รายงานดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศ ประจำเดือน เม.ษ.48

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 3, 2005 11:27 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีราคาผู้ผลิต เดือนเมษายน 2548 
กระทรวงพาณิชย์ รายงานความเคลื่อนไหว ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเดือนเมษายน 2548 โดยสรุป
จากการสำรวจและประมวลราคาสินค้าที่เกษตรกรและผู้ประกอบการจำหน่ายทั่วประเทศ จำนวน 506 รายการ ครอบคลุม 3 หมวด คือ หมวดผลผลิตเกษตรกรรม หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง และหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และนำมาคำนวณเพื่อเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงราคาในรูปของดัชนี ดังนี้
1. ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนเมษายน 2548
ปี 2543 ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศ เท่ากับ 100 สำหรับเดือนเมษายน 2548 เท่ากับ 125.8
2. การเปลี่ยนแปลงดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเดือนเมษายน 2548 เมื่อเทียบกับ
2.1 เดือนมีนาคม 2548 สูงขึ้นร้อยละ 1.8
2.2 เดือนเมษายน 2547 สูงขึ้นร้อยละ 11.0
2.3 เฉลี่ยเดือนมกราคม - เมษายน 2548 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2547 สูงขึ้น
ร้อยละ 9.9
3. ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเดือนเมษายน 2548 ยังคงสูงขึ้นต่อเนื่องจากเดือน
มีนาคม 2548 ร้อยละ 1.8 จากการสูงขึ้นของดัชนีทุกหมวด โดยหมวดผลผลิตเกษตรกรรม และหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง สูงขึ้นในอัตราเดียวกัน คือ ร้อยละ 3.5 ส่วนหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสูงขึ้นร้อยละ 1.5
3.1 หมวดผลผลิตเกษตรกรรม ดัชนีราคาสูงขึ้นร้อยละ 3.5 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ คือ
- ข้าวเปลือก เป็นผลจากมาตรการรับจำนำข้าวเปลือกของภาครัฐ ประกอบกับความต้องการของโรงสีและผู้ส่งออกยังมีต่อเนื่องเพื่อส่งมอบต่างประเทศ
- ยางพารา ได้แก่ น้ำยางข้น ยางแผ่นดิบ และเศษยาง ปริมาณผลผลิตออกสู่
ตลาดลดลง เพราะเป็นช่วงต้นยางผลัดใบและผลกระทบจากภัยแล้ง
- พืชผัก ได้แก่ มะนาว หัวหอมใหญ่ ผักกาดขาว และต้นหอม ปริมาณผลผลิต
เข้าตลาดน้อย จากสภาพอากาศร้อนไม่เอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโต
- สัตว์มีชีวิต ได้แก่ สุกรและไก่ จากสภาพอากาศร้อน ทำให้สุกรและไก่เจริญเติบโตช้า ปริมาณผลผลิตเข้าตลาดลดลง ขณะที่ความต้องการไก่เพื่อแปรรูปส่งออกเพิ่มขึ้นรวมทั้งการส่งออกสุกรไปกัมพูชา เวียดนาม และลาว เพิ่มขึ้นด้วย
- ไข่ไก่ ผลจากเทศกาลรณรงค์ ทำให้ความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้น ขณะที่ปริมาณผลผลิตน้อยจากสภาพอากาศร้อน
- ปลาและสัตว์น้ำ ได้แก่ ปลาทูสด ปลาสำลี ปลาโอ และปลาสีกุน ปริมาณสินค้าเข้าสู่ตลาดน้อย เนื่องจากเป็นช่วงปิดอ่าวไทย เพราะเป็นฤดูวางไข่ของปลาทู และสัตว์น้ำอื่น ประกอบกับเรือประมงส่วนใหญ่หยุดหาปลาจากการปรับราคาสูงขึ้นของน้ำมันดีเซล
3.2 หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ดัชนีราคาสูงขึ้นร้อยละ 3.5 สินค้าสำคัญที่ราคา สูงขึ้นได้แก่ น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ (NG) ก๊าซธรรมชาติเหลว แร่ตะกั่ว ทราย หิน คาร์โอลีน (ดินขาว) และบอลเคลย์ (ดินเหนียว)
3.3 หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ดัชนีราคาสูงขึ้นร้อยละ 1.5 สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่
- เนื้อสุกรและไก่สด ราคาสูงขึ้นตามราคาสุกรมีชีวิตและไก่มีชีวิต ประกอบกับความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้น
- เยื่อกระดาษ ราคาปรับสูงขึ้นตามราคาตลาดโลก
- ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ได้แก่ น้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล น้ำมันเตา น้ำมันก๊าด ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) และยางมะตอย ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี คือเอทีลีน และโพรพิลีน มีราคาสูงขึ้นด้วย
- ผลิตภัณฑ์ยาง ได้แก่ ยางแผ่นรมควัน และยางแท่ง ปรับราคาสูงขึ้นตามราคาวัตถุดิบ คือน้ำยางข้น
- สินค้าอุตสาหกรรมอื่นๆ ได้แก่ โต๊ะ เก้าอี้ และเครื่องประดับ
ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์ โทร.0-2507-5808 โทรสาร.0-2507-5825

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