สถานการณ์พลังงาน การดำเนินงาน และแผนงานในปี 2544

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 20, 2000 09:27 —สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน

 ส่วนที่ 1 สถานการณ์พลังงาน  
1. สถานการณ์พลังงานปี 25431.1 ปริมาณพลังงานสำรอง (Reserves)
น้ำมันดิบ ปริมาณสำรองที่พิสูจน์แล้ว (Proved Reserves) ของน้ำมันดิบในประเทศไทย ณ 31 ธันวาคม 2542 มีจำนวนทั้งสิ้น 156.2 ล้านบาร์เรล การผลิตในปี 2543 อยู่ในระดับ 20.4 ล้านบาร์เรล (55 พันบาร์เรล/วัน) ดังนั้น ถ้าผลิตในระดับนี้ จะสามารถใช้ได้เป็นเวลา 7.7 ปี อย่างไรก็ตามในขณะนี้บริษัท Unocal ได้ค้นพบแหล่งน้ำมันดิบแห่งใหม่ในอ่าวไทย อยู่ทางบริเวณตอนเหนือของแหล่งเอราวัณ บริษัทฯคาดว่าจะสามารถผลิตได้ 15 พันบาร์เรล/วัน ซึ่งจะทำให้ปริมาณสำรองและปริมาณ การผลิตของไทยเพิ่มมากขึ้น
คอนเดนเสท ปริมาณสำรองที่พิสูจน์แล้วของไทย ณ 31 ธันวาคม 2542 มีจำนวนทั้งสิ้น 212.7 ล้านบาร์เรล ในปี 2543 ปริมาณการผลิตอยู่ที่ระดับ 19.3 ล้านบาร์เรล (53 พันบาร์เรล/วัน) การผลิตระดับนี้จะทำให้เราสามารถใช้ได้เป็นเวลา 11.0 ปี
ก๊าซธรรมชาติ ปริมาณสำรองที่พิสูจน์แล้วของไทย ณ 31 ธันวาคม 2542 อยู่ที่ระดับ 12,168 พันล้านลูกบาศก์ฟุต โดยอยู่ในทะเลจำนวน 11,308.2 พันล้านลูกบาศก์ฟุต (รวม JDA เฉพาะที่เป็นของไทย จำนวน 3,001.2 พันล้านลูกบาศก์ฟุต) ปริมาณการผลิตในปี 2543 อยู่ที่ระดับ 1,988 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่ง ณ ระดับการผลิตนี้จะสามารถใช้ได้เป็นเวลา 16.8 ปี
ถ่านหิน/ลิกไนต์ ปริมาณสำรองถ่านหินของไทย ณ 31 ธันวาคม 2542 อยู่ที่ระดับ 1,390 ล้านตัน แหล่งสำคัญเป็นของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คือแหล่งแม่เมาะมีจำนวน 1,240 ล้านตัน การผลิตในปี 2543 คาดว่าจะอยู่ในระดับ 18 ล้านตัน ซึ่งการผลิตในระดับนี้จะสามารถ คงอยู่ได้เป็นเวลา 77.2 ปี
อย่างไรก็ตามตั้งแต่ปี 2530 เป็นต้นมา กรมทรัพยากรธรณีได้มีการสำรวจแหล่งถ่านหินใหม่ๆ จำนวน 70 แหล่ง และได้พบแหล่งถ่านหินจำนวน 20 แหล่ง มีปริมาณสำรอง (Measured Reserves) จำนวน 738 ล้านตัน ถ้าแหล่งถ่านหินเหล่านี้ถูกพัฒนาเป็นเหมืองถ่านหินจะทำให้ปริมาณสำรองเพิ่มเป็น 2,128 ล้านตัน และถ้าการผลิตยังอยู่ในระดับ 18 ล้านตัน/ปี จะสามารถใช้ได้นาน 118.2 ปี
ไฟฟ้าพลังน้ำ ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2543 กฟผ. มีกำลังการผลิตติดตั้งไฟฟ้าพลังน้ำจำนวน 2,880 เมกะวัตต์ คิดเป็นร้อยละ 16.7 ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งสิ้นของ กฟผ. แต่เนื่องจากการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำจะใช้ในช่วงความต้องการสูงสุด ดังนั้นการผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำอยู่ในระดับร้อยละ 6.2 ของปริมาณการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด
ปริมาณสำรองพลังงานไทย (Proved Reserves)
ณ 31 ธันวาคม 2542
แหล่ง น้ำมันดิบ(ล้านบาร์เรล) คอนเดนเสท(ล้านบาร์เรล) ก๊าซธรรมชาติ(พันล้านลูกบาศก์ฟุต) ลิกไนต์/ถ่านหิน(ล้านตัน)
ในอ่าวไทย 73.8 212.7 11,308.2 1,390
บนบก 82.4 - 859.8
รวม 156.2 212.7 12,168.0 1,390
การผลิตปี 2543 20.4 19.3 725.6 18
