ
แทนตำแหน่งที่ว่าง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