(ต่อ1) สถานการณ์พลังงาน การดำเนินงาน และแผนงานในปี 2544

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 20, 2000 09:35 —สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน

 ส่วนที่ 2 การดำเนินงานด้านพลังงานในปี 2543  
สภาพเศรษฐกิจของประเทศเริ่มฟื้นตัวตั้งแต่ไตรมาสที่สองของปี 2542 การขยายตัวของเศรษฐกิจกระจายตัวไปเกือบทุกสาขาโดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม ส่งผลให้ความต้องการพลังงานเชิงพาณิชย์ของประเทศเริ่มปรับตัวสูงขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากการลดปริมาณการผลิตน้ำมัน ของกลุ่มโอเปค และประเทศผู้ส่งออกน้ำมันนอกกลุ่มโอเปค ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2542 เป็นต้นมา ทำให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่จำหน่ายในประเทศไทย มีราคาเพิ่มสูงขึ้นมาโดยตลอด ประกอบกับค่าเงินบาทของไทยได้อ่อนตัวลง และได้ส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจบางสาขา รัฐบาลจึงต้องออกมาตรการเพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยมีมาตรการ ลดราคาน้ำมันให้แก่สาขาเกษตร ประมง และขนส่ง และเน้นมาตรการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อให้ประชาชนมีการใช้พลังงานอย่างประหยัด และมีประสิทธิภาพ รวมทั้ง การส่งเสริมให้มีการใช้ก๊าซธรรมชาติ เพื่อทดแทนน้ำมันให้มากขึ้นในภาคอุตสาหกรรม ภาคการผลิตไฟฟ้า และภาคขนส่ง
ด้านการจัดหาพลังงาน รัฐบาลได้มีการส่งเสริมความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยการรับซื้อไฟฟ้าจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และสาธารณรัฐประชาชนจีน รวมทั้ง การให้ความช่วยเหลือทางวิชาการแก่กัมพูชา และความร่วมมือในการวางแผน และก่อสร้างระบบสายส่งเชื่อมโยงระหว่างไทย | กัมพูชา เพื่อเป็นการกระจายแหล่งพลังงาน และเสริมความมั่นคงในการจัดหาพลังงานของประเทศ นอกจากนี้ ได้มีการกำหนด และบังคับใช้มาตรฐานคุณภาพบริการของกิจการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย เพื่อให้การปฏิบัติงานของการไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคคำนึงถึงคุณภาพในการให้บริการแก่ผู้ใช้ไฟฟ้า โดยเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนเมษายน 2543 เป็นต้นมา ซึ่งผู้ใช้ไฟฟ้าจะได้รับการชดเชยเป็นส่วนลดค่าไฟฟ้า หากการให้บริการไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ที่กำหนด
ในส่วนของการดำเนินการอนุรักษ์พลังงานตามแผนอนุรักษ์พลังงาน ในปีงบประมาณ 2543 เป็นปีแรกของการก้าวเข้าสู่แผนอนุรักษ์พลังงาน ระยะที่ 2 ซึ่งมีเป้าหมายสนับสนุนการอนุรักษ์พลังงานในขอบเขตที่ กว้างขวางขึ้น โดยมีการสนับสนุนให้มีการใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้ามากขึ้น สนับสนุนการอนุรักษ์พลังงานในโรงงานขนาดกลางและขนาดเล็ก สนับสนุนการอนุรักษ์พลังงานในสาขาขนส่ง และสนับสนุนการนำวัสดุเหลือใช้มาเป็นวัตถุดิบในการผลิต
สำหรับการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการพลังงาน มีความก้าวหน้า ในการดำเนินการยกเลิกการควบคุมราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลวมาเป็นลำดับ โดยเฉพาะในส่วนของการปรับปรุงระบบการค้าและมาตรฐานความปลอดภัยให้มีความพร้อมก่อนที่จะนำไปสู่การยกเลิกการควบคุมราคา นอกจากนี้ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจด้านพลังงานสาขาไฟฟ้า ก็มีความก้าวหน้ามาเป็นลำดับโดยได้มีการขายหุ้นของบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ให้กับประชาชนทั่วไปและนักลงทุน ตามแผนระดมทุนจากภาคเอกชนในโครงการโรงไฟฟ้าราชบุรี ในส่วนของการยกร่างกฎหมายเพื่อจัดตั้งองค์กรกำกับดูแลอิสระสาขาพลังงาน ก็ได้มีการยกร่างพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. . . . ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้วเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2543 เพื่อนำไปสู่ขั้นตอนการพิจารณาตรวจร่าง ของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาต่อไป