ใช้ได้เป็นเวลา (ปี) 7.7 11.0 16.8 77.2
1.2 สถานการณ์ภาพรวมพลังงาน
ความต้องการพลังงานเชิงพาณิชย์ ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2543 เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนโดย
การใช้ก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.7 เนื่องจากมีการใช้ในโรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) , โรงไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (SPP) และอุตสาหกรรมเพิ่มสูงขึ้น
ไฟฟ้าพลังน้ำและนำเข้าเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 64.6 เนื่องจากปริมาณน้ำในเขื่อนมีมาก และมีการนำเข้าจาก สปป.ลาว เพิ่มมากขึ้น การใช้น้ำมันลดลงร้อยละ 3.6
การใช้ลิกไนต์และถ่านหินลดลงร้อยละ 4.6
การผลิตพลังงานเชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 10.8 เมื่อเทียบกับ 8 เดือนแรกของปีก่อน
น้ำมันดิบเพิ่มขึ้นร้อยละ 86.1 จากระดับ 34 พันบาร์เรล/วัน ในปี 2542 เป็น 56 พันบาร์เรล/วัน เนื่องจากแหล่งเบญจมาส ซึ่งเริ่มการผลิตเมื่อกลางปี 2542 สามารถ ผลิตได้เต็มที่ในปีนี้ที่ระดับ 21 พันบาร์เรล/วัน
การผลิตก๊าซธรรมชาติ (ไม่รวมการนำเข้าจากสหภาพพม่า) เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.2 โดย อยู่ที่ระดับ 1,989 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน
การผลิตคอนเดนเสทขยายตัวเพิ่มขึ้นตามก๊าซธรรมชาติ ผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.6
การผลิตไฟฟ้าพลังน้ำเพิ่มขึ้นร้อยละ 72.2
การผลิตลิกไนต์ลดลงร้อยละ 11.5 โดยเป็นไปตามแผนการใช้ลิกไนต์ในการผลิต ไฟฟ้าของ กฟผ. ที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะ
การนำเข้า ปริมาณการนำเข้าพลังงานเชิงพาณิชย์ (สุทธิ) ใน 8 เดือนแรกของปีนี้ เทียบกับระยะเดียวกันของปี 2542 เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.7 เป็นผลมาจากการนำเข้าไฟฟ้าจากลาวเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.8 การนำเข้าถ่านหินเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.0 และการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากพม่ามาใช้ในโรง ไฟฟ้าราชบุรีเพิ่มขึ้น ทั้งนี้การนำเข้าเฉลี่ยในช่วง 8 เดือนนี้อยู่ที่ระดับ 120 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ขณะที่การนำเข้าน้ำมันดิบลดลงร้อยละ 5.0
1.3 สถานการณ์พลังงานแต่ละชนิด
ก๊าซธรรมชาติ ปริมาณการผลิตและการใช้ก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เนื่องจากการใช้ก๊าซธรรมชาติ ก่อให้เกิดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมน้อย รัฐบาลจึงสนับสนุนให้ กฟผ. ใช้ ทดแทนน้ำมันเตาในการผลิตไฟฟ้า ประกอบกับในช่วงปีนี้ราคาน้ำมันสูงมาก จึงทำให้อุตสาหกรรมที่ใช้ ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) หรือน้ำมันเตาเปลี่ยนมาใช้ก๊าซธรรมชาติแทน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการกลั่นน้ำมัน การจัดหาก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.7 อยู่ที่ระดับ 2,109 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน แยกเป็น การผลิต 1,989 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน และการนำเข้า 120 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน
แหล่งผลิตที่สำคัญคือ บงกช ผลิตได้เฉลี่ย 577 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน นอกจากนั้นยังมีแหล่งผลิตใหม่ที่เริ่มทำการผลิตในช่วงไตรมาส 3 ของปีก่อน และสามารถผลิตได้เต็มที่ในปีนี้ ได้แก่ แหล่ง เบญจมาส ของบริษัทไทยโป แหล่งไพลินและแหล่งตราด ของบริษัทยูโนแคล การนำเข้าจากพม่าจากแหล่งยานาดา และโดยเฉพาะจากแหล่งเยตากุน ซึ่งเริ่มมีในเดือนพฤษภาคมปีนี้
น้ำมันดิบ ปริมาณการผลิตในช่วง 8 เดือนแรกอยู่ที่ระดับ 56.1 พันบาร์เรล/วัน มีแหล่งผลิตสำคัญได้แก่ สิริกิติ์ผลิตได้ 23.5 พันบาร์เรล/วัน และแหล่งเบญจมาสผลิตได้ 21.3 พันบาร์เรล/วัน โดยปริมาณการผลิตคิดเป็นร้อยละ 7.7 ของความต้องการน้ำมันดิบในการกลั่น (Crude Intake) จึงมีการ นำเข้าจากต่างประเทศจำนวน 662.5 พันบาร์เรล/วัน เป็นมูลค่า 170,746 ล้านบาท
ลิกไนต์/ถ่านหิน การผลิตลิกไนต์ในช่วง 8 เดือนแรกลดลงร้อยละ 5.0 อยู่ที่ระดับ 12.0 ล้านตัน และใช้ในโรงไฟฟ้าแม่เมาะจำนวน 9.5 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8
การใช้ลิกไนต์ของภาคเอกชนลดลงร้อยละ 34.4 ขณะที่ถ่านหินนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.0 เนื่องจากราคาถ่านหินนำเข้าที่มีคุณภาพสูง มีราคาถูกลงทำให้เอกชนเพิ่มการนำเข้า ประกอบกับมีเชื้อเพลิงชนิดอื่นได้แก่ปิโตรเลียมโค๊ก (Petroleum Coke) เข้ามาทดแทนถ่านหินและลิกไนต์ในอุตสาหกรรมผลิต ปูนซีเมนต์ จึงทำให้ภาพรวมการใช้ลิกไนต์/ถ่านหิน ลดลงร้อยละ 4.6
น้ำมันสำเร็จรูป ปริมาณการใช้ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2543 อยู่ที่ระดับ 621.4 พันบาร์เรล/วัน ลดลงร้อยละ 3.0 โรงกลั่นส่วนใหญ่ลดการกลั่นลงโดยปริมาณการใช้น้ำมันดิบเพื่อกลั่น (Crude Intake) อยู่ที่ระดับ 732 พันบาร์เรล/วัน คิดเป็นร้อยละ 86.9 ของกำลังการกลั่นของประเทศซึ่งอยู่ที่ระดับ 842.5 พันบาร์เรล/วัน อย่างไรก็ตามปริมาณการผลิตยังคงมากกว่าความต้องการภายในประเทศ จึงทำให้มีการส่งออก(สุทธิ) จำนวน 43.5 พันบาร์เรล/วัน โดยมีการส่งออกสุทธิน้ำมันสำเร็จรูปทุกชนิด ยกเว้นน้ำมันเตา มีรายละเอียดดังนี้
น้ำมันเบนซิน ปริมาณการใช้ในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้อยู่ในระดับ 119.0 พันบาร์เรล/วันลดลงร้อยละ 3.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักมาจากการใช้ในรถยนต์ ยังคงชะลอตัวอยู่เนื่องจากราคาน้ำมันเบนซินสูงขึ้นมาก ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ยังไม่ดีนัก ประชาชนโดยทั่วไปประหยัดมากขึ้น โดยลดการใช้รถยนต์ลง การใช้น้ำมันเบนซินพิเศษ ลดลงร้อยละ 23.2 ในขณะที่ การใช้น้ำมันเบนซินธรรมดา เพิ่มขึ้นร้อยละ 39.0 ทั้งนี้ เป็นผลจาการรณรงค์ ให้มีการใช้น้ำมันที่มีค่าออกเทน ให้เหมาะสมกับประเภทรถ และมาตรการดังกล่าว ได้รับการตอบรับจากประชาชนด้วยดี ทำให้มีการใช้น้ำมันเบนซินธรรมดา (ออกเทน 87 และ 91) เพิ่มขึ้น การผลิตน้ำมันเบนซินมีจำนวน 139.3 พันบาร์เรล/วัน ยังคงมากกว่าความต้องการใช้ จึงมีการส่งออกสุทธิ 15.0 พันบาร์เรล/วัน
น้ำมันดีเซล ปริมาณการใช้ในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ อยู่ในระดับ 266.4 พันบาร์เรล/วันต่ำกว่าปีที่ผ่านมาเล็กน้อย สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากราคาน้ำมันดีเซลที่สูงขึ้น อย่างต่อเนื่องทำให้ประชาชนลดการใช้ลง ขณะที่การผลิตเฉลี่ยอยู่ในระดับ 276.1 พันบาร์เรล/วัน น้ำมันดีเซลมีทั้งการนำเข้าและส่งออกโดยมีการส่งออกน้ำมันดีเซล (สุทธิ) เป็นจำนวน 3.8 พันบาร์เรล/วัน
น้ำมันเตา ปริมาณการใช้อยู่ในระดับ 119.4 พันบาร์เรล/วัน ลดลงถึงร้อยละ 15.2 เมื่อเทียบกับ 8 เดือนแรกของปีที่แล้ว ทั้งนี้ เนื่องจากการใช้น้ำมันเตาในภาคการผลิตกระแสไฟฟ้าของการ ไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ลดลงร้อยละ 28.2 ส่วนการใช้ในภาคอุตสาหกรรมและอื่นๆ ลดลงร้อยละ 2.2 เนื่องจากราคาน้ำมันเตาอยู่ในระดับที่สูง อุตสาหกรรมบางแห่ง จึงหันไปใช้ก๊าซธรรมชาติแทน การผลิตน้ำมันเตาอยู่ในระดับ 120.5 พันบาร์เรล/วัน ซึ่งสูงกว่าความต้องการใช้เล็กน้อย อย่างไรก็ตามมีการนำเข้าน้ำมันเตา (สุทธิ) 7.6 พันบาร์เรล/วัน น้ำมันเครื่องบิน ปริมาณการใช้อยู่ในระดับ 59.6 พันบาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่ผลิตได้ 68.1 พันบาร์เรล/วัน ซึ่งสูงกว่าความต้องการใช้ เป็นผลให้มีการส่งออกสุทธิ จำนวน 7.9 พันบาร์เรล/วัน
ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ปริมาณการใช้เพื่อเป็นพลังงาน (ใช้ในครัวเรือน อุตสาหกรรม และรถยนต์) อยู่ในระดับ 56.2 พันบาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การใช้ LPG ในรถยนต์เพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 61.7 ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการนำไปใช้ในรถแท๊กซี่ ปัจจุบัน รถแท๊กซี่เปลี่ยนมาใช้ LPG ประมาณร้อยละ 70 ของรถทั้งหมด ปริมาณการผลิตเกินความต้องการภายในประเทศ จึงมีการส่งออกจำนวน 21.3 พันบาร์เรล/วัน
ไฟฟ้า ปริมาณการผลิตไฟฟ้าในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้อยู่ที่ระดับ 65,859 ล้านหน่วย(GWh) เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.3 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน ความต้องการไฟฟ้าสูงสุด (Peak Demand) ของปีนี้คาดว่าจะอยู่ในระดับ 14,918 MW เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.8
ปริมาณการใช้ไฟฟ้าของ 8 เดือนของปีนี้เทียบกับระยะเดียวกันของปี 2542 เพิ่มขึ้น ร้อยละ 8.0 โดยภาคอุตสาหกรรมมีอัตราเพิ่มสูงสุดอยู่ในระดับร้อยละ 9.0 ภาคธุรกิจและที่อยู่อาศัย เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.7 และ 5.5 ตามลำดับ ทั้งนี้ในเขตนครหลวงมีอัตราเพิ่มร้อยละ 7.6 และภูมิภาคเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.4
2. ความต้องการพลังงานปี 2544 และในระยะยาว
สำหรับในปี 2544 คาดว่าความต้องการใช้พลังงานเชิงพาณิชย์จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8 เมื่อเทียบกับปี 2543 ภายใต้สมมุติฐานว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) อยู่ที่ระดับร้อยละ 4.3 โดยมีรายละเอียดดังนี้
ความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติยังคงเพิ่มขึ้นในระดับสูงถึงร้อยละ 12.0 เนื่องจากความ ต้องการยังคงเพิ่มอย่างต่อเนื่อง ทั้งในภาคการผลิตไฟฟ้า โดยเฉพาะการเพิ่มการใช้ของ IPP และการเพิ่มขึ้นของการใช้ในภาคอุตสาหกรรม
