10 มีนาคม 2543 แถลงข่าวการเจรจาสองฝ่ายระหว่างไทยกับจีนภายใต้กระบวนการสมัครเข้าเป็นสมาชิก WTO ของจีน ----------------------- ประเทศไทยได้ขอเจรจาสองฝ่ายกับจีนตามกระบวนการสมัครเข้าเป็นสมาชิก WTO ตั้งแต่ปี 2537 เป็นต้นมา โดยมีการเจรจารวมทั้งสิ้น 15 ครั้ง การเจรจาเมื่อวันที่ 9-10 มีนาคม 2543 มีรัฐมนตรี ว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายศุภชัย พานิชภักดิ์) เป็นหัวหน้าคณะ สามารถสรุปผลและได้มีการลงนาม ในความตกลงสองฝ่ายการเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกกับจีน สรุปผลการเจรจา ด้านการค้าสินค้า จีนเสนอลดอัตราภาษีตามรายการสินค้าที่ไทยเสนอขอจำนวนทั้งสิ้น 136 รายการ ในจำนวนนี้เป็นสินค้า เกษตร 39 รายการ สินค้าประมง 12 รายการ และสินค้าอุตสาหกรรม 85 รายการ เป็นผลให้อัตราภาษี ลดลงจากอัตราเฉลี่ย 30.2% เหลือ 13.1% (simple average) หรือลดลงจากอัตราเฉลี่ย 37.6% เหลือ 13.1% โดยใช้มูลค่าการส่งออกในปี 2542 เป็นฐานในการคำนวณ (trade weighted average) - สินค้าเกษตร จีนลดภาษีให้ไทย 39 รายการ อัตราภาษีลดลงจากอัตราเฉลี่ย 41.9% เหลือ 16.9% ที่สำคัญเช่น มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ อัตราภาษีลดลงจาก 10% และ 20% เหลือ 5% และ 10% ลำไยสดลดภาษีจาก 30% เหลือ 12% สับปะรดกระป๋อง อัตราภาษีลดลงจาก 30% เหลือ15%เป็นต้น - สินค้าประมง จีนลดภาษีกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งให้ไทยรวม 12 รายการ อัตราภาษีลดลงจากอัตราเฉลี่ย 22.9% เหลือ 10.3% - สินค้าอุตสาหกรรม จีนลดภาษีให้ไทย 85 รายการ โดยอัตราภาษีลดลงจากอัตราเฉลี่ย 25.9% เหลือ 11.8% ที่สำคัญเช่น สิ่งทอ เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร เครื่องครัวและเครื่องสุขภัณฑ์ เป็นต้น จีนได้ปรับมาตรการนำเข้าข้าว และน้ำตาล จากระบบโควต้ามาเป็นการใช้โควต้าภาษี - ข้าว จีนกำหนดโควต้าเริ่มต้นสำหรับการนำเข้าข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวในปี 2543 ไว้ล้านตัน โดยแบ่งเป็น โควต้าข้าวเมล็ดยาว และข้าวเมล็ดสั้นและเมล็ดกลางอย่างละครึ่ง และจะขยายโควต้าเพิ่มขึ้นเป็น 5.32 ล้านตันในปี 2547 โดยจะเรียกเก็บภาษีนำเข้าข้าว 1% และผลิตภัณฑ์ข้าว 9% และให้ภาคเอกชนสามารถ นำเข้าข้าวและผลิตภัณฑ์ได้ถึง 50% ของปริมาณโควต้าทั้งหมดด้วย - น้ำตาล จีนกำหนดโควต้านำเข้าเริ่มต้นไว้ 1.6 ล้านตัน อัตราภาษี 30% และจะเพิ่มโควต้าเป็น 1.945 ล้านตันในปี 2547 โดยลดภาษีลงเหลือ 20% ทั้งนี้ หากจีนมีการส่งน้ำตาลที่นำเข้าออกนอกประเทศ (re-expoert) เป็นจำนวนมากกว่าปกติ จีนจะให้โอกาสหารือกับไทยเพื่อมิให้กระทบต่อการส่งออกของไทย - ยางพารา จีนตกลงที่จะลดอัตราภาษีนำเข้ายางพาราจาก 30% เหลือ 20% ทันทีที่เข้าเป็นสมาชิก