ในปี 2543 คาดว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจ จะเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 5.0 และปริมาณการใช้ไฟฟ้า มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยในช่วง 8 เดือนของปี 2543 มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8 เมื่อเทียบกับ ช่วงเดียวกันของปีก่อน จึงคาดว่าปริมาณความต้องการพลังงานในภาพรวมของประเทศ ก็จะมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นด้วย ดังนั้น การวางแผนพัฒนาพลังงานของประเทศ ต้องสามารถรองรับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และความต้องการพลังงาน ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องไปจนถึงปี 2544 อย่างไรก็ตาม มาตรการอนุรักษ์พลังงาน ยังเป็นมาตรการที่มีความสำคัญ ที่จะต้องดำเนินการให้เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น เพื่อลดการพึ่งพาพลังงานจากต่างประเทศ โดยเฉพาะในภาวะที่ราคาน้ำมัน ยังมีความผันผวนและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอยู่ในขณะนี้
สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) ในฐานะที่เป็นสำนักเลขานุการของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ทำหน้าที่เสนอแนะนโยบายและมาตรการทางด้านพลังงานของประเทศต่อคณะรัฐมนตรี ตลอดจนติดตามดูแล ประสาน สนับสนุน และเร่งรัดการดำเนินงานของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน เพื่อให้การดำเนินนโยบาย และมาตรการด้านพลังงานของประเทศมีความก้าวหน้า โดยในช่วงปี 2543 ได้มีการดำเนินการด้านต่างๆ ที่สำคัญ ดังนี้
1. การจัดหาพลังงาน
1.1 รัฐบาลไทยได้ตกลงรับซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาว ในจำนวน 3,000 เมกะวัตต์ โดยขณะนี้มี โครงการที่จ่ายกระแสไฟฟ้าเข้าระบบ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แล้ว 2 โครงการ คือ โครงการน้ำเทิน-หินบุน และโครงการห้วยเฮาะ ส่วนโครงการที่ยังไม่มีการลงนาม ในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า มีจำนวน 6 โครงการ จะแบ่งการส่งมอบไฟฟ้าออกเป็น 2 ระยะ คือ โครงการน้ำเทิน 2 โครงการน้ำงึม 2 และโครงการน้ำงึม 3 จะส่งมอบไฟฟ้าในเดือนธันวาคม 2549 สำหรับอีก 3 โครงการ ได้แก่ โครงการลิกไนต์หงสา โครงการเซเปียน - เซน้ำน้อย และโครงการเซคามาน จะส่งมอบไฟฟ้าในเดือนมีนาคม 2551 โดยในส่วนความคืบหน้าของโครงการน้ำเทิน 2 มีกำลังการผลิต 920.4 เมกะวัตต์ ได้มีการตกลงราคาค่าไฟฟ้าแล้วอยู่ที่ระดับ 4.219 เซ็นต์สหรัฐ/กิโลวัตต์ชั่วโมง ตลอดอายุโครงการ (อัตราแลกเปลี่ยน 38 บาทต่อ 1 ดอลล่าร์สหรัฐ) โดย กฟผ. และกลุ่มผู้ลงทุนโครงการน้ำเทิน 2 ได้มีการร่วมลงนามใน MOU เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2543 และทั้งสองฝ่ายได้กำหนดจะร่วมลงนาม ในร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ภายในวันที่ 1 ธันวาคม 2543 เพื่อให้การพัฒนาโครงการสามารถดำเนินการแล้วเสร็จ ตามกำหนดรับซื้อไฟฟ้าในเดือนธันวาคม 2549
1.2 รัฐบาลไทยและรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจเรื่องการ รับซื้อไฟฟ้าจากสาธารณรัฐประชาชนจีน จำนวน 3,000 เมกะวัตต์ โดยมีโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำยูนนานจิงหง ขนาดกำลังผลิต 1,500 เมกะวัตต์ จะส่งมอบไฟฟ้าเข้าระบบของ กฟผ. ในปี 2556 และจากโครงการในมณฑลยูนนานอีก 1 โครงการ จำนวน 1,500 เมกะวัตต์ จะส่งมอบในปี 2557 ทั้งนี้ ได้มีการกำหนดแผนงานเบื้องต้น เพื่อจัดเตรียมการก่อสร้างโรงไฟฟ้ายูนนานจิงหงในปี 2546 | 2547 และจะเริ่มงานก่อสร้างโรงไฟฟ้าฯ อย่างเป็นทางการในปี 2549 นอกจากนั้น ทั้งสองฝ่ายได้รับทราบเงื่อนไขภายในปี 2546 ประเทศไทยจะนำระบบการซื้อขายไฟฟ้าแบบ Power Pool มาใช้ และทั้งสองฝ่ายได้เห็นชอบให้โรงไฟฟ้าพลังน้ำยูนนานจิงหง เข้าร่วมการ ซื้อขายไฟฟ้าในตลาด Power Pool ของไทย โดยต้องอยู่บนหลักการของการแข่งขันด้านการซื้อขายไฟฟ้าอย่างยุติธรรม ทั้งนี้ฝ่ายไทยได้เสนอทางเลือกแรก ให้โรงไฟฟ้าพลังน้ำยูนนานจิงหง ส่งไฟฟ้าเข้าไปซื้อขายในตลาด Power Pool ของไทยโดยตรง หรือทางเลือกที่สองให้ซื้อขายไฟฟ้าผ่านบริษัทผู้ค้าไฟฟ้า (Energy Trader Company)
