(ต่อ1) คำต่อคำ:: นายเกียรติ สิทธีอมร กล่าวอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล 'นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ' รมว.คมนาคม กรณีการจัดซื้อเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด CTX9000::

ข่าวการเมือง Monday June 27, 2005 14:23 —พรรคประชาธิปัตย์

          นอกจากนั้นครับท่านประธาน ผมคิดว่าเป็นความผิดปกติอย่างยิ่งที่บริษัทที่ไม่มีธุรกิจคงเส้นคงวา มีฐานะทางการเงินที่มั่นคง ต้องมารับงานที่มีความสลับซับซ้อน และมูลค่าสูงถึงสองพันกับสามล้านบาท ท่านประธานทราบไหมครับว่าบริษัทแพทริออตมีทุนจดทะเบียนเท่าไรครับ 5,000,000 บาท ก่อนเป็นผู้รับเหมาช่วงของไอทีโอ ไม่เคยขายหรือติดตั้งเครื่องตรวจวัตถุระเบิดซีทีเอ็กซ์มาก่อนเลย มีระยะเวลาประกอบการ 5 ปี นะครับท่านประธาน มีรายได้ที่บันทึกไว้ในบัญชีปีเดียว อีก 4 ปีไม่มีรายได้หรือมีรายได้จากดอกเบี้ยไม่กี่หมื่นบาท นะครับ และวันที่มารับสัญญาสองพันกับสามล้านบาท มีขาดทุนสะสมในบริษัท 9586274.27 บาท ครับ  สุดยอดไหมครับท่านประธานครับ
ผมไปถามนักธุรกิจ พรรคพวกนักธุรกิจบอกว่า เคยเจอไหมบริษัทมีผลประกอบการแบบนี้อยู่ดีดีส้มหล่นครับ ไปรับสัญญาสองพันกับสามล้านบาท เลย นักธุรกิจก็ยิ้มเพราะไม่กล้าตอบ กลัวโดนปิดคลื่นความถี่ กรณีอย่างนี้ในภาคธุรกิจยิ่งกว่าถูกล็อตตารี่รางวัลที่ 1 อีกครับท่านประธาน ไม่มีหรอกครับ ไม่ใช่เกิดขึ้นง่ายๆ นอกจากนั้นในสัญญาระหว่างบริษัทอินวิชั่นและแพทริออต และแพทริออตไปไอทีโอมีเงื่อนไขที่ซ่อนไว้อยู่ที่น่าสนใจอยู่ประการหนึ่ง บริษัทแพทริออตซึ่งเป็นคู่สัญญาของไอทีโอไม่ต้องเป็นคนทำหนังสือค้ำประกันครับ เขียนไว้ในสัญญาด้วยครับ เอกสารแนบ 2 หน้า1/3 ของสัญญาระหว่างไอทีโอกับแพทริออต เขียนไว้ว่า ยอมให้อินวิชั่นทำหนังสือค้ำประกันตรงกับที่ไอทีโอได้ มีด้วยเหรอครับหลักสัญญาเช่นนี้ คนในรัฐบาลก็ออกมาพูดอีกครับ บอกว่าจะซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิดจากอินวิชั่น เขาบอกว่าต้องวื้อกับผู้แทนจำหน่าย ไม่น่าจะจริงเลยครับ เพราะว่าสัญญารับสารภาพเพื่อขอลดโทษ ศาลยุติธรรมระบุไว้ชัดเจนนะครับ มีข้อความตอนหนึ่ง ที่ผมได้อ่านแล้ว ว่าผู้รับเหมาช่วงรู้ว่าจะได้รับสัญญาเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิด จึงมีการลงนามแต่งตั้งตัวแทนภายในเดือนพ.ค. 2546 รู้ว่าจะได้งานถึงไปเซ็นสัญญาแต่งตั้งเป็นผู้แทนจำหน่าย เป็นคำรับสารภาพอยู่แล้ว
ทั้งหมดนี้ครับท่านประธานทำให้น่าเชื่อว่า การที่อินวิชั่นต้องตั้งแพทริออตเป้นผู้แทนจำหน่ายนั้นน่าจะเป็นวิธีหนึ่งในการสร้างส่วนต่างของราคา และต้องมีการทำอย่างเป็นกระบวนการ โดยคำสั่งของผู้มีอำนาจบางคน ผมเชื่อว่าจะทำอย่างนี้ได้ บริษัทแพทริออตคนเดียวแต่โดยลำพังทำไม่ได้หรอกครับท่านประธาน ต้องมีกระบวนการที่สลับซับซ้อน ต้องเป็นคนที่มีอำนาจ หรืออยู่ในอำนาจเกี่ยวข้องที่จะผลักดันให้เกิดขึ้นในลักษณะนี้ได้
