28 กุมภาพันธ์ 2543 ผลการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้าไทย-อิรัก ครั้งที่ 2 (The Second Session of the Thai-Iraqi Joint Trade Committee) ------------------- การประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า ไทย-อิรัก ครั้งที่ 2 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-23 กุมภาพันธ์ 2543 ณ กรุงแบกแดด สาธารณรัฐอิรัก โดยนายกรพจน์ อัศวินวิจิตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ประกอบด้วยผู้แทนจากภาครัฐและเอกชน หลังจากที่การประชุมได้ว่างเว้นมา นานถึง 12 ปี เนื่องจากวิกฤตการณ์สงครามอ่าวเปอร์เซีย การประชุมดังกล่าวเป็นการฟื้นฟูความสัมพันธ์ ทางการค้าระหว่างไทยกับอิรักให้ใกล้ชิดดังเดิม ในระหว่างที่อยู่ในกรุงแบกแดด รมช. กรพจน์ อัศวินวิจิตร ได้เข้าพบปะหารือกับบุคคลระดับสูงของอิรัก ดังนี้ 1. รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง 2. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้า 3. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงน้ำมัน 4. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข 5. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการศึกษาระดับสูงและการวิจัย ผลการประชุมฯ สรุปได้ดังนี้ 1. ข้าว ฝ่ายไทยได้ขอให้อิรักพิจารณาเพิ่มสัดส่วนการนำเข้าข้าวจากไทย ซึ่งฝ่ายอิรักยินดีที่จะรับพิจารณา เพิ่มจำนวนการนำเข้าข้าวจากไทยเป็นอันดับแรก 2. น้ำมัน ภายใต้โครงการ Oil-for-Food ขณะะนี้ประเทศไทยได้รับการจัดสรรจำนวน 4,000,000 บาร์เรล/6 เดือน ฝ่ายไทยได้เรียกร้องให้อิรักพิจารณาขยายจำนวนที่จัดสรรให้ไทยเพิ่มมากขึ้น และอิรักได้ ตอบยินดีที่จะพิจารณาข้อเรียกร้องนี้ 3. เรื่องหนี้ข้าวที่ค้างชำระตั้งแต่ปี 2532 สืบเนื่องจากการที่ผู้ส่งออกของไทยได้ขายข้าวจำนวน95,750.05 ตัน ให้แก่อิรักในรูปเงินเชื่อเป็นมูลค่า 73,882,983 เหรียญสหรัฐ ตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤตการณ์สงครามอ่าวเปอร์เซีย ซึ่งอิรักได้เข้ายึดครองคูเวต ในปี 2533 ทำให้สหประชาชาติคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่ออิรัก โดยได้ทำการอายัดทรัพย์สินของอิรัก ทำให้อิรักไม่สามารถชำระหนี้ ค่าข้าว แก่ผู้ส่งออกไทยได้ มูลค่าข้าวดังกล่าวเป็นเงินต้น 73,882,983 เหรียญสหรัฐและดอกเบี้ยอีกประมาณ 50 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นภาระที่ผู้ส่งออกของไทยต้องรับภาระหนี้ ค่าข้าวดังกล่าวและดอกเบี้ยเป็นเวลานาน 10 ปี แล้ว คณะผู้แทนไทยจึงได้หารือเรื่องนี้กับฝ่ายอิรัก ซึ่งฝ่ายอิรักได้รับที่จะชำระหนี้ค่าข้าวแก่ผู้ส่งออกไทย เมื่อทางสหประชาชาติยกเลิกการคว่ำบาตรทาง เศรษฐกิจแก่อิรักแล้ว 4. สินค้าอื่นๆ อิรักแสดงความสนใจที่จะขอซื้อ ข้าว น้ำตาลทราย ชา ผงซักฟอก เกลือ แบตเตอรี่ เครื่องจักร อาหารสำเร็จรูป ยาและเวชภัณฑ์ ยางรถยนต์ รถยนต์และอะไหล่รถยนต์ และน้ำมันพืชจาก ประเทศไทย และได้เสนอขายสินค้า เช่น ปุ๋ย อินทผาลัม และผลิตภัณฑ์น้ำมัน แก่ประเทศไทย 5. ความร่วมมือด้านต่างๆ อิรักได้ขอความร่วมมือในด้านการฝึกอบรม (Training) การแลกเปลี่ยน คณะผู้แทนและการแลกเปลี่ยนข้อมูล จากไทยในสาขาต่างๆ ดังนี้ - ด้านสุขอนามัย - ด้านการเกษตร, การชลประทาน - ด้านการลงทุนในเขตการค้าเสรีของอิรัก - ด้านการไฟฟ้า - ด้านการก่อสร้างและการออกแบบ - ด้านการคมนาคมขนส่ง - ด้านการธนาคาร โดยฝ่ายไทยรับที่จะแจ้งหน่วยงาน และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องของไทย พิจารณาต่อไป 6. ร่างความตกลง ฝ่ายอิรักได้ยื่นร่างความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางด้านวัฒนธรรม เพื่อให้ฝ่ายไทยพิจารณา ซึ่งฝ่ายไทยรับไว้เพื่อที่จะส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการต่อไป สองฝ่ายเห็นพ้องให้มีการจัดการประชุมครั้งที่ 3 ในช่วงครึ่งหลังของปี 2544 ในประเทศไทย จากการประชุมครั้งนี้ จะทำให้ฝ่ายไทยมีลู่ทางที่จะขยายปริมาณการค้าไปสู่อิรักได้มากขึ้น หากอิรักได้รับ การยกเลิกการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากสหประชาชาติ ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศก็จะขยายตัว อย่างรวดเร็ว โดยมีผลการประชุมครั้งนี้เป็นพื้นฐานในการสร้างความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดในด้านต่างๆ ต่อไป
--กรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ มีนาคม 2543--
-ปส-
--กรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ มีนาคม 2543--
-ปส-