1.3 รัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชาได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจเรื่อง โครงการความร่วมมือด้าน พลังงานไฟฟ้ากับรัฐบาลกัมพูชาเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2543 โดยทั้งสองฝ่ายจะสนับสนุนให้มีการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างทั้งสองประเทศ โดยฝ่ายไทยตกลงที่จะให้ความช่วยเหลือในด้านวิชาการ และการฝึกอบรมในสาขาไฟฟ้าให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของรัฐบาลกัมพูชา และให้มีการจัดตั้งตลาดกลางซื้อขายไฟฟ้าแบบ Power Pool ขึ้นในแต่ละประเทศ ตลอดจนร่วมมือกันในการวางแผน และก่อสร้างระบบสายส่งเชื่อมโยงระหว่างทั้งสองประเทศ รวมทั้ง กำหนดนโยบายเปิดให้เข้าถึงเครือข่าย ของระบบสายส่งเพื่อการซื้อขายกับประเทศอื่นๆ ในอนาคต
1.4 รัฐบาลไทยและรัฐบาลสหภาพพม่าได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจเรื่อง การรับซื้อไฟฟ้าจาก สหภาพพม่าในปริมาณ 1,500 เมกะวัตต์ ภายในปี 2553 เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2540 ซึ่งโครงการผลิตไฟฟ้าที่สหภาพพม่า จะพัฒนาเพื่อเสนอขายให้ไทยมี 4 โครงการ คือ โครงการน้ำกก โครงการฮัจยี โครงการท่าซาง และโครงการคานบวก แต่ปัจจุบันสหภาพพม่า กำลังประสบปัญหาการขาดแคลนไฟฟ้าอย่างมาก และได้เสนอขอซื้อไฟฟ้าจากประเทศไทยในปริมาณ 100 | 150 เมกะวัตต์ ซึ่งคาดว่าประเทศไทยจะส่งไฟฟ้าขายให้สหภาพพม่าได้ประมาณปี 2544 | 2545
1.5 สพช. ได้ดำเนินการจัดทำแผนเตรียมพร้อมเพื่อรองรับสถานการณ์ในตะวันออกกลาง ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้วเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2543 ซึ่งประกอบด้วยมาตรการโดยสรุปดังนี้
มาตรการบรรเทาผลกระทบจากปัญหาราคาน้ำมันแพง ตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติในการประชุมเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2542, วันที่ 13 มีนาคม 2543, วันที่ 16 สิงหาคม 2543 และวันที่ 31 สิงหาคม 2543 กำหนดมาตรการบรรเทาผลกระทบ จากปัญหาน้ำมันราคาแพง ประกอบด้วย (ก) การดำเนินการอนุรักษ์พลังงาน และการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ (ข) การปรับเปลี่ยนการใช้พลังงาน เพื่อลดการใช้น้ำมัน (ค) การดำเนินมาตรการลดราคาน้ำมัน เป็นรายสาขา
มาตรการและแนวทางแก้ไขปัญหาภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง ในกรณีที่สถานการณ์ในตะวันออกกลางได้ลุกลาม และส่งผลกระทบต่อปัญหาการจัดหาน้ำมันของไทย โดยไม่สามารถจัดหาน้ำมันจากต่างประเทศ หรือนำเข้าได้น้อยกว่าปริมาณความต้องการใช้จริง ก่อให้เกิดการขาดแคลนขึ้นในประเทศ ให้นำมาตรการและแนวทางการแก้ไขปัญหาภาวะ การขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง ออกมาปฏิบัติตามภาวะการณ์ที่เหมาะสม โดยนายกรัฐมนตรีมีอำนาจตามพระราชกำหนดแก้ไข และป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2516 ออกเป็นคำสั่งนายกรัฐมนตรี เพื่อกำหนดมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง มาตรการรองรับประกอบด้วย (ก) มาตรการด้านการจัดหาน้ำมัน การป้องกันการกักตุน การควบคุมการจำหน่าย และการปันส่วนน้ำมัน (ข) การเปลี่ยนแปลงไปใช้เชื้อเพลิงอื่น ที่ผลิตในประเทศ การประหยัดพลังงานและการจัดการด้านการใช้น้ำมัน และ (ค) มาตรการด้านราคาน้ำมันเชื้อเพลิง โดย สพช. จะทำหน้าที่ติดตามสถานการณ์ในตะวันออกกลาง และสถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงอย่างใกล้ชิด โดยจะประเมินสถานการณ์ และรายงานให้คณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงาน และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ทราบเป็นระยะๆ หาก สถานการณ์ในตะวันออกกลางลุกลาม และมีผลกระทบต่อการจัดหาน้ำมันของประเทศ นอกจากนี้ จะหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงกลาโหม กระทรวง อุตสาหกรรม กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพาณิชย์ และผู้ค้าน้ำมัน เพื่อกำหนดมาตรการปฏิบัติในการแก้ไขปัญหาภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ และเสนอผ่านประธานคณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงาน เพื่อให้นายกรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบออกเป็นคำสั่งนายก รัฐมนตรีต่อไป
1.6 การไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง ได้ปรับปรุงแผนการลงทุน เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่ ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจถดถอยของประเทศดังนี้
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ปรับปรุงแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า PDP 99-01 ฉบับปรับปรุงใหม่เป็น 99-02 เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในช่วงปี 2542 คือโครงการ โรงไฟฟ้าหลายโครงการได้ถูกชะลอออกไป การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) ได้จัดทำแผนการจัดหาก๊าซธรรมชาติชุดใหม่ รวมทั้ง การเลื่อนกำหนดจ่ายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าเอกชนออกไปจากแผนฯ เดิม ดังนั้น แผนฯ PDP 99-02 จึงมีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองในช่วงปี 2543-2554 ต่ำกว่าแผนฯ เดิม
การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ได้มีการปรับลดการลงทุนในแผนปรับปรุงและขยายระบบจำหน่ายพลังไฟฟ้า ฉบับที่ 8 ปีงบประมาณ 2539 | 2544 จากเดิม 57,099 ล้านบาท คงเหลือ 39,077 ล้านบาท
การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ได้มีการปรับลดการลงทุนในแผนงานและโครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8 จากเดิมมีการลงทุน 80,070 ล้านบาท คงเหลือ 48,281 ล้านบาท
1.7 ได้มีการกำหนดมาตรฐานคุณภาพบริการของ กฟน. และ กฟภ. โดย กฟน. และ กฟภ. ได้ดำเนินการออกประกาศ เรื่อง มาตรฐานคุณภาพบริการ พ.ศ. 2543 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2543 เป็นต้นมา ซึ่งประกอบด้วย มาตรฐานทางด้านเทคนิค (Technical Standards) และมาตรฐานการให้บริการ (Customer Service Standards) ซึ่งมาตรการในส่วนหลังนี้มีบทลงโทษให้การไฟฟ้าต้องจ่ายค่าปรับให้ ผู้ใช้ไฟในกรณีที่ไม่สามารถปฏิบัติตามมาตรฐานที่กำหนด โดยค่าปรับจะอยู่ระหว่าง 50 | 2,000 บาท
2. การส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและประหยัด2.1 สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) และกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน (พพ.) ได้มีการดำเนินการอนุรักษ์พลังงานตามพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 ภายใต้แผนอนุรักษ์พลังงาน ระยะที่ 1 ปีงบประมาณ 2538-2542 และได้ทำการประเมินศักยภาพการอนุรักษ์พลังงานในช่วงที่ผ่านมา คาดว่าจะก่อให้เกิดการอนุรักษ์พลังงานและสามารถทดแทนพลังงานสิ้นเปลืองได้คิดเป็นเงินประมาณ 525 ล้านบาท/ปี และสามารถชะลอการลงทุนในการสร้างโรงไฟฟ้าได้คิดเป็นมูลค่า 2,115 ล้านบาท และต่อมา สพช. ได้จัดทำแผนอนุรักษ์พลังงาน ระยะที่ 2 ปีงบประมาณ 2543-2547 เพื่อกำหนด แนวทางการดำเนินงานอนุรักษ์พลังงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งแผนอนุรักษ์พลังงาน ระยะที่ 2 นี้คาดว่า จะก่อให้เกิดการอนุรักษ์พลังงานโดยสามารถทดแทนพลังงานไฟฟ้าและเชื้อเพลิงได้คิดเป็นเงินประมาณ 12,870 ล้านบาท/ปี และสามารถลดความต้องการไฟฟ้าได้คิดเป็นเงินประมาณ 38,085 ล้านบาท
2.2 การดำเนินมาตรการแก้ไขผลกระทบจากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องมาจากกลุ่มประเทศโอเปค และประเทศผู้ส่งออกน้ำมันนอกโอเปค ได้ตกลงร่วมกันในการลดปริมาณการผลิตน้ำมันลง 2.1 ล้านบาร์เรล/วัน โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2542 เป็นต้นมา ประกอบกับความต้องการใช้น้ำมันในตลาดโลกได้เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งแม้ว่าโอเปคจะเพิ่มปริมาณการผลิตขึ้นมาในระดับเดิม แต่ก็ยังไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ ส่งผลให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่จำหน่ายในประเทศมีราคาเพิ่มสูงขึ้นมาโดยตลอด รัฐบาลได้ดำเนินมาตรการในการแก้ไขผลกระทบของราคาน้ำมันที่สูงขึ้นตามลำดับ ประกอบด้วย (1) มาตรการอนุรักษ์พลังงาน และการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ (2) มาตรการปรับเปลี่ยนพลังงาน เพื่อลดการใช้น้ำมัน และหันไปใช้ก๊าซธรรมชาติ และพลังงานหมุนเวียนเพิ่มมากขึ้น (3) มาตรการช่วยเหลือเป็นรายสาขา ได้แก่ สาขาเกษตร สาขาประมง สาขาขนส่ง และอุตสาหกรรมขนาดกลาง และขนาดย่อม