ประเด็นที่ 2 ของความผิดปกติของสัญญา มีการจัดจ้างเป็นวิธีพิเศางบประมาณที่ตั้งไว้ไม่มีที่มาที่ไปที่อธิบายได้ ไม่โปร่งใส ในเรื่องนี้ผมขอนำท่านประธานไปในรายงานการประชุม กรรมการ บทม. ครั้งที่ 2/2546 วันที่ 23 ม.ค.2546 นะครับ ระบุไว้ชัดเจนนะครับว่า การศึกษาออกแบขยายขีดความสามารถจาก 30 เป็น 45 ล้านคน/ปี ซึ่งเอ็มเจทีเอได้ประมาณการณ์ งบประมาณเบื้องต้นในการปรับเปลี่ยนระบบมีดังนี้ เครื่องไม่เครื่องมืออุปกรณ์ทั้งหลายนะครับ รวมไปถึงสายพานที่ต้องทำเพิ่ม ทั้งหมดนี้ราคา 36 ล้านเหรียญ หรือ 1530 ล้านบาท ระบุในการประชุมนี้ด้วยครับว่า บทม. พิจารณาแล้วเห็นว่า ภารกิจในการศึกษาออกแบบการเปลี่ยนแปลงนี้ควรเป็นภารกิจของผู้ออกแบบรายเดิม คือ กลุ่มบริษัทเอ็มเจทีเอ ด้วยเหตุผลของความต่อเนื่องของเนื้อหาสาระและการออกแบบเดิม และความรับผิดชอบต่อเนื่องทางวิชาชีพ ที่ทางเอ็มเจทีเอต้องรับผิดชอบ เหตุผลก็ฟังดูเข่าทาเข้าทางนะครับ ดูดีมาก พอไปการประชุมครั้งเดียวกันนะครับ มีการประชุมคุยกันไปคุยกันมาจากหน้า 17 ไปจนถึงหน้า 19 ยังย้ำประเด็นเดิมนะครับ บอกว่าภารกิจในการศึกษาออกแบบสายพานลำเลียงกระเป๋าและหีบห่อสัมภาระระบบ 100 % ควรเป็นภารกิจของผู้ออกแบบเดิม เอ็มเจทีเอ ย้ำนะครับ 2-3 รอบในการประชุมครั้งเดียวกัน
ด้วยเหตุผลของความต่อเนื่องของเนื้อหาสาระและในที่สุดมีมติของคณะกรรมการเห็นชอบงบประมาณสำหรับการดำเนินงานปรับเปลี่ยนระบบรักษาความปลอดภัยในการตรวจสอบกระเป๋าของผู้โดยสาร เป็นแบบอินไลน์แบกเก็จคลีนนิ่งซิสเท็ม ภายในวงเงิน 1530 ล้านบาท หรือ 36 ล้านเหรียญ และเห็นชอบให้บทม. เจรจากับเอ็มเจทีเอเป็นผู้ออกแบบปรับปรุงระบบความรักษาความปลอดภัยดังกล่าวภายในวงเงินงบประมาณ 95.6 ล้านบาท มติชัดเจนนะครับ เห็นชอบให้นำเรื่องเสนอ กธภ. คณะกรรมการที่ท่านนายกฯ นั่งอยู่หัวโต๊ะนะครับ โดยให้แยกเป็น 2 วาระ คือ เรื่องกการปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกอาคารผู้โดยสารเรื่องหนึ่ง และเรื่องการเปลี่ยนระบบสายพานลำเลียงกระเป๋าเป้นแบบอินไลน์ อีกเรื่องหนึ่งเพื่อความชัดเจน และป้องกันความสับสน สั่งไว้นะครับ เสนอเป็น 2 วาระ แยกกันให้ชัด อย่าไปเสนอร่วมกันเพื่อป้องกันความสับสนที่อาจเกิดขึ้นได้ อันนี้ก็ชัดเจนนะครับ
มาวันที่ 27 ก.พ. 2546 ครับท่านประธาน มีคณะกรรมการตามมติของการประชุมคราวที่แล้วพูดไว้ชัดเจนว่า ให้มีคณะกรรมการไปเจรจาต่อรองกับเอ็มเจทีเอ ครับท่านประธาน
จะเห็นว่าให้คณะกรรมการไปเจรจาต่อรองกับเอ็มเจทีเอครับท่านประธาน ในการประชุม 1 เดือนต่อมาคณะกรรมการต่อรองนำผลการเจรจาต่อรองมาแจ้งให้ที่ประชุมทราบ คณะกรรมการต่อรองมีใครครับ มีคุณอดิเทพ มีคุณเพิ่มศักดิ์ มีคุณสมชัย มีคุณสุรจิต มีคุณเกรียงไกร มีคุณกุศล นะครับ รายชื่อปรากฏอยู่ในรายงานการประชุมชัดเจนนะครับ คณะกรรมการเจรจาต่อรองราคามีความเห็นว่าข้อเสนอของกลุ่มเอ็มเจทีเอให้น้ำหนักของบุคลากรส่วนใหญ่กับงานบริหาร และประสานงานโดยใช้บุคลากรที่เป็นชาวต่างชาติ และมีเวลาทำงานเกือบทั้งหมดในต่างประเทศ เหตุผลที่ให้มีเท่านี้ครับ ให้เหตุผลแค่นี้ ผมก็ต้องตั้งคำถามครับท่านประธาน ปกติให้กรรมการเจรจาต่อรองไปเจรจาต่อรองราคาตามมติบอร์ด มติบอร์ดบอกแล้ว บอกว่าให้จ้างกรรมการต่อรองกลับมาบอก อย่าไปจ้างเขาเลย แปลกมั้ยครับท่านประธาน