ลิกไนต์/ถ่านหิน มีอัตราการใช้เพิ่มขึ้นเล็กน้อยในระดับร้อยละ 1.3 เนื่องจาก กฟผ. มีแผนการใช้ลิกไนต์ในการผลิตไฟฟ้าที่แม่เมาะในระดับ 13 | 14 ล้านตัน ซึ่งใกล้เคียงกับปี 2543
ความต้องการผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูปมีแนวโน้มลดลงเล็กน้อย คือลดลงร้อยละ 0.2 ทั้งนี้ประมาณการว่าน้ำมันสำเร็จรูปทุกชนิด มีความต้องการเพิ่มขึ้น ยกเว้นน้ำมันเตา ซึ่งการใช้ลดลงค่อนข้างมาก โดยเฉพาะการใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. จากระดับประมาณ 3,000 ล้านลิตร ในปี 2543 เหลือ 1,500 ล้านลิตร ในปี 2544 จึงส่งผลให้ภาพรวมการใช้ผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูป ลดลงดังกล่าว
การใช้ไฟฟ้าพลังน้ำ/นำเข้าลดลง
ความต้องการพลังงานในระยะยาว ในช่วงปี 2545 | 2554 ซึ่งอยู่ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 และ 10 นั้น มีสมมติฐานว่า อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย จะอยู่ในระดับร้อยละ 4.5 ต่อปี ส่งผลให้ความต้องการพลังงานเชิงพาณิชย์ ในช่วงแผนฯ 9 (2545 | 2549) มีอัตราการเพิ่มโดยเฉลี่ยร้อยละ 4.9 ต่อปีและในช่วงแผนฯ 10 (2550 | 2554) มีอัตราการเพิ่มโดยเฉลี่ยร้อยละ 5.0 ต่อปี โดยยังมีน้ำมันเป็นเชื้อเพลิงหลัก รองลงไปได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ ลิกไนต์/ถ่านหิน ไฟฟ้าพลังน้ำ/ไฟฟ้านำเข้า โดยในปี 2554 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของแผนฯ 10 สัดส่วนการใช้จะอยู่ในระดับร้อยละ 48.0, 33.4, 15.8 และ 2.8 ตามลำดับ
การพึ่งพาพลังงานจากต่างประเทศจะอยู่ในระดับที่สูง เนื่องจากการผลิตภายในประเทศ และปริมาณสำรองของพลังงานมีน้อย โดยเมื่อสิ้นสุดแผนฯ 9 จะมีการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ ในระดับร้อยละ 70.5 ของความต้องการใช้ภายในประเทศ และเมื่อสิ้นแผนฯ 10 สัดส่วนการนำเข้าพลังงาน จะสูงถึงระดับร้อยละ 79.5 มีรายละเอียดความต้องการและการจัดหาพลังงานมีดังนี้
น้ำมันปิโตรเลียม ความต้องการในปี 2549 อยู่ในระดับ 748.9 พันบาร์เรลน้ำมันดิบ/วัน และในปี 2554 เพิ่มเป็น 932.1 พันบาร์เรลน้ำมันดิบ/วัน โดยมีอัตราการเพิ่มโดย เฉลี่ยร้อยละ 4.5 ต่อปี ทั้งช่วงแผนฯ 9 และแผนฯ 10
ก๊าซธรรมชาติ ความต้องการจะเพิ่มจากระดับ 2,090 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ในปี 2543 เป็น 2,705 ลูกบาศก์ฟุต/วัน ในปี 2549 โดยมีการนำเข้าจากสหภาพพม่า 525 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน คิดเป็นร้อยละ 19.4 และความต้องการจะเพิ่มเป็น 3,612 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ในปี 2554 มีการนำเข้าจากพม่าและแหล่งอื่นๆ จำนวน 1,925 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน หรือร้อยละ 53.3
ลิกไนต์/ถ่านหิน ปริมาณการใช้ลิกไนต์จะเพิ่มจากระดับ 22.2 ล้านตันในปี 2543 เป็น 33.8 ล้านตันในปี 2549 และ 35.7 ล้านตันในปี 2554 โดย กฟผ. ใช้ลิกไนต์ เป็น เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าจำนวน 14 | 18 ล้านตัน ในช่วงแผนฯ 9 และแผนฯ 10 การใช้ถ่านหินนำเข้าในการผลิตไฟฟ้าของ IPP จะเริ่มในปี 2547 ในระดับ 4.4 ล้านตัน และเพิ่มเป็น 8.8 ล้านตันในปี 2554
