การส่งออกอาหารไทย ท่ามกลางกระแสการกีดกันการค้ารูปแบบใหม่ : GMOs

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 7, 2000 18:09 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

          1. ปัญหา
จากการที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย ห้ามนำเข้าปลาทูน่ากระป๋องในน้ำมันพืชจากประเทศไทย โดยอ้างว่า น้ำมันพืชที่เป็นส่วนประกอบเกิดจากเมล็ดถั่วเหลืองที่ผ่านการตัดแต่งทางพันธุกรรม (Genetically Modified Organisms หรือ GMOs) เนื่องจากเห็นว่าประเทศไทย มีการนำเข้าเมล็ดถั่วเหลืองกว่าร้อยละ 70 ของการนำเข้าเมล็ดถั่วเหลืองทั้งหมด จากประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นแหล่งต้นกำเนิดและมีการผลิตพืชจีเอ็มโอมากที่สุดในโลก และประเทศไทยไม่มีใบรับรองจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องว่าสินค้าปลอดจาก GMOs และต่อมาประเทศ คูเวตได้ดำเนินการกีดกันปลาทูน่ากระป๋องจากไทยเช่นเดียวกับประเทศซาอุดิอาระเบีย นั้น
ประเด็นปัญหาดังกล่าว ได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการส่งออกปลาทูน่ากระป๋องของไทยที่ไทยเป็นผู้ส่งออกอันดับหนึ่งของโลกมูลค่ากว่า 18,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งอาจทำให้ไทย สูญเสียส่วนแบ่งตลาด และสูญเสียรายได้เงินตราต่างประเทศ รวมทั้งสร้างความไม่มั่นใจให้แก่ ผู้นำเข้าประเทศอื่น ๆ
ในปี 2542 ประเทศซาอุดิอาระเบียนำเข้าปลาทูน่ากระป๋องจากประเทศไทย จำนวน 10,143 ตัน มูลค่า 962.2 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 4.5 และ 5.2 ของปริมาณและมูลค่า การส่งออกรวม ตามลำดับ คิดเป็นผู้นำเข้าปลาทูน่ากระป๋องที่สำคัญอันดับ 6 ของไทย หากปัญหาการห้ามนำเข้าปลาทูน่ากระป๋องของไทยยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ อาจจะทำให้ไทยเสียตลาดซาอุดิอาระเบีย ซึ่งเป็นตลาดส่งออกสำคัญไป
ทั้งนี้ การที่ไทยจะฟ้องร้องต่อองค์การการค้าโลก (WTO) ว่าประเทศซาอุดิอาระเบียมีพฤติกรรมกีดกันการค้าในเรื่องที่ยังไม่มีข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์นั้น เป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากประเทศซาอุดิอาระเบียไม่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของ WTO
ดังนั้น ทางเดียวที่จะทำได้ คือ การเจรจาแบบทวิภาคีเพื่อต่อรองกับประเทศ ซาอุดิอาระเบีย แต่ในการดำเนินมาตรการตอบโต้ก็ไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่เช่นกัน เนื่องจากประเทศไทยนำเข้าสินค้าจำเป็นในกลุ่มพลังงานจากซาอุดิอาระเบีย ขณะที่ประเทศซาอุดิอาระเบียนำเข้าสินค้าในกลุ่มอาหาร ซึ่งมีทางเลือกที่จะนำเข้าจากประเทศผู้ผลิตอื่นที่มิใช่ไทย อาทิ อินโดนีเซีย หรือฟิลิปปินส์
ประเด็นที่น่าวิตกกังวล คือ ในปี 2542 การส่งออกปลาทูน่ากระป๋องไปยังกลุ่มประเทศตะวันออกกลางรวมทั้งสิ้น 37,904 ตัน เป็นมูลค่า 3,193.6 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 17.0 ของปริมาณและมูลค่าการส่งออกทั้งหมด หากการใช้มาตรการกีดกันการค้าโดยการอ้างเรื่อง GMOs ขยายวงกว้างมากขึ้นในกลุ่มตะวันออกกลาง อาทิ อียิปต์ เลบานอน จะยิ่งทำให้ไทย ต้องสูญเสียส่วนแบ่งตลาดและส่งผลกระทบต่อผู้ผลิต ผู้ส่งออก อุตสาหกรรมต่อเนื่อง ทำให้ สูญเสีย รายได้เงินตราต่างประเทศมากขึ้น และก่อให้เกิดความสูญเสียต่อเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก
2. อุตสาหกรรมอาหารอื่นที่คาดว่าจะถูกกระทบจากประเด็น GMOs
นอกจากอุตสาหกรรมปลาทูน่ากระป๋องที่ผู้นำเข้ากล่าวหาว่ามีส่วนประกอบที่เป็น GMOs แล้ว ยังอาจมีอุตสาหกรรมอาหารอื่น ที่เสี่ยงต่อการที่ผู้นำเข้าจะยกประเด็นความปลอดภัยจากการบริโภค GMOs ของผู้บริโภคมาใช้เพื่อกีดกันการค้า เช่น เนื้อไก่แช่แข็ง เนื้อไก่ปรุงสำเร็จและไก่พร้อมปรุง เนื่องจากวัตถุดิบในการผลิตอาหารสำหรับเลี้ยงไก่ โดยเฉพาะกากถั่วเหลือง ซึ่งจำเป็นจะต้องนำเข้า เพราะผลผลิตในประเทศไม่เพียงพอต่อความต้องการ โดยส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศสหรัฐอเมริกา อาร์เจนตินา และบราซิล ซึ่งเป็นแหล่งที่มีการผลิตและส่งออกเมล็ด ถั่วเหลืองที่มีการตัดแต่งทางพันธุกรรม นอกจากนี้ ในกระบวนการผลิตเนื้อไก่ปรุงสำเร็จและไก่พร้อมปรุง มีการใช้ซอสถั่วเหลืองหรือซีอิ๊วในการปรุงรส ซึ่งย่อมมีความเสี่ยงต่อการที่ผู้นำเข้าจะใช้มาตรการกีดกันการนำเข้าโดยอ้างเรื่อง GMOs เนื่องจากเกรงว่าจะเป็นซอสถั่วเหลืองหรือซีอิ๊วที่เกิดจากเมล็ดถั่วเหลืองที่ผ่านการตัดแต่งทางพันธุกรรม ซึ่งแม้ว่าในปัจจุบัน อุตสาหกรรม ดังกล่าว จะยังไม่ถูกกีดกันการนำเข้าโดยอ้างเรื่องความปลอดภัยจากการบริโภคสินค้าที่มีส่วนประกอบของ GMOs ก็ตาม แต่ก็เป็นประเด็นสำคัญที่ทางการไม่ควรละเลย
นอกจากนี้ จากการที่กลุ่มประเทศแถบยุโรปและญี่ปุ่น รวมทั้งประเทศอื่น ๆ เริ่มมีการประกาศกฎระเบียบการนำเข้า โดยให้ผู้ส่งออกต้องติดฉลาก เพื่อระบุว่าเป็นสินค้ามีส่วนประกอบที่เป็น GMOs หรือไม่นั้น หากการยอมรับสินค้า GMOs ของผู้บริโภคในแต่ละประเทศแตกต่างกัน ก็ย่อมมีผลต่อการส่งออกไปยังประเทศนั้น ๆ เช่นกัน ซึ่งหากผู้บริโภคไม่ยอมรับสินค้า GMOs ก็จะส่งผลไม่แตกต่างกับการกีดกันการนำเข้าที่ไทยประสบอยู่ในขณะนี้ และทำให้ไทยเสียตลาดส่งออกอาหารที่มี GMOs เป็นส่วนประกอบ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ทางการควรมีมาตรการและนโยบายที่เกี่ยวกับสินค้า GMOs ให้ชัดเจน
3. ข้อเสนอแนะ
จากกรณีที่เกิดขึ้น แนวทางที่ประเทศไทยควรดำเนินการ คือ
1. เร่งสอบถามไปยังประเทศผู้นำเข้าโดยเร็ว เพื่อเป็นการลดความเสียหายที่อาจเกิดจากกระบวนการเจรจาที่ล่าช้า โดยเรียกร้องให้ประเทศผู้นำเข้าต่าง ๆ กำหนดกฎระเบียบในการนำเข้าสินค้าให้ชัดเจนและเป็นมาตรฐาน โดยเฉพาะในเรื่องสินค้าและผลิตภัณฑ์ GMOs เพื่อเป็นกฎเกณฑ์ให้ผู้ส่งออกสามารถปฏิบัติได้ถูกต้อง และป้องกันการกีดกันการค้าโดยอ้างเรื่องความปลอดภัยของผู้บริโภค ซึ่งยังคงไม่มีข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ว่าปลอดภัยหรือไม่ เพื่อให้ทราบความต้องการและมาตรฐานของสินค้าที่แต่ละประเทศต้องการ อาทิ ให้มีการติดฉลาก (Labelling) เพื่อให้ผู้บริโภคของประเทศผู้นำเข้ามีสิทธิ์เลือกบริโภคอาหาร หรือต้องการให้มีการออกใบรับรอง (Certificate) ว่าสินค้ามีส่วนประกอบที่เป็น GMOs หรือไม่ หรือต้องการให้ใช้พืชที่ไม่มีการตัดต่อทางพันธุกรรม (Non-GMOs) ในการผลิต เป็นต้น เพื่อให้ผู้ผลิตและผู้ส่งออกปรับตัว หรือปรับสายการผลิตได้ทันและสอดคล้องกับความต้องการของประเทศผู้นำเข้า ทั้งนี้ เพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดและความเป็นผู้นำในการส่งออกปลาทูน่ากระป๋อง รวมทั้งอุตสาหกรรมที่มีความเกี่ยวข้องกับ GMOs อาทิ เนื้อไก่แช่แข็ง เนื้อไก่ปรุงสำเร็จและไก่พร้อมปรุง ในตลาดโลกไว้