ผมไม่เชื่อว่ากรรมการต่อรองโดยลำพังกล้าทำเช่นนี้ ถ้าไม่มีผู้ใหญ่หนุนหลังครับ กลับมาบอกแค่นี้ครับ บอกว่าอย่าไปจ้างเขาเลย ไม่ได้กลับมาบอกเลยว่าไปต่อรองได้ราคาเท่าไหร่ ไม่ได้กลับไปบอกเลยว่าต่อรองมาแล้ว แหม..เป็นห่วงว่าเขามีฝรั่งทำงานในต่างประเทศเยอะแยะ ต่อรองให้มาทำในประเทศไทยมากขึ้นกว่าที่เสนอมาได้มั้ย ไม่ได้บอกอย่างนั้นเลยครับ มาถึงบอกว่า ด้วยเหตุผลนี้ ให้น้ำหนักบุคลากรส่วนใหญ่ในต่างประเทศ ทำงานในต่างประเทศ ใช้เวลานานประมาณ 108 — 120 วัน อย่าไปจ้างเขาเลย มีข้อเสนอต่อมาครับ ในการประชุมวันที่ 27 ก.พ. เช่นกันครับท่านประธาน ในที่สุดมีมติครับ เห็นชอบให้ยกเลิกการเจรจากับกลุ่มเอ็มเจทีเอเป็นผู้ออกแบบปรับปรุงระบบตรวจสอบกระเป๋าสัมภาระของผู้โดยสารแบบอินไลน์ ท่านประธานว่าแปลกมั้ยครับ 1 เดือนก่อนหน้านี้ ให้เหตุผลเยอะแยะเลยว่า ทำไมควรจะจ้างเอ็มเจทีเอ เขาดีอย่างนู้นเรื่องความต่อเนื่องของวิชาชีพ งานที่ทำเดิมไว้ต้องได้ทำต่อเนื่อง งบประมาณที่จะใช้ในการปรับปรุงก็อนุมัติไว้แล้ว 1,530 ล้านบาท 1 เดือนให้หลังบอกไม่เอาแล้ว เลิก คณะกรรมการต้องชี้แจง ท่านรัฐมนตรีต้องชี้แจงทำไมกรรมการมีมติลักษณะอย่างนี้
มติต่อไปครับ เห็นชอบในหลักการให้ บทม. เจรจากับผู้รับเหมาก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร ไอทีโอ จอยซ์เวนเจอร์ เป็นผู้ปรับเปลี่ยนแบบ พร้อมก่อสร้างระบบตรวจสอบกระเป๋าและสัมภาระของผู้โดยสารแบบอิน ไลน์ จนแล้วเสร็จ โดยให้ บทม. ออกคำสั่งเป็นการซื้อกรณีพิเศษ สำหรับสายพานขนส่งกระเป๋า และเห็นชอบในหลักการให้ บทม. ดำเนินการเจรจากับกลุ่มเอ็มเจทีเอในฐานะผู้ออกแบบเดิมเป็นผู้ตรวจสอบแบบ เดิมจะจ้างเค้าเป็นผู้ออกแบบ ไม่จ้างแล้ว ให้ไอทีโอทำ ไม่ต้องมีคนออกแบบล่ะ ให้เอ็มเจทีเอเป็นผู้ตรวจแบบ และก็ให้ บทม.สรุปผลเสนอคณะกรรมการ บทม. เพื่ออนุมัติการว่าจ้างต่อไป ท่านประธานเห็นมั้ยครับว่าเรื่องนี้มันแปลกมาก แค่ติดตามดูบันทึกรายงานการประชุมก็จะเห็นได้ชัดว่า มันมีความไม่ชอบมาพากลที่อธิบายไม่ได้
ในส่วนของกรณีที่ดำเนินการเป็นการซื้อในกรณีพิเศษ จริงๆแล้วไม่ได้ทำให้เวลาการดำเนินการสั้นลงนะครับท่านประธาน ตอนแรกบอกใช้เวลานาน ใช้คนทำในต่างประเทศมาก กว่าจะเซ็นสัญญากับไอทีโอก็เดือน มี.ค. 2547 แล้วครับ 1 ปีให้หลังจากการประชุมครั้งนี้ 1 ปีกว่าครับ มีเวลาเหลือจะพอ ถ้าถามว่า 1 ปีกว่าทำอะไรได้บ้าง ออกแบบได้ ทำตรวจสอบคุณสมบัติผู้เข้าประมูลได้ ประมูลก็ได้ จะจัดซื้อ จัดจ้าง ไปสอบราคา ตั้งราคากลางให้ถูกต้องเหมาะสม ทำได้หมดครับ จะเซ็นสัญญากี่เจ้าก็ได้ แต่เราเลือกวิธีที่จะไม่ทำเช่นนั้น เป็นวิธีเดียวที่ไม่มีการแข่งขัน ต้องถามว่าทำไม และทำไมไม่เคยแจ้ง กทภ. ว่าจะซื้อด้วยวิธีซื้อเป็นกรณีพิเศษ ตอนนี้ก็เห็นได้ชัดนะครับว่า มันมีความไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้นอยู่แล้วในระดับของกรรมการ บทม.ครับ
ผมพยายามไปตรวจสอบดูว่าเงิน 4,500 ล้านบาทเป็นงบนี้มันโผล่มาจากไหน เพราะเราก็เห็นอยู่ว่าในการประชุมเดือน ม.ค. มัน 1,530 เองครับ อยู่ดีๆ 4,500 มาจากไหน ก็พบว่าในการประชุม กทภ. ในวันที่ 15 ต.ค. วันนี้ล่ะครับ ในการประชุมครั้งนี้ กทภ. คือคณะกรรมการบริหารการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ที่มีท่านนายกฯเป็นประธาน ท่านนายกฯได้อนุญาตให้ปลัดกระทรวงคมนาคมและนายธีรวัฒน์ ฉัตราภิมุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นผู้ชี้แจงรายละเอียดในเรื่องนี้ ชี้แจงอย่างไรบ้างครับ ที่ผมติดใจอยู่ประเด็นนี้ครับ ได้ว่าจ้าง บ.เอ็มเจทีเอ ออกแบบปรับปรุงสิ่งอำนายความสะดวกของอาคารผู้โดยสาร ตรงนี้ไม่ผิดนะครับ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้บริการแก่ผู้โดยสาร คำพูดต่อไปนี่ผิดครับ รวมทั้งออกแบบปรับปรุงระบบรักษาความปลอดภัยในการตรวจสอบกระเป๋าผู้โดยสารและสัมภาระให้มีความทันสมัย โดยเป็นแบบอินไลน์ นี่บันทึกรายงานการประชุมนะครับ แจ้งต่อนายกฯบอกว่าเอ็มเจทีเอเป็นผู้ออกแบบระบบตรวจกระเป๋าครับ อันนี้ผมงงครับท่านประธาน