2.3 การดำเนินกิจกรรมในวัน Car Free Day ในวันที่ 22 กันยายน 2543 โดยได้จัดกิจกรรมหลายกิจกรรม เช่น การเผยแพร่เอกสารเรื่อง "วิธีประหยัดน้ำมัน" การเผยแพร่โปสเตอร์ "In town without my car : 22 กันยา จอดรถไว้บ้านช่วยกันประหยัดน้ำมัน" และร่วมเดินรณรงค์ในวันคาร์ฟรีเดย์ เป็นต้น และผลจากการร่วมรณรงค์ของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย คณะรัฐมนตรี หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ และองค์กรเอกชนที่ไม่ค้ากำไร พบว่าการจราจรบนถนนเบาบางลงกว่าวันปกติทั่วไปร้อยละ 5 | 10 ส่วนบนทางด่วน เบาบางลงร้อยละ 15 | 20 นอกจากนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับในวันที่ 21 กันยายน 2543 แล้ว ปริมาณมลพิษโดยรวมลดลงร้อยละ 9 โดยก๊าซคาร์บอนมอนออกไซด์ลดลงร้อยละ 2 และฝุ่นละอองขนาดเล็กลดลงร้อยละ 16 รวมทั้งมีผู้ใช้บริการรถ ขสมก. รถไฟชานเมือง และรถไฟฟ้าบีทีเอสเพิ่มขึ้น
2.4 การจัดทำแผนรณรงค์ประหยัดน้ำมันในสาขาขนส่ง ปีงบประมาณ 2544 เพื่อสานต่อโครงการรณรงค์ในวัน Car Free Day เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2543 ที่ผ่านมา ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้วเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2543 ซึ่งการรณรงค์ประกอบด้วยกิจกรรมหลักและกิจกรรมสนับสนุนรวม 6 แนวทาง คือ (1) แผนรณรงค์จอดรถไว้บ้านช่วยกันประหยัดน้ำมัน (2) แผนรณรงค์การบำรุงรักษาเครื่องยนต์ให้อยู่ในสภาพที่ดี อาทิ การปรับแต่งเครื่องยนต์ (Tune | up) การตรวจดูลมยาง และเป่าไส้กรองอย่างสม่ำเสมอ (3) แผนรณรงค์ขี่จักรยานและเดินเท้า เพื่อประหยัดน้ำมันและลดมลพิษ (4) การใช้อุปกรณ์ สื่อสารแทนการเดินทางไปด้วยตนเอง (5) การวางแผนก่อนเดินทางและขับรถอย่างถูกวิธี และ(6) ทางเดียวกันไปด้วยกัน (Car Pool) นอกจากนี้ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายสาวิตต์ โพธิวิหค) ได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง "คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการประหยัดน้ำมันในสาขาขนส่ง" โดยมีเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติเป็นประธาน และประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันกำหนดแผนรณรงค์ให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น และเพื่อให้การรณรงค์บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้อย่างมีประสิทธิภาพ
2.5 สพช. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้กำหนดแนวทางการยกเลิกการเติมสารเคลือบบ่าวาล์ว และสารทำความสะอาดหัวฉีดและลิ้นไอดี และให้ลดค่าออกเทนของน้ำมันเบนซินพิเศษออกเทน 97 เป็นออกเทน 95 และเพิ่มน้ำมันเบนซินพิเศษชนิดออกเทน 91 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2541 เป็นต้นมา นอกจากนี้ ได้ขอให้ผู้ค้าน้ำมันและสถานีบริการน้ำมัน แสดงค่าออกเทนขั้นต่ำตามที่กฎหมายกำหนด คือ ค่าออกเทน 91 และออกเทน 95 เท่านั้น โดยให้สถานีบริการน้ำมันเริ่มปรับเปลี่ยนสติ๊กเกอร์ใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2543 พร้อมกันนี้ สพช. ได้มีการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ เพื่อให้ผู้ใช้รถยนต์ใช้น้ำมันให้ถูกประเภทกับความต้องการของเครื่องยนต์ โดยในช่วงที่ผ่านมาพบว่าสัดส่วนการใช้น้ำมันเบนซินออกเทน 91 ได้เพิ่มขึ้นตามลำดับ จากร้อยละ 33 ในปี 2542 เป็นร้อยละ 37, 45, 51 และ 53 ในเดือนมกราคม, เมษายน, มิถุนายน และกรกฎาคม 2543 ตามลำดับ ซึ่งสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้ 362 ล้านบาท ในปี 2542 และ 693 ล้านบาท ในช่วงเดือน มกราคม | กรกฎาคม 2543
2.6 การปรับปรุงโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าใหม่ เพื่อให้โครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าทั้งในระดับขายปลีกและขายส่งสอดคล้องกับภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ ความต้องการใช้ไฟฟ้าที่ลดลง และลักษณะการใช้ไฟฟ้าที่ เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน ซึ่งคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ได้เห็นชอบข้อเสนอการปรับโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าใหม่แล้ว เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2543 โดยมีหลักการสำคัญ ในส่วนของการกำหนดโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าขายปลีก คือ อัตราค่าไฟฟ้าขายปลีกเฉลี่ยลดลงประมาณร้อยละ 2 และลดการอุดหนุน ระหว่างกลุ่มให้น้อยลง