พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตย

ข่าวการเมือง Thursday May 31, 2001 09:53 —รัฐสภา

        พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตย
นับเป็นเวลาถึง 69 ปี แล้ว ที่ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
การได้มาซึ่งระบอบประชาธิปไตยของไทย ในขณะนั้นเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย ไม่มีการเสีย
เลือดเนื้อแต่อย่างใด เพราะพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรง
มอบประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญฉบับแรกให้แก่ปวงชนชาวไทย
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์
ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงยึดมั่นในทศพิธราชธรรม ตลอดระยะเวลา 9 ปีเศษ ในรัชกาล
พระองค์ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจอันเป็นคุณประโยชน์แก่บ้านเมืองหลายประการ ทรงห่วงใย
ถึงทุกข์สุขของอาณาประชาราษฎร์ โดยเฉพาะประชาชนในท้องถิ่น อาทิ เมื่อได้ทรงพระกรุณา
โปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงเกษตราธิการจัดสร้างการชลประทานขึ้นที่บริเวณเชียงรากน้อย
และบางบ่อ ในปี พ.ศ. 2467 ได้มีราษฎรทั้งในและนอกท้องที่ขอจองที่ดินในอำเภอบางบ่อ
บางพลี และบางปะกง เป็นจำนวนมาก จึงทำให้เกิดปัญหาในการพิจารณา แต่พระองค์ทรงเห็นว่า
ควรจะตั้งข้าหลวงพิเศษออกไปจัดแบ่งที่ทำกินให้กับราษฎร โดยจัดให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ทำกิน
ได้รับการจับจองก่อน เพื่อเป็นการคุ้มครองและส่งเสริมให้กับประชาชนที่มีกำลังทรัพย์น้อยได้มี
โอกาสตั้งตนให้ทำมาหากินได้ นอกจากนี้ทรงวางรากฐานการบริหารงานบุคคลของชาติไว้
โดยโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2471 เดิมนั้น
การบริหารงานบุคคลของแต่ละกระทรวง ทบวง กรม มีมาตรฐานไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับ
ความพอใจของหัวหน้าส่วนราชการที่จะรับหรือไม่รับราชการ เรียกว่าการฝากเข้ารับราชการ
เมื่อได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้เกิดขึ้นได้มีการนำระบบคุณธรรมเข้ามาใช้ในระบบ
ราชการ โดยมีการสอบแข่งขันรับราชการเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งเป็นการวางรากฐานที่ดี
และนำมาใช้จนถึงปัจจุบัน
ในด้านการปกครองพระองค์ยังทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นมา
หลายฉบับด้วยกันในรัชสมัยของพระองค์ อาทิเช่น พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2470
ซึ่งเป็นการวางระเบียบกำกับตรวจตราคนต่างด้าวเข้ามาสู่ประเทศสยาม พระราชบัญญัติว่าด้วย
การค้าหญิงและเด็กหญิง พ.ศ. 2471 เพื่อเป็นการปราบปรามการค้าหญิงและเด็กหญิง ซึ่งมี
ผู้นำเข้ามาหรือนำออกไปจากประเทศสยาม เป็นการเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะอาญาให้รัดกุม
ยิ่งขึ้น พระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ.2472 ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ประกาศใช้ เพื่อแสดง
สิทธิของรัฐบาลสยาม ในการที่จะส่งตัวบุคคลที่ต้องหาหรือพิจารณาว่ากระทำผิดมีโทษอาญา
ภายในเขตอำนาจของต่างประเทศให้แก่ประเทศนั้น ๆ แม้จะไม่มีสัญญาทางพระราชไมตรีกำหนด
ให้ส่ง ทั้งเพื่อกำหนดวิธีการอันจะพึงปฏิบัติในเรื่องส่งผู้ร้ายข้ามแดนทั้งหลายให้ดำเนินเป็นระเบียบ
เดียวกันสืบไป พระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ.2473 ทรงมีพระราชดำริว่า กฎหมายว่าด้วย
การพนันขันต่อ อันตราไว้ในพระราชบัญญัติหลายฉบับนั้น สมควรแก้ไขเพิ่มเติมและรวบรวมไว้
ในที่เดียวกัน พระราชบัญญัติภาพยนตร์ พ.ศ.2473 โดยที่ทรงพระราชดำริเห็นสมควรควบคุม
การทำและฉายภาพยนตร์ เพื่อป้องกันการฝ่าฝืนความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของ
ประชาชน ทั้งนี้เพราะภาพยนตร์เริ่มเป็นสื่อสารมวลชนที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งอาจนำไปใช้ในทางที่ดี
หรือไม่ดีก็ได้ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะผัวเมีย เพื่อสร้างค่านิยมให้ชาย
มีภรรยาถูกต้องตามกฎหมายเพียงคนเดียว และพระราชบัญญัติคุ้มครองวรรณกรรมและ
ศิลปกรรมซึ่งก็คือพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พระราชบัญญัติการพิมพ์ ในปัจจุบัน เห็นได้ชัดว่า
พระราชบัญญัติเหล่านี้ล้วนเป็นรากฐานของกฎหมายที่ใช้อยู่ในปัจจุบันแทบทั้งสิ้น
เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เวียนมา
บรรจบอีกวาระหนึ่งในวันที่ 30 พฤษภาคม 2544 นี้ เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระเกียรติคุณ
และแสดงกตัญญูกตเวที ต่อพระองค์ผู้ทรงบำเพ็ญประโยชน์ให้แก่ประเทศชาตินานัปการ
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จึงขอเชิญชวนให้ข้าราชบริพาร ส่วนราชการ องค์กรอิสระ
สถาบันการศึกษา พรรคการเมือง และประชาชน วางพวงมาลาถวายบังคมพระบรมราชานุสาวรีย์
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ บริเวณหน้าอาคารรัฐสภา 1 ถนนอู่ทองใน เขตดุสิต
กรุงเทพฯ ตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 นาฬิกา
กองการประชาสัมพันธ์
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
เอกสารอ้างอิง : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกับการปกครองระบบรัฐสภา กรุงเทพฯ : ฝ่ายพิมพ์
กองการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการรัฐสภา 2523

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