ไม่เรียกว่าบิดเบือนข้อเท็จจริงมั้งครับ อันนี้ให้ข้อมูลที่เป็นเท็จนะครับ เพราะว่าได้มีมติไปแล้วตั้งแต่เดือน ก.พ. บอกให้ยกเลิก ไม่ให้เอ็มเจทีเอเป็นผู้ออกแบบ แต่ไปรายงานในที่ประชุม กทภ. ว่าเอ็มเจทีเอเป็นผู้ออกแบบ ซึ่งต้องมีการลงทุนในวงเงิน 6,155 ล้านบาท เขียนอย่างนี้ ด้วยถ้อยคำอย่างนี้ เข้าใจเป็นอื่นไม่ได้เลยครับ นอกจากว่าเอ็มเจทีเอออกแบบมาแล้ว ต้องใช้เงิน 6,155 ล้านบาท งานปรับปรุงระบบขนส่งกระเป๋าสัมภาระให้เป็น Single System พร้อมทั้งปรับเปลี่ยนระบบตรวจสอบความปลอดภัยเป็น 100% วงเงิน 4,500 ล้านบาท เข้าใจเป็นอย่างอื่นได้มั้ยครับท่านประธาน ไม่ได้นะครับ จากนั้นที่ประชุมมีมติชัดเจนว่า เห็นชอบให้ บ.ท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ (บทม.) ดำเนินการปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกให้อาคารผู้โดยสารเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการผู้โดยสารในระดับ 45 ล้านคนต่อปี ทั้งหมดนี้ในวงเงิน 6,155 ล้านบาท ระบบการตรวจสอบกระเป๋าและสัมภาระของผู้โดยสาร 4,500 ล้านบาท
ในการประชุมครั้งนั้น ที่ผมแปลกใจในการประชุม กทภ. ไม่เคยให้ข้อมูลว่าเอ็มเจทีเอได้เคยตั้งงบประมาณไว้แล้ว 1,530 ล้านบาท ทำทุกอย่าง แต่กลับให้ข้อมูลที่ทำให้เข้าใจว่า เอ็มเจทีเอเป็นผู้ออกแบบ และใช้เงินถึง 6,155 ล้านบาท และ 4,500 ล้านบาทในส่วนของเครื่องตรวจวัตถุระเบิดกระเป๋าและสัมภาระครับ โครงการนี้ก็น่าแปลกใจอีกเหมือนกันว่ามีที่ปรึกษาที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบเยอะมาก ทุกรายอ้างมาตรฐานความปลอดภัย TSA หมดเลยครับ และทุกรายก็เป็นที่ปรึกษาอเมริกันทั้งหมดเลยครับ ที่ผ่านมามีบริษัท เอเอสไอ มีเอ็มเจทีเอ มีเคสอิงค์ มีควอเตอร์เทค ผมก็สงสัยว่าทำไม 3 — 4 บริษัทนี้ให้คำตอบไม่ตรงกัน เหมือนอย่างกรณีในประเทศใดก็แล้วแต่ เราไปจ้างที่ปรึกษาออกแบบตามมาตรฐานใดมาตรฐานหนึ่ง คำตอบมันน่าจะใกล้เคียงกัน ถูกมั้ยครับ ไม่น่าที่จะต่างกันฟ้ากับดิน
ผมเพิ่มประเด็นไปอีกว่าจริงไม่ควรมีค่าใช้จ่ายตรงนี้ ไม่ควรมีด้วยซ้ำ ก็เท่ากับ 190 กว่าล้านบวกไป 2 ทอดแต่ไม่ต้องจ่ายจริง หนักขื้นไปอีกนะครับ เพราะถ้าทำเช่นนี้ผมคิดว่า ไม่เรียกว่าบกพร่องโดยสุจริต แต่เป็นการทุจริตโดยซึ่งหน้า มากกว่า หน่วยงานด้านความปลอดภัยของสหรัฐ พึ่งจะเซ็นสัญญาในการให้งานบำรุงรักษาต่อบริษัทอินวิชั่นของเครื่องที่มีอยู่ในสหรัฐฯ ท่านประธานทราบหรือไม่ว่าเครื่องหนึ่งเท่าไหร่ บำรุงรักษาทำทุกอย่างไม่ต้องซื้ออะไหล่ แล้วก็ใน 24 ชั่วโมง เวลาไหนเสียต้องวิ่งมาซ้อม ให้เสร็จโดยเร็ว ค่าใช้จ่ายทั้งหมดตัวละ 1,200,000บาท ต่อปีอยู่ในเว็บไซต์ไปเปิดดูได้ ถ้า 26 เครื่องก็ 30 กว่าล้านบาท แต่นี่เซ็น 2 ปี 90 กว่าล้านบาท เพียงขึ้นมา 3 เท่ากว่าอันนี้ถือไม่ปกติมาก