ไฟฟ้า ความต้องการไฟฟ้าสูงสุด (Peak Demand) ในช่วงแผนฯ 9 จะเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยปีละ 1,190 เมกะวัตต์ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.5 ต่อปี ในช่วงแผนฯ 10 จะเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยปีละ 1,684 เมกะวัตต์หรือร้อยละ 6.7 ต่อปี โดยในปี 2554 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของแผนฯ 10 ความต้องการไฟฟ้าสูงสุดจะอยู่ที่ระดับ 30,587 เมกะวัตต์
สำหรับความต้องการพลังงานไฟฟ้านั้น ในปีสุดท้ายของแผนฯ 9 ความต้องการไฟฟ้าอยู่ที่ระดับ 141,892 GWh เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยร้อยละ 6.4 ต่อปี และเมื่อสิ้นสุดแผนฯ 10 ความต้องการพลังงานไฟฟ้าจะเพิ่มเป็น 196,668 GWh เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยร้อยละ 6.7 ต่อปี
การใช้เชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าในการผลิตไฟฟ้า ในปี 2543 ไฟฟ้าที่ผลิตจากก๊าซธรรมชาติ มีสัดส่วนร้อยละ 60.4 รองลงไปได้แก่ไฟฟ้าที่ผลิตจากลิกไนต์/ถ่านหินร้อยละ 19.7 จากน้ำมันเตาร้อยละ 13.2 จากพลังน้ำร้อยละ 3.9 และจากการนำเข้าร้อยละ 2.8 โดยแนวโน้มการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าในช่วงแผนฯ 9 และ 10 จะเป็นดังนี้
ก๊าซธรรมชาติยังคงเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าตลอดช่วงแผนฯ 9 และแผนฯ 10 ทั้งนี้การผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ จะมีสัดส่วนในระดับร้อยละ 57.5-73.5 โดยสัดส่วน สูงสุดจะอยู่ในปี 2546 หรือ 3 ปีข้างหน้านี้
การผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินและลิกไนต์ จะเพิ่มความสำคัญมากขึ้นโดยมีสัดส่วนอยู่ในช่วง ร้อยละ 16.8-28.4 ทั้งนี้สัดส่วนของลิกไนต์ จะลดความสำคัญลงขณะที่ถ่านหินนำเข้า จะมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้น การใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้าของ IPP คาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2547 เป็นต้นไป
การผลิตไฟฟ้าจากน้ำมันเตา จะมีแนวโน้มลดลงตลอดช่วงแผนฯ 9 และแผนฯ 10 โดยเป็นไปตามแผนการใช้ก๊าซธรรมชาติ ทดแทนน้ำมันเตาของ กฟผ. ดังนั้นสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากน้ำมันเตาจะลดจากร้อยละ 13.2 ในปี 2543 เหลือเพียงร้อยละ 0.8 ในปี 2554 เมื่อสิ้นแผนฯ 10
การนำเข้าพลังงานไฟฟ้า จะเพิ่มความสำคัญมากขึ้น ทั้งนี้สัดส่วนไฟฟ้านำเข้าจะเพิ่มจากร้อยละ 2.2 ในปี 2544 เป็นร้อยละ 9.2 ในปี 2554
โดยสรุปแล้วในปี 2554 สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ ยังคงสูงสุดอยู่ในระดับร้อยละ 64.4 รองลงไปได้แก่ ลิกไนต์/ถ่านหินร้อยละ 22.8 ไฟฟ้านำเข้าร้อยละ 9.2 ไฟฟ้าพลังน้ำร้อยละ 2.8 และจากน้ำมันเตาร้อยละ 0.8
การผลิตไฟฟ้าแยกตามชนิดเชื้อเพลิงร้อยละ
ชนิดเชื้อเพลิง 2543 2549 2554
ก๊าซธรรมชาติ 60.4 64.4 64.4
ลิกไนต์/ถ่านหิน 19.7 27.0 22.8
น้ำมันเตา/ดีเซล 13.2 3.0 0.8
ไฟฟ้าพลังน้ำ 3.9 3.4 2.8
นำเข้า 2.8 2.2 9.2
รวม 100.0 100.0 100.0
-ยังมีต่อ-

แท็ก น้ำมันดิบ  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