สรุปความคืบหน้าการดำเนินงานขององค์การการค้าโลก -------------------------------------------------------------------------------- ครั้งที่ 3/2541 เดือนพฤษภาคม 2541 สรุปความคืบหน้าของการดำเนินงานภายใต้ WTO จ การประชุมระดับรัฐมนตรีองค์การการค้าโลกครั้งที่ 2 และงานฉลองวาระครบรอบ 50 ปีระบบการค้า พหุภาคี องค์การการค้าโลกได้จัดประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลกครั้งที่ 2 พร้อมกับงานฉลองครบรอบ 50 ปีระบบการค้าพหุภาคี ระหว่างวันที่ 18-20 พฤษภาคม 2541 ณ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายศุภชัย พาณิชภักดิ์) เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเดินทางไปเข้าร่วมในการประชุม และงานฉลองดังกล่าว ผลการประชุมระดับรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก และงานฉลองวาระครบรอบ 50 ปี ระบบการค้าพหุภาคี มีสาระสำคัญ ดังนี้ 1. การประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก ครั้งที่ 2 1.1 การประชุมระดับรัฐมนตรี มีระเบียบวาระสำคัญ 2 วาระ คือการปฏิบัติตามความตกลงอันเป็นผลจากการเจรจารอบอุรุกวัย และภารกิจของ WTO ในอนาคต 1.2 ผลการประชุม รัฐมนตรีได้ประกาศปฏิญญา 2 ฉบับ คือ 1.2.1 ปฏิญญาฉบับหลัก รัฐมนตรีได้มอบหมายให้คณะมนตรีใหญ่ (General Council) ของ WTO พิจารณาดำเนินการให้เป็นไปตามความตกลงจากการเจรจารอบอุรุกวัย รวมทั้งการเจรจารอบใหม่ด้านเกษตรและบริการ ซึ่งเป็นการเจรจาต่อเนื่องตามที่กำหนดไว้ในความตกลง ตลอดจนเรื่องใหม่ๆ ตามมติของที่ประชุมรัฐมนตรีครั้งแรกที่สิงคโปร์ และเรื่องอื่นใดที่สมาชิกเห็นชอบโดยฉันทามติ โดยให้คณะมนตรีใหญ่ดำเนินการอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนกันยายน 2541 และให้จัดทำข้อเสนอแนะต่อรัฐมนตรีในการประชุม ครั้งที่ 3 ซึ่งกำหนดจะจัดขึ้น ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา (เอกสารแนบ 1) ทั้งนี้ แม้จะยังไม่มีการกำหนดวันประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 3 แต่ก็เป็นที่คาดกันว่า การประชุมดังกล่าวอาจจะถูกจัดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2542 และอาจเป็นโอกาสสำหรับการเปิดเจรจาการค้ารอบใหม่ในกรอบกว้างของ WTO ด้วย 1.2.2 ปฏิญญาเรื่องพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ สหรัฐฯ ได้เสนอให้สมาชิก WTO ยืนยันที่จะคงสถานะปัจจุบัน ซึ่งไม่มีการเรียกเก็บภาษีศุลกากรในการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ และได้พยายามโน้มน้าวเพื่อให้มีฉันทามติยอมรับข้อเสนอดังกล่าวจนเป็นผลสำเร็จ รัฐมนตรี WTO ได้ประกาศปฏิญญาเรื่องพาณิชย์-อิเล็กทรอนิกส์ โดยมอบหมายให้คณะมนตรีใหญ่ กำหนดแผนงานเพื่อพิจารณาเรื่องนี้ใน รายละเอียด และรายงานผลต่อที่ประชุมรัฐมนตรี ครั้งที่ 3 ต่อไป นอกจากนี้ สมาชิก WTO ก็ ยืนยันที่จะคงสถานะการไม่เรียกเก็บภาษีศุลกากรในการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ในระหว่างที่ คณะมนตรีใหญ่พิจารณาเรื่องนี้ เมื่อคณะมนตรีใหญ่ดำเนินการตามแผนงานเสร็จสิ้นแล้ว ก็ให้ ทบทวน และตัดสินใจโดยฉันทามติว่าจะไม่เรียกเก็บภาษีศุลกากรต่อไป