ประเด็นที่ 4 ของความผิดปกติของสัญญาผมอ่านดูแล้วผมพบว่าสัญญามีความบกพร่องมีความลักลั่น มีการจ่ายเงินเกินสัญญา ตรงนี้ผมอยากแสดงให้ท่านประธานเห็นครับว่าในสัญญาที่ระบุไว้ ระหว่างบทม.กับไอทีโอ เขียนชัดเจนในด้านต้นของสัญญา ซึ่งรวมอยู่ในเอกสารแนบหนึ่งซึ่งผมได้ทำแผนภาพมาตรงนี้นะครับ เงื่อนไขการจ่ายเงินล่วงหน้ากำหนดให้จ่ายเพียง 10 %ของยอดสัญญา ระบุชัดเจนว่าจากยอดวงเงินเท่าไหร่ แบ่งเป็นเงินบาทเท่าไหร่ แต่ทั้งหมดนี้คือการจ่ายเงินล่วงหน้า 10 % ของมูลค่าสัญญากลับไปดูต่อไปอีกมีตารางจ่ายเงินรายเดือน ในเอกสารแนบ ตารางการจ่ายเงินรายเดือน ตั้งแต่เดือนกันยายน 2546 จนถึงมีนาคม 2547 ผมก็แปลกใจว่าวันเซ็นสัญญาคือเดือนมีนาคม 2547 ทำไมจึงมีการจ่ายเงินล่วงหน้าได้ และรวมแล้วในวันเซ็นสัญญา เบิกจ่ายทั้งหมดได้ถึง 25 % อันนี้เป็นเรื่องที่น่าแปลกเป็นที่น่าแปลกใจในการเบิกจ่ายล่วงหน้าก่อนวันเซ็นสัญญา 6% ได้ ถึงวันเซ็นสัญญารวมแล้วเบิกจ่ายถือเป็นเงินล่วงหน้า 25 % ซึ่งเป็นเงินรวม 1000 กว่าล้าน ซึ่งจริงควรเบิกได้ไม่เกิน 400 ล้าน สำหรับกรณีเครื่องตรวจวัตถุระเบิดและสายพานรวมกัน ทำไปทำมาทำให้เบิกได้ 1000 กว่าล้าน เรื่องนี้ทำกันวีธีไหน ผมว่าความผิดปกติอยู่ที่ไหนครับ อยู่ตรงนี้ครับ คืออยู่ที่สร้างความสับสน ข้างหน้าเขียนอย่างหนึ่ง ข้างหลังเขียนอย่างหนึ่ง ในวันที่ตั้งเบิกมาก็เอาเงื่อนไขที่มันเอื้อประโยชน์ใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณา ทำได้ และผมเคยเห็นสัญญาในลักษณะนี้มาแล้ว ในบางประเทศ ในบางกรณี เมื่อ 20 ปีก่อน ขอท่านรัฐมนตรีอย่ามาชี้แจงว่าวันที่จ่ายจริง เพราะวันที่จ่ายจริงคือเดือนกันยายน ผมทราบอยู่แล้ว ผมทราบอยู่แล้วว่าวันจ่ายจริงคือวันไหน
แต่ประเด็นที่สำคัญของเรื่องนี้ก็คือว่าถ้าให้เปิดตั้งเบิกมาได้มากกว่าและเร็วกว่า ที่ควรจะเป็นก็ย่อมทำให้ผู้รับจ้างสามารถได้รับเงินมากกว่าและเร็วกว่าที่ควรจะเป็นเช่นกัน เพราะฉะนั้นคงไม่เกี่ยวกับว่าวันที่จ่ายเงินจริง เป็นวันไหน แต่กระบวนการของสัญญามีความผิดปกติ และมีความไม่ชอบมาพากล และไม่มีความสอดคล้องกัน ในส่วนหน้าและส่วนหลังของสัญญา ตรงนี้ผมถือว่าเป็นความผิดปกติอย่างยิ่ง นอกจากนั้น ยังมีการจ่ายเงินเกินงวด35 และงวด36 ในความเห็นของผมงวด 34 ก็เกิน ทั้งหมด ตั้งแต่34-36 ผมเห็นว่าเป็นการชำระเงินเกินกว่าควรชำระ 27 % ถือเป็นเงินกว่า 1200ล้านบาท เพราะว่าจากจดหมายของบริษัทอินวิชั่น มายังคุณวรพจน์ ได้มีการยืนยันชัดเจนว่าได้ให้ข้อมูลตั้งแต่เดือนสิงหาคม2547 ว่าศาลมีคำสั่งไม่ให้อินวิชั่นขายผ่านแพทธิออท แต่ยังมีการจ่ายเงินกันอย่างเร่งรีบ เช่นนี้ความว่าอย่างไรครับ ปล่อยให้มีการจ่ายไป ปล่อยให้มีการตรวจที่โรงงานผลิตในวันที่ 16 พ.ย.47 เอาละครับผมยกประโยชน์ให้ว่าสมมติคุณวรพจน์ ไม่ได้แจ้งให้รัฐมนตรีทราบ ไม่ได้แจ้งให้บทม.ทราบ สมมติเป็นเช่นนั้น ซึ่งผมก็ไม่เชื่อนะครับแต่ถึงเป็นเช่นนั้นรัฐบาลไทยรู้เรื่องนี้ตั้งแต่ต้นเดือนพ.ย. 47 แน่นอนแล้ว เรื่องนี้ทางสถานฑูตก็ยืนยันกับผมว่าได้มีเอกสารทางการทูตส่งเข้ามา ยังรัฐบาลไทย แจ้งปัญหาเรื่องนี้ ให้ทราบตั้งต้นเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา
สำหรับงวดที่ 35 กับ36 ที่มีการใช้คำว่าเฟิชชิบเม้น แลพเซ็นเตอร์ชิบเม้น แล้วบริษัทที่ปรึกษามาพยายามตีความว่าคำว่าชิบเม้นคือพร้อมที่จะส่งของ ผมต้องบอกวิศวกรเหล่านั้นหรือคนที่เกี่ยวข้องเหล่านั้นกลับไปเรียนเรื่องการค้าระหว่างประเทศใหม่ ข้อบัญญัติ ข้อกำหนดทางการค้าระหว่างประเทศระบุชัดเจนว่า คำว่าชิบเม้น หมายถึงวันที่ของพร้อมที่จะส่งและได้มีการจอง ไม่ว่าเป็นเครื่องบิน หรือเรือ พร้อมที่จะส่ง ซึ่งก่อนที่จะไปตั้งเบิกตั้งมีเอกสารอะไรครับ ถ้าส่งทางเครื่องบิน เขาเรียกว่าต้องมีแอร์วิลเบอร์เมมเบอร์ คือมีการจองเครื่องบินไว้แล้ว ถ้าจะส่งทางเรือก็ต้องมีบิลออฟแลนนิ่ง หรือใบขนส่ง ไม่เช่นนั้นจ่ายเงินไม่ได้ครับ จ่ายเงินผิดครับ คำอ้างอย่างนั้นรับไม่ได้จริงๆ
ในกรณีที่ผมได้อภิปรายไปแล้วว่าน่าจะรู้ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2547 จากคุณวรพจน์เองเพราะบริษัทอินวิชั่นยืนยันว่าได้แจ้งมาแล้ว ตั้งแต่เดือน ส.ค. ตอนนี้รู้ครับ แล้วทำไมไม่เรียกคุณวรพจน์มาสอบสวน ปิดบังข้อเท็จจริงทำให้ต้องจ่ายเงินเพิ่มกว่าที่ควรเป็น จ่ายเงินเกินสัญญากว่าที่ควรจะเป็น ทำไมไม่ดำเนินการอะไรเลย
ประการที่ 5 ในแง่ของความไม่ชอบมาพากลของสัญญา จากการตรวจสอบสัญญาผมเชื่อว่ามีการล็อคสเปกอย่างเป็นกระบวนการ ปกติแล้วก่อนที่จะมีการจัดซื้อจัดจ้าง ต้องรู้ว่าซื้ออะไร ราคาเท่าไหร่ งานนี้จ้างก่อนออกแบบทีหลัง ด้วยงบประมาณที่ไม่มีคำอธิบายใดๆที่จะมาอธิบายได้ และมีการให้ข้อมูลที่บิดเบือนต่อคณะกรรมการ ที่อนุมัติงบ 4500ล้าน กรณีนี้ครับมีเค้ททิ้งเป็นผู้ออกแบบ แต่ผู้ออกแบบคนนี้ทำงานอยู่ภายใต้สัญญาจ้างของไอทีโอ ซึ่งเป็นผู้รับเหมาหลัก
ผมก็ต้องตั้งคำถามว่าในวันที่เขาเริ่มงานท่านประธานคงทราบว่า 4500ล้านมาการอนุมัติตั้งแต่วันไหน เดือนไหน ในวันที่เริ่มงานเขารู้อยู่แล้วว่าคำตอบสุดท้ายคือ4500 ล้าน หรือท่านประธานจะจ้างสถาปนิกออกแบบ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่แปลกมาก ว่างบเป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่าจะใช้ 4500 ล้าน ก็ยังออกแบบไม่เสร็จเพราะฉะนั้นมีผุ้ออกแบบรายใดครับที่จออกแบบแล้วไม่ให้คำตอบ 4500ล้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ออกแบบรายนี้ เป็นผู้ทำงานไอทีโอซึ่งเป็นผู้รับเหมาจะให้คำตอบเป็นทางอื่นไม่ได้ หรือจะอ้างว่ามีบริษัทที่ปรึกษาอิสระมาเป็นผู้ตรวจสอบความถูกต้องและรับรองความถูกต้องของแบบ อันนี้ก็ฟังไม่ขึ้นนะครับ
ประเด็นที่ผมอย่างตั้งข้อสังเกตก็คือว่าในสัญญาของพอทโทลเททเอง ถึงแม้จะเซ็นสัญญาโดยตรงกับ บทม.มีเงื่อนไขที่แปลกๆอยู่ 2 หน้า เงื่อนไขหนึ่งคือข้อ 1.9 หน้า 12ของสัญญาระหว่างพอทโทลเททกับบทม.อีกเงื่อนไขหนึ่งอยู่ในเอกสารแนบ4 ข้อ 4.3.1 ระบุไว้ว่าให้พอทโทลเททรับเงินจากไอทีโอ ไม่ได้รับจากบทม.นะครับ แม้จะมีสัญญาโดยตรงจากบทม.ก็ตาม เวลาจะเบิกตั้งเบิกตั้งไปเบิกผ่านไอทีโอ แปลกมาก ตั้งข้อสังเกตได้ว่านี่คือวิธีการที่จะทำให้ไอทีโอ มีอิทธิพล และมีอำนาจต่อรองกับพอทโทลเททได้ ไม่บอกว่าถูกต้องก็ไม่ต้องรับเงินก็ทำได้