2. เนื่องจากปัจจุบัน กระแสการต่อต้านสินค้า GMOs ทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยกลุ่มประเทศแถบยุโรป (EU) ได้ออกสมุดปกขาวว่าด้วยความปลอดภัยของอาหารในอียู ซึ่งสาระสำคัญคือ เสนอให้จัดตั้งหน่วยงาน European Food Authority (EFA) ภายในปี 2545 เพื่อทำหน้าที่ควบคุมดูแลความปลอดภัยของอาหาร โดยครอบคลุมสินค้า GMOs ด้วย เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการปฏิบัติเกี่ยวกับการติดฉลากและการวางจำหน่ายสินค้าอาหาร GMOs ในกลุ่มประเทศแถบยุโรป ขณะที่ประเทศญี่ปุ่นได้ออกกฎหมายบังคับให้มีการติดฉลากสินค้า GMOs ภายในเดือนเมษายน 2543 รวมทั้งประเทศอื่น ๆ เช่น เกาหลีใต้ ก็ได้เริ่มออกกฎระเบียบการ นำเข้าและการติดฉลากสินค้าและผลิตภัณฑ์ GMOs เช่นกัน
ดังนั้น การที่ประเทศไทยเร่งหาข้อสรุป เพื่อแก้ไขปัญหาการกีดกันการค้าที่เกิดขึ้น และเร่งกำหนดท่าทีที่ชัดเจนเกี่ยวกับการผลิต การส่งออก การนำเข้าสินค้าและผลิตภัณฑ์ GMOs จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นและต้องเร่งกระทำเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากอาจมีการต่อต้านที่รุนแรงมากขึ้น จนกระทบกับอุตสาหกรรมอาหารที่เกี่ยวข้องกับ GMOs และส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมต่อเนื่อง ภายในประเทศได้
3. ประเทศไทยควรตระหนักถึงความปลอดภัยของสุขอนามัยของผู้บริโภคชาวไทย จากการบริโภคอาหาร GMOs เช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ โดยอาจบังคับให้สินค้าที่วางจำหน่ายทั้งจากการผลิตในประเทศและจากการนำเข้าต้องติดฉลาก หรือมีใบรับรอง เพื่อให้ผู้บริโภคมี ทางเลือกและตัดสินใจว่าจะบริโภคสินค้า GMOs หรือไม่ เนื่องจากประเทศไทยมีการนำเข้าสินค้าที่เกิดจากการตัดต่อทางพันธุกรรมทั้งในรูปวัตถุดิบและสินค้าสำเร็จรูป อาทิ มันฝรั่ง ข้าวโพด ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เมล็ดถั่วเหลือง และกากถั่วเหลือง เช่นกัน
4. เร่งพัฒนาและวิจัยการพัฒนาสินค้า GMOs และศึกษาผลกระทบที่จะเกิดจากการผลิตและบริโภคสินค้า GMOs เพื่อให้สามารถกำหนดนโยบายและการค้าสินค้า GMOs ที่เหมาะสมได้ ซึ่งหากสามารถพิสูจน์ได้ว่าสินค้า GMOs ปลอดภัยต่อผู้บริโภค ก็จำเป็นที่ไทยต้องยอมรับให้มีการผลิตสินค้า GMOs ในเชิงพาณิชย์ เพื่อให้สามารถรักษาความสามารถในการแข่งขันได้ เนื่องจากไทยเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและสินค้าเกษตรแปรรูปรายใหญ่ของโลก ในทางกลับกัน หากกระแสการต่อต้านสินค้า GMOs มีความรุนแรงมากขึ้น ทางการควรห้ามนำเข้าสินค้าและผลิตภัณฑ์ GMOs โดยเด็ดขาด มิใช่เพียงมีการห้ามนำเข้าเมล็ดพันธุ์พืช GMOs เพื่อเพาะปลูกในเชิงพาณิชย์เช่นที่ทำอยู่ เพื่อยืนยันต่อประเทศผู้นำเข้าว่า ผลิตภัณฑ์อาหารทุกประเภทของไทยเป็นผลิตภัณฑ์ที่ปลอดจากสินค้า GMOs
-ธนาคารแห่งประเทศไทย-
-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