หรือไม่ (เอกสารแนบ 2) 1.3 ไทย ได้มีถ้อยแถลง สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้ (1) การปฏิบัติตามพันธกรณีของสมาชิก : เน้นถึงปัญหาในการปฏิบัติตามพันธกรณีของสมาชิกในเรื่องสินค้าเกษตร สิ่งทอ มาตรการการทุ่มตลาด การยุติข้อพิพาท และการเข้ามามีส่วนร่วมของประเทศกำลังพัฒนาในระบบการค้าพหุภาคี และเรียกร้องให้สมาชิกปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้ความตกลง WTO อย่างเคร่งครัด (2) การเจรจาสินค้าเกษตรรอบใหม่ : สนับสนุนให้มีการเจรจาสินค้าเกษตรรอบใหม่ในปลายปี 2542 ตามที่กำหนดไว้ในความตกลงเกษตร โดยให้ความสำคัญกับเรื่องการลดการอุดหนุนการส่งออก การเปิดตลาด และการลดการอุดหนุนการผลิต (3) เรื่องใหม่ๆ ได้แก่ เรื่องการค้ากับการลงทุน นโยบายการแข่งขัน การอำนวยความสะดวกทางการค้า และความโปร่งใสในการจัดซื้อโดยรัฐ : เรื่องดังกล่าวยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษา การที่จะดำเนินขั้นต่อไป ขึ้นอยู่กับผลการศึกษาและความเห็นชอบของสมาชิก ส่วนเรื่องใหม่อื่นๆนั้น ไทยพร้อมที่จะร่วมพิจารณา อย่างไรก็ตาม ไทยยังคงยืนยันที่จะให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกกับการปฏิบัติตามพันธกรณีที่มีอยู่และการเจรจาในเรื่องที่สมาชิกทั้งหมดได้ให้ความเห็นชอบแล้ว นอกจากนี้ ข้อเสนอใดๆที่จะนำมาพิจารณาภายใต้กรอบการเจรจารอบใหม่ จะต้องเป็นเรื่องที่ให้ประโยชน์ต่อประเทศกำลังพัฒนาด้วย (เอกสารแนบ 3) 2. งานฉลองวาระครบรอบ 50 ปี ระบบการค้าพหุภาคี 2.1 ผู้นำรัฐบาลของประเทศต่างๆ จำนวน 14 ประเทศ เข้าร่วมในงานฉลอง 50 ปี ระบบการค้าพหุภาคี เช่น ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ประธานคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป นายกรัฐมนตรีอังกฤษ และประธานาธิบดีของคิวบา เป็นต้น 2.2 ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้กล่าวถ้อยแถลงแสดงท่าทีของสหรัฐฯ เกี่ยวกับ อนาคตของ WTO โดยได้ผลักดันให้มีการเจรจารอบใหม่ และให้รวมเรื่องใหม่ๆไว้ในการเจรจาด้วย เช่น สิ่งแวดล้อม (รวมถึงความหลากหลายทางชีวภาพ) มาตรฐานแรงงาน การเจรจาเกษตรรอบใหม่ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การจัดซื้อโดยรัฐ และความโปร่งใส ทั้งนี้ ในเรื่องความโปร่งใส สหรัฐฯได้ผลักดันให้เปลี่ยนแปลงกฎระเบียบของ WTO โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเผยแพร่เอกสารในกรณีพิพาทให้สาธารณชนได้รับรู้และมีส่วนร่วมในกระบวนการนี้ 2.3 นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ได้แสดงความเห็นว่า จะต้องช่วยให้ประเทศกำลัง พัฒนาได้รับประโยชน์จากเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์ และเรียกร้องให้มีการเปิดตลาดสินค้าเกษตรและการค้าบริการในปี 2543 นอกจากนี้ ยังเน้นให้มีกฎระเบียบเกี่ยวกับการค้าและการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม มาตรฐานแรงงาน รวมทั้งพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีสารสนเทศ 3. การประชุมอื่นๆที่เกี่ยวข้อง 3.1 การประชุมหารือของกลุ่มเคร์นส์ รัฐมนตรีกลุ่มเคร์นส์ ได้ประชุมหารือร่วมกัน เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2541 ก่อนการประชุมรัฐมนตรี WTO และกลุ่มเคร์นส์ได้จัดทำถ้อยแถลงสั้นๆเผยแพร่ในระหว่างการประชุมรัฐมนตรี WTO เพื่อผลักดันให้รัฐมนตรี WTO มีมติให้เริ่มเตรียมการสำหรับการเจรจาสินค้าเกษตรรอบใหม่ ในปลายปี 2542 โดยให้มีกรอบการเจรจาที่ชัดเจน และยึดหลักการเจรจาว่า จะต้องให้สินค้าเกษตรอยู่บนพื้นฐานกฎเกณฑ์ที่เท่าเทียมกันกับสินค้าอุตสาหกรรม (2) หลังจากที่ประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลกเสร็จสิ้นแล้ว กลุ่มเคร์นส์ได้จัดประชุมหารือในระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสในวันที่ 21 พฤษภาคม 2541 และที่ประชุมมีความเห็นพ้องกันว่า การประชุมรัฐมนตรี WTO ในส่วนที่เกี่ยวกับเรื่องเกษตร นับว่ามีผลเกินกว่าที่คาดไว้ เพราะได้กำหนดอย่างชัดเจนให้คณะมนตรีใหญ่เริ่มเตรียมการสำหรับการประชุมรัฐมนตรีองค์การการ-ค้าโลกครั้งต่อไป ซึ่งรวมถึงการเตรียมการเกี่ยวกับการเปิดการเจรจา และกลุ่มเคร์นส์ควรร่วมมือกับสหรัฐฯอย่างใกล้ชิดเพื่อผลักดันให้มีการเปิดเจรจาเรื่องเกษตรตามกำหนด 3.2 การประชุมรัฐมนตรีกลุ่มเคร์นส์กับรัฐมนตรีเกษตรของสหรัฐฯ ทั้งสองฝ่ายมีความเห็นร่วมกันที่จะให้มีการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสของทั้งสองฝ่ายก่อนการประชุมคณะมนตรีใหญ่ในเดือนกันยายน 2541 เพื่อกำหนดท่าทีและวางกลยุทธ์ร่วมกันในการดำเนินการภายใต้กระบวนการเตรียมการเจรจาสินค้าเกษตรรอบใหม่ ข้อคิดเห็นและข้อสังเกต 1. ในระหว่างการประชุมรัฐมนตรี WTO ครั้งนี้ ได้มีกระแสกดดันค่อนข้างมาก จากกลุ่มพลังต่างๆรวมทั้งองค์กรเอกชน (NGOs) ทำให้ผู้อำนวยการใหญ่ WTO กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างการค้ากับเรื่องที่สาธารณชนให้ความสำคัญ เช่น เรื่องสิ่งแวดล้อม และมาตรฐานแรงงาน เป็นต้น ไว้ในถ้อยแถลงด้วย 2. ในการประชุมรัฐมนตรี WTO ครั้งที่ 3 ซึ่งคาดว่าจะเป็นโอกาสเปิดการเจรจารอบใหม่ด้วย สหรัฐฯ และประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ มีแนวโน้มที่จะผลักดันให้มีการเจรจาเพื่อกำหนดกฎระเบียบทางการค้าระหว่างประเทศเกี่ยวกับเรื่องใหม่ๆ เช่น สิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีชีวภาพ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การจัดซื้อโดยรัฐ และมาตรฐานแรงงาน เป็นต้น รวมถึงการเปิดให้ สาธารณชนเข้ามามีบทบาทเกี่ยวข้องกับงานของ WTO มากขึ้น และแม้ว่าจะมีแรงต้านจากประเทศกำลังพัฒนา แต่ในท้ายที่สุดแล้ว ทุกประเทศรวมทั้งไทย ก็อาจต้องเข้าร่วมในการเจรจา ดังกล่าวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงเห็นควรตั้งคณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เพื่อเตรียมการกำหนดท่าทีและกลยุทธ์ในการเจรจาของไทยภายใต้ WTO ต่อไป กองการค้าพหุภาคี กรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ 27 พฤษภาคม 2541
--กรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ กุมภาพันธ์ 2543--
-ปส-
--กรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ กุมภาพันธ์ 2543--
-ปส-