ไปดูประสบการณ์ของบุคคลากรของบริษัททั้ง 2 บริษัทก็ชัดเจนว่าร่วมมือ กันทำงานด้วยกันที่สนามบินซานฟาซิสโก อ้างมาโดยตลอดว่าไม่มีการล็อคสเปกในการซื้อซีทีเอ็กซ์ 9000 สัญญาทุกขั้นตอนระบุหมดเลยครับ ไม่ว่าสัญญาระหว่างบมท.กับไอทีโอ ระหว่างไอทีโอ กับแพทริออท ระบุชัดเจนว่าต้องเป็นเรื่องซีทีเอ็กซ์ ของอินวิชั่นเท่านั้นแล้วทำไม2-3 เดือนที่ผ่านมาบอกว่าไม่มีการล็อคสเปก ตรงนี้ผมก็ไม่เข้าใจ เอายี่ห้อ รุ่นอื่นไม่ได้เลย แพทธิออทเคยไปออกทีวีอ้างว่าจะซื้อยีห้ออื่นมาให้ได้ ถ้าอินวิชั้นไม่ส่งมาให้ ทำไม่ได้ ไปดูสัญญานะครับ จะเห็นว่าทุกขั้นตอนระบุว่าต้องเป็นซีทีเอ็กซ์ ของอินวิชั่นเท่านั้น
โดยสรุปในส่วนความไม่ชอบมาพากลของสัญญาที่ผมอภิปรายทั้งหมดเกิดความไม่ชอบมาพากลของสัญญาเห็นได้ชัดว่ากระบวนการจัดซื้อจัดจ้างด้านบริหารจัดการสัญญานั้นบกพร่องไม่โปร่งใสเริ่มต้นตั้งแต่การของบประมาณที่มีการให้ข้อมูลที่บิดเบือนข้อเท็จจริง การจัดซื้อจัดจ้างวิธีพิเศษไม่มีการแข่งขันเพื่อเป็นการล็อคสเป็ค โดยใช้ที่ปรึกษาต่างชาติ 2 บริษัทมาทำหน้าที่เป็นตรายางเพื่อให้คำตอบสุดท้ายเป็นซีทีเอ็กซ์เท่านั้นมีการทำสัญญาผ่านหลายบริษัททำให้มูลค่าสัญญาสูงขึ้น ตรวจสอบธุรกรรมทางการค้ายาก กำไรซ้ำซ้อน ภาษีซ้ำซ้อน ค่าดำเนินการซ้ำซ้อน สร้างส่วนต่างราคาในแต่ละทอดตรงกับที่อินวิชั่นรับสารภาพไว้กับกระทรวงยุติธรรมว่าจะใช้ส่วนต่างราคาไปจ่ายเงินสินบน การกำกับดูแลสัญญาเองก็มีข้อบกพร่องมีการจ่ายเงินเกินสัญญา และความบกพร่องทั้งหมดที่เกิดขึ้นในสัญญาเอื้อประโยชน์ต่อผู้รับจ้างทั้งสิ้น ไม่ได้เอื้อประโยชน์ต่อประชาชนที่เป็นเจ้าของเงิน ความบกพร่องของสัญญาทั้งหมดเอื้อประโยชน์ต่อผู้รับจ้างทั้งสิ้น และคนของบทม.เองจะยืนยันกับกรรมาธิการปปช.ว่ามีการตรวจสอบสัญญาโดยอัยการแล้ว ผมตรวจดูแล้วผมไม่ค่อยเชื่อ และก็จริงอย่างที่ผมไม่เชื่อ เพราะเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาหนังสือพิมพ์ทุกฉบับลงว่าอัยการได้ตรวจเพียงบางส่วนเท่านั้น และเคยตั้งข้อสังเกตไปแล้ว 6 ข้อ เป็นข้อท้วงติงที่สำคัญ 6 ข้อ แต่ทางบทม.กลับเพิกเผย ปรากฏเป็นข่าวไปแล้ว ผมไม่ต้องพูดซ้ำในรายละเอียด ก็เพราะไม่ใช่มีเหตุแบบนี้หรือที่ทำให้เกิดผลในสหรัฐอเมริกา ซึ่งทำให้ประเทศไทยขายหน้าต่อประชาคมโลก ที่ประชุมหอการค้า พอดีผมมีโอกาสเข้าร่วมประชุมในปีที่แล้วที่มาราเคท โมล็อคโค ที่ประชุมในกลางปีที่แล้วทุกประเทศแสดงความเป็นห่วงในเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยว่าสหรัฐจะพยายามโน้มน้าวให้ทุกประเทศยอมรับมาตรฐานความปลอดภัยของสหรัฐเพื่อประโยชน์ทางการค้าทุกประเทศพูดเป็นเสียงเดียวกัน กลุ่มยุโรปพูดอย่างนั้น กลุ่มอาเซียนก็พูดอย่างนั้น แล้วทุกฝ่ายกำลังทำอะไร พยายามจะผลักดันให้มีมาตรฐานทางการเมืองเกิดขึ้น ไม่ใช่ให้เป็นเพียงมาตรฐานของสหรัฐเท่านั้นในโลกนี้
แต่การตัดสินใจที่ทำตามสหรัฐผมไม่แย้งกว่าอาจจะเป็นการตัดสินใจเลือกมาตรฐานที่ดีก็ได้ อย่างที่ผมสงสัยก็คือว่าที่ทำตามสหรัฐนั้นเป็นเพราะระบบมันดี หรือเป็นเพราะทำตามแล้วมันมีการเอื้อประโยชน์กันแน่ สหรัฐต้องมีระบบที่เข้มแข็งที่สุด เพราะเขาเป็นเป้าของการก่อการร้าย ท่านประธานก็ทราบดีว่าสหรัฐมีการทำสงครามกับอีรัก มีการทำสงครามในอัฟกานิสถาน มีหลายกรณีที่ทำให้สหรัฐต้องแตกต่างจากประเทศอื่น ของประเทศไทยไม่ใช่ เราเป็นประเทศที่เป็นกลางและเป็นมิตรกับทุกประเทศ ประเทศไทยไม่เคยประกาศสงคราม แต่ประเทศไทยเคยประกาศสงครามเหมือนกันรัฐบาลเคยประกาศสงครามกับคอรัปชั่นทำไปทำมาสุวรรณภูมิเป็นฮับของคอรัปชั่นไปแล้วท่านประธานคนไทยทั้งประเทศเสียค่าโง่สัญญาซีทีเอ็กซ์จากความบกพร่องของรัฐมนตรีทำให้ซื้อของในราคาที่สูงหลายเท่า ส่วนต่างของราคาอยู่ในมือใครเป็นของรัฐบาลที่ต้องสอบสวนเอาคนผิดมาลงโทษให้ได้ อย่าให้เป็นมวยล้มต้มคนดูนะครับท่านประธาน