โดยไม่ทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้ากลุ่มใดต้องจ่ายค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น รวมทั้ง ได้กำหนดให้กลุ่มผู้ใช้ไฟประเภทกิจการขนาดกลาง ที่มีปริมาณการใช้ไฟฟ้าเกินกว่า 250,000 หน่วย อยู่ในกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้า ประเภทกิจการขนาดใหญ่ทั้งหมด นอกจากนี้ ได้รวมค่าไฟฟ้า ตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) ในปัจจุบันเท่ากับ 64.52 สตางค์/หน่วย เข้าไปในค่าไฟฟ้าฐานและกำหนดค่า Ft ใหม่ ณ จุดเริ่มต้นเท่ากับ 0 ซึ่งโครงสร้างค่า ไฟฟ้าใหม่ดังกล่าว ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ค่าไฟฟ้าเดือนตุลาคม 2543 เป็นต้นไป
2.7 สพช. ได้ดำเนินการศึกษาการกำหนดมาตรฐานประสิทธิภาพการใช้พลังงานขั้นต่ำในอุปกรณ์ 6 ประเภทแล้วเสร็จ ได้แก่ ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ มอเตอร์ หลอดคอมแพคฟลูออเรสเซนต์ หลอดฟลูออเรสเซนต์ และบัลลาสต์ ซึ่งต่อมาคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ได้เห็นชอบให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม รับไปดำเนินการให้อุปกรณ์ดังกล่าว เป็นอุปกรณ์ควบคุมมาตรฐานประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ไฟฟ้าขั้นต่ำต่อไป โดยกำหนดให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2547 และเพิ่มความเข้มข้นของมาตรฐานทุก 3 ปี โดยคาดว่าผลการดำเนินการในช่วงปี 2547 | 2554 จะสามารถประหยัดพลังงานไฟฟ้าได้ 3,213 ล้านหน่วย และประหยัดเชื้อเพลิงได้ประมาณ 2,900 ล้านบาท
2.8 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการส่งเสริม การใช้ก๊าซธรรมชาติในภาคการขนส่ง เพื่อให้เป็นไปตามมติ ของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2543 ได้แก่ ปตท. จะติดตั้งอุปกรณ์ใช้ก๊าซธรรมชาติ ในรถแท๊กซี่อาสาสมัครจำนวน 100 คัน ใช้เงินลงทุน 4 ล้านบาท คาดว่าจะดำเนินการได้แล้วเสร็จประมาณเดือนพฤศจิกายน 2543 และในปี 2544 | 2545 จะติดตั้งอุปกรณ์ใช้ก๊าซฯ ให้กับแท๊กซี่เพิ่มเติมอีก 1,000 คัน ใช้เงินประมาณ 40 ล้านบาท รวมทั้ง จะดำเนินการขยายจำนวนสถานีบริการก๊าซ ธรรมชาติจำนวน 6 สถานี ในปี 2543/2544 เพื่อให้บริการแก่รถแท๊กซี่ที่ติดตั้งอุปกรณ์ใช้ก๊าซฯ โดย ปตท. จะกำหนดราคาขายก๊าซธรรมชาติที่ร้อยละ 50 ของราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล เพื่อจูงใจให้มีการใช้ก๊าซธรรมชาติในภาคขนส่งมากขึ้น นอกจากนี้ กระทรวงการคลังจะให้การสนับสนุนการยกเว้น/ลดหย่อนอากรนำเข้าเครื่องจักร เครื่องยนต์ และอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับการใช้ก๊าซธรรมชาติในรถยนต์ และสถานีบริการก๊าซฯ การจัดหาแหล่งเงินกู้ระยะยาว ดอกเบี้ยต่ำ กรมโยธาธิการและกรมการขนส่งทางบก จะเร่งแก้ไขและปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการให้สิทธิประโยชน์การลงทุน กับผู้ประกอบธุรกิจ การติดตั้งอุปกรณ์ใช้ก๊าซธรรมชาติในยานยนต์ และผู้ผลิตอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในสถานีบริการก๊าซฯ และรถยนต์ใช้ก๊าซธรรมชาติจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
3. การดำเนินงานตามแผนแม่บทการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจด้านพลังงาน
3.1 การปรับโครงสร้างกิจการไฟฟ้า และการจัดตั้งตลาดกลางซื้อขายไฟฟ้า คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2541 เห็นชอบแผนแม่บทการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ เพื่อใช้เป็นกรอบในการดำเนินการแปรรูป รัฐวิสาหกิจ โดยในสาขาพลังงานได้มอบหมายให้ สพช. รับไปดำเนินการศึกษาในรายละเอียด ซึ่ง สพช. ได้ จัดทำข้อเสนอเรื่อง "การปรับโครงสร้างกิจการไฟฟ้า และการจัดตั้งตลาดกลางซื้อขายไฟฟ้า" และได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้วเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2543 ประกอบด้วย โครงสร้างกิจการไฟฟ้าในอนาคต การปรับโครงสร้างองค์กรของการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง และแผนการดำเนินงานในการปรับโครงสร้างกิจการไฟฟ้า และการจัดตั้งตลาดกลางซื้อขายไฟฟ้า โดยมอบหมายให้ สพช. กฟผ. กฟน. กฟภ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไป ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง และมอบหมายให้คณะอนุกรรมการประสานการดำเนินงานในอนาคตของการไฟฟ้า เป็นผู้กำกับดูแลการดำเนินงานของหน่วยงานดังกล่าว ต่อมาคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติในการประชุมเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2543 ได้มีมติเห็นชอบแผนการดำเนินงานและการจัดตั้งตลาดกลาง ซื้อขายไฟฟ้า ประกอบด้วย การจัดทำกฎตลาดกลางซื้อขายไฟฟ้า การดำเนินการยกร่างพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. …. การจัดการต้นทุนและหนี้สินติดค้าง การดำเนินการทางด้านระบบส่ง และระบบจำหน่ายไฟฟ้า การเตรียมความพร้อมภายในองค์กรของการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง และการจัดตั้งตลาดกลาง ซื้อขายไฟฟ้า
3.2 การระดมทุนจากภาคเอกชนในโครงการโรงไฟฟ้าราชบุรี เป็นการดำเนินงานตามแนวทางที่กำหนดไว้ในแผนแม่บทฯ โดยได้มีการจัดทำแผนระดมทุน จากภาคเอกชน ในโครงการโรงไฟฟ้าราชบุรี เสนอขอความ เห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้วเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2542 โดยให้มีการระดมทุนจากประชาชนทั่วไป ร้อยละ 40 จัดสรรหุ้นของบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง ที่จะจัดตั้งขึ้นให้ กฟผ. ร้อยละ 45 และให้พนักงาน กฟผ. และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (ถ้ามี) ร้อยละ 15 ต่อมาได้มีการจัดตั้ง บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2543 และการจัดตั้งบริษัทในเครือ คือ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี จำกัด เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2543 เพื่อรับโอนโรงไฟฟ้าและทรัพย์สินอื่นๆ ของโครงการโรงไฟฟ้าราชบุรี จาก กฟผ. หลังจากนั้น คณะกรรมการดำเนินการระดมทุน จากภาคเอกชนในโครงการโรงไฟฟ้าราชบุรี ได้มีการพิจารณากำหนดจำนวนหุ้น วิธีการขายหุ้น และราคาหุ้นของบริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ซึ่งจำนวนหุ้นทั้งหมดของบริษัทฯ เท่ากับ 1,450 ล้านหุ้น ในจำนวนนี้เป็นการจัดสรรหุ้นจำนวน 580 ล้านหุ้น ให้กับประชาชนชาวไทย เพื่อนำบริษัทฯ เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ โดยบริษัทฯ กำหนดราคาเสนอขายที่ 13 บาทต่อหุ้น ทั้งนี้ ในจำนวน 580 ล้านหุ้น ที่บริษัทฯ ทำการจัดสรรนั้น แบ่งเป็น 225 ล้านหุ้นสำหรับนักลงทุนสถาบัน 180 ล้านหุ้นสำหรับบริษัทหลักทรัพย์ที่จัดจำหน่าย และอีก 175 ล้านหุ้นผ่านธนาคารไทยพาณิชย์สำหรับนักลงทุนทั่วไป สำหรับบรรยากาศของวันเปิดจองหุ้นสำหรับประชาชนทั่วไป ผ่านธนาคารไทยพาณิชย์ทุกสาขาทั่วประเทศ ซึ่งกำหนดไว้ในวันที่ 18 | 20 ตุลาคมนั้น ปรากฏว่ามีประชาชนเข้ายื่นใบจอง พร้อมชำระเงินค่าจองหุ้นหมดภายใน 17 นาที 33 วินาที ของวันที่ 18 ตุลาคม โดยได้มีการเปิดสำรองการจองหุ้นเพิ่มเติมอีกประมาณร้อยละ 15 หรือประมาณ 26 ล้านหุ้น สำหรับกรณีผู้ที่จองซื้อไปแล้ว มีปัญหาเรื่องการชำระเงินค่าหุ้น บริษัทฯ จะตัดสิทธิ์และเลื่อนลำดับผู้จองขึ้นมาแทน หุ้นของบริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีนั้น เป็นที่ยอมรับของนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ว่า เป็นหุ้นที่มีเสถียรภาพ เหมาะสำหรับการลงทุนในระยะกลางและระยะยาว
3.3 ร่างพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. …. ในการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจสาขาพลังงาน มีความจำเป็นต้องวางกรอบการกำกับดูแล ที่มีประสิทธิภาพ โดยการจัดตั้งองค์กรกำกับดูแลอิสระสาขาพลังงานขึ้น เป็นหน่วยงานอิสระเพื่อรับผิดชอบในการกำกับดูแลกิจการพลังงานในอนาคต รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายสาวิตต์ โพธิวิหค) จึงได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี แต่งตั้งคณะทำงานยกร่างกฎหมายจัดตั้งองค์กรกำกับดูแลอิสระสาขาพลังงาน เพื่อดำเนินการยกร่างพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. …. โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้มีบริการด้านพลังงานอย่างเพียงพอ มีความเป็นธรรมต่อทั้งผู้ใช้บริการและผู้ประกอบ กิจการพลังงาน ส่งเสริมการแข่งขันในกิจการพลังงาน และป้องกันการใช้อำนาจในทางมิชอบในการประกอบกิจการพลังงาน รวมทั้ง ควบคุมดูแลให้การกำกับกิจการพลังงาน ในช่วงการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ระบบการแข่งขัน ไปด้วยความราบรื่น ส่งเสริมการให้บริการของระบบโครงข่ายพลังงานเป็นไปด้วยความเป็นธรรม โปร่งใส โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม และสนับสนุนให้มีการใช้พลังงาน และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ในการประกอบกิจการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการประกอบกิจการพลังงาน ตลอดจนส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน และการใช้พลังงานที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย
สาระสำคัญในการยกร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้คือ (1) เพื่อให้มีการกำกับดูแลกิจการพลังงานที่มีลักษณะผูกขาด ได้แก่ กิจการไฟฟ้า กิจการก๊าซธรรมชาติ และกิจการอื่นที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา โดยจะ มีการจัดตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานแห่งชาติ มีหน้าที่ออกใบอนุญาตการประกอบกิจการพลังงาน ส่งเสริมการแข่งขัน ป้องกันการใช้อำนาจการผูกขาดโดยมิชอบ และให้การคุ้มครองผู้ใช้พลังงาน (2) ให้มีการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการพลังงานแห่งชาติขึ้น เป็นหน่วยงานของรัฐมีฐานะเป็นนิติบุคคล ทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการ เพื่อให้คณะกรรมการสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ (3) ให้มีการจัดตั้งตลาดกลางซื้อขายไฟฟ้าแห่งประเทศไทยขึ้น ทำหน้าที่เป็นศูนย์ควบคุมระบบส่งไฟฟ้าของประเทศ ศูนย์ปฏิบัติการทางการตลาด และศูนย์บริหารการชำระเงิน โดยมีคณะกรรมการตลาดกลางซื้อขายไฟฟ้าแห่งประเทศไทยทำหน้าที่กำกับดูแล เพื่อให้กิจการไฟฟ้ามีการแข่งขัน ให้ผู้ใช้ไฟฟ้ามีทางเลือกในการซื้อไฟฟ้า และมีการดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้วเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2543 เพื่อนำไปสู่ขั้นตอนการตรวจร่างของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาต่อไป
3.4 การปรับโครงสร้าง และแปรรูปการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2539 เห็นชอบแนวทางการปรับปรุงโครงสร้างของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) และส่งเสริมการค้าเสรีในอุตสาหกรรมปิโตรเลียม โดยเห็นชอบให้นำหน่วยธุรกิจ ปตท.น้ำมัน, ปตท.อินเตอร์เนชั่นแนล และ ปตท.ก๊าซธรรมชาติจัดตั้งเป็นบริษัทจำกัด ภายใต้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยมี ปตท. สำนักงานใหญ่เป็นเจ้าของและให้บริษัทที่ ปตท. จัดตั้งใหม่ดังกล่าวดำเนินการในรูปแบบบริษัทเอกชน โดยไม่นำคำสั่ง กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ และมติคณะรัฐมนตรีที่ใช้บังคับรัฐวิสาหกิจทั่วไปมาใช้บังคับ และให้นำบริษัทดังกล่าวแปรรูปบางส่วนเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตามความเหมาะสมตามแผนการดำเนินการเพื่อให้ได้มูลค่าสูงสุดแก่ภาครัฐ
ปตท. ได้มีการปรับปรุงแนวทางดังกล่าวเพื่อให้สะท้อนถึงสถานการณ์ด้านพลังงานและเศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยภายใต้แนวทางใหม่นี้ ปตท. เสนอให้มีการนำกลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติ, ธุรกิจน้ำมัน และบริษัท ในเครือให้อยู่ภายใต้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งถือหุ้นโดย ปตท. รัฐวิสาหกิจ ทั้งนี้ในส่วนของกลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาตินั้นจะประกอบไปด้วย ปตท.ก๊าซธรรมชาติ, ปตท.ท่อส่งก๊าซฯ, ปตท.จัดจำหน่ายก๊าซฯ และบริษัท ทรานส์ ไทย-มาเลเซีย จำกัด กลุ่มธุรกิจน้ำมันจะประกอบไปด้วย ปตท.น้ำมัน และปตท.อินเตอร์เนชั่นแนล และบริษัทในเครือประกอบด้วย ปตท. มาร์ท, บริษัทท่อส่งปิโตรเลียมไทย และปตท.สผ. สำหรับในส่วนของโรงกลั่นน้ำมันธุรกิจปิโตรเคมี และธุรกิจอื่นที่เหลือนั้นจะอยู่ภายใต้ ปตท.รัฐวิสาหกิจ ทั้งนี้ ปตท. มีแผนที่จะนำหุ้นของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ประมาณร้อยละ 15-20 เข้าไปจำหน่ายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ประมาณกลางปี 2544 โดยแนวทางการปรับปรุงโครงสร้างใหม่ของ ปตท. กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
-ยังมีต่อ-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