WTO คือในปี 2543 โดยกำหนดโควต้าในปีเริ่มต้นไว้ 429,000 ตัน จะขยายโควต้าเพิ่มขึ้นปีละ 15% และจะยกเลิกโควต้าตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นไป ด้านการค้าบริการ จีนเปิดตลาดการค้าบริการสาขาการท่องเที่ยวในกิจกรรม โรงแรมและภัตตาคาร และการท่องเที่ยวให้ไทยใน 2 กิจกรรม คือ - โรงแรมและภัตตาคาร จีนอนุญาตให้ต่างชาติเข้าไปร่วมทุนเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ได้ และหลังจากจีน เข้าเป็นสมาชิก WTO ได้ 4 ปีแล้ว จีนจะอนุญาตให้เปิดสาขาย่อยโดยต่างชาติสามารถเป็นเจ้าของได้ 100% อย่างไรก็ตาม จีนยังไม่อนุญาตให้บุคคลธรรมดาเข้าไปประกอบอาชีพธุรกิจโรงแรมและภัตตาคาร ยกเว้นการเคลื่อนย้ายชั่วคราวของพนักงานระดับผู้จัดการและผู้เชี่ยวชาญและผู้บริหารอาวุโส และพ่อครัว ซึ่งมีสัญญากับบริษัทร่วมทุนของโรงแรมหรือภัตตาคารในจีนเท่านั้น - บริษัทตัวแทนท่องเที่ยวและผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว จีนอนุญาตให้ต่างชาติซึ่งปฏิบัติามเงื่อนไขที่กำหนดและร่วมทุนกับจีนตั้งบริษัทนำเที่ยวในเขตที่พักตาก อากาศ ซึ่งกำหนดโดยรัฐบาลจีนและในเมืองปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กวางโจว และซีอาน ได้ และหลังจากจีน เข้าเป็นสมาชิกได้ 3 ปีแล้ว จึงจะอนุญาตให้ต่างชาติถือหุ้นรายใหญ่ได้ แต่ทั้งนี้ จีนยังไม่อนุญาตให้นำ นักท่องเที่ยวจีนเดินทางไปต่างประเทศ รวมทั้งฮ่องกง มาเก๊า และไต้หวัน ผลที่คาดว่าไทยจะได้รับ 1. การลดภาษีของจีนจะมีผลให้สินค้าที่ไทยส่งออกไปขายในจีนมีราคาลดลง ซึ่งจะช่วยให้สินค้าไทย สามารถแข่งขันกับสินค้าของจีนซึ่งมีต้นทุนต่ำกว่าได้ดียิ่งขึ้น สินค้าที่จะได้รับประโยชน์โดยตรงจากการลด ภาษีในครั้งนี้คือ สินค้า 136 รายการที่จีนลดอัตราภาษีให้ตามที่ไทยเสนอขอ ซึ่งมีมูลค่าการส่งออก ไปจีนในปี 2542 รวม 361.98 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 13,755.24 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่า ภาษีที่ลดลง 88.5 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ3,363 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีสินค้าอีกจำนวนหนึ่ง ที่จีนได้เจรจาลดอัตราภาษีให้กับประเทศอื่นๆ อีก 36 ประเทศ ซึ่งไทยจะได้รับการลดหย่อนอัตราภาษี ด้วยตามหลักการ MFN เช่น สินค้า IT ได้แก่ คอมพิวเตอร์ เครื่องมือในการสื่อสารโทรคมนาคม เซมิคอนดักเตอร์ ฯลฯ 2. สินค้าที่จีนเปิดตลาดข้าวและน้ำตาลโดยใช้โควต้าภาษี และจะยกเลิกโควต้ายางพาราในปี 2004 - ข้าว ในปี 2542 จีนกำหนดโควต้าข้าวให้ไทยเพียง 2 แสนตันเท่านั้น ดังนั้นการที่จีนตกลงจะเปิด ตลาดข้าวโดยกำหนดโควต้ารวมไว้ถึง 1.33 ล้านตันสำหรับข้าวเมล็ดยาว และเรียกเก็บภาษีในอัตราต่ำ รวมทั้งการเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามามีบทบาทในการนำเข้าข้าวแทนการนำเข้าโดยภาครัฐแต่เพียงผู้เดียว เช่นในอดีต จะเป็นโอกาสให้ไทยสามารถขยายการส่งออกข้าวไปยังจีนได้เพิ่มขึ้นอีกมาก - น้ำตาล ไทยมีโอกาสส่งออกน้ำตาลไปจีนเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ ในปี 2542 ไทยส่งออกน้ำตาลไปจีนเพียง 0.048 ล้านตัน แต่ตามความตกลงฯ จีนกำหนดโควต้านำเข้าน้ำตาลไว้ถึง 1.6 ล้านตัน โดยจะเพิ่ม โควต้าเป็น 1.945 ล้านตันในปี 2547 - ยางพารา การลดภาษีในทันทีที่จีนเข้าเป็นสมาชิก WTO และการที่จีนกำหนดโควต้า ทั่วไปสำหรับ การนำเข้ายางพาราในปี 2543 มากกว่าปริมาณที่ไทยส่งออกในปี 2542 ถึง 1 เท่าตัว โดยจะขยายโควต้า เพิ่มขึ้นทุกปี และจะยกเลิกโควต้าทั้งหมดในปี 2547 จะเป็นโอกาสให้ไทยส่งยางพาราไปจีนได้มากขึ้น 3. ไทยจะได้ประโยชน์จากการเปิดเสรีการค้าบริการ ที่จีนเปิดตลาดให้ไทยใน 2 กิจกรรม กล่าวคือ 1. นักลงทุนไทยสามารถเข้าไปร่วมลงทุนในธุรกิจโรงแรมและภัตตาคารในจีน ซึ่งเป็นธุรกิจที่ไม่ต้องใช้ เงินทุนสูงนักเพื่อองรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่เข้าไปเที่ยวในจีน ทั้งนี้ ในแต่ละปีมี นักท่องเที่ยวไทยที่เดินทางไปจีนประมาณ 99,000 คน จึงเป็นโอกาสดีที่ผู้ประกอบการไทยจะเข้าไป ดำเนินกิจการในจีน เนื่องจากอาหารไทยเป็นที่นิยมทั่วโลก 2. ปัจจุบันนักท่องเที่ยวจีนนิยมมาเที่ยวประเทศไทยเป็นอันดับ 3 รองจากฮ่องกง และมาเก๊า หรือประมาณ ปีละ 7 แสนคน และมีการใช้จ่ายโดยเฉลี่ยประมาณคนละ 4 พันบาทต่อวัน การที่จีนเปิดให้ต่างชาติเข้าไป เปิดบริษัทตัวแทนท่องเที่ยวและประกอบธุรกิจท่องเที่ยวในจีนได้ จึงเป็นโอกาสในการเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ให้คนจีนมาท่องเที่ยวในไทยมากขึ้นช่วยให้เงินตราไหลเข้าประเทศมากขึ้น 4. นอกจากนี้ ไทยจะได้รับประโยชน์จากการเปิดเสรีการค้าบริการในสาขาต่างๆ นอกเหนือจากที่ไทย ขอเจรจาด้วย อาทิ สาขาการจัดจำหน่าย การเงินการธนาคาร ธุรกิจประกันภัย โทรคมนาคม และบริการ สาขาวิชาชีพ เช่น วิศวกร สถาปนิก แพทย์ ทันตแพทย์ ฯลฯ 5. นอกจากผลประโยชน์ที่ไทยได้รับโดยตรงจากข้อตกลงสองฝ่ายระหว่างไทยกับจีนแล้ว เมื่อจีนเข้าเป็น สมาชิก WTO จีนจะต้องปฏิบัติตามกฎ กติกา ภายใต้กรอบ WTO เช่น ไม่ให้การอุดหนุนการส่งออก สินค้าเกษตรและมีข้อจำกัดในการให้การอุดหนุนการผลิตสินค้าเกษตร ต้องยกเลิกมาตรการ ด้านสุขอนามัยที่ไม่สอดคล้องกับความตกลง ต้องเคารพในกฎ ระเบียบภายใต้ความตกลงว่าด้วยการค้า บริการและทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า เป็นต้น
--กรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ มีนาคม 2543--
-ปส-
--กรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ มีนาคม 2543--
-ปส-