สัญญาที่ซับซ้อนขนาดนี้ผมต้องตั้งคำถาม ผู้รู้กฎหมายบอกผมว่าอาจจะเข้าข่ายนิติกรรมอำพรางด้วยซ้ำไป บกพร่องครั้งเดียวผมถือว่าประมาทเลินเล่อ บกพร่องสองครั้งผมถือว่าผิดซ้ำซาก บกพร่องที่ 5 เรื่องสำคัญ 5 ครั้ง ผมถือว่าเป็นการบกพร่องที่ไม่สุจริตครับประธาน ท่านรัฐมนตรีปล่อยให้มีกระบวนการเช่นนี้เกิดขึ้นในหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของท่านได้อย่างไร โดยภาพรวมทั้งหมดท่านประธานครับที่ผมอภิปรายทั้งหมดแสดงให้เห็นถึงการทุจริตอย่างเป็นกระบวนการ ทั้งที่ในระบุไว้ในสัญญารับสารภาพเพื่อขอลดโทษระหว่างอินวิชั่นกับกระทรวงยุติธรรมสหรัฐและในส่วนความผิดปกติของสัญญาและธุรกรรมการค้าในไทยในทุกขั้นตอนที่เอื้อต่อการทุจริตข้อมูลจากทั้งสองด้านครับท่านประธานตอกย้ำตรงกันชัดเจนว่ามีพฤติกรรมทุจริตเกิดขึ้นอย่างแน่นอน
ท่านนายกฯเคยพูดไว้ในปี 2544 ไม่ต้องมีใบเสร็จ พอดีท่านนายกไม่ได้นั่งอยู่ในที่ประชุมแห่งนี้ ท่านนายกคงจำไม่ได้ว่าใครเป็นคนตั้งคำถามท่านนายกที่ทำให้ท่านนายกต้องตอบว่าไม่ต้องมีใบเสร็จท่านก็ดำเนินการที่จริงแล้วในวันนั้นท่านพูดที่หอประชุมสหประชาชาติ เอสแคป ผมเป็นคนตั้งคำถามเองครับ ตอนนั้นผมไม่ได้เป็น ส.ส. ผมตั้งคำถามในฐานะที่ผมเป็นประชาชน ท่านนายกพูดเองตอบผมเองครับว่าไม่ต้องมีใบเสร็จก็จะดำเนินการ ตอนนี้ผมทวงถามอย่างนี้ไม่เรียกว่าใบเสร็จแล้วจะเรียกว่าอะไร ที่ผ่านมาอ้างว่าซื้อเครื่องที่ทันสมัยด้วยวิธีการที่หลีกเลียงไม่ได้ แต่ผมว่าวิธีการนี้เป็นวิธีการที่ทุจริตแบบย้อนยุคมากกว่า เกิดความเสียหายรุนแรงต่อภาพพจน์ประเทศไทย ตลอดเวลาที่ผ่านมารัฐมนตรีทำอะไรบ้าง ท่านใช้มาตรการวิถีทางที่ผิด ๆ ส่งที่ปรึกษาไปคุยกับเจ้าหน้าที่สถานฑูตขอให้เขาไปกดดันให้เขายืนยันว่าไม่มีการจ่ายสินบนต่อเจ้าหน้าที่
เรื่องนี้ผมคิดว่าวิธีการเช่นนี้ยิ่งทำให้เสียภาพพจน์ของประเทศไทยมากยิ่งขึ้น ทำไมถึงพูดเช่นนั้นครับท่านประธาน กฎหมายไทยเองไม่ว่าจะเป็นพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 เป็นกฎหมายสั้น ๆ 11 มาตรา หลายคนยังไม่ทราบว่ามีกฎหมายฉบับนี้อยู่แต่กฎหมายนี้ยังมีผลบังคับใช้ หรือไม่ว่าจะเป็นประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.2499 มาตรา 147 ถึงมาตรา 153 ต่างระบุชัดเจนว่าหากเจ้าพนักงานเรียกรับหรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดในตำแหน่งไม่ว่าการกระทำหรือไม่กระทำจะชอบหรือไม่ชอบด้วยหน้าที่นั้นต้องระวางโทษสูงสุดโดยการจำคุกถึง 20 ปี ในพรบ.ความผิดของพนักงานในองค์กรพูดไปถึงว่าหรือตลอดชีวิต หรือประหารชีวิตด้วยกฎหมายไม่มีฉบับใดเลยในประเทศไทยที่บอกว่าจะต้องมีการรับเงินเกิดขึ้นถึงจะผิด ไม่มีแม้แต่ฉบับเดียวครับท่านประธาน และทำไมคนในรัฐบาลออกมาอ้างในหลายครั้งหลายหนว่าไม่มีคนรับเงิน ไม่พบว่ามีคนรับเงิน พูดอย่างนั้นไม่เข้าใจกฎหมายหรือแกล้งไม่เข้าใจกฎหมายกันแน่ผมไม่เข้าใจ
(ยังมีต่อ)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